Skip to main content
sharethis

บทหนัง ‘สัตว์ประหลาด’ จะขอระดมทุนเพื่อทำเป็นหนังสือโดย ‘FILMVIRUS’ ชวนคุยกับ บ.ก. ‘วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา’ เล่าถึงหนังสือที่จะฉายทุกรายละเอียดเบื้องหลังหนังร่วมด้วยลูกเล่นจากงานเขียนล้อเคียงกับบริบทในยุคนั้น ที่เขาเห็นว่า“สำหรับเรามันเป็นหนังที่เหมือนฝันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง การได้มองเห็นภาพร่างของความฝัน มันเลยงดงามมาก”

ในยุค 90’s สมัยที่ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตและไม่มีเทศกาลหนังมากมายอย่างทุกวันนี้ ‘FILMVIRUS’ คือชื่องานฉายหนังและนามปากกาของ สน- สนธยา ทรัพย์เย็น ผู้เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับหนังและวิดีโอ และจัดฉายหนังที่ดวงกมลฟิล์มเฮาส์ ซีคอนสแควร์ ซึ่งหนังส่วนใหญ่ได้มาจากสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันเกอเธ่ สมาคมฝรั่งเศส หรือมาจากการขอเป็นการส่วนตัวบ้าง นำมาฉายแลกเปลี่ยนกัน สนยังทำหนังสือ FILMVIRUS 1, 2 และ BOOKVIRUS 1, 2 ซึ่งเป็นการเขียนเอง พิมพ์เอง ขายเองที่แท้ และแม้ว่าหนังสือจะขายยากมาก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้คนอื่นๆ มาเจอกัน รุ่นต่อมาที่รับช่วงการฉายหนังต่อคือ ไผ่-กัลปพฤกษ์ เมื่อไผ่ไปเรียนต่อ ก็เป็นรุ่นของ ชาย-วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (Filmsick) บิ๊ก-ปฐมพงศ์ มานะกิจสมบูรณ์ จิตร-จิตร โพธิ์แก้ว และต่อมาคือ ตี้-ชญาณิน เตียงพิทยากร ทุกคนรวมตัวกันแบบหลวมๆ ไม่ได้เป็นองค์กร แค่ดูหนังจบแล้วไปนั่งกินข้าวกันฟุ้งฝันกันเรื่องหนัง แล้วค่อยๆ ลามต่อยอดกันไปเรื่อยๆ เท่าที่มีแรงกายแรงทรัพย์สินส่วนตัว

FILMVIRUS ปัจจุบันยังคงจัดฉายหนัง (ฟรี) อย่างต่อเนื่องในนาม ‘FILMVIRUS WILDTYPE’ และเคยทำหนังสือกับเจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มาแล้วเรื่อง ‘สัตว์วิกาล’ อันเป็นหนังสือที่รวบรวมมุมมองในการทำงานและบันทึกความคิดของเจ้ย รวมทั้งคำนิยมของอาจารย์ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) และบทความจากนักเขียนรับเชิญซึ่งเข้ามาช่วยขยายภาพในรายละเอียดเพื่อให้ใกล้ชิดกับความคิดของเจ้ยได้ยิ่งขึ้น

ปีนี้ FILMVIRUS ได้วางแผนตีพิมพ์ ‘บทภาพยนตร์’ เรื่อง ‘สัตว์ประหลาด’ ของเจ้ย-อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ได้รางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2547 อันเป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องความรักสามัญธรรมดาของนายทหารหนุ่มกับหนุ่มชาวบ้านในแบบกึ่งจริงกึ่งฝันผนวกเข้ากับตำนานท้องถิ่น หลายคนประทับใจ หลายคนไม่เข้าใจ หลายคนตีความโยงทั้งเรื่องการเมือง เพศ อำนาจ สันชาตญาณดิบ คนชายขอบ ฯลฯ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังของเจ้ยเต็มไปด้วยความพิศวงงวยงงที่น่าค้นหาและทำความเข้าใจ และความยากของการทำหนังสือก็เพิ่มขึ้นอีกสเต็ปเมื่อได้รับโจทย์จากเจ้ยว่า “ต้องไม่พิมพ์บทภาพยนตร์เล่มนี้ออกมาเฉยๆ แต่จะต้องล้อเล่นกับความเป็นบทภาพยนตร์ของมัน”

ประชาไทสัมภาษณ์ ชาย-วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา นักเขียนและนักวิจารณ์หนังในนาม ‘Filmsick’ และบรรณาธิการของหนังสือใหม่เล่มนี้ เล่าถึงกระบวนการทำงาน และความโดดเด่นของหนังสือที่เขาบอกว่า “ทุกอย่างที่เห็นในหนังถูกเขียนขึ้นมาแล้ว ผ่านการคิดอย่างละเอียด” ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ทุกการขยับตัวของนักแสดง พร็อบ ฉาก หรือเสียง มีวิธีคิดอย่างละเอียดอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะเปิดเผยความคิดเหล่านี้ รวมทั้งผนวกลูกเล่นของงานเขียนเข้าไปด้วย

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

จุดเริ่มต้นของโปรเจคต์นี้?

จุดเริ่มต้นของโปรเจคต์นี้เกิดจากพี่สนอยากตีพิมพ์บทหนัง เพราะมองว่าบทหนังเป็นสิ่งที่ศึกษาได้ และประเทศไทยเราก็มีคนที่สมควรได้รับการศึกษาที่สุดอยู่ในมือ สำหรับพี่สนมันจึงเป็นเรื่องที่สมควรทำมาก แต่ไม่เห็นมีใครทำ เลยอยากลองทำดู แรกเริ่มแค่อยากเอาตัวบทมาตีพิมพ์เฉยๆ ซึ่งพี่สนรู้จักพี่เจ้ยเป็นการส่วนตัวก็เลยลองถามดู จากนั้นพี่เจ้ยก็ให้ไอเดียเพิ่มเติมมา จากการที่คิดง่ายๆ ว่าเอาบทมาพิมพ์เราก็ได้บทที่มีลายมือ มีโน้ตละเอียดยิบมาแล้วเราต้องเล่นกับมันมากกว่าที่เราคิด

ทำไมต้องเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้จากบรรดาหนังทั้งหมด?

จริงๆ ตอนแรกพี่สนอยากพิมพ์บทหนังเรื่องไหนก็ได้ของพี่เจ้ย แต่พอพี่สนชวนเรามาช่วยแล้วถามเราว่าเรื่องไหนดี เราก็ฟันธงลงไปเลยว่า ‘สัตว์ประหลาด’ เพราะเป็นหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุดตลอดกาล สัตว์ประหลาดเป็นหนังสำคัญ ไม่ใช่แค่เพราะมันได้คานส์ แต่สำหรับเรามันเป็นหนังที่ประหลาดที่สุด เหมือนฝันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง การได้มองเห็นภาพร่างของความฝัน มันเลยงดงามมาก

กว่าจะเป็นเล่มนี้ผ่านอะไรมาบ้าง อยากให้เล่ากระบวนการทำงาน ปัญหา อุปสรรค เมื่อได้รับโจทย์ว่า “ต้องไม่พิมพ์บทภาพยนตร์เล่มนี้ออกมาเฉยๆ แต่จะต้องล้อเล่นกับความเป็นบทภาพยนตร์ของมัน”?

อย่างที่บอกไปว่าพี่เจ้ยอยากให้ล้อเล่นกับความเป็นบทภาพยนตร์ของมัน พี่เจ้ยบอกว่าถ้าพิมพ์เฉยๆไม่ให้พิมพ์ มันต้องมีลูกเล่นอะไรนิดหน่อย เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดว่าจะเล่นอะไรกับมันบ้าง เราคิดว่าหนังเรื่องนี้ออกฉายในช่วงปี 2004 และสิ่งที่เราทำคือเอาชิ้นส่วนความเป็นวรรณกรรมของหนังที่เฉลิมฉลองความเป็นภาพยนตร์ โดยเล่าเรื่องภาพสามัญของคนสามัญ เราเลยอยากเฉลิมฉลองการอ่านของคนสามัญธรรมดา ในฐานะวรรณกรรมจากภาพ ลูกเล่นทั้งหลายของหนังสือจึงเป็นการค้นหาว่าในช่วงปลายยุค 90’s ถึงต้น 2000’s คนสามัญ คนต่างจังหวัด อย่างโต้ง เก่ง ป้าสำเริง หนุ่มโรงน้ำแข็ง สาวบนรถสองแถว (ตัวละครจากหนังเรื่องสัตว์ประหลาด) อ่านอะไรกัน แล้วคิดลูกเล่นขึ้น เขียนแฟนฟิคขึ้น ขยายงานภาพและงานเขียนจากสิ่งพิมพ์ของยุคสมัยนั้นขึ้นมา

ทีนี้เราก็หาทีมมาช่วยวาดช่วยเขียน มีทั้งเขียนเองทั้งได้งานมาจากนักเขียนอย่าง ‘ภู กระดาษ’ หรือ ‘ชาญชนะ หอมทรัพย์’ ได้งานภาพมาจากนักวาดหลายๆ ท่านที่เราอยากอุบไว้ก่อน ทั้งหมดจะถูกแทรกลงไปเพื่อตัดขาดผู้อ่านออกจากตัวบทหนังเป็นระยะ แนบเข้าไปกับตัวบทดั้งเดิม เหมือนเป็นภาคต่อ ภาคขยาย เป็นทั้งเรื่องนอกบทและเรื่องในบท

ถ้าถามว่าปัญหาอุปสรรคคืออะไร อุปสรรคสำคัญที่ตอนนี้ก็ยังมีคือความกลัว และปัญหาคือเงิน เราไม่มีเงิน ไม่มีประสบการณ์ มีแต่ความคิด เราทำทุกอย่างแบบยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาดีไหม แล้วจะมีเงินพิมพ์ออกมาหรือเปล่า ต้องขอบคุณกราฟฟิกดีไซน์อย่าง เป็ด-ภาคภูมิ ลมูลพันธ์ ที่ทำให้ทุกอย่างออกมาน่ามั่นใจมากๆ แล้วยังช่วยคิดหาทางว่าจะทำยังไงให้มันออกมาได้ ความกลัวและอุปสรรคนี่แหละที่ทำให้เราต้องออกมาระดมทุน เราอยากให้มันออกมาดีที่สุด ให้สมกับที่พี่เจ้ยให้โอกาส แต่มันยากมากที่เราจะทำเอง แม้เราจะเชื่อว่าทำได้ แต่เราต้องการความช่วยเหลือ

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้?

ถ้าตัดพวกลูกเล่นออกไป ลำพังแค่การอ่านว่าบทนึ้พี่เจ้ยทำให้เห็นเป็นภาพได้อย่างไรก็คุ้มค่าแล้ว มันระบุกระบวนการคิดโดยละเอียด ตอนเราอ่านบทครั้งแรก เราขนลุกมากๆ เพราะทุกรายละเอียดถูกวางไว้ละเอียดมาก เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่เห็นในหนังมันถูกเขียนขึ้นมาแล้ว มันผ่านการคิดอย่างละเอียด แม้หนังที่ออกมาจะต่างไปจากบท แต่เราก็จะได้เห็นส่วนที่หายไป และส่วนที่เติมเข้ามา สำหรับเรามันเป็นคัมภีร์เลย

งานที่ออกมาตรงกับที่คิดไว้เลยไหม?

ตอนนี้งานยังไม่เสร็จสมบูรณ์แบบจับต้องได้ ประกอบเข้าเล่มอะไรแบบนี้ แต่จากการขอความช่วยเหลือจากนักเขียนนักวาด เราตื่นเต้นกับงานที่ได้รับกลับมามากๆ เราคิดว่ามันผ่านการตีความที่น่าตื่นเต้นจริงๆ ดีไซน์ของเป็ดก็น่าตื่นเต้นสุดๆ

ทำงานกับเจ้ยเป็นยังไงบ้าง?

พี่เจ้ยเป็นคนละเอียด เราอาจจะไม่ได้ประสานกับพี่เจ้ยแบบทุกขั้นตอน กระบวนการคือเราก็ทำของเราไป แล้วส่งเมลล์อัพเดตอย่างละเอียดเป็นระยะ ซึ่งอัพเดตแต่ละครั้งก็พยายามอธิบายให้ละเอียดที่สุด

จากที่ทราบมาใช้งบประมาณสูงมาก?

จะเรียกว่าสูงไหม เราว่าถ้าคนทำหนังสือจริงๆ มาเห็นก็คงไม่ได้คิดว่ามันสูงมากนะ แต่เราทำแบบคนไม่เงินเลย ก็พยายามจะกดงบให้ได้มากที่สุดแต่ก็อยากให้คนทำงานได้ค่าแรงที่เหมาะควรด้วยนั่นแหละ มันก็เลยอาจเกิดเรื่องที่กลัวมากๆ คือหนังสือแพง ซึ่งเราก็พยายามเท่าที่เราทำได้แล้ว

คาดหวังจากการระดมทุนมากน้อยเท่าไหร่?

อยากได้มากเท่าที่มากได้ (หัวเราะ) ถ้าได้ไม่พอยังไม่รู้ว่าจะทำไงเหมือนกัน อย่างน้อยก็ให้เท่ากับต้นทุนนั่นแหละ

รายละเอียดในการระดมทุน ผ่านช่องทางไหนบ้าง?

ตอนนี้ขอให้รอช่วงวันที่ 6-9 กันยายนที่เราจะเปิดตัวที่งาน Bangkok Art Book Fair ซึ่งจัดโดย Bangkok City City Gallery เราคิดว่าอะไรต่อมิอะไรน่าจะชัดขึ้นในตอนนั้น และตอนนี้มีเพจเฟซบุ๊ค Tropical Malady : the book

เรื่องอื่นที่อยากประชาสัมพันธ์ของ FILMVIRUS?

ปีนี้ FILMVIRUS ยังเหลืองานฉายหนังอีกโปรแกรมเดียว แล้วก็จะมาเริ่มกันใหม่ปีหน้า ใครสะดวกก็ตามงานของพวกเราได้ที่เพจ Kafe Lumiere ซึ่งเป็นเพจหลักที่ใช้ในการแจ้งข่าว และแน่นอนทุกโปรแกรมชมฟรีเหมือนเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net