แอร์โดอัน VS แชมป์: การเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


Credit: ภาพจาก BBC Thai

เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมพอสมควร เมื่อนายพีรพล เอื้ออารียกูล หรือ “แชมป์ พีรพล” ผู้ประกาศข่าวหนุ่มของสถานีโทรทัศน์ 28 SD ถูกพักงานอย่างไม่มีกำหนด หลังคุณพีรพลได้วิจารณ์นายเรเจป ฏอยยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) ผู้นำของประเทศตุกีอย่างรุนแรงผ่านรายการที่ตนเป็นพิธีกร (Voice TV 2561)

หลังรายการของคุณพีรพลออกอากาศไปก็มีคนไทยจำนวนมากเข้ามาต่อว่าการทำหน้าที่ของคุณพีรพล ผมคิดว่าคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศข่าวครั้งนี้ หากพิจารณาจากสาเหตุของความไม่พอใจแล้วจะสามารถแบ่งออกคร่าวๆได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ หนึ่ง กลุ่มที่ไม่พอใจเพราะกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและตุรกี สอง กลุ่มที่ไม่พอใจเพราะชื่นชอบในตัวประธานาธิบดีแอร์โดอันเป็นการส่วนตัว และสามกลุ่มที่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับทั้งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและตัวของแอร์โดอันแต่ไม่เชื่อถือข้อมูลที่คุณพีรพลนำเสนอ

ผมไม่แน่ใจว่าจำนวนผู้ไม่พอใจคุณพีรพลฝ่ายใดมีจำนวนมากกว่ากัน แต่ค่อนข้างจะมั่นใจว่ากลุ่มที่ไม่พอใจเพราะชื่นชอบแอร์โดอันถือว่ามีจำนวนมากพอสมควร ซึ่งตามข้อสังเกตของผมคนไทยกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิม[1] ผมขออนุมานเอาเอง (โดยไม่มีตัวเลขมาสนับสนุน) ว่าเมื่อเทียบกับนักการเมืองต่างประเทศในโลกยุคปัจจุบันแล้ว นายแอร์โดอันอาจจะเป็นหนึ่งในนักการเมืองต่างชาติที่คนไทยนิยมชมชอบมากที่สุดคนหนึ่งก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจพอสมควร

เหตุใดนักการเมืองจากชาติที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยค่อนข้างน้อยอย่าง ปธน. แอร์โดอันจึงมีความนิยมสูงเช่นนั้น? ผมคิดว่าหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้นายแอร์โดอันได้รับความนิยมสูงในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของชาวมุสลิม คือกระแสการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตก (Anti-western sentiment) ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ในรอบ 2-3 ทศวรรษหลังนี้

พูดอีกอย่างคือ ผู้ไม่พอใจคุณพีรพลมีมุมมองว่า ปธน. แอร์โดอันเป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านตะวันตก ในขณะที่คุณพีรพลถูกมองว่าเป็นตัวแทนของฝั่งตะวันตก (ที่รับข่าวจากสื่อตะวันตกเพียงด้านเดียว แล้วเอามาถ่ายทอดต่ออย่างไม่รอบด้าน) เพราะฉะนั้นความนิยมของแอร์โดอันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อคุณพีรพลจึงเป็นภาพสะท้อนการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง บทความนี้ต้องการจะแนะนำผู้อ่านให้รู้จักกับความรู้สึกต่อต้านตะวันตกและวิเคราะห์ว่าผลจากการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนี้มีอะไรบ้าง โดยจะไม่ขอพูดถึงประเด็นเรื่องการนำเสนอข่าวของคุณพีรพลหรือการลงโทษคุณพีรพลนั้นเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงจะไม่ขอพูดถึงประเด็นเรื่อง freedom of speech โดยตรง เนื่องจากมีคนกล่าวถึงเยอะแล้วพอสมควร

ก่อนจะเข้าประเด็นหลักเราควรจะเริ่มทำความรู้จักตัวละครสำคัญอย่าง ปธน. แอร์โดอันเสียก่อน แอร์โดอันคือประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศตุรกีซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2014 โดยก่อนหน้านั้นยังเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีแห่งเมืองอิสตันบูลและนายกรัฐมนตรีของตุรกีอีกด้วย (Biography.com 2018 และ CNN 2018)

ความนิยม (รวมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์) ของแอร์โดอันส่วนใหญ่นั้นได้มาจากการที่เค้ามีจุดยืนอนุรักษ์นิยมที่ชัดเจนและมีความพยายามอย่างจริงจังในการนำนโยบายเชิงอนุรักษ์นิยมมาใช้ สำหรับเรื่องเพศแอร์โดอันเคยกล่าวในที่สาธารณะว่า “ผู้ชายและผู้หญิงไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากธรรมชาติของพวกเขาต่างกัน” และ “ผู้หญิงไม่ควรเรื่องมาก (picky) ในการเลือกสามี” นอกจากนี้ แอร์โดอันยังให้ความสำคัญกับศาสนาและพยายามอย่างมากในการนำพาตุรกีให้กลับไปเป็นรัฐศาสนา (religious state) อีกครั้ง (CNN 2018) มีการกำหนดให้อิสลามเป็นวิชาบังคับ และมีการทุ่มงบประมาณมหาศาลให้กับโรงเรียนสอนศาสนาอย่าง Imam Hatip School (T News 2561 และ Reuters 2018)


Credit: ภาพจาก Reuters.com

ปธน. แอร์โดอันเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีทั้งคนรักและคนชังจำนวนมหาศาล มีหลักฐานจำนวนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรักและความเกลียดที่ประชาชนมีต่อผู้นำประเทศคนนี้ อาทิ การที่คนส่วนมากเลือกพรรคของเขาเข้าไปบริหารประเทศ แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลือกตั้งในตุรกีนั้นไม่โปร่งใส ล่าสุด แอร์โดอันยังทำประชามติเพื่อขอเพิ่มอำนาจให้กับตัวเอง ซึ่งแม้ผลที่ออกมาจะเป็น Yes แต่แอร์โดอันก็เฉือนชนะไปด้วยคะแนนเพียง 51% เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2016 กองทัพได้พยายามทำการรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจของแอร์โดอัน แต่สุดท้ายก็มีประชาชนจำนวนมากลุกขึ้นมาต่อต้านกองทัพ จนคณะรัฐประหารจำต้องยอมแพ้ไปในที่สุด (Biography.com 2018 และ CNN 2018)

หลายครั้งที่ ปธน. แอร์โดอันใช้อำนาจและกลวิธีการต่างๆจัดการกับผู้วิพากษ์วิจารณ์เค้า เช่น มีรายงานว่ามีองค์กรสื่อในตุรกีถึง 160 รายที่ถูกสั่งปิด ผู้สื่อข่าวกว่า 2,500 คนถูกปลดจากงาน และมีการเก็บสถิติว่าตุรกีเป็นประเทศหนึ่งในประเทศที่มีการสั่งจำคุกผู้สื่อข่าวมากที่สุดในโลก (BBC Thai 2560) นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าในปี 2013 มีการสืบสวนคดีทุจริตครั้งใหญ่เกิดขึ้นในตุรกี โดยมีผู้ต้องสงสัยกว่า 50 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีคนใกล้ชิดของแอร์โดอันรวมอยู่ด้วย แต่หลังจากการสืบสวนเริ่มขึ้นไม่นานรัฐบาลตุรกีก็มีการสั่งปลดตำรวจกว่า 350 นาย จนในที่สุดการทำคดีก็ตกไป (CNN 2018)

อย่างไรก็ดี ด้วยบุคคลิกที่เข้มแข็ง (Strongman) ของ ปธน. แอร์โดอันที่ไม่เพียงพูดอย่างเดียวแต่เดินหน้านโยบายอนุรักษ์นิยมของตนเองอย่างจริงจังด้วย บวกกับความเบื่อหน่ายในระบอบการเมืองแบบโลกวิสัย (Secular state) ทำให้ตัวของ ปธน. แอร์โดอันและนโยบายของเขาเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนตุรกีจำนวนมาก แอร์โดอันจึงถูกมองว่ามีความเป็นนักปฏิรูปมากกว่าเป็นนักการเมืองที่มีแต่ความฉ้อฉลเช่นคนอื่นๆ

นอกจากนี้ ปธน. แอร์โดอันไม่เพียงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนตุรกีเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับจากประชาชนจำนวนหนึ่งในต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งความชื่นชอบในตัวของเขานี้คงจะไม่สามารถมีสูงขนาดนี้ได้หากปราศจากกระแสการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตก (Anti-western sentiment)

เราจะเห็นได้ว่าบทบาทของ ปธน. แอร์โดอันในตุรกีนั้นส่งผลต่อการเมืองในระดับโลกด้วย มีหลายครั้งที่แอร์โดอันใช้บุคลิกอันแข็งกร้าวของเขาแสดงจุดยืนไม่ยอมอ่อนข้อให้กับตะวันตก เช่น การประกาศกร้าวว่าตุรกีสามารถอยู่ได้โดยปราศจาก EU (BBC Thai 2017) หรือการต่อว่าทูตของสหรัฐฯว่า “ไม่นับว่าเป็นตัวแทนของอเมริกาอีกต่อไป” หลังจากมีปัญหาเรื่องวีซ่า (Daily Sabah 2017) ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามในการพาตุรกีกลับสู่การเป็นรัฐศาสนาก็ทำให้ผู้ต่อต้านตะวันตกที่ไม่ชอบแนวคิดโลกวิสัย (Secularism) เพราะมองว่าเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขยายอำนาจของตะวันตกหันมาสนับสนุนเขาอีกด้วย ท่าทีที่แข็งกร้าวต่อตะวันตกและแนวนโยบายที่ตรงข้ามกับแนวคิดตะวันตกนี้เองที่อาจทำให้แอร์โดอันถูกมองว่าเป็นแกนนำคนสำคัญในการต่อต้านตะวันตกไปโดยปริยาย และเมื่อประกอบกับความรู้สึกต่อต้านตะวันตกที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วจึงทำให้ผู้ต่อต้านตะวันตกจำนวนมากหันมาชื่นชอบแอร์โดอันไปโดยอัตโนมัติ

แล้วความรู้สึกต่อต้านตะวันตกคืออะไร? โดยทั่วไปแล้วหมายถึงความรู้สึกทางลบต่อความเป็นตะวันตกบางอย่าง เช่น ผู้คน วัฒนธรรม ค่านิยม หรือนโยบายของตะวันตก จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมพบว่าความรู้สึกทางลบต่อความเป็นตะวันตกเหล่านี้มีอยู่จริง และที่สำคัญคือมันแพร่กระจายอยู่ในหลายประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ เพื่อนชาวต่างชาติของผมหลายคนที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่เคยตกเป็นอณานิคมของตะวันตกทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิม (เช่น อินเดีย บังคลาเทศ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน มัลดีฟส์ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ ฯลฯ) ส่วนใหญ่มีความรู้สึกทางลบต่อความเป็นตะวันตกในระดับไม่มากก็น้อยกันทั้งสิ้น

ถ้าความเข้าใจของผมถูกต้องจริง สิ่งที่น่าสนใจก็คือความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในกลุ่มผู้นับถือศาสนาอื่นๆด้วย เช่น ฮินดู (เพื่อนชาวอินเดียของผม) คริสต์ (เพื่อนชาวไนจีเรียและแอฟริกาใต้) พุทธ (เช่น กระแสต่อต้านสินค้าอเมริกาในประเทศไทยที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้งตามกลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยม) หรือแม้กระทั่งการต่อต้านตะวันตกในกลุ่มคนไม่มีศาสนาเองก็ตาม นั่นแสดงให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนั้นไม่ได้โดนผูกขาดด้วยปัจจัยด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว

ในทางตรงกันข้าม ผมเชื่อว่าความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนี้มีที่มาจากรากทางประวัติศาสตร์มากกว่า กล่าวคือ ประเทศที่มีผู้ต่อต้านตะวันตกจำนวนมากมักจะเป็นประเทศที่โดนเอาเปรียบหรืออยู่ใต้อำนาจของชาติตะวันตกมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่าอณานิคมแบบดั้งเดิม การถูกสังคมกดอัตลักษณ์เอาไว้ การถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจ หรือถูกครอบงำผ่านการล่าอณาณิคมใหม่ (neo-colonialism) การได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านสงครามกับการก่อการร้าย (war on terrorism) ตลอดจนถึงการถูกวาดภาพให้เป็นผู้ร้ายผ่านสื่อและผลิตภัณฑ์ของตะวันตก ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจจะพอทำให้เรากล่าวแบบหยาบๆได้ว่า ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนั้นเกิดจากการกระทำของตะวันตกเองก็คงไม่ผิดนัก

เพราะฉะนั้น หากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกเป็นตัวผลักดันความนิยมในตัวของ ปธน. แอร์โดอันในต่างประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) เป็นทฤษฎีที่ถูกต้อง และหากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดกับชาวมุสลิมเท่านั้น เราน่าจะพอจะสรุปได้ว่าหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ ปธน. แอร์โดอันเป็นที่ชื่นชอบในประเทศไทยก็คือความรู้สึกต่อต้านตะวันตก ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในกลุ่มชาวไทยมุสลิมและชาวไทยกลุ่มอื่นๆ[2] หรือกล่าวในทางตรงกันข้ามก็คือความนิยมต่อตัว ปธน. แอร์โดอันแสดงให้เราเห็นว่าประเทศไทยมีผู้รู้สึกต่อต้านตะวันตกอยู่จำนวนหนึ่งนั่นเอง

ถ้าอย่างนั้นการมีความรู้สึกต่อต้านตะวันตกที่รุนแรงแล้วจะมีผลอย่างไรบ้าง? แน่นอนว่าการมีอยู่ของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในแง่ของข้อดีนั้น ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกอาจช่วยให้ผู้อยู่ใต้การครอบงำของตะวันตกปลดแอกตนเองจากการรีดไถของตะวันตกได้[3] และอาจจะทำให้เกิดการตั้งคำถาม และนำไปสู่การตื่นตัวกับปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการทำสงครามกับการก่อการร้าย หรือปัญหาการล่าอณานิคมใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกเองก็มีปัญหาเช่นกัน Sen (2006) วิเคราะห์ถึงปัญหาความรู้สึกต่อต้านตะวันตกไว้เป็นอย่างดีในหนังสือชื่อ “Identity & Violence: The Illusion of Destiny” โดย Sen กล่าวว่าปัญหาประการแรกของการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกก็คือการลดทอนความซับซ้อนในโลกแห่งความเป็นจริง และทำให้เราเห็นเพียงภาพลวงว่าความเป็นตะวันตกและความเป็นตะวันออกนั้นสามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิงและแตกต่างกันอย่างชัดเจน เสมือนสีขาวและสีดำ

แต่ในความเป็นจริงแล้วความเป็นตะวันตกและตะวันออกนั้นแยกออกจากกันได้ยากกว่าที่เราคิดนัก หลายสิ่งหลายอย่างที่เราเข้าใจว่าเป็นของตะวันตกในทุกวันนี้แท้จริงแล้วอาจจะมีต้นกำเนิดมาจากตะวันออก เช่นเดียวกันบางสิ่งที่ดูเป็นตะวันออกอาจจะมีฐานมาจากตะวันตกก็ได้[4] Sen แสดงให้เห็นว่าความรู้สึกต่อต้านตะวันตกเป็นการผลิตซ้ำสิ่งที่อาจไม่มีอยู่จริงอย่าง “ความเป็นตะวันตก-ตะวันออก”

ยิ่งไปกว่านั้น วาทกรรมความเป็นตะวันตก-ตะวันออกยังนำไปสู่ปัญหาภาพลวงตาว่าความเป็นตะวันตก-ตะวันออกนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน แตกต่างกัน และไม่สามารถปรับเข้าหากันได้ (ทั้งๆที่ในความเป็นจริงอาจจะมีจุดร่วมมากกว่าจุดต่างก็ได้) และยังอาจจะทำให้เรายึดติดกับอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวว่าคนๆหนึ่งจะมีแค่อัตลักษณ์เดียว (เช่น เป็นมุสลิม) ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วคนๆนั้นมีอัตลักษณ์หลายๆอย่างที่ซับซ้อนกว่านั้น (เช่น เป็นมุสลิม ในขณะเดียวกันก็เป็นคนในประเทศไทย เป็นครูสอนหนังสือ หรือในกรณีของเมซุท โอซิลก็คือการเป็นพลเมืองเยอรมนี และการเป็นนักเตะเยอรมนี พร้อมๆไปกับการมีรากเหง้าเป็นชาวตุรกี เป็นต้น) การยึดติดกับอัตลักษณ์เชิงเดี่ยวและภาพลวงเกี่ยวกับความเป็นตะวันตก-ตะวันออกนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาอคติ การสร้างความเป็นอื่น การสร้างสังคมที่ปราศจากพหุวัฒนธรรมที่แท้จริง

ปัญหาประการที่สองของการเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาประการแรก คือ หลังจากเราติดอยู่กับภาพลวงว่าความเป็นตะวันตก-ตะวันออกนั้นแตกต่างกันและไม่สามารถเข้ากันได้แล้ว ผู้ที่มีความรู้สึกต่อต้านตะวันตกอาจจะปฏิเสธข้อดีต่างๆของตะวันตกไปด้วยเพราะมองว่าเข้ากันกับความเป็นตะวันออกของตนไม่ได้ และจากมุมมองของ Sen หนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ต่อต้านตะวันตกมักจะปฏิเสธก็คือระบอบและแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยนั่นเอง ดังที่เรามักจะได้ยินวาทกรรมอยู่เสมอว่า "ตะวันตกแตกต่างกับตะวันออก ดังนั้น แนวคิดประชาธิปไตยที่โตมาจากตะวันตก ย่อมเอามาใช้ในสังคมตะวันออกไม่ได้"

Sen ตอบโต้ความเชื่อว่าประชาธิปไตยมีรากมาจากตะวันตกเท่านั้นและไม่สามารถใช้ในสังคมตะวันออกไว้อย่างน่าสนใจ โดย Sen เห็นว่าความเป็นตะวันตก-ตะวันออกนั้นอาจจะไม่มีอยู่จริง และต่อให้มีอยู่จริงก็ยังมีหลักฐานจำนวนมากว่าในสังคมตะวันออกก็มีรากฐานประชาธิปไตยเช่นกัน ตัวอย่างที่ Sen ยกขึ้นมาใช้โต้แย้ง เช่น ในยุคใกล้เคียงกับยุคนครรัฐของเอเธนส์ เมือง Susa ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านก็มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา เช่นเดียวกันระบบสภาของสังฆะ (Buddhist councils) ในอินเดียก็มีการตัดสินใจผ่านการปรึกษาหารือ (Deliberation) ส่วนในญี่ปุ่นมีการเขียนหลักการปกครองประเทศชื่อ “the constitution of seventeen articles” ที่กำหนดให้ผู้ปกครองต้องตัดสินใจผ่านการปรึกษาหารือ ซึ่งหลักการข้อนี้ในญี่ปุ่นนี้เกิดขึ้นก่อน Magna Carta กว่า 600 ปี เสียอีก (Sen 2006 บทที่ 3) นอกจากนี้ในศาสนาอิสลามเองก็มีคำสอนเกี่ยวกับการปรึกษาหารือกำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกรุอานเช่นกัน (มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง 2559)

กล่าวโดยสรุปคือ ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกแม้จะช่วยให้เกิดการตั้งคำถามต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจและเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา แต่ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกที่รุนแรงจนเกินไปก็อาจจะทำให้เรามองเห็นแต่ภาพลวงตาของอัตลักษณ์ที่ว่าความเป็นตะวันตกและตะวันออกนั้นมีอยู่จริง เปรียบเสมือนสีขาวและสีดำที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและไม่สามารถเข้ากันได้ ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำวาทกรรมที่ว่าความคิดประชาธิปไตยที่เป็นของตะวันตก (หรือสิ่งดีๆอื่นๆในตะวันตก) นั้นไม่เหมาะสมกับความเป็นตะวันออก ทั้งๆที่แท้จริงแล้วความเป็นตะวันตก-ตะวันออกอันสมบูรณ์นั้นอาจจะไม่มีอยู่ และหากย้อนกลับไปดูตามประวัติศาสตร์แล้วหลายประเทศที่เรามองว่าเป็นตัวแทนของฝั่งตะวันออกในปัจจุบันก็มีรากฐานประชาธิปไตยอยู่เช่นกัน

ในกรณีความขัดแย้งระหว่างคุณพีรพลกับ ปธน. แอร์โดอันนั้น ผมคงไม่สามารถตอบได้ว่ากระแสความรู้สึกต่อต้านตะวันตกในประเทศไทยนั้นอยู่ในระดับใด และมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน แต่เพียงอยากจะเสนอว่ากระแสสนับสนุน ปธน. แอร์โดอันนั้นน่าจะเกิดจากความเติบโตของความรู้สึกต่อต้านตะวันตกที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก (รวมถึงในประเทศไทยด้วย) โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดกับชาวมุสลิมเท่านั้น และอยากจะแสดงให้เห็นว่าแม้ความรู้สึกต่อต้านตะวันตกจะช่วยให้เราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา แต่เราก็ควรจะรู้เท่าทันความซับซ้อนของวาทกรรม “ความเป็นตะวันตก-ตะวันออก” ด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้เราเสียโอกาสที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นเพียงเพราะการด่วนสรุปว่าเขาแตกต่างจากเราและไม่มีวันจะเข้ากันได้

 

เอกสารอ้างอิง

BBC Thai (2560) ปธน.ตุรกีปฏิเสธจำคุกนักข่าวนับร้อย ประกาศไม่แคร์ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกอียู. สืบค้นจาก: https://www.bbc.com/thai/international-40583327 (สืบค้นเมื่อ: 27/7/2561)

//Biography.com (2018) Recep Tayyip Erdogan: Biography. Available from: https://www.biography.com/people/recep-tayyip-erdogan-37630 (Accessed: 27/7/2018).

CNN (2018) Recep Tayyip Erdogan Fast Facts. Available from: https://edition.cnn.com/2015/11/26/middleeast/recep-tayyip-erdogan-fast-facts/index.html (Accessed: 27/7/2018).

Daily Sabah (2017) Erdoğan says US envoy Bass not welcome in Turkey. Available from: https://www.dailysabah.com/diplomacy/2017/10/10/erdogan-says-us-envoy-bass-not-welcome-in-turkey (Accessed: 27/7/2018).

Reuters (2018) With more Islamic schooling, Erdogan aims to reshape Turkey. Available from: https://www.reuters.com/investigates/special-report/turkey-erdogan-education/ (Accessed: 27/7/2018).

Sen (2006) Identity and Violence: The Illusion of Destiny.

T News (2561) เปิดประวัติ "เรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน" ผู้นำตุรกี: เติบโตจากครอบครัวยากจน วิสัยทัศน์ไม่ธรรมดาจนนำพาความรุ่งเรืองสู่ตุรกี. สืบค้นจาก: http://www.tnews.co.th/contents/473922 (สืบค้นเมื่อ: 27/7/2561)

Voice TV (2561) ช่อง 3 พักงาน 'แชมป์-พีรพล' ไม่มีกำหนด ปมพูดละเมิดผู้นำตุรกี. สืบค้นจาก: https://www.voicetv.co.th/read/Sk7vezuVX (สืบค้นเมื่อ: 27/7/2561).

มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง (2559) อิสลามกับประชาธิปไตย: บทสะท้อนเบื้องต้น. สืบค้นจาก: https://deepsouthwatch.org/th/node/9354 (สืบค้นเมื่อ: 27/7/2561).

 

[1] แม้จำนวนผู้ชื่นชอบที่เป็นมุสลิมอาจจะมากกว่าก็ตาม

[2] หลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีคนไทยจำนวนมากทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิมสนับสนุน ปธน. แอร์โดอันในกรณีความขัดแย้งกับคุณพีรพลก็คือปฏิกิรยาตอบรับจากโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเราจะเห็นว่าผู้ออกมาสนับสนุนแอร์โดอันเพราะความชื่นชอบนั้นมีทั้งกลุ่มที่เป็นมุสลิมและไม่เป็นมุสลิม กลุ่มที่เป็นมุสลิม เช่น เพจ  “Save Islam : สมาคมปกป้องอัลอิสลาม” ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิม เช่น สำนักข่าว T News (ดูเพิ่มเติมจาก T News 2561)

[3] ซึ่งผมไม่ปฏิเสธว่ามันมีอยู่จริง

[4] อาทิเช่น แกงกะหรี่ของอินเดียเริ่มใช้พริกครั้งแรกหลังจากโปรตุเกสนำเข้ามา หรือวัฒนธรรมไทยที่เรายึดถือในปัจจุบันจริงๆแล้วคือวัฒนธรรมวิคตอเรียน หรือความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของตะวันตกวางอยู่บนพื้นฐานคณิตศาสตร์ของตะวันออก เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท