Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: http://sinchaichao.blogspot.com/2015/06/secular-state.html

มิตรสหายท่านหนึ่งถามผมในวงเสวนาว่า “เราจะสร้างประชาธิปไตยโดยไม่แตะประเด็นศาสนาเลยได้หรือไม่” ผมตอบว่า “ไม่” ด้วยเวลาจำกัด จึงให้เหตุผลไปสั้นๆ ขอขยายต่อในบทความนี้

มองในทางประวัติศาสตร์ แทบจะไม่มีสังคมไหนที่สร้างประชาธิปไตยได้โดยไม่แตะประเด็นศาสนา  เนื่องจากในเชิงโครงสร้าง สถาบันศาสนาเป็นอำนาจคู่ขนาน หรือเป็นอำนาจสนับสนุนระบบกษัตริย์ เมื่อเปลี่ยนจากระบบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ หรือเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ หรืออยู่ภายใต้เสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบของประชาชน จึงต้องเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐด้วย โดยการแยกศาสนจักรกับรัฐให้เป็นอิสระจากกัน หรือทำให้ศาสนาไม่มีอำนาจก้าวก่ายเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองอีกต่อไป ดังหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ส่วนในเชิงความคิดหรืออุดมการณ์ จะเห็นว่าพัฒนาการของเสรีภาพและประชาธิปไตยเกิดจากการต่อสู้ระหว่างความเชื่อทางศาสนากับปรัชญา ขณะที่ศาสนาเป็นเรื่องของ “จงเชื่ออย่างนี้ อย่าเชื่ออย่างนั้น” หรือ “จงทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนั้น” เมื่อศาสนามาเกี่ยวกับการเมืองและกลายเป็นสถาบันทางสังคม ศาสนาจึงมักมีอำนาจจำกัดหรือลดทอนเสรีภาพ แต่ปรัชญาบอกว่า “จงสงสัย จงตั้งคำถาม” หรือ “จงกล้ารู้ จงกล้าใช้ความคิด กล้าใช้เหตุผลของตนเอง” ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับธรรมชาติของศาสนา ปรัชญาจึงมีธรรมชาติเรียกร้องเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อ การวิพากษ์วิจารณ์และอื่นๆ

ในที่สุดปรัชญาก็พัฒนามาถึงจุดที่เสนอว่า “ปัจเจกบุคคลต้องมีสิทธิปกครองตนเองทางศีลธรรม” ซึ่งเป็นการปฏิเสธอำนาจของศาสนาในการผูกขาดความหมายของศีลธรรมและการควบคุมทางศีลธรรม ถือว่าแต่ละคนสามารถใช้ความคิดและเหตุผลของตนเองให้ความหมายของศีลธรรมและสร้างกฎศีลธรรมขึ้นเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องคอยฟังพระศาสดา คัมภีร์ ศาสนจักร นักบวช และผู้นำทางศาสนาคอยบอกว่า “จงเชื่ออย่างนี้ อย่าเชื่ออย่างนั้น” หรือ “จงทำอย่างนี้ อย่าทำอย่างนั้น” อีกต่อไป

เมื่อปัจเจกบุคคลมีสิทธิปกครองตนเองทางศีลธรรม จึงเท่ากับเขามีเสรีภาพในการใช้ชีวิตส่วนตัวและการเลือกรวมกลุ่มทำกิจกรรมใดๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นโดยรู้จุดประสงค์ชัดเจนและไม่ถูกหลอกลวง ดังนั้นรัฐจึงต้องให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนา หรือเสรีภาพทางความคิดความเชื่อ เพื่อที่ปัจเจกบุคคลจะเลือกกระทำและเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองพึงพอใจได้อย่างแตกต่างหลากหลายตามธรรมชาติของอุปนิสัย ศักยภาพ และความฝันของตนเอง โดยไม่ถูกปิดกั้นหรือกีดกันด้วยการอ้างความเชื่อทางศาสนา จารีตประเพณี และอำนาจรัฐที่บังคับให้คนคิด เชื่อ หรือกระทำเหมือนๆ กัน เพราะการให้อิสระแต่ละคนได้เลือกคิด เชื่อ และทำตามความปรารถนาของตนเองอย่างเต็มที่ ย่อมเอื้อให้มนุษย์ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงสุดตามเป็นจริงมากกว่า จะเกิดประโยชน์แก่สังคมส่วนรวมและความก้าวหน้าแก่มนุษยชาติได้มากกว่า

ขณะเดียวกันรัฐต้องให้หลักประกันเสรีภาพทางการเมือง หรือเสรีภาพในการพูด การเขียน การแสดงออก หรือการอภิปรายสาธารณะต่างๆ เพื่อที่ประชาชนจะควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐได้ และเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ความคิดเห็น ความจริง ความรู้ ความเชื่อที่แตกต่างได้ปะทะโต้แย้งกันด้วยเหตุผลอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่สังคมจะรู้ได้ว่า สิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นความจริงหรือความถูกต้องต่างๆ นั้น มันจริงหรือถูกต้องแท้จริงหรือไม่

เพราะถ้าเพียงแต่เชื่อตามกันเฉยๆ หรือถูกครอบงำบังคับให้ต้องเชื่ออย่างโต้แย้งไม่ได้ ก็ย่อมไม่มีทางพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เชื่อว่าจริงหรือถูกต้องนั้นๆ มันจริงหรือถูกต้องจริงๆ เราจะแน่ใจได้ว่าอะไรจริงหรือถูกต้อง ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพให้ความเห็น ความรู้ ข้อมูลด้านตรงกันข้ามได้โต้แยงหักล้างกันได้เต็มที่เท่านั้น หลักฐานและเหตุผลสนับสนุนของความคิด ความรู้ต่างๆ จึงจะปรากฏให้เห็นชัดและชั่งน้ำหนักได้ว่าอะไรน่าเชื่อถือมากกว่า และด้วยการมีเสรีภาพเช่นนี้ความก้าวหน้าทางสติปัญญา ความรู้ และอื่นๆ ของมนุษยชาติจึงเป็นไปได้

ทั้งเสรีภาพในการกระทำหรือการใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมือง หรือเสรีภาพในการพูด การแสดงออก หรือการอภิปรายสาธารณะดังกล่าว จะเป็นไปได้เมื่อแยกศาสนาจากรัฐ หรือยกเลิกโครงสร้างอำนาจ ค่านิยม วัฒนธรรมที่ทำให้ศาสนามีอำนาจจำกัดหรือลิดรอนเสรีภาพทั้งสองด้านนั้น

เป็นเรื่องปกติมากที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองและทางศาสนาในสังคมใดๆ มักจะอ้างผลประโยชน์ของพวกเขาเป็นผลประโยชน์ของชาติและศาสนา และอ้างความมั่นคงแห่งสถานะและอำนาจของพวกเขาเป็นความมั่นคงของชาติและศาสนา ซึ่งเห็นได้จากการที่พวกเขามักบัญญัติกฎหมายและสร้างระบบกล่อมเกลาทางศีลธรรมให้ประชาชนศรัทธา เชื่อฟัง และสยบต่ออำนาจของพวกเขา ดังนั้นการสร้างประชาธิปไตยก็เพื่อที่จะยกเลิกปัญหาพื้นฐานดังกล่าวนี้

จึงมีทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องนำ “หลักเสรีภาพ” มาเป็น “กรอบจำกัดอำนาจ” ของรัฐ หรืออำนาจของ “ทุกสถาบัน” ในทางสังคมและการเมือง ซึ่งย่อมหนีไม่พ้นการแยกศาสนาจากรัฐ หรือการวางกติกาที่ป้องกันไม่ให้ศาสนามีอำนาจบังคับคนตามหลักการของรัฐโลกวิสัย (secular state) ที่มีเซตของมัน เช่น

1. แนวคิดโลกวิสัยหรือฆราวาสนิยม (secularism) อันเป็นอุดมคติของรัฐโลกวิสัย ถือว่ารัฐจะต้องตัดสินเรื่องต่างๆ บนหลักการโลกวิสัย ไม่ใช่บนหลักการทางศาสนา เช่นหลักศาสนาต่างๆ มักกีดกันสตรีและเพศที่สาม ขณะที่รัฐโลกวิสัยเห็นว่าการกีดกันสตรีและเพศที่สามผิดจริยธรรม และบางกรณีก็เป็นอาชญากรรมที่ผิดกฎหมาย ศาสนาถือว่ารักร่วมเพศผิดจริยธรรม แต่หลักการโลกวิสัยถือว่าเป็นสิทธิ เป็นต้น

2. ศีลธรรมโลกวิสัย (secular morality) คือ ศีลธรรมบนฐานคิดที่ว่า “ปัจเจกบุคคลมีสิทธิปกครองตนเองทางศีลธรรม” จึงมีศีลธรรมทางโลกที่แยกจากศีลธรรมทางศาสนา ขณะที่ศีลธรรมศาสนาเป็นเรื่องที่สอนให้คนเชื่อฟังพระเจ้า ศาสดา คัมภีร์ นักบวชหรือผู้รู้ทางศาสนา พูดสั้นๆ ศีลธรรมศาสนาเป็นเรื่องที่มีผู้ “คิดแทน” ไว้แล้วว่าอะไรคือดี ชั่ว ถูก ผิด หรือการมีชีวิตที่ดี สังคมที่ดี แต่ศีลธรรมโลกวิสัยเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะคิดเองว่าอะไรคือดี ชั่ว ถูก ผิด หรือชีวิตที่ดีสำหรับตนเอง และสังคมที่ดีหรือยุติธรรมควรเป็นเช่นไร พูดสั้นๆ ศีลธรรมโลกวิสัยเป็นศีลธรรมที่แต่ละคนคิดเองว่าตนจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน และจะร่วมกันสร้างสังคมที่ยุติธรรมอย่างไร ภายใต้กรอบกว้างที่สุดว่า คุณจะกำหนดเนื้อหาศีลธรรมขึ้นมาเองอย่างไรก็ได้ตราบที่เคารพ “คุณค่าทั่วไป” คือเสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีของมนุษย์ของคุณเองและคนอื่นเท่าเทียมกัน

3. จิตโลกวิสัย (secular spirituality) คือจิตสำนึกที่ตระหนักรู้ในคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ในบางครั้งการที่รัฐโลกวิสัยยอมรับการมีศาสนาหลากหลายในสังคมและให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนา ไม่ยอมให้ศาสนามีอำนาจเหนือสังคม ผู้นำศาสนาหรือองค์กรศาสนามีอำนาจในชุมชนแห่งศรัทธาของตนเองเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ ในบางชุมชนทางศาสนามีการอ้างความเชื่อหรือจารีตทางศาสนาละเมิดสิทธิของปัจเจกบุคคล หรือกีดกันคนเพศที่สาม (เป็นต้น) โดยทำให้เขาให้กลายเป็น “คนนอก” หรือแกะดำที่น่ารังเกียจ และถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรม ในกรณีเช่นนี้พลเมืองที่มีจิตโลกวิสัยจะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และเรียกร้องให้รัฐเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าว

4. มนุษยนิยมแบบโลกวิสัย (secular humanism) คือแนวคิดหรืออุดมคติที่เน้นความสำคัญของความเป็นมนุษย์และเสรีภาพในการเลือก แนวคิดนี้ยินดีร่วมมือกับทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนมีศาสนาหรือไม่มีศาสนาที่ต้องการทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น รวมทั้งกลุ่มทางศาสนาที่ไม่ทำให้ศาสนามีอำนาจบังคับคน สำหรับมนุษยนิยมแบบโลกวิสัย คำสอนที่เป็นแก่นสารของศาสนาต่างๆ เช่นรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง หรือปัญญา กรุณา ความสงบทางจิต ความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณหรือความเชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของการยกให้อำนาจสถาบันทางศาสนา ศาสนจักร จารีตทางศาสนาละเมิดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ปัญหาพื้นฐานสำคัญคือคือ รัฐไทยถือว่าศาสนาเป็นอุดมการณ์ของรัฐและเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ องค์กรศาสนามีอำนาจทางกฎหมายในการตัดสินเรื่องสอนถูก ผิด ปฏิบัติถูก ผิดทางศาสนา มีรัฐธรรมนูญกำหนดหน้าที่ของรัฐในการปกป้องและคุ้มครองศาสนา สนับสนุนการเผยแผ่หลักธรรมทางศาสนา บังคับเรียนศาสนาในโรงเรียน อีกทั้งจะจัดอบรมครูอาจารย์ นักกฎหมาย อัยการ ผู้พิพากษา แพทย์ พยาบาล นักการเมือง ข้าราชการ ก็ต้อง “จริยธรรมพุทธศาสนา” เป็นหลัก ภายใต้ระบบเช่นนี้ย่อมไม่ถือว่ามี “เสรีภาพทางศาสนา” ในกรอบแนวคิดโลกวิสัย

ที่สำคัญการเน้นปลูกฝังศีลธรรมศาสนาผ่านระบบการศึกษาของรัฐ สถาบันศาสนา สื่อมวลชน กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ทำให้สังคมไทยรู้จักคุ้นเคยกับศีลธรรมพุทธศาสนาหรือศีลธรรมแบบศาสนาเป็นด้านหลัก แม้รัฐไทยจะไม่ใช่รัฐศาสนาหรือไม่ได้ปกครองด้วยหลักศาสนา แต่ปกครองด้วยหลักการทางโลก แต่สังคมไทยแทบจะไม่รู้จัก คุ้นเคยกับความคิดและคุณค่าที่สนับสนุนหลักการปกครองแบบโลกวิสัย เช่นแนวคิดโลกวิสัย, ศีลธรรมโลกวิสัย, จิตโลกวิสัย และมนุษยนิยมแบบโลกวิสัยตามที่กล่าวมาเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมเราจึงขาดการปลูกฝังแนวคิด คุณค่า อุดมคติที่สนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างจริงจัง แต่เน้นการปลูกฝังศีลธรรมศาสนาควบคู่กับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมเป็นด้านหลัก ส่งผลให้เกิดปัญหาพื้นฐานสองด้าน คือ

ในเชิงความคิด คุณค่า อุดมการณ์ สังคมไทยถูกระบบการกล่อมเกลาของรัฐกำหนดให้มีความขัดแย้งระหว่างความคิด คุณค่า อุดมการณ์อนุรักษ์นิยม กับความคิด คุณค่า อุดมการณ์เสรีนิยมหรืออุดมการณ์อื่นที่ต้องการเสรีภาพและประชาธิปไตย หรือสังคมที่เท่าเทียม

แต่ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้มีปัญหาในตัวมันเอง หากมันเป็นความขัดแย้งในสังคมที่มี “เสรีภาพ” หรือสังคมที่เป็นประชาธิปไตยโดยโครงสร้างและวัฒนธรรมชัดเจนแล้ว แต่มันมีปัญหาเนื่องจากระบบที่เป็นอยู่เป็นระบบที่มีปัญหาในตัวมันเอง เพราะเป็นระบบที่ไม่มีเสรีภาพให้ความคิด คุณค่า อุดมการณ์ที่แตกต่างได้ปะทะขัดแย้งกันด้วยเหตุผลและเคารพสิทธิมนุษยชนระหว่างกัน

ระบบการปกครองที่ไม่มีเสรีภาพ หรือ “เผด็จการแบบไทย” ที่เป็นอยู่มันจึงเป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พูดแบบจอห์น สจ๊วต มิลล์ คือระบบที่เลวคือเงื่อนไขให้ปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนที่เห็นต่างในสังคมขัดแย้งกันเอง ซึ่งหมายถึง ระบบที่ไม่มีเสรีภาพ อยุติธรรม หรือระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์นั่นเองที่เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกในสังคม แล้วศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์หรือไม่

ถ้าศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ไม่ฟรีและแฟร์ เราจะสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร หากไม่แตะประเด็นศาสนาเลย       

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net