Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินละครโรงเล็ก รวมถึงศิลปินร่วมสมัยแบบอื่นๆ ในระยะเวลาสั้นๆ ถึงตอนนี้น่าจะมีอายุที่จริงจังเพียงหนึ่งปี หากคุณมาจากแวดวงศิลปะ และในบทที่แล้วคุณรู้สึกเหมือนกำลังอ่านปัญหาของคนอื่น ในบทนี้น้ำเสียงของผมคงจะกลายเป็นคนอื่นที่กำลังเขียนถึงเรื่องของคุณ นี่คงเป็นผีตัวที่ผมเห็นในบ้านของคุณ ไม่รู้คุณเห็นเป็นอื่นไหม

ก่อนที่จะมาร่วมงานใกล้ชิดกับศิลปะ ผมสงสัยว่าทำไมทุกคนที่มาดูอะไรแบบนี้จะต้องรู้จักกันเองเกือบหมด เพื่อนผมที่เป็นนักออกแบบและอยู่ใกล้ชิดกับแวดวงศิลปะมากกว่าผมเคยเล่าให้ฟังว่าเขาเข้าไปในงานเปิดตัวนิทรรศการศิลปะเพราะสนใจหัวข้อของงาน แต่กลับพบว่าตัวเองต้องหลบไปอยู่ในห้องน้ำเพราะอึดอัดจากสภาพที่ทุกคนรู้จักกันหมดแต่เขาไม่รู้จักใคร พูดกันอย่างตรงไปตรงมา มันเกิดขึ้นเพราะไม่มีตลาดของบุคคลทั่วไป

เมื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะประชาสัมพันธ์ สิ่งที่เขาต้องคิดคือทำอย่างไรให้มีคนมาดูภาพยนตร์เรื่องนั้น แต่เมื่อเราคิดถึงการประชาสัมพันธ์ละครโรงเล็ก หรืองานศิลปะร่วมสมัย คำถามที่ติดอยู่ในอกแต่ก็มักต้องข้ามไปเพราะถ้ามัวคิดเรื่องนี้ก็จะทำให้ทำงานตรงหน้าไม่ทัน คือทำอย่างไร (ต่างหาก) ให้มีคนรู้ว่ามีรูปแบบของสุนทรียะอย่างพวกเราอยู่

ช่วงมัธยมปลายผมเรียนเกี่ยวกับการออกแบบ มันเรียกว่าศิลป์ออกแบบ ผมเข้าชมรมละครเพื่อไปทำงานออกแบบ ทำโปสเตอร์ และคิดเรื่องการประชาสัมพันธ์ ในช่วงนั้นผมเข้าใจผิดว่าคำว่าประชาสัมพันธ์ หรือ public relations จะสามารถทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของปวงประชา เป็นการสื่อสารของมนุษย์ อะไรทำนองนั้น ผมไม่มีความรู้เลยว่าอะไรคือสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา หรือรัฐศาสตร์ หรืออย่างน้อยก็ศิลปศาสตร์ ซึ่งใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมสนใจมากกว่า ผมถึงขั้นเรียกตัวเองว่า public relationist อยู่ช่วงหนึ่ง เป็นคำที่คิดเองเออเองขึ้นมา ในขณะที่วิชาสังคมศึกษาไม่อยู่ในสายตาผมเลย ความคับแคบอะไรกันที่ปิดผมเอาไว้จากการรับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการนั้นมีชื่อเรียกว่าอะไร ต้องไปหามันที่ไหน และจะอยู่กับมันอย่างไร แน่นอนว่าตอนนั้นไม่มีเลยสักวินาทีที่ผมเห็นว่าการละครก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ ทั้งที่มันอยู่ใกล้จนจะตำตา อะไรก็ไม่รู้มาบังตาอยู่เต็มไปหมด

ละครเวทีที่ผมเคยดูก็คือละครในค่ายลูกเสือ ผมไม่เคยเข้าชมรมละครเพราะอยากทำละคร ผมไม่รู้จักมันมาก่อน แต่บังเอิญชมรมละครเขาให้เราเรียนละครรวมกันหมด หมายความว่าผมก็ต้องเรียนเกี่ยวกับบท การจัดการเวที หรือแม้แต่การแสดงก็ด้วย ระหว่างที่เรียน ผมรู้สึกว่าความรู้มันจริงจังกับเรามากกว่าที่ทุกวิชาเคยจริงจังกับเรา ช่วงมัธยม ความรู้ไม่จริงจังกับเราสักอย่างผมฟังอะไรไม่รู้เรื่องเลยจนแทบไม่เคยอยู่ในห้องเรียนในช่วงมัธยมปลาย พอเจอละครที่รู้เรื่องก็เลยชอบ เลยทำและดูละครโรงเล็กต่อมาหลังจากนั้น (จนถึงประมาณตอนนั้น ผมก็ยังไม่สำนึกว่ามันพูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์) คนที่เข้ามาสอนละครให้กับชมรมมาจากสายละครโรงเล็ก ผมรู้สึกว่าเขาพูดในสิ่งที่ผมอยากจะพูดแต่พูดไม่ออกได้ ผมรู้จักคำว่า “ละคร” ใหม่หลังจากนั้น และใช้เวลาอีกไม่นานก่อนที่จะรู้ว่ามีความจริงจังอีกระดับที่ “ละคร” ก็เป็นศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่พูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์อย่างเข้มข้น รู้เมื่อไม่นานมานี้เอง

ผมสนใจสภาวะตอนที่ผมยังไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน อะไรเรียกว่าอะไร ทำไมผมถึงไม่รู้ และผมสนใจความบังเอิญที่ทำให้ผมได้เริ่มรู้ในที่สุด ความไม่รู้และความบังเอิญเป็นสิ่งที่คนทั่วไปอย่างพวกเราเจอก่อนที่จะมาเจอศิลปะ และเจอกับมันตลอดชีวิต แต่เราคิดถึงมันน้อยมากในฐานะผู้เล่นหนึ่งของสังคมที่กำหนดความเป็นคนทั่วไป

เราจะคิดถึงความไม่รู้และความบังเอิญได้อย่างไร?

บ้านผมอยู่ในย่านที่มีโรงละครเล็กๆ ห้องแสดงศิลปะเล็กๆ กระทั่งร้านที่เปิดดนตรีใต้ดินร้านเล็กๆ เต็มไปหมด สีลม เจริญกรุง สาทร นี่เป็นย่านที่ศิลปินนานาชาติในกรุงเทพวิ่งไปมาเพื่อสร้างบทสนทนาทางศิลปะต่อกันมาสักพักใหญ่ และผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไม่รู้ว่าพวกมันมีอยู่ ก่อนหน้านี้ผมกับเพื่อนๆ แม้จะเป็นเพื่อนๆ ในชมรมละครก็ตาม เวลาพวกเราจะพักผ่อนหรือเที่ยวเล่นหาความสนุกให้ตัวเอง พวกเราถ่อไปดูหนังกันที่สยาม หนังกับห้างคือสิ่งที่แค่เกิดมาก็รู้ว่ามันมีอยู่ พวกเรานั่งรถไฟฟ้าที่ตอนนั้นยังสามารถมองเป็นความสะดวกสบายได้อยู่ ไปห้าง เพื่อดูหนัง ความรุ่มรวยของศิลปะที่พวกเราในตอนนั้นรู้จักก็คือ รายการทีวีกับภาพยนตร์ ส้มตำสลับกับซูชิ และการเดินห้าง เราจะมองไม่เห็นว่าเราเพิ่งเดินผ่านโรงละคร ห้องจัดแสดงงาน หรือร้านอาหารอินเดีย ตะวันออกกลาง มองโกเลีย หรืออื่นๆ อยู่ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้แพงไปกว่ากันแต่อย่างใด แต่เราแค่มองไม่เห็น ทั้งๆ ที่ก็บ่นกันว่าเริ่มเบื่อสิ่งที่ทำซ้ำ เหมือนมันเป็นฉากให้เดินผ่านไปเฉยๆ

กับศิลปะและศิลปินในความหมายที่พูดถึงเมื่อไหร่ก็มักจะแคบอยู่แค่ในทัศนศิลป์ ผมรู้จักอยู่สองคนคืออาจารย์เฉลิมชัย กับอาจารย์ถวัลย์ ถือว่าเท่มากแล้วในกลุ่มเพื่อน บางคนถามว่าใครวะอาจารย์เถาวัลย์ ที่บ้านผมมีภาพ (ที่น่าจะซื้อมาจากวัดของ) อาจารย์เฉลิมชัยอยู่สองสามภาพ ราคาไม่กี่พัน ไก่ หมู มังกร ตามปีเกิดของพวกเราคนในบ้าน ศิลปะเหล่านั้นเข้ามาปะทะกับครอบครัวผมได้ก็ด้วยความเชื่อเรื่องราศีของพวกเรา พ่อซื้อมาไว้ในอารมณ์เปลี่ยวเหงาอะไรของเขาสักอย่างตอนขึ้นบ้านใหม่ เขาอาจจะรู้สึกว่ามีศิลปะเอาไว้สักหน่อยก็ดี และมีอะไรไทยๆ อยู่ในบ้านก็ดี ผมรับรู้ว่านั่นคือศิลปะ และศิลปะมีเพียงเท่านั้น

ไม่นานมานี้ผมเพิ่งรู้ว่าโลกใบนี้มันมีสิ่งที่เรียกว่าศิลปะร่วมสมัยอยู่ด้วย คือพวกที่มันทำอะไรงงๆ มึนๆ อาจไม่ได้เป็นภาพวาดเพียงอย่างเดียว เวลาเต้นก็งงๆ ละครก็ไม่มีพล็อต หรือเอาตู้ปลามาวางบนสังกะสีแล้วบอกว่ามันเป็นศิลปะ ผมพบว่าพวกมันน่าพอใจแปลกๆ และตีความได้สนุกมาก ผมเริ่มรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ เพราะตามไปดูละครโรงเล็กที่จัดขึ้นในอาร์ตแกลเลอรีเล็กๆ แถวๆ เจริญกรุง มันไม่ใช่กิจกรรมของคนรวยอะไรหรอกครับ ดูฟรี งานที่ดีเหล่านี้แทบจะฟรีครึ่งหนึ่งของทั้งหมด เพราะอย่างที่ว่า มันยังไม่มีตลาด มีแต่คนบ้าที่รักมันและทำมัน และการดูงานร่วมสมัยอื่นๆ เช่นกัน ถ้าคุณไม่ได้อยากได้มันจนขอซื้อกลับบ้าน การเข้าไปเสพพวกมันค่อนข้างที่จะทำได้ฟรี นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่

ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ที่ผมเข้าชมรมละคร อาจารย์เฉลิมชัยเข้าบ้านผมได้ มาจนถึงผมเริ่มสนุกกับงานในแกลเลอรีที่เจริญกรุง เกิดจากความบังเอิญที่สิ่งหนึ่งที่เรารู้จัก พาไปกระทบกับอีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยรู้จัก ไม่มีตอนไหนเลยที่จู่ๆ ผมก็พิมพ์ลงไปในกูเกิ้ลว่า “จะไปดูงานศิลปะร่วมสมัยที่ไหนดีวะ” หรือ “ช่วงนี้มีละครโรงเล็กอะไรบ้าง” ประการแรกเพราะผมไม่รู้จักทั้งสองคำนี้ และประการที่สอง แวดวงยังไม่ได้แข็งแรงพอจะใช้คำเดียวกันทั้งหมด อย่างเช่นคำว่า “หนัง” หรือ “ดูหนัง” ที่ให้ความหมายค่อนข้างตายตัว คำว่า “ดูละคร” เป็นของละครโทรทัศน์ มากกว่าละครเวที และมากกว่าละครเวทีโรงเล็ก เป็นไปไม่ได้ที่ผมจะเข้าหามันได้ด้วยความตั้งใจ

แต่ความบังเอิญนั้นบังเอิญขนาดไหน?

หากคุณอยู่ในประเทศไทย เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะบังเอิญเดินเจอนักการเมือง หรือเดินเจอนักร้องคนโปรดเข้าสักวัน อาจไม่ได้เกิดขึ้นได้ทุกวัน แต่อาจเกิดขึ้นได้สักวัน แต่หากคุณอยู่บนดาวอังคาร ความบังเอิญแบบนี้จะเป็นไปได้ไหม? ในความบังเอิญมีความเป็นไปได้ที่ต่างกัน ความบังเอิญที่ต่างกันสามารถบอกเราได้ว่าเราอยู่ในสภาวะที่เหลื่อมล้ำกับสภาวะอื่นอย่างไร

คำถามของผมก็คือ มันเป็นไปได้ขนาดไหนที่ประเทศนี้ (เอาแค่ในเมืองก่อนก็ได้) จะมอบความเป็นไปได้ที่คุณจะบังเอิญมารู้จักกับศิลปะในแบบที่หลากหลายได้ กับละครโรงเล็ก กับศิลปะร่วมสมัย บนสมมติฐานที่ว่าทุกคนต้องการศิลปะ ต้องการกีฬา การละเล่น ต้องการพิธีกรรมอะไรสักอย่างกันโดยธรรมชาติ เราจะบังเอิญเจอสิ่งที่เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราต้องการได้มากขนาดไหน

ศิลปะแบบที่ผมกำลังพูดถึงนี้ไม่ได้เป็นของสูง ของแพง หรือของหายากอะไรเลย มันอาจจะอยู่ใกล้ๆ บ้านคุณพอๆ กับร้านอาหารประเทศแปลกๆ ที่คุณไม่เคยเห็นว่ามันเป็นร้านอาหาร แต่แล้วทำไมความใกล้ของมันจึงดูเหมือนไกลเหลือเกินเมื่อคุณไม่รู้ว่ามันมีอยู่ ผมอยากพูดถึงพื้นที่ ความเป็นเมืองและผังเมือง ซึ่งอาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกับศิลปะเลย

ผังเมืองกรุงเทพเป็นผังเมืองที่ไม่มีผังเมือง ถ้าคุณพบว่าป้ายบอกทางบอกคุณไม่รู้เรื่อง คุณไม่ผิด มันบอกคุณไม่รู้เรื่องจริงๆ เสียงผู้หญิงใน Google Map ที่นำทางคุณผิดบ่อยๆ มันเก่งมากแล้ว ความไม่ตรงไปตรงมาของผังเมืองเช่นนี้ส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดแบบสมัยใหม่กับคุณในส่วนหนึ่งอย่างประหลาด วิธีคิดแบบสมัยใหม่ในแบบที่เราเชื่อว่าเราทุกคนมีบทบาทเดียว ของทุกสิ่งมีบทบาทเดียว ศาสตร์ทุกศาสตร์มีหน้าที่เดียว เป้าหมายมีเป้าเดียว คุณได้ปริญญาโดยมีความเชี่ยวชาญหนึ่งเดียว เขียนบทความต้องเขียนให้มีใจความเดียว คุณจะเห็นภาพจุดมุ่งหมายของคุณชัดเจนขึ้นไปอีกเมื่อระหว่างทางไม่มีอะไรให้คุณชื่นชม คุณเดินผ่านความวุ่นวายทั้งหมดนี้เพื่อเข้าไปที่เป้าหมายที่คุณเลือกเป้าหมายเดียว ถ้ามีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินได้ก็ยิ่งดี มันจะได้วิ่งตรงๆ ไปถึงที่เดียวที่คุณจะไปตรงนั้น คุณอยากจะลืมๆ ไปซะว่าระหว่างทางคุณจะต้องฝ่าฟันอะไรบ้างในเมืองเมืองนี้ที่ทุกอย่างออกมากองเละเทะเพราะไม่มีอะไรถูกออกแบบมาให้เป็นที่เป็นทาง บังเอิญว่าของรอบๆ ตัวคุณมันไม่ได้มีบทบาทชัดเจนแบบที่วิถีชีวิตของคุณต้องชัดเจน คุณเลยต้องสร้างความชัดเจนในแบบของตัวเองขึ้นมา การศึกษาและระบบทางการต่างๆ เองในประเทศนี้ก็เป็นแบบนั้น มันทำให้คุณลืมเรื่องไร้สาระไปพร้อมๆ กับไม่รู้ว่าอะไรคือความจริงที่คุณต้องการ เป็นเหมือนเมืองของเราที่แม้จะมีสิ่งต่างๆ อยู่ก็ไม่รู้ว่าจะไปหามันที่ไหน

คุณออกจากบ้าน เดินลงมาบนถนน ขยะล้นออกมาจากเสาไฟฟ้า มีใครสักคนตั้งแผงอะไรก็ไม่รู้ขายของอะไรก็ไม่รู้อยู่ มอเตอร์ไซค์บีบแตรไล่คุณลงจากทางเท้า ต่างคนต่างรู้สึกว่าตัวเองสุดวิสัย คุณก็ด้วย คุณทนราคาแท็กซี่ไม่ได้ คุณเดินขึ้นสะพานลอยที่มีสายไฟดักหัวคุณอยู่ ผ่านขอทาน คุณลำบากใจทุกครั้งที่ต้องผ่านขอทาน ถึงตีนสะพานลอย คุณลงบันไดที่ต้องกระโดดลง ถึงป้าย รอ ขึ้นรถเมล์หรือต่อแถวแลกเหรียญเพื่อไปต่อแถวแลกบัตรอีกทีบนรถไฟฟ้า ยากฉิบหาย คุณขับเอง รถติด แท็กซี่ไม่ไป แกร๊บแพง คุณทำงาน และคุณทำทุกอย่างคล้ายๆ เดิมก่อนกลับบ้าน ในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ คุณจำเป็นจะต้องบอกตัวเองให้ลืมไปให้หมดว่าคุณกำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาอื่นๆ นอกจากบ้าน ที่ทำงาน และวันเที่ยว เพื่อให้ชีวิตปกติของคุณดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีอะไรเข้ามาทำให้คุณเฉไฉและกลายเป็นคนสมัยใหม่ที่ล้มเหลว หากคุณเผลออินกับขอทานมากเกินไป คุณพาเขาไปกินข้าว คุณดันไปคุยกับเขายาว วันนั้นคุณก็จะใช้ชีวิตปกติไม่สำเร็จ ขาดงาน ถูกหักเงินเดือน ถ้าคุณหงุดหงิดกับถนนและไปคิดถึงมันมากเกินไป คุณเดินไปฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร วันนั้นก็จะเปลี่ยนตารางชีวิตคุณที่เหลือให้วุ่นวายไปอีกเป็นเดือน คุณต้องตัดๆ มันออกไปเสียเพื่อให้ชีวิตเดินต่อไปได้ พูดอีกอย่างก็คือคุณกำลังมีชีวิตบนส่วนผสมของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่กำลังปะทะกับพื้นที่อะไรก็ไม่รู้ที่คุณย่ำอยู่ ความเชื่ออะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด และคุณต้องมองข้ามไปไม่รู้กี่อย่างทั้งๆ ที่ยังอยู่กับมันเพื่อให้ชีวิตมันดำเนินต่อไปได้ ความน่ากลัวของการฝึกกระบวนทัศน์ของตัวเองให้มองข้ามสิ่งต่างๆ ไปสู่เป้าหมายแบบสมัยใหม่งงๆ ที่ว่านั้น คือการที่เราได้ทำลายโอกาสที่จะรู้จักโลกใบอื่นใกล้ๆ ตัวเองไปแล้ว เรามองไม่เห็นสิ่งที่เราไม่อยากและไม่จำเป็นต้องมองเห็น ศิลปะก็หายไปกับสิ่งเหล่านั้น

คุณรู้จักอะไรคล้ายๆ การปิกนิกไหม? เอาเสื่อไปปูนั่งกินข้าวในที่สาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ การทำอะไรแบบนี้มีอยู่จริงหรือเปล่าสำหรับคนกรุงเทพวันนี้ คุณนึกภาพสวนสาธารณะที่มีคนหลากหลายรูปแบบมานั่งอยู่ด้วยกัน มีแจมดนตรีอยู่บ้าง บางคนมาเดินรณรงค์เรื่องศาสนา หมาของคนที่ไม่รู้จักกันมาทักทายกัน สีผิวแบบที่คุณไม่เคยเห็น ทรงผมต่างๆ คุณเพิ่งรู้เป็นครั้งแรกว่าคนบางคนสามารถจับกับนกพิราบอย่างใจเย็นได้พอๆ กับที่มันใจเย็นกับเขา และคุณได้เห็นอาหารที่เสื่อผืนข้างๆ หยิบมา มันคืออะไรที่คุณจะไม่มีวันได้เห็นในร้านอาหารที่ขายแต่เมนูเดียวกัน พื้นที่สาธารณะที่เปิดให้การสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างความเป็นอื่นทำงาน เราไม่มี คุณนึกถึงสวนลุมอยู่หรือเปล่า สวนลุมคือลู่วิ่ง เพราะทุกคนวิ่งแถวบ้านไม่ได้ และแถวนั้นก็ไม่มีบ้าน การเข้ามาในสวนลุมจึงมีไว้สำหรับวิ่ง มาทำหน้าที่เอาไขมันออกให้มันจบๆ แล้วกลับบ้าน คุณจะไม่บังเอิญเจออะไรสร้างสรรค์มากนักในที่ที่ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อตั้งหน้าตั้งตาทำงานกับไขมันของตัวเอง เพื่อนนักเต้นของผมบอกว่าเขาแทบจะเดินไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะเขาจะไปขวางทางคนวิ่ง และพลังงานของตรงนั้นจะบอกคุณว่าคุณต้องวิ่ง

คุณรู้จักคำว่าสตรีทไหม? ชาวสตรีท เสื้อแบบสตรีท สตรีทอาร์ท เป็นเด็กห้าวๆ เต้นบีบอยอะไรกันแบบนั้นอยู่บนท้องถนน พูดแบบนี้แล้วก็กลัวเขาโดนรถชน ปีก่อนมีคนชวนผมไปพูดเกี่ยวกับวัฒนธรรมสตรีทของวัยรุ่น ผมตอบเขาไปว่าผมพูดไม่ได้ เพราะผมคิดว่าประเทศไทยไม่มีสตรีท อาจมีบ้างที่มีบางคนใส่เสื้อผ้าสไตล์สากลนิยมที่เรียกว่าสตรีทอยู่ แต่มันไม่มีถนนมากพอจะมีวัฒนธรรมสตรีทเป็นของตัวเองให้พูดถึง แค่จะเดินยังยาก แล้วจะเอาตรงไหนไปสร้างวัฒนธรรม

ส่วนนอกกรุงเทพออกไปผมก็ไม่รู้ว่ามีข่าวอะไรบ้างหรือเปล่า แม้แต่ตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าถ้าออกไปต่างจังหวัดแล้วผมจะเจอกับแวดวงศิลปะได้บ้างไหม ออกจากกรุงเทพแล้วผมก็เหมือนถูกครอบตาม้าเอาไว้ให้มองเห็นแต่ชื่อสถานที่ท่องเที่ยวช้ำๆ ตามอินเทอร์เน็ต นอกจากนั้นผมไม่รู้ และไม่รู้ด้วยว่าจะไปรู้จากที่ไหน

คุณจะเอาพื้นที่ที่ไหนไปบังเอิญเจอกับศิลปะร่วมสมัยหรือละครโรงเล็ก?

หากคุณเป็นคนทั่วไปในกรุงเทพ คุณพักผ่อนหย่อนใจด้วยการเดินห้าง นั่นอาจเป็นที่หนึ่งที่เราอาจพบกับสิ่งที่เรารู้จัก ที่พาเราไปกระทบกับสิ่งที่เราไม่รู้จัก และอาจพบกับศิลปะได้ในที่สุด แต่ผมยังไม่เคยเดินสยามพารากอนแล้วเจอการโฆษณาอะไรที่ดึงให้ผมออกจากสยามพารากอน ห้างก็โฆษณาให้เราเดินวนอยู่ในห้าง และห้างก็เป็นที่เดียวที่เรานึกออกถ้าจะไปเดิน คุณนึกออกไหมว่าคุณเจออะไรใหม่ๆ ในห้างบ้าง ใหม่จนเปลี่ยนนิยามการพักผ่อนหย่อนใจหรือการเสพศิลปะของคุณได้?

ไม่อย่างนั้นคุณก็อยู่บ้านเล่นเน็ต อินเทอร์เน็ตสมัยนี้ที่มี algorithm หรือชุดคำสั่งที่จัดประเภทให้คุณเห็นแต่ข้อมูลที่คุณควรเห็น มันไม่ได้ทำให้คุณเห็นความต่างหรือเห็นโลกอีกใบใกล้ๆ ตัวอีกต่อไป ที่ที่มีผู้คนหยุดดูโปสเตอร์สาธารณะที่เป็นที่สาธารณะจริงๆ ไม่มีอยู่แล้ว และ social network ก็ไม่อนุญาตให้แวดวงต่างๆ ก้าวก่ายกันมากนักอีกต่อไปหากเราไม่ได้จงใจมากๆ ที่จะทำมัน ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงมาจากอุตสาหกรรมการตลาดและโฆษณาที่เติบโตรวดเร็วกว่าการสร้างข้อตกลงสัญญาประชาคมและการถกเถียงเพื่อบัญญัติกฏหมาย

เมื่อเราคิดถึงการประชาสัมพันธ์ละครโรงเล็กหรือศิลปะร่วมสมัยต่อจากการมองปัญหาแบบนี้แล้ว เราจะพบว่าการหาตลาดไม่ได้ง่ายขึ้นอย่างที่เราคิดทั้งที่เรามีอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ เราอาจต้องก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่ที่จำกัดมากๆ ของบุคคลทั่วไปมากขึ้น และเข้าไปเพื่อพาเขาออกมานั่นแหละ ไม่ได้เข้าไปเพื่อไปอยู่กับเขา พื้นที่ในที่นี้หมายถึงทุกมิติ ในวิถีชีวิตของเขา ห้าง รสนิยมตามทีวี สถานที่ท่องเที่ยว หมายความว่าคุณอาจทำประชาสัมพันธ์ให้มันตลาดมาก เปลี่ยนสำนวน เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนวิธีการ แต่เป็นที่รู้กันอยู่ว่าคุณก็สามารถทำงานของคุณแบบเดิมได้ ถ้าลูกประชดหน่อยก็โฆษณาสำหรับบุคคลทั่วไปชุดหนึ่ง สำหรับบุคคลพิเศษที่กลัวงานไม่เท่พออีกชุดหนึ่ง แต่มันไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ “Sophisticated” หรือไม่ฉลาด งานคุณคือชิ้นเดิม และถ้าคุณต้องการคนดูใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่เปลี่ยนวิธีการประชาสัมพันธ์ (เว้นแต่ว่าคุณรักในบรรยากาศที่เป็นอยู่แล้ว อันนั้นผมก็ขอโทษที่เขียนมาถึงขนาดนี้)

แต่การทำแบบนั้นทีละงานจะไม่ส่งผลอะไรมาก นี่เป็นเรื่องเดียวกับโครงสร้างของงานวิจัยและงานพัฒนา การโผล่มาดีหนึ่งชิ้นและไม่ต่อเนื่องจะไม่ช่วยอะไร การตัดสินใจทำนองนี้อาจต้องเกิดขึ้นจากระดับบริหาร เช่น หอศิลปวัฒนธรรมต่างๆ หรือ Festival Director ต่างๆ กองทุน กระทรวง ฯลฯ โดยมีภารกิจไม่ใช่เพียงการประชาสัมพันธ์เพื่องานใดงานหนึ่ง แต่ประชาสัมพันธ์ประเภทของงานทั้งประเภทให้เข้าไปอยู่ในสายตาของชีวิตปกติให้ได้ เหมือนกับที่จู่ๆ ทุกคนก็รู้จักถุงมีชัย หรือถุงยางอนามัย แปลกดีที่แม้แต่ผมเองก็ยังไม่เคยคุยเรื่องนี้กับใครแถวๆ นี้เลยว่าจะทำอย่างไรให้มันกลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป หรือว่าการทำงานศิลปะทำให้เราเลิกสนใจการคิดถึงการสื่อสารหยาบๆ อย่างการประชาสัมพันธ์ เพราะเราง่วนอยู่กับการสื่อสารที่เราเห็นว่าละเอียดกว่าอย่างศิลปะ จนสุดท้ายเราก็พบกับสภาวะตลาดที่ไม่มีจริง

เอาล่ะ สมมติกันว่าตอนนี้คุณรู้จักละครโรงเล็กหรืองานศิลปะร่วมสมัยแล้ว คุณเป็นกลุ่มผู้ชมทั่วไปที่ทำงานบริษัท ปัญหาต่อมา คุณจะเอาเวลาไหนมาดู เริ่มงานเก้าโมงเช้าเลิกงานสี่หรือห้าโมงเย็น งานคนไทยไม่จบง่ายๆ และคุณเหนื่อย และคุณรู้ด้วยว่าการชมงานบางครั้งก็เหนื่อย ส่วนนักเรียนที่ควรจะมีเวลาเปิดโลกทัศน์มากที่สุด ทุกวันนี้เข้าโรงเรียนเจ็ดโมงเช้า เลิกเรียนห้าถึงหกโมงเย็น และเรียนพิเศษ และยังต้องทำการบ้าน หนำซ้ำความเหลื่อมล้ำระหว่างสถาบันทำให้นักเรียนบางคนต้องเรียนไกลบ้าน คนทำงานไปกลับกรุงเทพนนทบุรีทุกวัน เวลาเดินทางเพิ่มเข้าไปอีกสองถึงสี่ชั่วโมง คุณมีพื้นที่ตรงไหนให้ศิลปะเข้ามาคุยกับคุณได้บ้าง เป็นผม ผมก็จะนอน มากกว่านั้นอีก คุณจะเอาเงินที่ไหน คำถามนี้อาจจะตลกร้ายเกินไป แต่ผมก็ยังคิดอยู่ว่าตัวเองจะเอาเงินที่ไหนไปดูเพื่อนที่ทำละคร ถ้ามันไม่ได้ชวนไปดูฟรี

ในประเทศนี้ วัยวันที่คุณมีแรงไปดูละคร และยังไม่มีภาระรุงรังมาก คุณไม่มีเงิน และในวัยที่คุณมีเงิน คุณก็ไม่พร้อมจะเดินเตร่ไปดูละครอีกต่อไป ลูกเกิดแล้ว แม่ป่วยแล้ว บ้านจะส่งไม่ทันแล้ว อันที่จริงมีบางประเทศให้งบวัยรุ่นไปเฉยๆ เพื่อให้ไปดูงานศิลปะหรือเข้าพิพิธภัณฑ์ หาข้อมูลไม่ยากหากเคยได้ยินเรื่องรัฐสวัสดิการ ในขณะที่ประเทศเรา รัฐบาลให้ทุนศึกษาต่อเพียงสายวิทยาศาสตร์ หรือมากที่สุดก็นโยบายและรัฐศาสตร์เท่านั้น ไม่ต้องพูดถึงทุนให้เฉยๆ

แต่ทำไมรัฐบาลต้องให้อะไรกับศิลปะ? เมื่อตอนที่ 1 ผมพูดเสียงแข็งว่านักวิชาการที่งานของตัวเองไม่ตอบโจทย์ของสังคมควรจะอาย แต่วิธีคิดดังกล่าวใช้กับศิลปะไม่ได้ ผมไม่คิดว่าศิลปะควรจะเจียมเนื้อเจียมตัวที่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะการมีอยู่ของศิลปะเป็นการแก้ไขปัญหาความมีอยู่ของมนุษย์ในตัวเอง วาระของการมีงานทางความคิดคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในขณะที่การทำบางสิ่งบางอย่าง อย่างเช่นการละเล่น ศิลปะ หรือแม้กระทั่งพิธีกรรม คือคุณภาพชีวิตในตัวเอง คือคุณไม่ได้ทำมันไปเพื่ออะไร เพียงแต่คุณต้องทำเพื่อตอบสนองแรงขับจากภายใน เหมือนกับที่คุณหิวหรือคุณคัน

ย้อนกลับไปในบทแรก ทำไมงานวิจัยถึงไม่ทำงาน ทุกวันนี้วิธีคิดที่เอียงข้างไปทางวิทยาศาสตร์โดยเทเรื่องของศิลปวัฒนธรรมทิ้ง รวมทั้งวิธีคิดทางเศรษฐกิจที่เป็นแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ทั้งสองอย่างนี้มีงานวิจัยของประเทศเราเองและต่างประเทศไม่รู้กี่ชิ้นที่ยืนยันได้ทั้งหมดแล้วว่าเป็นปัญหา รวมทั้งมีจำนวนไม่น้อยที่เสนอทางแก้ บ้างก็เสนอมาจนเกือบพร้อมจะเป็นนโยบาย ส่วนภาควิชาการละครและศิลปะในประเทศเราก็ไม่ได้มีน้อย แต่ทำไมงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาศิลปะ หรือการเรียนการสอนด้านศิลปะก็ไม่ได้ช่วยให้แวดวงศิลปะที่หลากหลายเติบโตได้มากขึ้น คำตอบไม่ได้อยู่ในสายลม แต่อยู่ในบทที่แล้ว

การปล่อยให้ทุนขนาดใหญ่เติบโตได้อย่างไม่จำกัด และเปิดโอกาสให้นายทุนใหญ่รวบรวมธุรกิจต่างๆ เข้าไว้ที่ตัวเอง ไม่ได้ส่งผลเพียงภาคธุรกิจที่ทำให้เกิดภาวะผูกขาดแม้ไร้สัมปทาน ไม่ได้เพียงทำให้เกิดภูเขาหัวโล้นและมีแต่ข้าวโพดที่จังหวัดน่าน แต่การรวมศูนย์ดังกล่าวก้าวล้ำเข้าไปถึงรสนิยม ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดที่ผมพอจะพูดได้คือภาควิชาการสื่อสารการแสดงที่ผมเรียนจบมา เดิมทีเน้นด้านการละครอยู่บ้าง แต่ในปีที่กำลังจะถึงนี้เมื่อเขายอมรับได้แล้วว่าไม่มีตลาดละคร และเขาเองก็คงจะไปทางนี้ไม่รอด ล่าสุดมันกำลังจะกลายเป็นภาควิชาการสร้างสรรค์และจัดการอีเว้นท์ เพราะมันสมเหตุสมผลมากกว่าในตลาด ส่วนการละครก็คงต้องถูกทิ้งไป มหาวิทยาลัยในข้อจำกัดแบบนี้จะไม่ได้มีบทบาทในการสนับสนุนความหลากหลายอีกต่อไป มหาวิทยาลัยในความดูแลของทุนนิยม มีบทบาทในการเร่งเร้าให้การรวมศูนย์ทางรสนิยมเกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้การดูแลของตลาดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก

คุณลองเปิดเพลงอินดี้ หรือเพลงอะไรก็ได้ที่คุณชอบและมีผู้ชมน้อยๆ สักหนึ่งเพลงทิ้งไว้บน YouTube ทิ้งไว้สักหนึ่งชั่วโมง คุณจะพบว่าระบบเล่นเพลงอัตโนมัติของมันจะพาคุณมาจบลงที่เพลงที่มีผู้ชมเป็นล้านได้ในที่สุด เราต่างกำลังถูกทำให้เหมือนกันและจัดประเภทได้เพื่อความสะดวกของตลาดทุนใหญ่ คุณอาจพบว่าชีวิตคุณเองหรือเพื่อนของคุณหลายคนก็เป็นเช่นนั้น คุณเลือกอะไรที่คุณอยากเลือกในตอนแรก และระบบก็พาคุณไปตามทางของมัน และคนที่โชคดีบางคนก็บังเอิญได้เป็นสิ่งที่เขาอยากเป็นต่อไป แต่อย่างที่เราคุยกัน ความบังเอิญที่มีได้มากน้อยนั่นแหละที่กำลังบอกกับเราว่าสังคมของเราเป็นอย่างไร

ผี ศิลปะ งานวิจัย จะมีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อมันสื่อสารกับสิ่งอื่น บนบรรยากาศใดๆ ก็ตามที่อนุญาตให้มี หรือบังเอิญได้มี


บทความที่เกี่ยวข้อง: ผี ศิลปะ งานวิจัย สิ่งที่ยังต้องถามแม่ว่ามีจริงหรือเปล่า 1

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net