ปู่คออี้ทำบัตรประชาชนใบแรกเมื่ออายุ 107 ปี สอบหลักฐานชัดเป็นคนไทยตั้งแต่เกิด

ปู่คออี้วัย 107 ปี ผู้นำอาวุโสชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ทำบัตรประชาชนใบแรก สอบพยานหลักฐานย้ำชัดเป็นคนไทยตั้งแต่เกิด หลังจากนี้เตรียมทำเรื่องใช้สิทธิรับเบี้ยผู้สูงอายุ ขณะที่ทนายสิทธิมนุษยชนชี้ปู่คออี้ทำบัตรประชาชนในฐานะคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ กรมประชาสงเคราะห์เคยสำรวจมาแล้ว ชี้ชัดปู่คออี้เกิดเมืองไทย ด้านนายอำเภอเผยหลายปีก่อนเคยชวนทำบัตรแต่ปู่คออี้ปฏิเสธ เพราะปู่คออี้ต้องการกลับบ้านเกิดที่บางกลอยบนมากกว่า

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน "ปู่คออี้" อายุ 107 ปี ผู้นำอาวุโสชาวกะเหรี่ยงแห่งผืนป่าแก่งกระจาน (ที่มา: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. นายโคอิ มีมิ หรือ "ปู่คออี้" อายุ 107 ปี ผู้นำอาวุโสกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจานเดินทางมาถ่ายรูปทำบัตรประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ทั้งนี้เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิสถานะบุคคลและชนเผ่าพื้นเมือง ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนด้วย

ในจดหมายข่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ “ปู่คออี้” ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องสิทธิสถานะบุคคล และมอบหมายให้ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอรับรองสัญชาติไทย ซึ่งต่อมาสุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายทะเบียนอำเภอแก่งกระจาน ได้ทำการตรวจสอบพยานเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลเสร็จสิ้นตามกระบวนทางกฎหมายและได้อนุมัติให้เพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ทร. 14) ให้แก่ “ปู่คออี้” แล้ว

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากหลักฐานทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือ ทร.ชข. ปรากฏว่า “ปู่คออี้” เกิดเมื่อปี 2454 บริเวณต้นน้ำลำภาชี รอยต่อของจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี และทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบริเวณที่เรียกว่า
บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนเรื่อยมา โดยในการสอบสวนประวัติของ “ปู่คออี้” มีนายสังวาลย์ 
อ่อนเผ่า อดีตหัวหน้าศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา และอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาที่เดินสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติเป็นพยานบุคคล ดังนั้นจึงถือว่า “ปู่คออี้” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์คนไทยติดแผ่นดินซึ่งย่อมมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

เตือนใจกล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในการทำบัตรประจำตัวประชาชนของ “ปู่คออี้” ในวัย 107 ปี ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเป็นพลเมืองไทยที่สมบูรณ์ หลังจากที่หน่วยงานต่าง ๆ มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสัญชาติร่วมกันมานับ 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถานะบุคคลในกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติ
ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ประสบปัญหาดังกล่าวอีกจำนวนมาก เนื่องด้วยกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้แม้อยู่ในดินแดนประเทศไทยมานานแต่เป็นเรื่องยากที่จะขอรับรองการมีสัญชาติไทย เป็นเหตุให้ดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก ขาดโอกาสในหลายด้าน ทั้งยังเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เช่น การได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และสิทธิในการเดินทางโดยเสรี 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ.... เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนและสัญชาติที่เป็นปัญหายืดเยื้อมานานของกลุ่มผู้ไร้สัญชาติในประเทศไทย

 

'เตือนใจ'โต้สื่อ เปิดหลักฐานปู่คออี้เกิดในไทยไม่ใช่พม่า, 15 มิ.ย. 2561

ศาลสั่งจ่าย 'ปู่คออี้กับพวก' เพิ่มเป็น 50,000 แต่ไม่ให้กลับที่เดิม- 'ชัยวัฒน์' ยันไม่ขอโทษ, 12 มิ.ย. 2561

 

ทนายสิทธิชี้ปู่คออี้เป็นคนไทยมาตั้งแต่เกิด แต่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์

ทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน ระบุว่าปู่คออี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2454 (ที่มา: คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า วันนี้ปู่คออี้มาทำบัตรประชาชนในฐานะคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร์ เพราะปู่คออี้เป็นคนไทยอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาเพิ่งได้เพิ่มชื่อคนไทยในระบบทะเบียนราษฎร์และเลข 13 หลัก แต่โดยกรณีของปู่คออี้ มีการสอบพยานหลักฐานจนเชื่อได้ว่าปู่เป็นคนไทยแน่นอน มีพยานทั้งชาวกะเหรี่ยง ผู้ใหญ่บ้านมารับรองยืนยัน นอกจากนี้ยังมีสังวาลย์ 
อ่อนเผ่า อดีตหัวหน้าศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.กาญจนบุรี และอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาที่เดินสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติเป็นพยานบุคคล ที่เคยดูแลพื้นที่ภาคตะวันตกด้านกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และเคยมาสำรวจบริเวณบ้านใจแผ่นดิน หมู่บ้านบางกลอยเดิมในปี 2528 และได้พบกับปู่คออี้

นอกจากนี้ครูพันทิพย์ เจริญวัย ชุดสำรวจชาวเขา ก็เคยพบกับปู่คออี้และครอบครัว มีการสำรวจประชากรบนพื้นที่สูงในปี 2530 และได้จัดทำทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน (ทร.ชข.) ของกรมประชาสงเคราะห์ ให้กับปู่คออี้

เมื่อพิจารณาพยานอื่นๆ ประกอบกับ สุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายอำเภอแก่งกระจานเชื่อว่าปู่คออี้เป็นคนไทยจริง โดยเมื่อเพิ่มชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์แล้ว นายอำเภอยังเดินทางไปสอบปากคำปู่ถึงหมู่บ้านด้วย ก่อนหน้านี้มีการนัดปู่คออี้มาถ่ายบัตรประชาชน แต่มีช่วงหนึ่งฝนตกถนนขาด เลยยังไม่ได้ดำเนินการ จนสุดท้ายได้นัดปู่คออี้ลงมาถ่ายบัตรประชาชนได้ในวันนี้ 

โดยก่อนหน้านี้ข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยข้อมูลในทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้านสำหรับชาวเขา หรือ ทร.ชข. ซึ่งระบุว่าปู่คออี้เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2454 ที่ จ.เพชรบุรี บิดาชื่อนายมิมิ และมารดาชื่อนางพีนอคี นอกจากนั้นยังมีหลักฐานภาพถ่ายที่ปรากฏว่าปู่คออี้และกะเหรี่ยงใจบ้านแผ่นดินเดินทางไปหากำนันตำบลสวนผึ้งเพื่อนำของป่าไปขายยังตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นอภ.เผยก่อนหน้านี้ปู่ไม่ยอมทำบัตร เพราะอยากกลับบ้านเดิมที่บางกลอยบนมากกว่า

ส่วนในรายงานของสยามรัฐ  สุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายอำเภอแก่งกระจาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อน อำเภอแก่งกระจาน ได้เดินทางไปบ้านบางกลอยล่าง เพื่อชักชวนปู่คออี้ให้ลงมาดำเนินการขอสัญชาติไทย แต่ปู่คออี้ปฏิเสธ บอกว่าไม่อยากเป็นคนไทย แต่อยากกลับไปอยู่ที่บ้านเดิมคือบ้านบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน กระทั่งครูเตือนใจได้มาประสานอีกครั้ง ตัวเขาจึงเดินทางไปพูดคุยกับปู่คออี้จนยินยอมที่จะเป็นคนไทย แต่ปู่คออี้พูดและเขียนภาษาไทยไม่ได้ ประกอบกับสภาพร่างกายและอายุที่มาก ปู่คออี้จึงมอบอำนาจให้ทนายความมายื่นคำร้องขอสัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อนายทะเบียนดูจากหลักฐานเอกสารและพยานบุคคลแล้วเห็นควรพิจารณาให้สัญชาติแก่ปู่คออี้ดังกล่าว

 

เตรียมยื่นเรื่องสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

อนึ่ง การจัดทำประจำตัวประชาชนของ “ปู่คออี้” ในวันนี้ มีลูกหลานและเครือข่ายกะเหรี่ยงเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมาก ทั้งนี้ อำเภอแก่งกระจานได้ประสานงานความร่วมมือไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรีและองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียงให้มาดำเนินการเรื่องสิทธิเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พร้อมทั้งประสานโรงพยาบาลแก่งกระจานมาตรวจสุขภาพให้แก่ “ปู่คออี้” ด้วย

สำหรับปู่คออี้และสมาชิกครอบครัวชาวกะเหรี่ยงเคยอาศัยอยู่ที่ "บ้านบางกลอยบน" หรือ "ใจแผ่นดิน" ในผืนป่าแก่งกระจานก่อนการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี พ.ศ. 2524 ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานให้ชาวบ้านอพยพลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ไม่ชินกับสภาพแวดล้อมจึงขอกลับไปอยู่ "บ้านบางกลอยบน" กระทั่งในปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หน.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ดำเนินการไล่รื้อบ้านและยุ้งฉาง และยึดเครื่องมือเครื่องใช้รวม 6 ครั้ง และพาปู่คออี้ลงมาอยู่พื้นที่ด้านล่าง  
โดยสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งในเดือนมิถุนายนนี้ให้กรมอุทยานแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมให้ปู่คออี้และพวกกรณีถูกเจ้าหน้าที่เผาไล่รื้อ 50,000 บาทต่อราย แต่ไม่สั่งให้กลับไปอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่เดิม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท