Skip to main content
sharethis

กสม. เผยกรณี สตช.ไม่รับพนักงานสอบสวนหญิงถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
แนะรัฐบาลดำเนินการตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีฯ เพิ่มสัดส่วนสตรีในระบบราชการ ด้าน สตช. แจ้ง เหตุคำนึงสวัสดิภาพของเพศหญิงเป็นสำคัญ หาใช่การริดรอนสิทธิสตรี

6 ส.ค.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดรับสมัครเข้ารับราชการตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยเปิดรับสมัครเฉพาะเพศชายจนปรากฏกระแสเรียกร้องในประเด็นความเสมอภาคทางเพศ ว่า ตนมีความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าวซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในการเข้ารับราชการตำรวจ และขัดต่อบทบัญญัติข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งระบุว่า รัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกประการ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านที่เกี่ยวกับการเมืองและทั่ว ๆ ไปของประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะให้ประกันแก่สตรีภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาคกับบุรุษซึ่งสิทธิที่จะเข้าร่วมในการวางนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามนโยบายนั้น และในการรับตำแหน่งราชการและปฏิบัติหน้าที่ราชการในทุก ๆ ระดับของรัฐบาล

อังคณา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมาในคราวการประชุมพิจารณารายงานการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบในรอบของประเทศไทย ณ สำนักงานองค์การสหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีของสหประชาชาติ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงตำแหน่งต่าง ๆ ในระบบราชการไทยที่สัดส่วนของสตรียังคงมีไม่มากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานทางการเมือง และคณะกรรมการฯ ได้ตั้งคำถามว่าไทยจะมีวิธีเพิ่มเติมสัดส่วนของตัวแทนสตรีในหน่วยบริหารราชการเช่นเดียวกันกับภาคเอกชนได้อย่างไร

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสม. เคยมีข้อเสนอแนะต่อ สตช. ให้มีพนักงานสอบสวนหญิงในการสอบสวนคดีความผิดทางเพศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่ารัฐบาลและ สตช. ควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว โดยไม่ควรปิดกั้นการเข้ารับราชการในทุกตำแหน่งด้วยเหตุแห่งเพศ และควรรับประกันการเพิ่มสัดส่วนของสตรีในกระบวนการทำงาน การมีส่วนร่วม และการตัดสินใจในทุกระดับของรัฐ ตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ เพื่อให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานของประเทศชาติและเพื่อสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเคารพสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานความเป็นธรรมทางเพศต่อไป

สตช. แจงเหตุคำนึงสวัสดิภาพหญิงเป็นสำคัญ หาใช่ริดรอนสิทธิสตรี

ขณะที่ วอยซ์ออนไลน์ รายงานว่า พ.ต.ท. ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษก สตช.ชี้แจงประเด็นข้อเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศดังกล่าว ว่า เนื่องจากปัจจุบันมีความขาดแคลนพนักงานสอบสวนมากถึง 2,000 ตำแหน่ง แต่ในโอกาสนี้สามารถเปิดรับได้เพียง 250 ตำแหน่งเท่านั้น ยังคงขาดแคลนพนักงานสอบสวนอีกมากถึง 1,700 ตำแหน่ง ไม่สามารถให้บริการพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ 

ทั้งในปัจจุบันพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศ ต้องแบกรับภาระปริมาณงานที่สูงเกินศักยภาพที่บุคคลจะสามารถรับได้ เป็นเหตุให้มีปัญหาการลาออกจากราชการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนหญิง เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาระหน้าที่ทางครอบครัวที่หนักกว่าพนักงานสอบสวนชายอีกด้วย 

ในขณะที่บางส่วนก็มีสำนวนคั่งค้างเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมและกระทำอัตวิบาตกรรมดังที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น การที่ สตช. ได้มีคำสั่งเปิดรับสมัครบุคคลธรรมดาเข้าเป็นข้าราชการตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวน โดยเปิดรับสมัครแต่เพศชายในกรณีนี้ ด้วยมีเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน โดยคำนึงสวัสดิภาพของเพศหญิงเป็นสำคัญ หาใช่การริดรอนสิทธิสตรีไม่

ด้านความเปราะบางของผู้เสียหายหรือเหยื่อที่เป็นสตรีและเด็กนั้น รองโฆษก สตช. กล่าวว่า ยังมีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงที่จะจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจทุกปีมาบรรจุเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว นอกจากนั้นในการสอบปากคำผู้เสียหายที่มีความเปราะบางทางอารมณ์นั้น ตามกฎหมายแล้วต้องกระทำร่วมกันกับสหวิชาชีพและกระทำอย่างมืออาชีพ ซึ่งพนักงานสอบสวนทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงล้วนคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว นอกจากนั้นจากสถิติพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ถึง 2559 นั้น คดีความรุนแรงทางเพศมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จากกว่า 3,300 คดี ลดลงเหลือเพียง 2,200 คดี

ด้านเฟสบุ๊คแฟนเพจ "พนักงานสอบสวนหญิง" ออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ด้วยเช่นกันว่า เหตุสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับพนักงานสอบสวนเฉพาะชายเพราะพนักงานสอบสวนหญิงลาออกเยอะ? จริงหรือ? อัตราพนักงานสอบสวนหญิง มีประมาณ 400 คนทั่วประเทศ ยังแต่งตั้งให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศไม่ได้ พนักงานสอบสวนทั้งประเทศ 8,000 ตำแหน่งรับคดีปีละ 200,000-300,000 คดีที่เป็นเลขคดี ไม่รวมที่ไกล่เกลี่ยและไม่เป็นคดีแต่มาพบพนักงานสอบสวนรับคดีอาญากฎหมายทุกฉบับ พร้อมระบุด้วยว่า สตช.ไม่เคยดูแล ไม่มีการสนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ มีแต่การสั่งการ การลงโทษ และการสร้างความเชื่อมั่นในการทำงาน ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net