Skip to main content
sharethis

บทความแสดงความคิดเห็นของบรรณาธิการบริหารจาการ์ตาโพสต์ เรียกร้องไม่ให้ 'พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ขึ้นเป็นประธานของประชาคมอาเซียนต่อจากผู้นำสิงคโปร์ 'ลี เซียงลุง' โดยระบุว่า "เผด็จการทหารของไทยไม่สมควรได้รับตำแหน่งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค"

คอร์เนเลียส เพอร์บา บรรณาธิการบริหารของจาการ์ตาโพสต์ นำเสนอบทความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ 'อาเซียน' คนใหม่ที่จะต้องมาแทนที่ลี เซียงลุงนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และประธานคนปัจจุบัน โดยเรียกร้องให้อินโดนีเซียต่อต้านไม่ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยขึ้นเป็นประธานอาเซียนคนถัดไป

ในระบบการแต่งตั้งประธานอาเซียนนั้น กฎบัตรของอาเซียนระบุว่าจะต้องมีการสับเปลี่ยนหมุดเวียนทุกปีให้ผู้นำในแต่ละประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้ขึ้นเป็นประธาน โดยวางตามลำดับตัวอักษร เช่นในปี 2560 ประธานคือตัวแทนจากฟิลิปปินส์ ในปีนี้คือลีเซียงลุงจากสิงคโปร์ และในปีถัดไปจะถึงตาของประเทศไทย

อย่างไรก็ตามเพอร์บาแสดงการต่อต้านไม่อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นประธานคนถัดไป เนื่องจากจะทำให้เขาได้รับแต้มต่อทางการเมืองเพิ่มขึ้นมากและมองว่า "เผด็จการทหารของไทยไม่สมควรได้รับตำแหน่งท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยในภูมิภาค"

"อินโดนีเซียจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้หรือ" เพอร์บาระบุในบทความ

ในเรื่องที่ว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนนอกจากไทยมีกระแสความเปลี่ยนแปลงไปในทางประชาธิปไตยมากขึ้นนั้น เพอร์บา ยกตัวอย่างกรณีของพม่าที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแม้ว่าอองซานซูจีจะไม่ได้ควบคุมประเทศได้เต็มที่ก็ตาม ขณะที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็จัดเป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยถึงแม้ว่าจะมีปัญหาในประเทศตัวเองก็ตาม

ประชาคมอาเซียนมีความเคร่งครัดต่อการปฏิบัติแบบไม่แทรกแซงประเทศสมาชิกและแสวงหาฉันทามติร่วม ภายใต้หลักการจากกฎบัตรที่เขียนขึ้นในปี 2550

ก่อนหน้านี้ตัวแทนจากพม่าก็เคยได้เป็นประธานอาเซียนมาก่อน พม่าเข้าร่วมประชาคมอาเซียนพร้อมกับลาวมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ตัวแทนพม่าก็เพิ่งได้เป็นประธานอาเซียนในปี 2557 โดยถือเป็นรางวัลที่พม่าเปลี่ยนผ่านประเทศเป็นประชาธิปไตยเนื่องจาก 3 ปีก่อนหน้านี้ผู้นำเผด็จการทหาร เต่งเส่ง ลงจากตำแหน่ง และในปีถัดจากนั้นก็มีการเลือกตั้ง มาร์ตี นาทาเลกาวา ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียในยุคสมัยนั้นก็กล่าวยืนยันว่าการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยของพม่าทำให้พวกเขาได้รับตำแหน่งประธารอาเซียน

ในบทความของเพอร์บาระบุว่า ถ้าหากประชาคมอาเซียนยอมให้ พล.อ. ประยุทธ์ ขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า พวกเขาจะเป็นที่ขายหน้าต่อประชาคมโลก

เพอร์บาระบุถึงเหตุการณ์รัฐประหารในไทยเมื่อปี 2557 โดยระบุว่าถึงแม้ พล.อ. ประยุทธ์ จะอ้างว่าพวกเขาเข้ามาปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นแต่เขากลับเน้นเล่นงานผู้นำฝ่ายต่อต้านเขามากกว่า นอกจากนี้ยังพูดถึงการพยายามปิดปากสื่อ การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม บทความระบุอีกว่าหลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ ไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะจัดการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรมได้เขาก็ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งจริงๆ ในที่สุดแต่เพอร์บาก็แสดงความกังขาว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่รัฐบาลทหารจะทำตามคำมั่นที่ตัวเองให้ไว้

เพอร์บาเสนอว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยควรจะช่วยกู้ชื่อเสียงให้ไทยกลับมาเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ใช่แค่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและธรรมาภิบาล แต่รวมถึงการเป็นประเทศที่ให้อำนาจสูงสุดกับประชาชน

บทความของเพอร์บาระบุว่ามีคนจำนวนมากที่เชื่อว่านี่เป็นเผด็จการทหารที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากที่สุดโดยทำการกดขี่ข่มเหงประเทศมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว สำหรับเพอร์บาแล้วไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญสำหรับอาเซียน การสกัดกั้นไม่ให้หัวหน้าเผด็จการทหารขึ้นเป็นประธานของอาเซียนไม่ได้หมายถึงการลงโทษประชาชนชาวไทยแต่เป็นการลงโทษเหล่าผู้นำทหารมากกว่า

บทความในจาการ์ตาโพสต์ระบุอีกว่า "พล.อ. ประยุทธ์ ชักใยความขัดแย้งอย่างชาญฉลาดระหว่างผู้สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร (เสื้อแดง) กับผู้สนับสนุนชนชั้นนำ กองทัพ และบางส่วนก็สนับสนุนระบอบกษัตริย์ (เสื้อเหลือง) มาเป็นเวลานาน" แต่ความนิยมของทักษิณและพรรคการเมืองที่มาจากกลุ่มของทักษิณก็ยังคงได้รับความนิยมอยู๋เรื่อยๆ มายาวนานมากกว่า 17 ปี เพอร์บาระบุว่าประเทศไทยควรจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่การยึดอำนาจโดยทหาร

บทความของเพอร์บาเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียพูดถึงปัญหาเผด็จการทหารในไทยกับกลุ่มประชาคมอาเซียนในการประชุมประจำปีระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศที่สิงคโปร์ในสัปดาห์นี้ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด ใช้ยุทธศาสตร์การทูตแบบเงียบๆ ในการหารือเรื่องบทบาทของไทยกับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ และแน่นอนว่าควรตะปฏิบัติตามฉันทามติของอาเซียน

"ไทยควรจะมีสิทธิได้เป็นประธานอาเซียน แต่ไม่ใช่ภายใต้เผด็จการทหารผู้ยึดกุมอำนาจที่ขโมยจากประชาชนมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก่อนที่เขาจะขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า พล.อ. ประยุทธ์ ควรจะปฏิบัติตามพันธกรณีของตัวเองในการจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างอิสระและเป็นประชาธิปไตย ถ้าเขาไม่ทำเช่นนั้น เข้าก็ไม่ควรจะได้รับตำแหน่งเขตเศรษฐกิจภูมิภาคในปีหน้า" เพอร์บาระบุในบทความ


เรียบเรียงจาก

Commentary: Don't let Thai junta chief chair ASEAN next year, The Jakarta Post, 31-07-2018
http://www.thejakartapost.com/academia/2018/07/31/commentary-dont-let-thai-junta-chief-chair-asean-next-year.html

Don't let Thai junta chief chair Asean next year: Jakarta Post columnist, The Straits Times, 31-07-2018
https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/dont-let-thai-junta-chief-chair-asean-next-year-jakarta-post-columnist?
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net