Skip to main content
sharethis

กรมสวัสดิการฯ ออกประกาศช่วย "ลูกจ้าง" เดือดร้อนภัยพิบัติ หยุดงานโดยไม่เป็นวันลา

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักและภาวะน้ำล้นตลิ่ง อาจทำให้เกิดภัยธรรมชาติได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้นายจ้าง ลูกจ้างไม่สามารถประกอบกิจการและทำงานได้ตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว กสร. จึงได้ออกประกาศขอความร่วมมือช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ โดยขอให้นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างที่ที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบเป็นเหตุให้เดินทางไปทำงานไม่ได้หรือมาทำงานสาย สามารถหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลาหรือเป็นความผิด

นายอนันต์ชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ขอให้นายจ้างจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสีย ในส่วนของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานขอให้ร่วมมือปฎิบัติตามแผนฉุกเฉิน ตรวจสอบเกี่ยวกับไฟฟ้า เครื่องจักร อาคารสถานที่ในสถานประกอบกิจการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายขึ้น

"ขอให้คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการร่วมมือกับนายจ้างในการดูแลและสนับสนุนการจัดสวัสดิการให้ช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยตามความเหมาะสม สำหรับเครือข่ายด้านแรงงานขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบและประสานงานช่วยเหลือ และขอให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์การแรงงานปรึกษาหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาโดยหลักสุจริตใจและความเห็นอกเห็นใจกันเพื่อให้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ คลี่คลายและผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยดี" นายอนันต์ชัย กล่าว

ที่มา: MGR Online, 7/8/2561

ไทยเชิญ รมต.-ทูตแรงงาน 4 ประเทศหารือปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเล ว่า จากการที่สมาคมประมงแห่งประเทศไทยแจ้งว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง และได้แจ้งความต้องการจำนวน 42,000 คน กระทรวงแรงงานได้จัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมประมง เป็นต้น เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้กรมการจัดหางานแจ้งจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ประสานสมาคมประมงเพื่อแจ้งผู้ประกอบการให้มายื่นแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล และให้รายงานผลต่อกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทราบความต้องการที่แท้จริง เพื่อจะได้ประสานกับประเทศต้นทาง 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ในการนำเข้าแรงงานตามระบบ MOU โดยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะได้เชิญผู้ประกอบการ สมาคมประมง จัดหางานจังหวัด และสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดใน 22 จังหวัดชายทะเลมารับฟังการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการรวมทั้งประเด็นปัญหาต่างๆ เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีแรงงานต่างด้าวประมงทะเลที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 และการอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 11,000 คน สามารถทำงานต่อในประเทศไทยได้ โดยจะให้ต่ออายุการทำงานออกไปอีก 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยขอให้มารายงานตัวตามขั้นตอนตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม – 30 กันยายน 2561 ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วน 1506 กด 2

ที่มา: MGR Online, 4/8/2561

ก.แรงงาน ซ้อมอพยพหนีไฟ รณรงค์ทุกภาคส่วนขับเคลื่อน 'Safety Thailand’

ปลัดแรงงาน นำทีมฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ พร้อมรณรงค์ให้สถานประกอบกิจการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานราชการ ขับเคลื่อนนโยบาย'Safety Thailand' และปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554

นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานอำนวยการดับเพลิงโครงการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ อาคารกระทรวงแรงงาน ประจำปี 2561 โดยมีนายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้อำนวยการดับเพลิง ณ บริเวณด้านล่างอาคารกระทรวงแรงงาน โดยวัตถุประสงค์ในการฝึกซ้อมฯ เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตระหนักรู้ถึงความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สามารถอพยพได้อย่างปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) หน่วยราชการต้องปฏิบัติตามมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 ให้ส่วนราชการดำเนินการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ เพื่อเตรียมความพร้อม และสามารถรองรับกรณีเกิดเหตุความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัย ซึ่งการฝึกซ้อมฯ ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สนับสนุนรถดับเพลิงและอุปกรณ์การฝึกซ้อมฯ จากสถานีดับเพลิงสุทธิสาร โรงพยาบาลทหารผ่านศึก และสถานีตำรวจนครบาลดินแดง

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบกิจการที่มีอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่และมีคนทำงานจำนวนมาก หรือแม้แต่ในสถานที่ราชการก็มีความเสี่ยงต่อเหตุเพลิงไหม้ได้เช่นกัน จึงได้จัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟโดยการจำลองสถานการณ์จริงเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดับเพลิงด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการฝึกซ้อมหนีไฟให้แก่ข้าราชการเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรหากเกิดเหตุเพลิงไหม้จริง ตลอดจนเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงาน สถานประกอบกิจการต่างๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand)

ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการการปฏิบัติตามกฎหมายการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟ ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ และกองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนแยกตลิ่งชัน หรือ โทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 3

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 3/8/2561

เปิดโอกาสผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้เงินกองทุนฯ สูงสุด 200,000 บาทอัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้ส่งเสริมอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบ โดยส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน โดยให้ผู้ที่สนใจเป็นผู้รับงานได้มีการรวมกลุ่มกัน ซึ่งลักษณะของการรับงานไปทำที่บ้านจะเป็นการจ้างงานรูปแบบหนึ่งที่ผู้จ้างงานได้ส่งงานให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อทำการผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อมหรือแปรรูปสิ่งของตามที่ได้ตกลงกับผู้จ้างงานในบ้านของตนเอง เมื่อทำเสร็จจะส่งคืนสิ่งของหรือผลิตภัณฑ์ให้กับผู้จ้างงาน

นอกจากนี้ยังสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านอีกด้วย โดยคุณสมบัติของผู้กู้เป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งมีทั้งแบบบุคคลและกลุ่มบุคคลที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้านหรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท สำหรับกรณีบุคคล ส่วนกรณีแบบกลุ่มบุคคลจะต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท มีวงเงินกู้สำหรับบุคคลไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืน 2 ปี และกลุ่มบุคคลมีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาชำระคืน 4 ปี กรณีกู้ 50,000-100,000 บาท ชำระคืน 5 ปี วงเงินกู้ 100,001-200,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 ต่อปี และมีระยะเวลาพักชำระหนี้เงินต้นไม่เกิน 4 เดือน

ขณะนี้มีกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานแล้วจำนวน 723 กลุ่ม สมาชิกจำนวน 5,118 คน ปล่อยกู้เงินกองทุนฯแล้ว จำนวน 372 กลุ่ม เป็นเงิน 35,036,000 บาท สร้างรายได้ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ต่ำกว่าปีละ 132,480,000 บาท

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 3/8/2561

เผยแรงงานต่างด้าวภาคประมง 1.1 หมื่นคน ได้ต่ออายุทำงานอีก 2 ปี

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ที่กระทรวงแรงงานว่าปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว พม่า ได้รับอนุญาตทำงานในกิจการประมงทะเล จำนวน 59,691 คน ซึ่งสมาคมประมงแห่งประเทศไทยแจ้งว่ากำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมง และได้แจ้งความต้องการจำนวน 42,649 คน มีนายจ้างยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานตามเอ็มโอยูในกิจการประมงทะเลใน 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 3,746 คน กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้แจ้งให้จัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ประสานสมาคมประมงเพื่อแจ้งนายจ้างให้มายื่นคำขอจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการนำเข้าตามเอ็มโอยูแล้ว 1,480 คน เป็นกัมพูชา 1,439 คน ลาว 39 คน พม่า 2 คน

"กกจ.ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงทะเลว่า ได้ประชุมหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสมาคมประมงแห่งประเทศไทยรับทราบค่าจ้าง สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ไปนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการไทย-กัมพูชา และไทย-พม่า ซึ่งพร้อมส่งแรงงานมาทำงาน และจะได้มีการประสานงานในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวและว่า สำหรับคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมาตรา 83 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว และการอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่ 30 กันยายน 2561 จำนวน 11,000 คน นั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ต่ออายุการทำงานออกไปอีก 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ในส่วนของจำนวนที่ขาดแคลนกว่า 42,000 ราย ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจ้างแรงงานต่างด้าวได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เพื่อดำเนินการนำเข้าตามเอ็มโอยู ทั้งนี้ จะนำเสนอผลการประชุมต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เพื่อพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนของการจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามนั้น พบว่าปัจจุบันมีแรงงานเวียดนามทำงานอย่างถูกกฎหมาย 1,130 คน เป็นระดับฝีมือ 724 คน ส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 300 คน มติ ครม. (ทำงานก่อสร้าง) 100 คน นำเข้าตามเอ็มโอยู 6 คน ซึ่งเวียดนามได้ขอให้เพิ่มงานในเอ็มโอยู เพราะแรงงานไม่ต้องการทำงานก่อสร้าง ประมง ขณะที่ฝ่ายไทยขอให้เวียดนามทำหนังสือผ่านช่องทางการทูตเพื่อพิจารณา และไทยได้เสนอค่าตอบแทนในงานประมงทะเลในอัตราเดือนละ 12,000 บาท

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอกรณีแรงงานเวียดนามที่ลักลอบทำงาน เห็นควรให้กลับออกไปและกลับเข้ามาตามเอ็มโอยู และพิจารณาเพิ่มประเภทงานให้แรงงานเวียดนามที่นำเข้าตามเอ็มโอยู ทำได้นอกเหนือจากงานกรรมกรในกิจการก่อสร้างและประมงทะเล หรือให้ทำงานได้เฉพาะงานกรรมกรในกิจการก่อสร้างและประมงทะเล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แรงงานที่ลักลอบทำงานกลับประเทศและกลับเข้ามาตามเอ็มโอยู และเห็นชอบเปิดให้เอ็มโอยู 2 ตำแหน่ง คือ กรรมกรและผู้รับใช้ในบ้าน ซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุม กนร.ด้วย

ที่มา: มติชน, 2/8/2561

คลังชวนคนจน 11.4 ล้านคน เปิดบัญชีแบงก์ไม่มีขั้นต่ำ

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนรับสวัสดิการจากภาครัฐ 11.4 ล้านคน เมื่อไปเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องถูกกำหนดวงเงินขั้นต่ำในการเปิดและคงเหลือในบัญชี เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยไม่มีต้นทุนหรือภาระจากการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน

“เดิมธนาคารพาณิชย์จะกำหนดว่าต้องมีเงินขั้นต่ำในบัญชีไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ไม่เช่นนั้นจะคิดค่ารักษาบัญชีและหักจนเงินหมดและบัญชีก็จะถูกปิด แต่สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนจะได้การยกเว้น ไม่มีการกำหนดวงเงินขั้นต่ำ และไม่ถูกตัดเงินในบัญชีด้วย มีเงินเหลืออยู่เท่าไรก็ให้เหลืออยู่เท่านั้น”นายสุวิชญ กล่าว

นายสุวิชญ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งมีทุกภาคส่วนจะต้องประสานความร่วมมือให้การช่วยเหลือ ที่ผ่านมามีการแจกสวัสดิการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยกรมบัญชีกลางจะวงเงินเข้าบัตรผู้มีรายได้โดยตรง ทั้งวงเงินซื้อของในร้านค้า และวงเงินค่าเดินทางในระบบต่างๆ

นอกจากนี้ คลังและกระทรวงการแรงงานรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 โดยการฝึกอาชีพซึ่งมีผู้สมัครใจ 4 ล้านคน คาดว่าหลังฝึกอาชีพก็จะมีงานทำมีรายได้มากขึ้น และพ้นจากผู้มีรายได้น้อย

ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ภายใน 2-3 สัปดาห์ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ผู้มีรายได้ที่ลงทะเบียนไม่ต้องเสียค่ารักษาฟรี 30 บาท นอกจากนี้ คลังยังอยู่ระหว่างสรุปการพิจารณาคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้มีรายได้จำนวนหนึ่งซึ่งไม่เกินคนละ 7,000 บาท สำหรับการใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้

ที่มา: ข่าวสด, 2/8/2561

สปส.ให้สิทธิคุ้มครองแรงงานอิสระมาตรา 40 เจาะกลุ่มอาชีพแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานโครงการ “สร้างการรับรู้ประกันสังคมมาตรา 40 กลุ่มอาชีพแท็กซี่และมอเตอร์ไซด์รับจ้าง” ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กลุ่มอาชีพแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นกลุ่มอาชีพสำคัญในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และมีผู้ประกอบอาชีพอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะการดูแลผู้ประกอบอาชีพอิสระให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงและมีหลักประกัน ชีวิต จึงได้มอบนโยบายเน้นหนักและเร่งด่วนแก่กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้สร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเด็นประกันสังคมมาตรา 40 แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระเพื่อให้เข้าถึงหลักประกันทางสังคมโดยมีเป้าหมาย จำนวน 5 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ไม่เพิ่มเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 กรณีผู้ประกันตนเดิมที่อยู่ในระบบ อีกทั้งเพิ่มทางเลือกใหม่ โดยให้เพิ่มความคุ้มครองและเพิ่มเงินสมทบ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง และเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

“การจัดงานในวันนี้ จะเป็นการสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ กลุ่มอาชีพแท็กซี่และมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เนื่องจากเป็นกลุ่มอาชีพที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญในการประชาสัมพันธ์งานประกันสังคม ไปยังกลุ่มอาชีพเดียวกันในทุกพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 144,703 คน จากเป้าหมายทั่วประเทศ จำนวน 182,000 คน และขยายไปยังอาชีพอิสระอื่นๆ” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวและว่า อาชีพแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมสานต่อและขยายผลให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างทราบในวงกว้างขึ้น

ด้านนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าเป็นการขับเคลื่อนนโยบายการให้สิทธิประกันสังคมแก่แรงงานภาคสมัครใจ ที่มีวัตถุประสงค์การจัดโครงการสร้างการรับรู้ประกันสังคมมาตรา 40 กลุ่มอาชีพแท็กซี่และมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สปส.จัดให้ Taxi สุขใจ วินมอเตอร์ไซค์สุขจริง” โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ จากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แก่กลุ่มอาชีพแท็กซี่และมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เป็นโอกาสให้กลุ่มเป้าหมาย สมัครเข้าระบบประกันสังคม รวมถึงสร้างเครือข่ายประกันสังคมให้สามารถนำไปขยายผลร่วมเป็นกระบอกเสียง รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้แรงงานอิสระและประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการแท็กซี่และมอเตอร์ไซด์รับจ้างได้รับรู้ผ่านช่องทางสื่อสารของกลุ่มอาชีพและสร้างทัศนคติให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างหลักประกันความมั่นคง ในการดำรงชีวิต ซึ่งขณะนี้แรงงานอิสระอยู่ในระบบประกันสังคมแล้ว 4 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.5 ล้านคน ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 2.5 ล้านคน และยังมีจำนวนอีกกว่า 20 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครอง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับแรงงาน และให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ กระทรวงแรงงานได้แก้ไขกฎหมายเพิ่มสิทธิประโยชน์ และเพิ่มทางเลือกการสมทบเงินในการสมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมภาคสมัครใจ เพื่อจูงใจให้แรงงานภาคอิสระสมัคร เป็นผู้ประกันตนและได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น และจะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมภาคสมัครใจ ให้แก่ทุกกลุ่มอาชีพอิสระได้ทราบ ซึ่งผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นกลุ่มอาชีพที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ให้คนในอาชีพเดียวกันหรือผู้รับบริการได้รับทราบ และเชิญชวนคนเมืองเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/8/2561

“กรมบังคับคดี” เร่งสำรวจ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เซ็นค้ำประกัน กยศ.กลัวซ้ำรอย “ครูวิภา"

ที่กรมบังคับคดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงผลงานไตรมาส 3 ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยระบุว่า สามารถผลักดันทรัพย์ได้มูลค่ากว่า 35,857,767,821 บาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 7.92 ขณะที่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณนี้สามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 8,382 เรื่อง คิดเป็นทุนทรัพย์จำนวน 2,135,269,363 บาท สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ในส่วนการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทร่วมกับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่ ต.ค.60 - มิ.ย.61 มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ยรวมกว่า 8,114 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 7,1581 เรื่อง รวมทุนทรัพย์ 880,022,556 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 88.22 ของเรื่องที่เข้าสู่การไกล่เกลี่ย

น.ส.รื่นวดี เผยอีกว่า สำหรับกรณี น.ส.วิภา บานเย็น ผอ.ร.ร.แห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร ที่มาร้องกรมบังคับดคี หลังเป็นผู้ค้ำประกันให้ลูกศิษย์กู้ กยศ. กว่า 60 คน ขณะนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ได้สั่งให้กรมบังคับคดีเข้าไปอำนวยความยุติธรรมให้ โดยกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว กยศ. ต้องทำงานละเอียดมากขึ้นในการติดตามทวงหนี้จากผู้กู้ให้ถึงที่สุดก่อน ถึงจะไปบังคับเอากับผู้ค้ำประกัน กยศ. รวมทั้งข้อมูลลูกหนี้ไม่ว่าจะเข้าไปทำงานในภาครัฐหรือเอกชนทุกหน่วยงานมีหน้าที่ต้องมอบข้อมูลทรัพย์สินและเงินเดือนของลูกหนี้ให้กับ กยศ. ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการติดตามทวงถามลูกหนี้ให้กับ กยศ.

“สำหรับภาพรวมการบังคับคดีหนี้ กยศ.ในรอบ 9 เดือนของปีงบประมาณ 61 พบว่า กยศ.ได้ทำเรื่องขออายัดเงินเดือนจำนวน 8,384 คดี กว่า 900 ล้านบาท ตามกฎหมายใหม่ นายจ้างทั้งภาครัฐและเอกชนมีหน้าที่ต้องหักเงินเดือนลูกจ้างที่เป็นหนี้ กยศ. โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนของกรมบังคับคดีขอนำร่องส่งเงินเดือนของข้าราชการให้กับกรมบัญชีกลางเพื่อหักเงินเดือนผ่อนชำระให้กับ กยศ. ขณะนี้มีประมาณ 200 คน อย่างไรก็ตาม ยังได้หารือกับกรมการปกครองโดยให้สำรวจข้าราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ที่เข้าไปเซ็นรับรองและเซ็นค้ำประกันหนี้ กยศ. เพื่อเตรียมแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นกับ น.ส.วิภา อีกด้วย” อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าว

ที่มา: MGR Online, 31/7/2561

3 ปีเจ้าหน้าพิทักษ์ป่าตายในหน้าที่ 42 รายได้เงินช่วยเหลือแค่รายละ 3 หมื่น

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับกรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ จัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ประจำปี 2561 มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธาน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและทะเล เป็นผู้ปฏิบัติงานปกป้องดูรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ประเทศชาติและโลก เป็นงานที่ยากลำบาก มีความเสี่ยงทั้งจากภัยธรรมชาติและจากผู้ลักลอบกระทำความผิด เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าและทะเลถือเป็นผู้เสียสละที่ควรค่าแก่การเชิดชู

ทั้งนี้ สำหรับอัตรากำลังสายงานพิทักษ์ป่า ปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 20,124 คน แบ่งเป็น ข้าราชการ 2,720 คน ลูกจ้างประจำ 1,270 คน พนักงานราชการ 7,667 คน พนักงานจ้างเหมา 8,467 คน สถิติการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ประสบภยันตรายปี 2557-2560 รวม 91 ราย แบ่งเป็น เสียชีวิต 42 ราย มี ข้าราชการ 3 ราย ลูกจ้างประจำ 8 ราย พนักงานราชการ 19 ราย พนักงานจ้างเหมา 12 ราย บาดเจ็บสาหัส 13 ราย แบ่งเป็นพนักงานราชการ 5 ราย พนักงานจ้างเหมา 8 ราย บาดเจ็บ 36 ราย มี ลูกจ้างประจำ 2 ราย พนักงานราชการ 21 ราย พนักงานจ้างเหมา 13 ราย โดยจ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 2,230,000 บาท

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสวัสดิการที่รัฐจัดให้สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ กองทุนสวัสดิการ กรมอุทยานฯ จะช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานจ้างเหมา ที่ประสบภยันตรายในการปฏิบัติหน้าที่ กรณีเสียชีวิต รายละไม่เกิน 3หมื่นบาท บาดเจ็บสาหัส รายละไม่เกิน 2หมื่นบาท และบาดเจ็บรายละไม่เกิน 1หมื่น บาท

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่เล็งเห็นความสำคัญของผู้ปฏิบัติงานด้านพิทักษ์ป่า และพิทักษ์ทะเล ซึ่งมีการสนับสนุนช่วยเหลือในหลายๆด้าน ที่ผ่านยังมีโครงการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้ได้มีที่อยู่อาศัยในสภาพที่เหมาะสม เพื่อให้คลายความเป็นห่วงครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง เป็นต้น

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 1/8/2561

บุกจับเอเยนต์ค้าแรงงานพม่าได้คาบ้านเช่า พบขูดเงินเพื่อนร่วมชาติ ทำเอกสารปลอม ให้พักอาศัยหลายสิบคน

พล.ต.ชินโชติ บุญยไพศาลเจริญ รอง ผอ.รมน.จังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า เมื่อเย็นวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้ ร.อ.พงษ์เทพ ทับทิมทอง รอง หน.กลุ่มงานกิจการมวลชน และเจ้าหน้าที่ทหาร กอ.รมน.จังหวัดนครปฐม ประสานกับ น.ส.บุณยวีร์ ไข้วพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัด เจ้าหน้าที่ป้องกันภัยจังหวัดนครปฐม

เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม แรงงานจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่ทหารกรมการสัตว์ทหารบก ตำรวจ สภ.บางเลน ตำรวจ นปพ.ภ.จว.นฐ. ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนครปฐม เข้าตรวจสอบแคมป์ห้องพักคนงานต่างด้าวในพื้นที่อำเภอบางเลน หลังได้รับแจ้ง และมีการร้องเรียนว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดฎหมายลักลอบทำงาน และพักอาศัยหลายราย โดยมีเอเยนต์ชาวพม่าเป็นคนกลางในการประสานงานนำคนงานเข้ามาโดยผิดกฎหมาย

จากการบุกเข้าตรวจสอบห้องพัก พบแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาพักอาศัย ชื่อห้องพักคือ LEASE AGREEMENT เลขที่ 188 หมู่ที่ 13 ต.บางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม โดยมี น.ส.จารุดา สมบูรณ์ทรัพย์ ที่อยู่ 111 หมู่ที่ 7 ต.ป่ากอ อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ เป็นเจ้าของห้องพักให้เช่า และเจ้าของห้องพักได้ให้ นายเซ ยาซู หรือชื่อไทย มนัส เป็นผู้ดูแล พร้อมกับหาชาวต่างด้าวเข้าพักอาศัย และยังมีหน้าที่นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย

ผลการตรวจสอบ พบต่างด้าวสัญชาติพม่า ที่เข้าพักอาศัยบางส่วนที่ไม่ได้ทำงาน จำนวน 48 คน เป็นชาย 36 คน หญิง 12 คน มีเอกสารถูกต้อง จำนวน 16 คน ชาย 16 คน และมีเอกสารมาแสดง (สำเนา) แต่สำเนาไม่ถูกต้อง และผิดกฎหมายแรงงาน

โดยมี นายเซ ยาซู หรือนายมนัส เป็นคนดำเนินการทำเอกสารให้ โดยคิดค่าทำคนละ 23,000 บาท, 20,000 บาท และ 8,500 บาท และเมื่อทำการตรวจสอบพบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม และได้แจ้งข้อหานำตัวต่างด้าวที่ทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงาน จำนวน 32 คน ส่ง สภ.บางเลน ในข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการจับกุมแรงงานพม่าได้ 2 ราย ในข้อหาเสพยาเสพติด

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความผิดต่อ นายเซ ยาซู หรือนายมนัส ชาวพม่า คือ กระทำความผิด พ.ร.บ.จัดหางานตาม ม.128 หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศได้ ทำการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ และหลอกลวง ฉ้อโกง นอกจากนี้ ได้แจ้งความผิดต่อ น.ส.จารุดา สมบูรณ์ทรัพย์ ให้ที่พักพิง ซ่อนเร้น และช่วยเหลือประการใดๆ ให้บุคคลต่างด้าวที่กระทำความผิดพ้นจากการจับกุม

การจับกุมดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีรายงานว่า พบมีเครือข่ายการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยง โดย นายเซ ยาซู หรือนายมนัส เป็นนายหน้านำเข้าแรงงานพม่ารายใหญ่ ซึ่งจะไปรับแรงงานเข้ามาจากด่านเจดีย์สามองค์ และนำมาพักไว้ที่บ้านเช่าสถานที่จับกุม และหลอกเหยื่อชาวพม่าว่าจะมีงานให้ทำ ซึ่งมีการเรียกค่าหัวจากเพื่อนร่วมชาติหลายหมื่นบาท

การสอบสวนเบื้องต้น นายเซ ยาซู หรือมนัส ให้การว่า บ้านพักดังกล่าวเป็นของนายวัฒนา สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้ใหญ่บ้าน ที่จังหวัดอำนาจเจริญ และมอบให้ น.ส.จารุดา เป็นผู้ดูแล โดย นายมนัส อ้างว่า ได้มีการนำคนงานเพื่อส่งให้บริษัท หย่งถัง ในพื้นที่อำเภอบางเลน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า บริษัทมีการปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในประเทศ โดยเพิ่งย้ายมาจากจังหวัดชลบุรี และยังไม่ได้ต้องการแรงงานไว้ตามที่ถูกกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ การเข้าจับกุมแรงงานพม่าที่ถูกหลอกได้ประสานขอความช่วยเหลือมายัง กอ.รมน.จังหวัดนครปฐม และสถานทูตพม่า เพื่อให้เข้าติดตามทลายขบวนการค้ามนุษย์ ที่มีเครือข่ายเข้าสู่รูปแบบการค้ามนุษย์ที่ชัดเจนตามมาตร 128 โดยตอนนี้มีการสอบสวนเพื่อจะติดตามตรวจสอบทรัพย์สินของ นายมนัส ว่ามีอะไรบ้าง และจะมีการออกหมายเรียก นายวัฒนา และ น.ส.จารุดา ที่เป็นเจ้าของห้องเช่าดังกล่าวว่ามีส่วนกับขบวนการนี้หรือไม่ หากมีความผิดจะมีการดำเนินคดีในสถานหนัก ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

ที่มา: MGR Online, 1/8/2561

ดีเดย์ 1 ส.ค.หักเงินเดือนลูกหนี้ กยศ. ของข้าราชการ ก.คลัง

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงความคืบหน้าความร่วมมือกับนายจ้างหักบัญชีลูกหนี้ กยศ.เพื่อชำระหนี้กองทุน ว่า ขณะนี้ได้เริ่มกับส่วนราชการบางแห่งแล้ว คือ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ในเดือน ส.ค.นี้ หลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561 เป็นต้นไป จะเริ่มหักทุกส่วนราชการ และ ปี 2562 จะเริ่มหักบัญชีจากบริษัทเอกชนที่มีจำนวนพนักงานและลูกจ้างมาก ๆ ก่อน อาทิ เครือซี.พี. เป็นต้น ทั้งนี้ ประเมินว่าจะมีลูกหนี้เข้าสู่ระบบการหักเงินเดือนประมาณ 1 ล้านราย

“ปัจจุบัน หนี้ขาดชำระน้อยลง เพราะคนรุ่นใหม่ตระหนักมากขึ้น โดยปัจจุบัน กยศ.ให้กู้ไปแล้ว 5 ล้านราย เป็นเงินราว 5 แสนล้านบาท ปิดบัญชีแล้วประมาณ 1 ล้านราย อยู่ในช่วงปลอดหนี้ประมาณ 1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ที่ถึงกำหนดชำระประมาณ 3 ล้านราย มีผิดนัดประมาณ 2 ล้านราย เพราะแค่ไม่ชำระ 1 งวด เราก็นับเป็นผิดนัดชำระ ซึ่งเราก็พยายามกันคนใหม่ไม่ให้เป็นหนี้ค้างชำระ ส่วนหนี้เก่าก็ทยอยปิดบัญชี หรือทำให้กลับมาชำระหนี้ปกติ” นายชัยณรงค์กล่าว

นอกจากนี้ กยศ. อยู่ระหว่างพิจารณา ว่าจะมีการปรับเงื่อนไขการชำระให้ลูกหนี้ที่อาจจะมีกำลังไม่พอ สามารถจ่ายคืนได้ เช่น การขยายระยะเวลาหนี้ออกไปจากเดิมกำหนด 15 ปี โดยดูความสามารถในการชำระ ซึ่งอาจจะขยายไประดับหนึ่ง แต่อายุผู้กู้ต้องไม่เกิน 60 ปี เป็นต้น

“วันนี้ เราคำนึงว่า ผู้กู้บางรายอาจจะยังมีรายได้ไม่พอ แต่จะจ่ายได้เท่าไหร่ เดี๋ยวค่อยมาคุยกัน มาปรับโครงสร้างการชำระหนี้กัน จะให้มาคุยกันเป็นราย ๆไป อย่างไรก็ดี เรื่องเกณฑ์ต่าง ๆยังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปเราจะมีออกมาเป็นโครงการต่อไป” ผู้จัดการ กยศ.กล่าว

ที่มา: VoiceTV, 31/7/2561

แจง ครม.ปิดจ๊อบจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ระบุยอดเข้าระบบกว่า 1.18 ล้านคน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ได้รายงาน ครม.ถึงการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. - 31 มี.ค. 2561 เป้าหมายแรงงานต่างด้าว 1,379,252 คน จากนั้นช่วงปลายเดือน มี.ค.แรงงานต่างด้าวมาจัดทำทะเบียนประวัติเป็นจำนวนมาก กระทรวงแรงงานจึงได้ขอมติ ครม.เพิ่มเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่ถึง 30 มิ.ย.61 สามารถดำเนินการได้ จำนวน 1,320,035 คน คิดเป็น 96 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นแรงงานที่ดำเนินการครบทุกขั้นตอน จำนวน 840,736 คน และแรงงานที่ต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไป จำนวน 348,022 คน

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่านอกจากนี้กระทรวงแรงงาน ได้เปิดศูนย์ OSS ระยะ 2 ขึ้นทุกจังหวัด และใน กทม.4 แห่ง โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. - 30 มิ.ย.2561 สามารถดำเนินการได้ 347,067 คน คิดเป็น 99.72 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน ทำให้มีข้อมูลแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 1,187,803 คน คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ วิเคราะห์ได้ว่ามีการเปลี่ยนสถานะเป็น MOU ทำงานไป-กลับ โดยใช้ Borderpass เดินทางกลับประเทศ และนายจ้างไม่นำลูกจ้างมาดำเนินการ

ที่มา: แนวหน้า, 31/7/2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net