Skip to main content
sharethis

กลุ่มต่อต้านการค้ามนุษย์เสนอรายงานปัญหานโยบายและกฎหมายค้ามนุษย์ 2559-2560 สถิติคดีลดลง ส่วนมากยังเป็นเรื่องค้าประเวณี วงเสวนาระบุ แม้กฎหมายเข้มงวดขึ้นแต่คนใช้งานยังขาดความเข้าใจ บุคลากรไม่พอ ผู้ค้ามนุษย์ลูกเล่นยังแพรวพราวในขณะที่ผู้เสียหายไม่มีความรู้

(ซ้ายไปขวา) ภัทรวีร์ เตจ๊ะนัง ผู้ประสานงาน ALT และภัทรานิษฐ์ เยาดำ นักวิจัย นำเสนอรายงาน 

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2561 มีการนำเสนอรายงานปัญหาด้านนโยบายและกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี 2559-2560 และการเสวนาหัวข้อ “มุมมองคนทำงานต่อสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทย” จัดโดยโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ALT) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

ในงานมีการนำเสนอรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์และปัญหาด้านนโยบาย กฎหมายในประเทศไทยช่วงปี 2559-2560 ที่จัดทำขึ้นโดย HRDF และ ALT ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจ รวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานและระดับกำกับดูแลนโยบายของทั้งภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างน้อย 15 จังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ ไปจนถึงทนายความและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์บางส่วน มีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

1. สถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย

  • ปัญหาค้ามนุษย์ในภาคการเกษตรพบได้น้อยกว่าประเด็นอื่น อาจเพราะลักษณะงานที่ทำในพื้นที่ขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย ง่ายต่อการที่นายจ้างบิดเบือนสภาพการจ้างงาน ทำให้การหาข้อเท็จจริงของทีมสหวิชาชีพและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทำได้ยาก
  • ปัจจัยด้านที่ตั้ง ความสำคัญทางเศรษฐกิจ บทบาทสถานคุ้มครองฯ และความร่วมมือของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนมีผลต่อสถิติคดีการค้ามนุษย์
  • ชาวต่างชาติที่ได้รับการระบุว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และบุคคลที่เข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพในสถานคุ้มครองฯ มีสัดส่วนครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับผู้เสียหายที่เป็นชาวไทย ผู้เสียหายเพศชายส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าและเวียดนาม ผู้เสียหายเพศหญิงส่วนมากเป็นชาวไทย
  • จำนวนคดีค้ามนุษย์ทั้งหมดที่ได้รับการสอบสวนและดำเนินคดียังคงเป็นเรื่องการค้าประเวณี
  • ปี 2559 มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ 333 คดี เป็นค้าประเวณี 244 คดี สื่อลามก 3 คดี ขอทาน 8 คดี แรงงาน 32 คดี แรงงานประมง 43 คดี และขูดรีด/อื่นๆ 3 คดี
  • ปี 2560 มีการดำเนินคดีค้ามนุษย์ 302 คดี เป็นค้าประเวณี 246 คดี สื่อลามก 7 คดี ผลประโยชน์ทางเพศ 2 คดี ขอทาน 26 คดี แรงงาน 14 คดี แรงงานประมง 7 คดี
  • การออกนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ไม่อิงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ การขาดบุคลากรในส่วนงานป้องกันการค้ามนุษย์ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเข้าใจในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงาน ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น  และการขาดแคลนงบประมาณบางส่วนทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินคดีและคุ้มครองสวัสดิภาพมีประสิทธิภาพน้อยลง
  • พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ที่เพิ่มโทษทางอาญาในความผิดฐานค้ามนุษย์ ขยายนิยาม ระบุองค์ประกอบคำว่าการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและการบังคับใช้แรงงานให้ชัดเจนขึ้น และการวางแนวทางการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ระหว่างการคัดแยกบุคคลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีและคุ้มครองสวัสดิภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. มาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดค้ามนุษย์และคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

  • ลงนามและให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ค.ศ.2000 และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปรามและลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก
  • การลงนามและให้สัตยาบันข้างต้นนำมาสู่การอนุวัตินิยาม ความหมายขององค์กรอาชญากรรม ลักษณะการกระทำความผิด และบทลงโทษให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว โดยใส่เอาไว้ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551
  • สาระสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีมารการทางนิติบัญญัติในการจัดการอาชญากรรมค้ามนุษย์ได้อย่างก้าวหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดให้ความหมายของการค้ามนุษย์ หรือนิยามคำว่าการแสวงหาประยชน์โดยมิชอบ สอดคล้องและครอบคลุมยิ่งกว่าพิธีสารดังกล่าว

3. การดำเนินคดีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดค้ามนุษย์ สิทธิทางคดีของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

  • การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ตามมาด้วยการออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ที่เคร่งครัดต่อการดำเนินคดีกับจำเลย มีการขยายผลเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์ อำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาแม้ไม่ร้องขอต่อศาล เพิ่มโทษทางอาญาสูงสุดถึงประหารชีวิต
  • ทั้งนี้ โครงการฯ ยังไม่พบมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมผู้สียหายใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิการเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หรือสิทธิที่จะอยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราว สิทธิในการทำงาน สิทธิที่ไม่ถูกดำเนินคดีอาญาในบางฐานความผิด หรือการได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว
  • การเข้าถึงเงินสินไหมทดแทนยังถูกจำกัดเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยที่รัฐยึดหรืออายัด เพราะ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ยังไม่เปิดช่องให้นำเงินหรือทรัพย์สินส่วนนั้นมาใช้ทดแทน

4. การคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้เสียหาย สิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับการชดเชยเยียวยาในรูปแบบตัวเงินและสิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับหลักประกันทางกฎหมาย

  • ในทางนโยบาย ไทยมีการรับรองสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาในรูปแบบตัวเงิน รับประกันสิทธิจะเข้าถึงหลักประกันทางกฎหมาย โดยในทางปฏิบัตินั้นให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหายโดยไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก ความเปราะบางเรื่องเพศ ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง
  • แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ล่ามแปลภาษา และการประสานงานระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ขั้นตอนคัดแยกผู้เสียหาย การคุ้มครอง การเรียกค่าสินไหม และการส่งกลับซึ่งทุกขั้นตอนต้องอาศัยการประสานงานที่ดีโดยเฉพาะการส่งต่อข้อมูล

ข้อเสนอแนะ

  • รัฐไทยควรประเมินเพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการกำหนดนโยบายที่ใช้วางแนวทางในการออกกฎหมาย แนวปฏิบัติและการกำกับของค์กรผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมถึงยกเลิกการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินคดีที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และควรเร่งขจัดข้อจำกัดในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่แต่ละหน่วยงาน และเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านกฎหมาย
  • การใช้มาตรการทางกฎหมายอันมีผลให้เกิดการลิดรอนเสรีภาอขพงบุคคลจำเป็นต้องกระทำอย่างจำกัด และให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
  • ควรปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีและปรับปรุงตัวชี้วัดในการดำเนินคดีให้สอดคล้องบริบทที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ ตัวชี้วัดควรมีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่ตั้งอยู่บนฐานของการส่งเสริมประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการประกันสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหา และควรส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีช่องทางที่จะแสวงหาความร่วมมือในการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ที่มีลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมข้ามาติ เพื่อให้การสอบสวนมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
  • ควรแก้ไข พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถนำเงินหรือทรัพย์สินมาชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ตลอดทั้ง ส่งเสริมการเป็นโจทก์ร่วมของผู้เสียหาย และสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีที่ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อยากเป็นโจทก์ร่วม
  • ควรดำเนินการโดยใช้มาตรการนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการในการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การประกันสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาในแบบตัวเงิน และประกันสิทธิที่จะได้รับหลักประกันทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วน

ผู้เข้าร่วม-วงเสวนาเผยลูกเล่นนายหน้า ปัญหาบุคลากรขาดแคลนทั้งจำนวนและความเข้าใจ

(ซ้ายไปขวา) ฤภวัฒน์ โพธิ์น้อย สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ประวิทย์ ร้อยแก้ว สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ สมชาย หอมลออ

มีการพูดคุยจากทั้งผู้เข้าร่วมและวงเสวนาที่มีขึ้นหลังจากการนำเสนอรายงานแล้วเสร็จ โดยตัวแทนจากกลุ่มหญิงสู้ชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มของอดีตเหยื่อการค้ามนุษย์ชาวไทยในต่างประเทศที่กลับมารวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ให้ความเห็นจากประสบการณ์ขององค์กรที่เคยบังคับคดีค้ามนุษย์มาสี่ครั้ง พบว่านายหน้ามีลูกเล่นในการหลบเลี่ยงการชดใช้สินไหม เช่น ไม่มีทรัพย์สินในนามตัวเอง โอนให้ลูก เมียหรือคนในครอบครัว เพราะการยึดทรัพย์จะเกิดต่อผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อสืบทราบไม่พบทรัพย์สินก็ไม่สามารถนำทรัพย์สินมาใช้เยียวยาได้

ตัวแทนกลุ่มหญิงสู้ชีวิตกล่าวต่อไปว่า บางครั้งนายหน้าค้ามนุษย์ก็ไม่อยู่ในไทย จำเลยตัวใหญ่ๆ อยู่ต่างประเทศทำให้สืบทรัพย์ ยึดทรัพย์และบังคับคดีไม่ได้  และในบางกรณีเมื่อจำเลยถูกเรียกค่าสินไหมทดแทนก็นำทรัพย์สินไปจำนองกับคนอื่นในจำนวนที่มากกว่าสินไหมทดแทน จากนั้นก็ฟ้องขัดทรัพย์โดยบอกว่าต้องนำเงินไปปลดจำนองก่อน ซึ่งทำให้ต้องพิจารณาคดีกรณีขัดทรัพย์ด้วยและกินเวลายาวนานขึ้น การพิจารณาคดีก็มีขั้นตอนที่ให้ผู้เสียหายไปวางเงินอยู่เรื่อยๆ แทนที่จะได้ชดเชยกลับมาแต่กลับต้องเสียเงินไปเรื่อยๆ ผู้เสียหายหลายรายจึงไม่อยากเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพราะมีขั้นตอนเยอะแยะมากมาย มีศาลถึงสามศาล แถมไม่มีหลักประกันว่าจะได้เงินชดเชยจึงเกิดความท้อถอย จึงฝากให้ผู้เกี่ยวข้องหาวิธีที่จะทำให้ผู้เสียหายมีกำลังใจในการดำเนินคดีให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม

ประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการผู้เชี่ยวชาญด้านการทำคดีค้ามนุษย์ กล่าวว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ปรับแก้มาถึงฉบับปัจจุบันเป็นเพียงการแก้ไขให้เนื้อความมีความชัดเจนมากขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกได้ ระดมทุกภาคส่วนร่วมกันแจ้งเหตุและเบาะแส ปรับเพิ่มอัตราโทษ ตั้งศาลแผนกคดีค้ามนุษย์ ให้อัยการเปิดสำนักงานคดีค้ามนุษย์ แต่สิ่งที่เปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญคือการยกร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ที่ยังคับใช้ในปี 2559 แต่ผู้ใช้งานยังคงสับสนกับการใช้กฎหมายค้ามนุษย์ทั้งสองฉบับ เช่น ในมาตรา 6 วงเล็บ 4 ของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 ที่ระบุพฤติกรรมยึดเอกสารสําคัญประจําตัวของบุคคลนั้นไว้ หรือนําภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่น มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบเป็นพฤติกรรมการค้ามนุษย์ พอมีการยึดเอกสารลูกจ้างเลยถูกเหมาเป็นการค้ามนุษย์หมด หรือในวิธีพิจารณาคดีที่พูดถึงส่วนร่วมของผู้เสียหาย หน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในชั้นบังคับคดี ก็ยังไม่มีความเข้าใจที่ตรงกันทำให้การปฏิบัติการในหลายพื้นที่มาจากความไม่เข้าใจ

นอกจากนั้น เร็วๆ นี้จะมีร่าง พ.ร.บ.แรงงานบังคับออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายกับ พ.ร.บ. ค้ามนุษย์ ฝ่ายนิติบัญญัติก็ขับเคลื่อน แต่ต้องถามว่าระดับปฏิบัติงานรับลูกไหม ส่วนตัวเห็นว่าขาดตัวเชื่อม ไม่มีการซักซ้อมนโยบายที่ออกมา ทำให้คนออกกฎหมายกับระดับปฏิบัติงานตีความกฎหมายไม่ตรงกัน อ่านกฎหมายออกแต่เข้าใจคนละทิศคนละทาง แม้มีการอบรมกันเป็นระยะ แต่ถ้าฐานคิดคนทำงานไม่เปลี่ยนก็เหมือนเดิม

สมชาย หอมลออ ทนายความผู้ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า แม้ส่วนตัวและองค์กรที่สังกัดมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มีที่มาจากการรัฐประหาร แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้ได้ทำงานอย่างจริงจังในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ที่ผ่านมาไทยเคยมีความสำเร็จระดับหนึ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์กับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ แต่ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงานในสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่เพราะมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาจำนวนมาก จึงมีโอกาสที่จะตกอยู่ในวงจรการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการประมงทะเล โดยรัฐบาล คสช. ได้ดำเนินการทางนโยบายและกฎหมายไประดับหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ตามมา ซึ่งถึงที่สุดแล้วจะการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต้องเน้นให้สังคมมีความเข้าใจว่าการค้ามนุษย์เป็นอาชญากรรม เป็นความผิดที่รัฐและสังคมไม่ควรอนุญาตให้เกิดขึ้น

สมชายแจงประเด็นที่เป็นปัญหาในการต่อต้านการค้ามนุษย์ในไทยหลายประการ ด้านความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายและตัวบทกฎหมาย มีคดีหนึ่งที่เขาไม่เห็นด้วยคือกรณีที่ศาลวินิจฉัยการที่แรงงานจากกัมพูชาได้รับการว่าจ้างมาโดยนายหน้าเพื่อให้ทำงานตัดหัวปลาบนฝั่ง แต่ในที่สุดโดนหลอกไปทำงานในเรือประมงเป็นเวลาเกือบปี ปรากฏว่าศาลวินิจฉัยว่าเป็นการเปลี่ยนงานเท่านั้น ไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งเข้าใจว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการแสวงหาประโยชน์โดยมิ

ในส่วนของล่ามก็มีปัญหาด้วยสาเหตุว่าหน้าที่ล่ามในคดีค้ามนุษย์มีหน้าที่ทั้งแปลคำให้การหรือคำเบิกความในเชิงคดี ซึ่งต้องแปลในลักษณะตรงตัวเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรม และต้องทำความคุ้นเคยกับเหยื่อเพราะเหยื่อการค้ามนุษย์มักมีบาดแผลทางใจโดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นชาวต่างด้าว การอบรมล่ามจึงควรคัดจากคนที่เป็นแรงงานด้วยกันที่มีความรู้ภาษาไทยและภาษาถิ่นของเขา เอ็นจีโอที่ทำงานด้านนี้ก็ควรมีล่ามลักษณะดังกล่าวไว้อยู่

ด้านฤภวัฒน์ โพธิ์น้อย นักพัฒนาสังคมชำนาญการ ผู้แทนจากกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ความเห็นประเด็นล่ามว่า พม. มีการอบรมล่ามในทางทฤษฏีและจรรยาบรรณ รวมทั้งมีการทดสอบ ขึ้นทะเบียนไว้สามร้อยกว่าคน แต่มีข้อจำกัดตรงที่ล่ามกลุ่มดังกล่าวเป็นจิตอาสา ไม่ได้จ้างประจำ มีเพียงค่าตอบแทนให้ชั่วโมงละ 800 บาท บางทีติดต่อไปก็ไม่ว่าง ต้องหาล่ามคนอื่น

สมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนในคดีค้ามนุษย์ขาดความเป็นอิสระ ขาดความเป็นมืออาชีพ ต้องตอบสนองนโยบายและการสั่งการของผู้บังคับบัญชารวมถึงผู้บัญชาการระดับสูง ที่ต้องตอบนโยบายรัฐบาลอย่างไม่เป็นมืออาชีพหรือทำตามกระแสสังคม เช่น ต้องตั้งข้อหาให้สูงไว้ก่อน ทำให้เกิดการตีข่าว หรือการที่อัยการสั่งฟ้องไว้ก่อนให้มีตัวเลขมากๆ พฤติการณ์เช่นนี้อาจทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา


ภาพเรือประมงท้องถิ่นที่อ่าวพนัง (ที่มา: flickr/Prachatai)

สมชายยกประเด็นที่อยู่ในรายงานมานำเสนอว่า คนที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ไม่รู้ว่ามีสิทธิอะไรเพียงแต่รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม มีเคสในกว๊านที่แรงงานถูกตีขาจนต้องตัดขาหนึ่งข้างแต่ไม่รู้ว่าตนมีสิทธิขอค่าชดเชยเยียวยา นอกจากนั้น ถ้าการเยียวยาเหยื่อไม่ได้ผล ก็มีโอกาสง่ายมากที่เหยื่อจะถูกผู้กระทำความผิดซื้อตัว แล้วทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ คนที่ให้เบาะแส หรือร้องเรียนว่าอาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์กลับถูกดำเนินคดีปิดปาก มีหลายคดีที่มีลักษณะเช่นนี้ ทำให้ไม่มีคนกล้าร้องเรียน ฟ้องร้อง ให้เบาะแสกับเจ้าหน้าที่ หรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ต่อต้าน ปราบปรามค้ามนุษย์

นอกจากนี้ การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่มีความคลุมเครือจากพฤติการณ์ที่มีหลายบริบทนั้น ควรอิงกับบรรทัดฐานของข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ใช่ดูเพียงความพึงพอใจของผู้เป็นเหยื่อ เพราะการค้ามนุษย์ถือเป็นความผิดต่อรัฐด้วย สังคม และรัฐจึงไม่ควรยินยอมให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้

พ.ต.ท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เสนอให้เพิ่มอำนาจให้ดีเอสไอในกรณีแวดล้อมคดีค้ามนุษย์ เช่น แรงงาน ประเวณี ประมง ซึ่งเป็นกรณีก่อนที่จะตัดสินว่าจะเป็นความผิดค้ามนุษย์ การไม่มีอำนาจทำให้ดีเอสไอจับความผิดซึ่งหน้าไม่ได้ ล่อซื้อไม่ได้ แต่การขาดไปก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ สามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นฝ่ายปกครองหรือตำรวจให้กระทำได้ ทั้งนี้ อยากให้การดำเนินคดีไม่จำเพาะกับคนในไทย แต่ควรดำเนินการในส่วนคนไทยที่ตกระกำลำบากในต่างประเทศ ซึ่งดีเอสไอก็พยายามสร้างครือข่ายรองรับสถานการณ์เหล่านี้ โดยคาดว่าปีหน้าจะมีงบประมาณดำเนินการ

สุภัทธ์ยังเสนอให้มีการลองจัดหน่วยหรือกรมเฉพาะกิจเพื่อปราบปรามค้ามนุษย์สักห้าปี เพราะเมื่อรวมศูนย์ได้ ก็จะมีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญมารวมศูนย์กัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net