Skip to main content
sharethis

มรภ.เชียงราย มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย แก่ “พิบูลศักดิ์ ละครพล” นักเขียน ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปีล่าสุด ซึ่งเคยเป็นครูในหุบเขา และถือว่าเป็นผู้ใช้ภาษาในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทเพลง รวมไปถึงความเรียงอื่น ๆ

ผลงานเขียนของนายพิบูลศักดิ์ ละครพล นั้นสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท  โดยเฉพาะปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข ฯลฯ  ควบคู่กันไปกับภาพวิถีชีวิตอันสันโดษ อบอุ่น ผูกพัน พึ่งพาธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขาในดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย ผู้เขียนได้เสนออุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยยุคแสวงหาซึ่งมุ่งออกทำงานในชนบท แสวงหาความหมายของชีวิต

ผศ.ดร.ปฏิพันธ์ อุทยานุกูล รองคณบดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ผู้นำเสนอประวัติและผลงานของพิบูลศักดิ์ ละครพล เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย ในครั้งนี้ กล่าวว่า เมื่อคณะมนุษยศาสตร์มอบหมายให้ตนเป็นผู้นำเสนอประวัติและผลงานของพิบูลศักดิ์ ละครพล ต่อคณะกรรมการสภาวิชาการ และคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทยนั้น เบื้องต้นตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่นี้ และก็มีความรู้สึกว่า คุณพิบูลศักดิ์ ละครพล นั้นเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมเหลือเกินที่จะได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทยในปีการศึกษา 2560 นี้

“หากจะพูดว่า ภาษา คือสิ่งประกอบสร้างวรรณกรรม ภาษาทำวรรณกรรมให้เป็นเรื่องเป็นราว ให้คนอ่านได้อ่าน ได้รับรู้ ได้สัมผัสแล้ว พิบูลศักดิ์ ละครพล ก็คือผู้ใช้ภาษาในการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี บทเพลง รวมไปถึงความเรียงอื่น ๆ ซึ่งก็มีนักเขียน-นักอ่านหลายคนได้ออกมายอมรับแล้วว่า งานเขียนของพิบูลศักดิ์ ละครพลนั้นมีอิทธิพลต่อความคิดของเขาเหล่านั้นด้วย ดังนั้น ผมจึงคิดว่า พิบูลศักดิ์ ละครพล เหมาะสมแล้วที่ได้รับคำนำหน้านามเป็นดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ดร.) สาขาภาษาไทย และรู้สึกภูมิใจที่มหาวิทยาลัยของผมได้เห็นคุณค่าของคนที่ใช้ภาษาในการประกอบอาชีพเป็นนักเขียนที่สุจริตทั้งต่อประเทศชาติ ประชาชนและคนอ่านของเขา

ในขณะที่ ดร.สหัทยา สิทธิวิเศษ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า รับทราบมาโดยตลอดว่าคุณพิบูลศักดิ์ ละครพล ได้เคยให้เกียรติแก่คณะมนุษยศาสตร์ด้วยการมาเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียนงานวรรณกรรมในรูปแบบต่าง ๆ แก่นักศึกษา คณาจารย์และผู้สนใจทั่วไป เท่าที่ทราบคือเริ่มตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โดยการชักชวนของท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ บุญประกอบ อดีตอาจารย์ที่เคยสอนภาษาไทยที่คณะมนุษยศาสตร์แห่งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันอาจารย์ไพโรจน์จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่เยื่อใยทางวรรณกรรมที่คุณพิบูลศักดิ์ ละครพลมีต่อคณะมนุษยศาสตร์นั้นยังคงเหนียวแน่นมั่นคงไม่เสื่อมคลาย

“ดิฉันรู้สึกดีใจ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้มอบศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทยแด่คุณพิบูลศักดิ์ ละครพล ในนามของบุคลากรคณะมนุษยศาสตร์ก็ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งค่ะ” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าว

ด้าน ไพวรินทร์ ขาวงาม นักเขียนรางวัลซีไรต์ ได้แสดงความเห็นหลังจากทราบข่าวในครั้งนี้ว่า พิบูลศักดิ์ ละครพล เป็นทั้งนักเขียน กวี นักแต่งเพลง ที่สามารถใช้ภาษาไทยในเชิงวรรณศิลป์ได้อย่างดีเยี่ยม นวนิยายและเรื่องสั้นของเขา เผยแพร่และมีบทบาทกว่าสี่ทศวรรษ ที่ได้อ่านและชอบมากก็เช่น ‘ถนนสีแดง’ ‘ขอความรักบ้างได้ไหม’ ‘ทุ่งหญ้าสีน้ำเงิน’ ‘หุบเขาแสงตะวัน’ บทกวีก็อย่าง ‘บทกวีแห่งความรัก’ ‘ดอกไม่แด่คนหนุ่มสาว’ รวมทั้งบทเพลงจำนวนมากในนามวงมาชารี  นอกจากนั้นยังเป็นบรรณาธิการนิตยสารสู่ฝัน และสำนักพิมพ์สู่ฝัน เปิดพื้นที่ส่งเสริมสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ไทย จัดพิมพ์หนังสือให้นักเขียนไทยจำนวนมาก เป็นนักเขียนและกวีที่มีความเป็นศิลปินผู้สร้างศิลปะวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องยาวนาน อาจเรียกได้ว่าทั้งชีวิตของเขาดำรงอยู่เพื่อสิ่งนี้ ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม และ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จึงถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สุทัศน์ วงศ์กระบากถาวร  อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม และเป็นนักเขียน เจ้าของนามปากกา “ทัศนาวดี” กล่าวว่า ตนเองรู้จัก พิบูลศักดิ์ ละครพล นานมาแล้ว ผ่านหนังสือ ขอความรักบ้างได้ไหม..ชูมาน..หุบเขาแสงตะวัน..ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดความรัก ชื่นชม ศรัทธาก็ก่อตัวขึ้นในความรู้สึก เช่นเดียวกับมวลหนุ่มสาวอีกมากมายในแผ่นดินนี้ ทั้งที่ยังไม่ได้รู้จักมักคุ้นกันแต่อย่างใด ขณะใจปรารถนาจะได้พบปะพูดคุยกับพี่ปอนสักครั้ง เพื่อหมายต่อเติมกำลังใจในฐานะนักอ่านที่กำลังมุ่งมั่นฝึกฝนการเขียน

“จนวันหนึ่ง..ที่มหาสารคามเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ในงานวรรณกรรมอะไรสักอย่าง ผมได้พบกับพี่ปอนสมใจ ได้สัมผัสความอ่อนโยนเปี่ยมด้วยความเมตตา..คืนนั้นผมเก็บกอบเอาแรงบันดาลใจจากพี่กลับไปนอนกอดอย่างอบอุ่น วิถีชีวิตที่เงียบ ๆ เรียบง่ายแต่งามสง่าของพี่ปอน คือเกียรติยศประจำตัวที่ทุกคนรู้เห็นได้เสมอ จนบัดนี้..กระทั่งโลกและสังคมได้ประดับคุณวุฒิของพี่ ผ่านมาทางหน่วยงานและองค์กรอย่างสูงสุด ทั้งเป็นศิลปินแห่งชาติ และล่าสุดก็คือดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาภาษาไทย ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายมอบให้ด้วยสถานะที่เหมาะสมและงดงามยิ่ง ในฐานะคนรุ่นหลังที่หลงรักมนต์อักษรของพี่ปอนมาอย่างยาวนาน เมื่อทราบข่าวนี้ หัวใจก็อิ่มเอิบด้วยความสุข และคงนอนหลับไปพร้อมรอยยิ้มอันอิ่มเอมไม่ต่างจากผู้คนอีกมากมายของประเทศนี้” ผศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวในตอนท้าย

ด้าน พิบูลศักดิ์ ละครพล ได้กล่าวแสดงความเห็นหลังทราบข่าว มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย มอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาไทย ในครั้งนี้ ว่า ก็ยินดีครับประสาปุถุชน และศรัทธาที่พร่องก็เขยิบขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เนื่องด้วยเคยได้ยินและรู้ข่าวมาบ้างว่า เกียรตินี้เป็นที่หมายปองของนักการเมืองท้องถิ่นมาก  เป็นการชุบทองพระสังข์...ในบางจังหวัด ถึงขั้นมีการวิ่งเต้น (จริงเปล่าก็ไม่รู้ไม่ควรลงให้หาเรื่องเข้าตัว)ก็จึงยินดีที่เขาเสนอชื่อ  และทำให้เราแบบเงียบงัน..จริงใจ..จึงเต็มใจและสนิทใจที่จะรับ...หากข่าวนี้มาในวันร้าย แม่เสียชีวิตพอดี ก็เลยไม่ตื่นเต้นดีใจเลยเพราะความสูญเสียกลบหมด แต่ก็มีปัญญามาสะกิด ได้แง่คิด ได้รับสมดุลความโศกเศร้ากับความสุข  รอยยิ้มและน้ำตา..ได้แง่คิดหลายประการ..เกี่ยวกับระบบระบอบในสังคมเรากับวิถีแห่งปัจเจกชนคนธรรมดา ในสังคมบ้าแห่..และยุคสมัยที่อำนาจไหลในอากาศ อยู่ในมือของทุกผู้หมู่เหล่า  ฉายเห็นถึงรากเหง้าปัญหาสังคมที่ซ่อนเร้นตลอดจนการงอกงามของลำต้น กิ่ง ดอกใบ..และการผลิบานของอำนาจขององค์กร..ฯลฯ อะไรต่อมิอะไรที่ไม่อยากพูดถึง ไม่ควรพูดในเทศะนี้

“ก็ต้องยินดีและขอบคุณทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเขาคงเห็นในแก่นแท้เนื้อในเรา  ยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง  อย่างคำขวัญของสยามรัฐ (ที่หม่อมคึกฤทธิ์ นำมาจากคาถาพระพุทธองค์...)  ก็ขอขอบคุณจากใจจริงครับ ถูกต้องแล้วครับ เราควรยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง แม้เขาจะเป็นบุคคลไม่สำคัญ....ขอย้ำในข้อหลังนี้...ควรตระหนักและให้ค่า "บุคคลไม่สำคัญ" มีมากมายที่ ดำแต่นอกในแผ้วผ่องเนื้อนพคุณ...อย่ามองอะไรแค่เปลือก ฉาบฉวย มองคนให้ลึกซึ้งถึงก้นบึ้งใจ มองไปนานๆ มองด้วยสมอง มองด้วยหัวจิตหัวใจ ในฐานะมนุษย์...เขาเป็นใคร ได้รับรางวัล  ยศตำแหน่งสูงส่งหรือยากจนต่ำต้อยแค่ไหน...มันไม่สลักสำคัญหรอก  สิ่งสำคัญ..เขาเป็นคนอย่างไร...เขาเป็นคนดีไหม...เขาทำอะไรให้สังคม..ประเทศชาติบ้าง” พิบูลศักดิ์ ละครพล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับประวัติของ พิบูลศักดิ์ ละครพล (นามแฝง มาชา มาชารี)  ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2561 เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2493 อายุ 68 ปี ที่บ้านเลขที่ 174 หมู่ 11 บ้านศรีถ้อย อ.แม่ใจ พะเยา จบการศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาขั้นสูง สาขาวิชาภาษาไทย วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2516 จากนั้นก็เข้าสู่วัยทำงาน เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตหลากหลาย  วัยเยาว์เคยเป็นเด็กขายหนังสือพิมพ์ หาบขนมเร่ขาย ถีบจักรยานขายไอศกรีม วัยหนุ่มเป็นนักมวย เป็นช่างทาสี เป็นจิตรกรวาดโปสเตอร์หนังฯลฯ สำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้องการสาขาวิชาภาษาไทย  เขาเคยเป็นครูช่วยสอนที่โรงเรียนพุทธิโสภณ เชียงใหม่ ครูสอนภาษาไทยและหัตถศึกษาที่โรงเรียนโกวิทธำรง เชียงใหม่   จากนั้นเขาได้เป็นครูสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่โรงเรียนบ้านป่าลาน ต.ห้วยโป่ง จ.แม่ฮ่องสอน

ขณะเป็นครูบนภูเขา เขาได้มีผลงานเรื่องสั้น บทกวีและนวนิยาย ลงตีพิมพ์แล้วในนิตยสารลลนาและสตรีสาร ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำในห้วงเวลานั้น จึงพอมีชื่อเสียงอยู่บ้าง เขาจึงเขียนจดหมายส่งให้บรรณาธิการ ขอความร่วมมือแฟนนักอ่าน ขอบริจาคหนังสือ และอุปกรณ์กีฬามาให้เด็กนักเรียน ส่วนความริเริ่มสร้างสรรค์แรกที่นับเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตคือ สร้างห้องสมุดหมู่บ้าน (โดยดัดแปลงอาคารเรียนเก่าที่ปิดร้าง ปรับเป็นห้องสมุด)  ขณะเดียวก็จัดตั้งกลุ่มหนุ่มสาวจัดงานการกุศล หาเงินมาสร้างห้องสุขาและรั้วโรงเรียน โดยใช้แรงงานชาวบ้าน โดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินเลย ส่งผลให้โรงเรียนได้รับรางวัล ห้องสมุดดีเด่นของจังหวัด  เป็นห้องสมุดต้นแบบ ก่อให้เกิดห้องสมุดโรงเรียน หมู่บ้าน ตำบลในเวลาต่อมาหลายแห่ง ปลายปี ๒๕๑๘ ศึกษาธิการจังหวัดที่นำคณะครูมาดูงานห้องสมุด ได้ขอยืมตัวเขาไปช่วยราชการที่โรงเรียนชุมชนบ้านปางหมู อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อให้เขาช่วยก่อตั้ง “ห้องสมุดชุมชนบ้านปางหมู” จนสำเร็จลุล่วง

ต่อมา พ.ศ. 2519 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลามหาวิปโยค  พิบูลศักดิ์ ละครพลอำลาอาชีพครู เพื่อให้เวลากับการทำงานเขียนอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็รับหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวต่างจังหวัด ให้หนังสือพิมพ์เดลิไทม์ (ยุคคุณไพฑูรย์ สุนทร เป็นหัวหน้าข่าว) ก่อนอพยพครอบครัวเข้ามาอยู่กรุงเทพฯมหานคร แล้วเริ่มต้นเป็นนักเขียนอาชีพ  ด้วยการรับงานคอลัมนิสท์อิสระให้กับนิตยสารสกุลไทย พร้อม ๆ กับเป็นนักเขียนประจำให้แก่นิตยสารรจนา หญิงไทย วัยหวาน ไฮคลาส หนุ่มสาว ฯลฯ

พ.ศ. 2520 เขาเป็นบรรณาธิการคัดสรรพ็อคเก๊ตบุ้ค สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ของ สุพล เตชะธาดา

และเข้าร่วมสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยสมัยสุภาว์ เทวกุลเป็นนายกฯ รับตำแหน่ง   

สารบาญ (ได้ริเริ่มจัดการประกวดเรื่องสั้นสมาคมนักเขียนเป็นครั้งแรก โดยเชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆเป็นผู้ตัดสินอาทิ อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง จินดา ดวงจินดา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สุชาติ สวัสดิศรีเป็นกรรมการ  ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศคือพนม นันทพฤกษ์ จากเรื่องสั้นชื่อ คลื่นหัวเดิ่ง)

พ.ศ. 2526 เป็นบรรณาธิการนิตยสาร สู่ฝัน ก่อตั้งสำนักพิมพ์ สู่ฝัน

พ.ศ. 2553 เป็นบรรณาธิการคัดสรรและตัดสินเรื่องสั้นรางวัล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หนังสือพิมพ์

สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

พ.ศ. 2544 เป็นกรรมการคัดสรรวรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน แว่นแก้ว

พ.ศ. 2546 เป็นกรรมการตัดสินรางวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์)

พ.ศ. 2550-ปัจจุบัน เป็นกรรมการตัดสินเรื่องสั้นยอดเยี่ยมรางวัล นายอินทร์ อวอร์ด

ในด้านบทบาททางสังคมและการอุทิศตนเพื่อสังคม เขาเดินทางไปเป็นวิทยากรอบรมงานเขียน บทกวีให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นวิทยากรโครงการ “นักเขียนพบนักศึกษา” สถาบันราชภัฏเชียงราย (มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 มาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งได้เป็น ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2561 และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงรายในครั้งนี้ด้วย.

พิบูลศักดิ์  ละครพล มีผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี วรรณกรรมสำหรับเด็ก และบทเพลง ผลงานที่สร้างสรรค์ในเวลา 5 ทศวรรษมีจำนวนหลายร้อยชิ้น พิมพ์เป็นเล่มแล้วไม่น้อยกว่า 50 เล่ม หลายเรื่องพิมพ์ซ้ำ หลายครั้ง ผลงานบางเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ผลงานหลายเรื่องได้รับรางวัล อาทิ รางวัลดีเด่นและรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลรวี โดมพระจันทร์ รางวัลลูกโลกสีเขียว และรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Awards : MERLA) ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติของประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง  

ผลงานเขียนของนายพิบูลศักดิ์ ละครพล  สะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท  โดยเฉพาะปัญหาการศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณสุข ฯลฯ  ควบคู่กันไปกับภาพวิถีชีวิตอันสันโดษ อบอุ่น ผูกพัน พึ่งพาธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขาในดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย ผู้เขียนได้เสนออุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยยุคแสวงหาซึ่งมุ่งออกทำงานในชนบท แสวงหาความหมายของชีวิต การเล่าเรื่องสาระแห่งชีวิต อย่างมีสีสันราวกับใช้ปากกาแทนพู่กัน และใช้ลีลาภาษาและท่วงทำนองพลิ้วไหวราวบทกวี ทำให้พิบูลศักดิ์ ละครพล มีสมญาที่รับรู้กันในแวดวงวรรณกรรมว่า “เจ้าชายโรแมนติก”

นอกจากผลงานด้านวรรณศิลป์แล้ว พิบูลศักดิ์ ละครพล ยังสร้างสรรค์บทเพลงกว่า 100 เพลง และยังเป็นจิตรกร วาดภาพสีน้ำ ได้จัดแสดงงานรวมแล้ว  ครั้ง บทประพันธ์ เพลงดนตรี และทัศนศิลป์ ของนายพิบูลศักดิ์  ละครพล สร้างแรงบันดาลใจแก่คนหนุ่มสาวยุคแสวงหาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน กระตุ้นให้ตระหนักถึงคุณค่าความหมายของชีวิต ความใส่ใจในความเป็นไปของสังคม และการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมการสร้างสรรค์ผลงานของนายพิบูลศักดิ์ ละครพล สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรักและเห็นคุณค่าของงานวรรณกรรมและศิลปะอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งจากผลงานอันเป็นที่ประจักษ์นี้ทำให้ในปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้พิบูลศักดิ์ ละครพลเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพุทธศักราช 2560 นับว่าเป็นสิ่งที่ยืนยันคุณภาพของคนที่ชื่อว่า ‘พิบูลศักดิ์ ละครพล’ ได้เป็นอย่างดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net