Skip to main content
sharethis

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ประกาศให้โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้  'วาติกัน' จะทำให้ทุกประเทศเลิกการใช้โทษนี้ 'กษิต ภิรมย์' ระบุน่าดีใจที่ 2 ศาสนาหลักของโลก ไปในทิศทางเดียวกันละเว้นในการที่จะเอาชีวิตมนุษย์  หวังว่าประเทศไทยจะมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายในอนาคตด้วย

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (ที่มาภาพ wikimedia.org)

3 ส.ค.2561 กษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่วิดีโอถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Kasit Piromya' กรณี สันตะปาปา ประกาศว่า ไม่ควรที่จะให้มีการประหารชีวิต โดย กษิต กล่าวว่าเมื่อ 2-3 วันที่แล้วในโลกของคริสตจักร วาติกัน ของสันตะปาปา ได้ออกมาประกาศว่า ไม่ควรที่จะให้มีการประหารชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ อันนี้เป็นการเปลี่ยนปลงแนวคิดของคริสตจักรอย่างใหญ่หลวง เพราะที่ผ่านมายังมีอะลุ้มอล่วยให้ยังคงการประหารชีวิตนักโทษไว้ได้ในกรณีที่มันรุนแรงเป็นอย่างมาก แต่มาบัดนี้ก็เป็นการตัดสินใจโดยสันตะปาปาว่าจะไม่รับให้มีการประหารชีวิตนักโทษรุนแรงใดๆ เลยทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าการที่มนุษย์คนหนึ่งจะไปเอาชีวิตมนุษย์อีกคนหนึ่งนั้น ไม่เป็นสิ่งที่สมควร หรือว่าเพราะว่ามีคนคนหนึ่งไปฆ่าอีกคนหนึ่ง คนที่ไปฆ่านั้นจะต้องถูกรัฐหรือสังคมฆ่าไปด้วยนั้น ก็ไม่เป็นการถูกต้อง เพราะว่ามนุษย์เราทั้งต่อบุคคลหรือรวมกันในนามรัฐจะได้เอาชีวิตของนักโทษคนหนึ่งไม่ได้ เพราะว่ามนุษย์ทุกคนไม่มีสิทธิที่จะไปเอาชีวิตของคนอื่น เพราะฉะนั้นตอนนี้แล้วในโลกของฝ่ายคริสต์โดยเฉพาะโรมันคาทอลิก ไม่เอาด้วยกับการประหารชีวิตนักโทษใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับแนวคิดดังกล่าวของสันตะปาปานั้น กษิต มองว่า สอดคล้องกับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า หรือศีล 5 ที่ หนึ่งในศีลนั้นคือห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนั้นทั้งพุทธและคริสต์ต่างเห็นพ้องกันว่า การไปเอาชีวิตผู้หนึ่งผู้ใด แม้เขาจะเป็นนักโทษหรือฆ่าผู้อื่นมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร เราไม่สามารถเป็นเจ้าชีวิตผู้อื่นได้  ในสังคมไทยและกฎหมายอาญาของไทยนั้นควรจะคงไว้ซึ่งโทษประหารหรือไม่นั้น กษิต กล่าวว่า สำหรับตนนับถือศาสนาพุทธ พยายามยึดมั่นในศีล 5 โดยเฉพาะเรื่องการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนั้นจุดยืนของตนมา 2 ทางด้วยกัน 1. ในฐานะเป็นชาวพุทธที่จะต้องไม่เห็นด้วยและละเว้นการฆ่าตัดชีวิตใดๆ ของคน ของสัตว์ สิ่งมีชีวิตทั้งปวง 2. ในแง่กฎหมายที่ควรสะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณี ความนึกคิดความเชื่อถืออยู่ด้วย และเมือเราบอกว่าสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธก็น่าจะออกมาหรือมีการเปลี่ยนที่ให้ยุติารประารชีวิตนักโทษ

การไม่ประหารยังเป็นการแผ่เมตตา ให้โอกาสแก่คนคนนั้นท่กระทำความผิดได้สำนึกผิด ปรับปรุงจิตใจ ให้เวลาที่จะปรับปรุงตนเองรับสภาพบาปที่เขาได้ทำขึ้น พยายามที่จะปรับตัวมากเท่าที่ทำได้ โดยที่ไม่มีอิสระเสรีต่อไป ต้องอยู่ในคุกในตาราง โดยทำ 3 อย่าง 1. รักษาและเคารพกฎเกณฑ์ของคุกและบ้านเมือง 2. ทบทวนตนเอง สำนึกผิดและพยายามที่จะทำสิ่งที่ดีงาม 3. เขาสามารถทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อคุกและสังคมในระหว่างถูกคุมขัง 

"สังคมไทยเป็นสังคมพุทธเราต้องเอาเรื่องการละเว้นในการที่จะเอาชีวิตของผู้อื่นมาเป็นตัวตั้ง เพราะถึงจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง แต่ตราบใดที่เราเป็นชาวพุทธแต่ว่ากฎหมายบ้านเมืองของเราบอกว่ายังมีการทการประหารชีวิตนักโทษได้ รู้สึกว่ามันจะอยู่แบบสวนทางกัน อยู่ตรงกันข้ามกัน มันคงจะไม่ถูกไม่ต้อง และที่สำคัญคือว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตใครทั้งสิ้น เราจะไปเอาชีวิตของเขาไม่ได้ ถึงแม้เขาจะทำผิดพลาดไปแล้วอย่างไรนั้น เขาก็ควรมีโอกาสที่จะปรับตัว ปรับสภาวะจิตใจเขา และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในคุกเพียรพยายามที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม"  กษิต กล่าว

กษิต ยังกล่าวด้วยว่าเป็นที่น่าดีใจที่ 2 ศาสนาหลักของโลก ไปในทิศทางเดียวกันของการให้อภัย มีเมตตา การละเว้นในการที่จะเอาชีวิตมนุษย์ รวมทั้งรักษาสิทธิในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ พร้อมหวังว่าประเทศไทยจะมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมายในอนาคตด้วย

'โป๊ปฟรานซิส' ค้านโทษประหารชีวิต

PPTV รายงานว่า สำนักวาติกันเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ประกาศให้โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้และจากนี้ไปพระศาสนจักรคาทอลิกจะถือว่าการประหารชีวิตคือการทำลายศักดิ์ศรีของบุคคล ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแนวคำสอนโดยกำหนดให้ศานจักรมีหน้าที่ต้องหาทางยุติโทษประหารให้ได้

นอกจากนี้สำนักวาติกันยังระบุว่า พระศาสนจักรคาทอลิก จะพยายามทำให้ทุกประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิต  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net