ผี ศิลปะ งานวิจัย สิ่งที่ยังต้องถามแม่ว่ามีจริงหรือเปล่า 1

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เป็นเรื่องเศร้าเรื่องเดียวกันของแวดวงศิลปะและวิชาการแถวนี้ บางทีเราก็ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของสังคม คุณเป็นศิลปินที่คิดเผื่อผู้ชมเอาไว้เพียบพร้อมว่าเขาจะได้อะไร จะรู้สึกอะไรจากงานของคุณบ้าง แต่แล้วก็ไม่มีผู้ชมทั่วไป และมันยังเหงาขึ้นไปอีกเมื่อนักวิจารณ์ที่เขียนถึงงานคุณ มีแต่เพื่อนของคุณ คุณเป็นนักวิชาการ คิดแล้วคิดอีกในช่วงข้อเสนอแนะเพื่อที่จะให้สมกับที่ตัวเองเลือกทำงานทางความคิด ให้คุ้มที่สังคมจ่ายให้คุณมาคิด แต่คุณพบว่าไม่มีคนอ่าน หรือคนเอาไปทำก็ไม่ได้สนใจรายละเอียดของคุณแต่อย่างใด ทำไปทำมานานเข้า คุณเริ่มนึกถึงน้ำเสียงของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา แว่วอยู่ในหัวว่า “สิ้นเดือนรับตัง แดกข้าว” คุณไม่ได้สูญเสียความเชื่ออะไรลงไป แต่คุณเหนื่อย หากบังเอิญคุณข้องแวะอยู่กับทั้งสองแวดวงดังกล่าว คุณอาจรับรู้ได้ถึงความเหนื่อยที่คล้ายกันอย่างประหลาด จากคนหลายๆ คนที่ไม่เคยรู้จักกันเลย

ผมจะปรับทุกข์ต่อด้วยการเล่าให้ฟังก่อนว่าผมไปเจออะไรมา แล้วหลังจากนั้นจะค่อยๆ อธิบายว่าศิลปะกับงานวิจัยประเทศนี้เป็นเหมือนผีได้อย่างไรในเงื่อนไขที่เกี่ยวพันกัน และเราจะคิดถึงมันอย่างไร

นักวิชาการรุ่นเล็กด้วยกันเข้าใจดีว่าในขณะที่ยังไม่มีปริญญาหรือเส้นสายมากพอ และถ้าไม่ได้ร่ำรวยพอจะรอปริญญาเฉยๆ (ผมใช้คำว่ารอ) มีอะไรเข้ามาให้ทำก็ต้องทำ เมื่อวานนี้ผมรับงานไปเป็นเสมียนจดบันทึกการประชุม และพบว่าตัวเองกำลังจดผลผลิตของนโยบายที่มาจากข้อเสนอในงานวิจัยของตัวเอง โดยที่คนในห้องประชุมก็ไม่มีใครทราบว่าผมเองที่คือคนที่เคยถือเค้กอยู่ในข้อเสนอเหล่านั้น ผมเอง ที่เสนอสิ่งเหล่านั้นไปแล้วพวกเขาเข้าใจผิด

ข้อเสนอแรกคือการสร้างหน่วยวิจัยทางวัฒนธรรมเยาวชนทั่วประเทศ ผมเขียนเอาไว้เมื่อราวสองปีที่แล้ว ก่อนที่นโยบายทรงนี้ของแหล่งทุนจะออกมา ผมเองมีโอกาสเสนอตรงกับผู้อำนวยการในแหล่งทุนนั้นทั้งสองคน คนหนึ่งในขณะที่ยังเป็นผู้อำนวยการอยู่ และอีกคนหนึ่งในขณะที่กำลังจะเป็น งานต้นฉบับที่หลายท่านมักไม่ทราบว่ามันมีอยู่ เพราะได้ดูเพียง Power Point คืองานชิ้นนี้ที่ชื่อ วิพากษ์และเสนอทิศทางการสนับสนุนของแหล่งทุนที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนไทยผ่านการวิจัยเชิงวัฒนธรรม ซึ่งบันทึกข้อเสนอเอาไว้โดยละเอียดว่าที่มาของปัญหาแหล่งทุนคืออะไร และเหตุใดจึงต้องวิจัยวัฒนธรรมเยาวชนเพิ่มเติม ข้อเสนอที่สำคัญที่สุดในนั้นคือไม่ได้เสนอให้อาจารย์ทั้งหลายรุมเข้าไปวิจัย แต่เสนอให้เยาวชนวิจัยตัวเองอย่างไม่จำกัดรูปแบบ ผมเองเสนอเอาไว้ว่า ผู้ใหญ่ไม่สามารถเข้าใจเยาวชนได้ในแบบที่เขาเป็น (อย่างที่ผมเองตอนนี้ก็เริ่มไม่เข้าใจแล้ว และถอยออกมาหลังจากข้อเสนอนี้) สิ่งที่ต้องทำคือปล่อยให้เขาพูดถึงตัวเอง สบายใจพอที่จะพูดออกมาเองได้ว่าจะเอาอะไร และผู้ใหญ่คิดถึงความต้องการของเขาในขณะที่ให้ข้อมูลกับเขาเกี่ยวกับโลกใบนี้ที่ผู้ใหญ่รู้จักมาก่อน ทีนี้ปัญหาที่ตามมาเมื่อการวิจัยที่เยาวชนวิจัยตัวเองโดยไม่มีรูปแบบเกิดขึ้นก็คือ เราจะสามารถจัดการกับข้อมูลได้อย่างไรในเมื่อมันไม่มีการจัดรูปแบบ นำมาสู่ข้อเสนอถัดมา ซึ่งก็กำลังกลายเป็นนโยบายของแหล่งทุนที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชนอีกเช่นกัน คือ

ข้อเสนอที่สอง การสร้างฐานข้อมูลที่จะจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น โดยวิธีการที่ผมเขียนเอาไว้ในประชาไทนี้เอง ซึ่งมักถูกเรียกว่า Big Data ช่วงที่ผมนำข้อเสนอนี้ไปทำงานเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการก็มักมีคนเข้าใจว่าผมกำลังเสนอ Big Data โดยทั่วไป ซึ่งก็อาจเป็นเช่นนั้น แต่ผมเสนอโดยมีรายละเอียดที่มากกว่านั้น จึงไม่นิยมเรียกมันว่า Big Data ด้วยตัวเอง เขียนเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นนี้ การสานสะพานระหว่างข้อมูลกับมนุษย์: ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลประชากรโดยประชาชน ซึ่งใจความของมันเสนอการจัดข้อมูลที่เป็นมนุษย์มากๆ หรือไม่มีระบบ ให้สามารถประเมินหรือประมวลเพื่อสร้างนโยบายตอบรับสนับสนุนได้

งานทั้งสองชิ้นนี้ผมแลกเปลี่ยนในเวทีของ UNFPA หนึ่งครั้ง โดยพูดถึงทั้งสองงานพร้อมๆ กัน หนึ่งในผู้เล่นสำคัญที่สุดที่จะกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนอยู่ในนั้นด้วยกันเกือบทั้งหมด (แน่นอนว่าที่ประชุมที่ผมไปเป็นเสมียน รับนโยบายมาจากคนเหล่านี้) ในงานประชุมนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว มีบันทึกไว้ใน รายงานประชากรไทย พ.ศ. 2561: การลงทุนกับเยาวชน และกำชับเอาไว้ตามที่มีบันทึกการประชุมว่า การวิจัยต้องเป็นของเยาวชนเอง ไม่จำกัดรูปแบบ ส่วนหน้าที่ของผู้ใหญ่คือการลงทุนกับการสร้างฐานข้อมูลเพื่อจัดการกับข้อมูล ผมยังเสนอเอาไว้ชัดเจนอีกด้วยว่า ให้งบวิจัยไปก็ไม่คุ้ม เป็นการลงทุนที่ไม่ทัน เพราะวัฒนธรรมวิ่งเร็วมากในช่วงปีหลัง ให้เอางบส่วนนั้นมาพัฒนาฐานข้อมูล และเริ่มการ “entitle” หรือมอบสิทธิอำนาจอย่างเป็นทางการให้เยาวชนวิจัยตนเอง งานทุกชิ้นของผมเชื่อว่าเขาวิจัยตนเองได้ ผมเขียนข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมดเมื่อมีอายุ 19-21 ปี คนที่ทำแบบเดียวกันกับผมได้มีเยอะแยะ หากตัดความขึงขังในรูปแบบงานวิจัยออกไป ผมพูดอยู่บ่อยครั้งว่างานของผม บางทีก็มีบทบาทแค่การแปลภาษาจากภาษาเด็กให้กลายเป็นภาษาผู้ใหญ่ เพื่อขึงขังให้ผู้ใหญ่ยอมรับฟังเท่านั้น

กลับมาที่ผมในบทบาทเสมียน ผมพบว่าข้อเสนอของผมที่ตกทอดลงไปในที่ประชุมนั้นเหลืออยู่เพียงสองประเด็นสั้นๆ เท่านั้น หนึ่ง จัดตั้งศูนย์วิจัยเยาวชนทั่วประเทศ สิ่งที่หายไปคือ วิจัยวัฒนธรรม และอีกสิ่งที่หายไปคือการวิจัยโดยเยาวชนเอง สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือความเป็นสถาบันของคำว่าศูนย์ ซึ่งหมายความว่าเขาก็จะวิจัยว่าทำอย่างไรให้เด็กสูบบุหรี่น้อยลง ไม่ได้สนใจว่า ROV ส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมเยาวชนอย่างไร และจะใช้มันสื่อสารกับเยาวชนได้อย่างไร เมื่อมันเป็นศูนย์ เยาวชนก็เป็นวัตถุวิจัย ไม่ใช่ผู้วิจัย และอีกประเด็นสำคัญก็คือ เขาคงเข้าใจกันไปว่านี่คือการเปิดโอกาสให้อาจารย์ต่างๆ เข้ามาวิจัย ด่า สั่งสอน ยัดเยียดแบบสอบถามให้เด็กและเยาวชนอีกเช่นเคย และไม่ได้มีใครพูดถึงการสนับสนุนทุนลงไปให้เยาวชนวิจัยตัวเองอีกต่อไป น่าจะไม่แม้แต่จินตนาการว่ามันเป็นไปได้ ทุกคนคืออาจารย์ และจะวิจัยกันโดยรูปแบบเดิม ทำทุกอย่างเหมือนเดิม ส่วนผมเองที่สร้างข้อเสนอนี้ขึ้นมา วางพนันว่าถ้ายังทำตามนี้ต่อไป จะไม่มีอะไรดีขึ้น นอกจากชีวิตของอาจารย์ที่ขอทุนวิจัยได้ แล้วไปเกณฑ์เด็กมาทำวิจัย

ความเชื่อว่าเยาวชนหรือวัยรุ่นเป็นเพียงเด็ก เป็นเพียง junior ฝังลึกอย่างมากที่สุดจนแม้แต่คนที่พูดว่าตัวเองเปิดกว้าง รับฟัง และอยากสนับสนุนมากกว่าชี้นำเยาวชน ก็ไม่สามารถมองเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเขาเองไม่สามารถไว้ใจให้เยาวชนทำงานในบทบาทนำ หรือ active ได้ (ขออนุญาตข้ามเรื่องที่ว่า ทำไมเยาวชนบางส่วนทำไม่ได้ไปก่อน เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะพูดถึงในวาระนี้ หลายท่านคงทราบว่าภาระของเยาวชนตั้งแต่ในคาบเรียนยาวไปจนถึงการสอบเข้าต่างๆ มันมากมายเพียงใด ใครจะมาบ้านั่งวิจัยเรื่องที่ตัวเองสนใจเหมือนผมที่ทิ้งการเรียนไปตั้งแต่ ม.ปลาย คนบ้าเราไม่นับ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกคนไม่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ เพียงแต่ประเทศนี้อนุญาตให้คนบ้าที่ยอมขูดรีดตนเองเท่านั้นได้ทำ)

ประเด็นที่สอง Big Data เขาคุยกันว่ามีนโยบายจะจัดทำ Big Data ไม่มีใครเข้าใจว่ามันมีขึ้นมาเพื่ออะไร และไม่มีใครเข้าใจว่ามันล้อกับการตั้งหน่วยวิจัยทั่วประเทศอย่างไร คนในที่ประชุมบ่นอุบว่ามันต้องอัพเดทตลอดเวลา ซึ่งเขาตามแจกแบบสอบถามไม่ทัน แต่ประเด็นของผมคือพวกเขาไม่ใช่คนที่จะต้องแจกแบบสอบถามอีกต่อไป พวกเขามีหน้าที่นั่งอ่านและตีความข้อมูล กับบอกเด็กและเยาวชนว่าสามารถส่งข้อมูลเข้ามาบนฐานข้อมูลเหล่านั้นได้ เรื่อง Big Data ก็ตกไป เพราะทุกคนตกลงกันว่าทำไม่ทัน และไม่เข้าใจว่ามันมีอยู่ทำไม เพราะเขาไม่เข้าใจตั้งแต่ข้อเสนอแรกว่าจะมีหน่วยวิจัยวัฒนธรรมทั่วประเทศไปทำไม  

ที่ผมเจ็บช้ำที่สุดคือ ยังมีคนในที่ประชุมที่พูดอีกว่า เด็กและเยาวชนสมัยนี้มันไว เราไม่รู้จะตามมันทันได้อย่างไร ซึ่งคำถามนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยหลังจากที่เขาผ่านตานโยบายทั้งสองนโยบายมาล้ว คือหน่วยวิจัยเยาวชนโดยเยาวชนเอง และการจัดการข้อมูลเหล่านั้นโดยฐานข้อมูลที่ผู้ใหญ่ออกแบบ สรุปแล้วก็คือ ทุกอย่างที่ผมเสนอไปถูกเข้าใจผิดหมดจนจะไม่แก้ปัญหาอะไร และไม่มีใครรู้สึกด้วยซ้ำว่าจะเริ่มเข้าใจกันระหว่างวัฒนธรรมต่างวัยได้อย่างไร ที่สุดแล้วมันยังเผยให้เห็นว่า ทุกคนก็ไม่ทราบอยู่ดีว่าจะทำในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ไปเพื่ออะไร นอกจากงบวิจัยและตำแหน่งที่จะทำให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นมา

ผมลงพนันอีกครั้งว่า จะไม่มีอะไรดีขึ้น

ผมรู้สึกเหมือนถูกจับมานั่งมัด จับหัวให้มองลูกของตัวเองถูกฉีกทึ้งอยู่ตรงหน้า แล้วคนฉีกก็เอาไปแบ่งกันกิน ลูกผมตาย พูดไม่ได้อีกต่อไป ตลอดระยะเวลาที่เป็นเสมียน ผมรู้สึกเหมือนถูกจับมาทำโทษที่ไม่ได้อยู่ทำงานด้านการพัฒนาต่อ ผมนั่งเงียบและจดมันลงไปทุกอย่าง ไม่ได้ยกมือเถียง ไม่ได้แสดงความคิดเห็น ปีนี้ผมเหนื่อยเกินกว่าจะเถียงกับใครแล้วไม่ได้ผลอะไรอีกต่อไป

หลังจากนั้นผมก็มานั่งคิดกับตัวเองว่า ทำไมเขาไม่อ่านงานวิจัยกันด้วยตัวเอง หรือทำไมสายงานไม่ป้อนงานวิจัยหรือข้อเสนอให้กันอ่าน หรืออันที่จริงแล้วมีใครเคยอ่านสิ่งที่ผมเขียนหรือไม่ หรือฟังแต่ที่ผมพูดเพียงอย่างเดียว หรือที่คนอื่นเอางานเหล่านั้นไปพูดเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าอ่านก็จะเห็นว่าที่กำลังทำกันอยู่นี้จะพากลับไปสู่ความล้มเหลวเหมือนเคย คือผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็ก สร้างนโยบายออกมาให้เด็กเกลียด สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คืองานเด็กและเยาวชนที่เละเทะเท่าเดิม แต่มีจำนวนมากขึ้น หรือว่าเขาอ่านมาอย่างดีแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้จนตัดให้เหลือแต่ส่วนที่ทำได้อยู่ดี

งานวิจัยที่แม้จะเข้าไปถึงส่วนนโยบายแล้ว ทำไมมีอยู่ก็เหมือนไม่มี และทำไมถึงแปลงร่างกลายเป็นสิ่งอื่นได้อย่างสุดโต่งขนาดนี้ ผมพยายามนึกว่ามันเกิดจากอะไร ขณะที่ออกไปสูบบุหรี่และคุยกับเยาวชนที่เข้ามาร่วมโครงการโดยไม่ได้รู้มาก่อนว่าเขาจะถูกพามาทำอะไร เขาบอกผมที่เราเพิ่งรู้จักกันจากการยืมไฟแช็กตรงนั้นว่า เขาเกลียดงานวันนี้ อยากจะเถียง อยากจะกลับบ้านตั้งแต่วันแรก แต่เกรงใจ เขาพูดว่าตัวเองรู้มากกว่าที่วิทยากรมาสอนแล้ว คนจัดงานไม่ให้เวลาเขาพักหรือพูดคุยกันเอง ทำเหมือนเขาไม่เคยทำอะไรมาก่อน ทั้งที่เขาคิดว่าเขาเคยไปนอนกับชาวบ้านและแก้ไขปัญหามาได้แล้วมากกว่าผู้จัดซะอีก แต่กลับถูกผู้จัดทำเหมือนเขาไม่เคยทำอะไรมาเลย และมาสอนเขียนโครงการให้ขายได้เฉยๆ ซึ่งเขาตระหนักดีว่าโครงการที่ขายได้เหล่านี้ ไม่ช่วยอะไร เมื่อถามว่าทำไมไม่บอกไปตรงๆ ภายในงาน เขาบอกว่าไม่มีโอกาสและไม่มีช่องที่เปิดให้เขาได้พูดเลย เขาบอกให้ผมฟังว่าช่วงที่พวกเขาไปรวมตัวกันเยอะๆ ในห้องน้ำและผมเดินสวนเข้าไปเห็น คือเขาเข้าไปปรึกษากันว่าจะขบถต่องานที่เขาไม่ชอบมากๆ งานนี้อย่างไรดี แต่แล้วก็ต้องยกเลิกความคิดเหล่านั้นไป เพราะเกรงใจผู้ใหญ่ ในทางกลับกัน ผมยังไม่เห็นผู้ใหญ่คนไหนเกรงใจพวกเขาเลย เขาบอกว่าเขาต้องวงแตกเพราะคนที่เข้าไปไล่เขาออกมาจากห้องน้ำให้เข้าไปร่วมงานต่อคิดว่าพวกเขาแค่กำลังเถลไถลไปเรื่อย

ช่างมีวุฒิภาวะมากเหลือเกิน ในที่ที่ไม่มีใครมีวุฒิภาวะกับพวกเขาเลย

แล้วผมทำอะไรบ้าง? ผมไม่ทำอะไรเลย ผมไปเพื่อเป็นเสมียน รับเงิน แล้วกลับบ้าน

นั่นทำให้ผมนึกถึงรูปแบบองค์กรและโครงสร้างการเสนอโครงการต่างๆ ที่ไม่เคยอนุญาตให้ความจริงทำงาน ความจริงทำงานกับเราได้น้อยเหลือเกินเมื่อมีไมโครโฟนจ่ออยู่ที่ปากและความเป็นทางการเข้ามาเล่นงาน ความจริงทำงานเพียงบนโต๊ะอาหาร ห้องน้ำ หรือที่พักสูบบุหรี่ ต่อให้เราเข้าไปพบความจริงมามากขนาดไหนก็ตาม เราจะพบว่าเราไม่สามารถเขียนมันลงไปในฟอร์มของโครงการได้ ไม่สามารถระบุตัวชี้วัดได้แม้จะเห็นอยู่ตรงหน้าว่าอะไรที่แก้ปัญหาได้จริงๆ สุดท้ายทุกคนก็เหนื่อยและลงเอยกับการจัดอบรม ศึกษาดูงาน สานพลังเครือข่าย ทำให้มันจบๆ ไปอย่างว่างเปล่า และไม่เคยกล้าย้อนกลับมามองในสายตาคนนอกว่า ยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ในขณะที่เรื่องยากไม่มีใครสนใจและเข้าใจ การทำเรื่องง่ายที่เข้าใจได้ง่ายๆ กลับขายได้ตลอดเวลา ดังนั้นทุกคนจึงมุ่งหน้าไปที่การเขียนโครงการเพื่อขาย รวมทั้งงานประชุมครั้งนี้ที่ผมไปเป็นเสมียนมาก็ด้วย เขาตั้งใจจะสอนเพียงการเขียนโครงการเพื่อให้แหล่งทุนอนุมัติเท่านั้น

ในบรรยากาศแบบนี้ คุณจะอ่านงานวิจัยหรือจริงใจกับปัญหาไปเพื่ออะไร ในเมื่อเขียนความจริงลงไปแล้วมันกลับกลายเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงไม่ได้ในระบบ? และคุณจะอ่านหรือทำความเข้าใจงานโดยละเอียดไปเพื่ออะไร เมื่อมีเพียง Power Point กับอินโฟกราฟฟิกสวยๆ ที่นำมาขายงานกับคุณ คุณก็คิดไปเองว่าตัวเองเข้าใจมันอย่างละเอียดแล้วได้ และเมื่ออ่านไป รับรู้ถึงความจริงไป คุณก็ใส่มันลงไปในโครงการหรือตัวชี้วัดไม่ได้อยู่ดี และดังนั้นเมื่อคุณหลวมตัวมาทำงานพัฒนาสังคมจนไม่มีประวัติไปทำงานอย่างอื่นได้แล้ว คุณก็ยังต้องทำมันต่อไปทั้งที่รู้อยู่ว่าจะไม่มีอะไรดีขึ้น และปลอบใจตัวเองด้วยคำชมเล็กน้อยจากเด็กบางคนที่เกรงใจคุณ แล้วคุณก็อาจคิดได้ว่า ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ทุกอย่างก็ราบรื่นดี คนที่มีปัญหาคือคนที่มีอคติ

นอกจากงานวิจัยของผมเองที่ตอนนี้ผมต้องยอมรับว่าผลของมันล้มเหลวไปแล้ว ผมยังคิดถึงงานวิจัยโดยอาจารย์อีกหลายชิ้นที่กำลังจะคลอดตามมา พวกมันก็จะล้มเหลวตามกันไปอีก จะไม่มีนโยบายที่เข้าอกเข้าใจวัฒนธรรมเยาวชนต่อไปอีก จะมีงานวิจัยที่วิจัยจบแล้วไม่ตอบปัญหาของสังคมต่อไปอีก ไม่แม้แต่จะถูกหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้ง งานเหล่านี้เคยมีใครกล้าหาญมากพอหรือไม่ที่จะวิจัยความล้มเหลวของพวกมัน งานเหล่านี้ที่จำนวนไม่น้อยมีที่มาเป็นภาษี ที่สังคมมอบให้นักวิชาการเอาไปคิดเพื่อกลับมาแก้ปัญหาสังคม (โดยที่สังคมก็ไม่มีโอกาสตัดสินใจเอง แต่ถูกตัดสินใจแทนด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ) เป็นอาชีพที่สังคมให้เงินเรามานั่งคิดอย่างเดียวเพื่อแก้ปัญหาให้เขา ผมอยากทราบว่ามีใครอายบ้างหรือไม่ที่งานของตัวเองไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ผมอาย

แหล่งทุนวิจัยกล้าวิจัยความล้มเหลวของตัวเองหรือไม่?

ผมไม่อยากจะโทษว่าอาจารย์เหล่านี้เป็นมารร้าย นี่เป็นธรรมชาติของสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นจากบรรยากาศทางวิชาการที่เป็นอยู่ คือเงินเดือนอาจารย์มันไม่พอกินพอใช้ รวมทั้งยังมีเวลากับภาระงานล้นพ้น แต่ก็ต้องทำวิจัยเพิ่มเพื่อเลี้ยงตัวเอง และก้าวหน้าในอาชีพ เมื่อยื่นขอทุนวิจัย อาจารย์จะพบว่าใส่ความจริงลงไปไม่ได้ หรือทำได้ยากลำบากเหลือเกิน งานวิจัยประเทศนี้ไม่มีงานที่ออกมาไม่ตรงสมมติฐาน การวิจัยทุกอย่างวิจัยในสิ่งที่รู้อยู่แล้ว เพราะความจริงใส่ลงไปไม่ได้ มันจะไม่ตรงกับที่เขียนขอในโครงการ จู่ๆ คุณจะเลี้ยวไปทำอย่างอื่นไม่ได้ทั้งๆ ที่คุณเห็นอยู่ตำตาว่าต้องทำมันเพื่อแก้ปัญหา ในขณะที่ถ้าจะต้องทำให้ได้ มันก็ต้องลงแรงมากเหลือคุ้มเพื่อที่จะสู้กับข้อจำกัดต่างๆ และซ้ำร้ายต่อให้ทำออกมาได้ดีมาก อาจารย์ก็ยังมั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีใครอ่านงานของเขาอย่างละเอียด คนไทยไม่อ่านงานกันเองละเอียดเหมือนอ่านงานปรัชญาฝรั่ง ข้อสรุปที่เกิดขึ้นกลายเป็นภาวะรู้ทั้งรู้ว่าทำลงไปก็ไม่ช่วยอะไร แต่ก็ยังคงต้องทำ เหมือนกับที่ผมไม่ได้อยากรับงานเสมียน แต่ก็ต้องรับ

ลองนึกว่าเราอยู่ในประเทศที่ชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์เท่านี้ ประกันชีวิตไม่มี ดอกเบี้ยบ้านแพง การศึกษาไม่ฟรี เราจะมีทางเลือกสักกี่ทางกัน หากวันหนึ่งอาชีพอาจารย์เองมั่นคงกว่าทุกวันนี้ รัฐมีสวัสดิการมากขึ้น สามารถทำหน้าที่หลักได้โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม งานวิจัยอาจกลายเป็นงานของคนที่ “อิน” จริงๆ และสู้กับหัวข้อวิจัยของตัวเองจริงๆ ไม่ต้องมานั่งวิจัยเป็นพิธีกรรม วิจัยรักษาหน้ากันไปวันๆ เช่นทุกวันนี้ และไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเครือข่ายของอาจารย์ที่รักษามิตรภาพกันเองเอาไว้เพื่อที่จะให้เครือข่ายของตัวเองได้เติบโต คนขอทุนวิจัยควรจะน้อยลง คุณภาพของงานควรจะมากขึ้น และเราทุกคนก็จะมีเวลาอ่านมันในสภาพของรัฐที่มีทั้งเวลาว่าง ความตึงเครียดในหน้าที่การงานน้อย และสวัสดิการ ที่สุดแล้วในประเทศนี้ ถึงจะมีงานวิจัยที่ดีอยู่แล้ว งานก็ไม่สามารถทำงานได้ หากไม่เปลี่ยนโครงสร้างซึ่งต้องทำผ่านอำนาจบริหาร อำนาจทางการเมือง

ไม่รู้พูดแบบนี้จะทำร้ายอนาคตของตัวเองหรือเปล่า แต่ผมเสนออย่างประชดประชันเล็กน้อยว่าภารกิจเดียวของหน่วยทุนที่เกี่ยวกับการวิจัยในประเทศนี้ ตอนนี้ มีอยู่ภารกิจเดียว คือวิจัยว่าทำยังไงให้งานวิจัยทำงานได้เสียที ทำยังไงให้ข้อเสนอที่ผ่านการครุ่นคิดเข้าไปถึงการสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหา หลังจากนั้นค่อยไปทำประเด็นอื่น ทำอย่างไรดีให้งานวิจัยในประเทศนี้มีอยู่จริง ไม่ใช่สิ่งที่มีไว้ตกแต่งสิ่งที่ใครสักคนอยากจะทำเพื่อที่จะบอกกับสังคมว่า กูวิจัยมาแล้ว

การจะแก้ปัญหาเหล่านี้คงพึ่งพาอำนาจระดับท้องถิ่นหรือการรวมพลัง หรือ NGO ได้ยาก ที่สุดแล้วมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการอำนาจ กลายเป็นว่าหากปัญหาของคุณอยู่ในแวดวงใดแวดวงหนึ่งและอยากจะแก้ไขมันอย่างถึงที่สุด คุณจะพบว่าคุณอาจต้องคิดถึงการไขว่คว้าอำนาจทางการเมือง คุณแก้เรื่องของคุณไม่ได้เพราะปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณเพียงอย่างเดียว ซึ่งที่สุดแล้วต้นทุนชีวิตคุณเองหรือผมเองก็ไม่มากพอ แรงของพวกเราก็เช่นกัน

พรรคอนาคตใหม่หรอ? ผมไม่แน่ใจ ด้วยความสัตย์จริง ผมยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่จะทำให้ผมเชื่อใจได้

ในสภาวะกึ่งมีกึ่งไม่มี กึ่งจริงกึ่งไม่จริงเช่นนี้ คงพอจะพูดกลับไปที่หัวข้อบทความได้แล้วว่าทำไมงานวิจัยในประเทศนี้จึงคล้ายผี ทุกคนพูดถึงมัน บางคนเคยเจอ บางคนไม่เคยเจอ และอิทธิพลของมันก็ยากที่จะพูดถึง เราทุกคนคงเห็นตรงกันว่าผีบางตัวอาจมีอิทธิพลมากกว่างานวิจัยสายสังคมศาสตร์บางชิ้นหรือทุกชิ้น ในประเทศนี้ บางคนเคยเจอผี แต่หลายคนไม่เคยเจองานวิจัย อย่างสมาชิกในที่ประชุมวันนั้น ผมคิดว่าพวกเขาก็ไม่เคยเจองานของผมเลยทั้งที่กำลังทำงานบนฐานที่ผมมีส่วนสร้างอยู่ สำหรับผม เหมือนพวกเขากำลังทำงานกับผี

สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นในโลกของศิลปะร่วมสมัย หลังจากผมอกหักอย่างรุนแรงจากโลกของงานพัฒนาสังคมแล้ว ผมกะจะกลับเข้าไปซบอกพักพิงอยู่กับโลกของศิลปะ แต่แล้วก็ไม่พ้นการต้องพบปัญหาคล้ายๆ กันที่เกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คุณทำละครหนึ่งเรื่องในประเทศนี้ คุณไม่ได้กำลังต่อสู้กับประเด็นที่คุณพูดถึงเพียงอย่างเดียว แต่คุณกำลังต่อสู้อย่างเหน็ดเหนื่อยกับสภาวะไม่มีผู้ชมและไม่มีตลาดศิลปะที่แท้จริง ทุกคนรู้ว่าอะไรคือภาพวาด แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะไปดูงานศิลปะได้ที่ไหนนอกจากหอศิลป์กรุงเทพ ดูทำไม เสพมันอย่างไร (ตอนมัธยมผมจำได้ว่าเราได้เห็นตัวอย่างศิลปะจากเครื่องถ่ายเอกสารกันทั้งสิ้น) ไม่มีใครมีเวลาและเงินมากพอจะมาดูคุณ (แต่เดินห้างได้) คุณทำละครเรื่องหนึ่ง คุณวาดภาพขึ้นมาชิ้นหนึ่ง จัดนิทรรศการสักนิทรรศการหนึ่ง ประเด็นของคุณยอดเยี่ยมล่ะอย่างน้อย และทุกครั้งที่คุณพบว่าไม่มีผู้ชม คุณกำลังต่อสู้กับความล้มเหลวของประเทศไทยทั้งประเทศ ผมไม่ได้โทษใครว่าไม่มีรสนิยม แต่แม้แต่ผมเองก็ไม่อยากจะไปดู เพราะผมเป็นคนทั่วไปในประเทศนี้ และคนทั่วไปในประเทศนี้จำเป็นจะต้องไม่อยากไปดู ผมจะเขียนถึงในบทถัดไป

 (บทที่สองจะพูดถึงศิลปะ เน้นที่ศิลปะร่วมสมัยกับละครโรงเล็ก ซึ่งความเศร้าของมันเกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่ผมเขียนในบทนี้)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ถ่ายติดผี

ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=pfgd9RIxJsI

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: ผี ศิลปะ งานวิจัย สิ่งที่ยังต้องถามแม่ว่ามีจริงหรือเปล่า 1

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท