Skip to main content
sharethis

รายงานใน "เดอะคอนเวอร์เซชัน" ชี้ให้เห็นปัญหาที่ชัดเจนจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลาว หลังเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกจนเกิดอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อหลายหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ถูกเห็นว่าเป็น "โครงการพัฒนา" ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภัยพิบัติ

ที่มา: สำนักข่าวสารประเทศลาว

ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาเกิดเหตุเขื่อนที่กำลังก่อสร้างในลาวเกิดพังเสียหาย จนทำให้น้ำท่วมหนักในแขวงอัตตะปือ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือชาวบ้าน 8 หมู่บ้าน มีคนตายจากเหตุภัยพิบัตินี้ไปแล้วอย่างน้อย 29 ราย และมีอีก 131 รายที่ถูกระบุจากทางการว่าหายสาบสูญ มีคนที่ยังไม่ทราบชะตากรรมอีกนับพันคน โดยรายงานใน "เดอะคอนเวอร์เซชัน" นำเสนอในเรื่องนี้โดยระบุว่ามันย้ำเตือนในเรื่องที่ชาวบ้านมักจะเป็นเหยื่อของการพัฒนาเขื่อนเสมอ

เขื่อนที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้คือเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน เซ น้ำน้อย โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางการลาวประกาศว่าพวกเขากำลังสืบหาสาเหตุว่าการที่เขื่อนแตกเป็นเพราะฝนตกหนักหรือการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานหรือทั้งสองอย่างรวมกัน โครงการเขื่อนเซเปียน เซ น้ำน้อย เป็นโครงการร่วมกันระหว่างบริษัทของลาว ไทย และเกาหลีใต้ ที่มีรายงานว่าบริษัทเหล่านี้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือและฟื้นฟูภัยพิบัติที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการส่งตัวผู้เชี่ยวชาญเข้าไปในพื้นที่เพื่อประเมินความเสียหายและสืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุของภัยพิบัติ

เดอะคอนเวอร์เซชันระบุว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเด็นโครงการเขื่อนถูกจับตามองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเขื่อนมีประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่จริงหรือ รวมถึงแสดงให้เห็นว่าเขื่อนสร้างความเสี่ยงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ไม่เพียงแค่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องภัยพิบัติเท่านั้น ในกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ได้สร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตของผู้คนและสร้างความเสียหายต่อผืนดินตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะเกิดภัยพิบัติแล้ว

ลาวเขื่อนแตกอพยพใหญ่-พบมีสัญญาป้อนไฟฟ้าไทย 27 ปีหลังสร้างเสร็จ, 24 ก.ค. 2561

สันเขื่อนลาวแตก องค์กรแม่น้ำนานาชาติชี้เป็นบทเรียนเรื่องออกแบบเขื่อนและการเตือนภัย, 24 ก.ค. 2561

รมว.พลังงานลาวชี้ก่อสร้างเขื่อนไม่ได้มาตรฐาน คู่สัญญาต้องชดใช้, 28 ก.ค. 2561

กลุ่มรักษ์แม่น้ำโขงเรียกร้องให้ผู้พัฒนาโครงการเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แสดงความรับผิดชอบ, 29 ก.ค. 2561

ในแง่ของภัยพิบัตินั้นผู้คนมักจะเน้นพูดถึงสาเหตุที่ "มาจากธรรมชาติ" เช่นฝนตกหนัก แต่เดอะคอนเวอร์เซชันระบุว่าความเป็นจริงเหตุภัยพิบัติเหล่านี้มักจะเป็นผลมาจากการพัฒนาที่บกพร่องและนับเป็นภัยพิบัติทางสังคมและทางการเมืองด้วย ในแง่ที่ว่าวาระของการพัฒนามันไม่สอดคล้องไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีและสอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น

ถึงแม้ว่าผู้พัฒนาเขื่อนจะให้สัญญาว่าโครงการของพวกเขาจะทำให้เกิดพลังงานหมุนเวียน อ่างเก็บน้ำเพื่อการประมง การฟื้นฟูป่า การจัดสรรปันส่วนน้ำที่สอดรับกัน การควบคุมน้ำท่วมที่ดีขึ้น แต่ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกลับส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น สร้างความเสี่ยงให้กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับลุ่มน้ำโขงทั้งการประมง การสัญจร และการชลประทาน ขณะที่เจ้าของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำกอบโกยผลประโยชน์ไป

ปัญหาจากเขื่อนไม่ใช่ปัญหาใหม่แต่อย่างใดในภูมิภาคนี้ ในประเทศเช่นลาว กัมพูชา และไทยต่างก็มีโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอยู่หลายโครงการ แม้ว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำจะจัดเป็นพลังงานหมุนเวียนแต่โครงการเขื่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงกว่าเดิมและสร้างการกีดกันทำให้คนเป็นชายขอบมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ทำให้เดอะคอนเวอร์เซชันมองว่าภัยพิบัติครั้งล่าสุดควรจะชวนให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงและแม่น้ำสายย่อยต่างๆ มากขึ้น นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งระบุว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีบริษัทเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในจีน ไทย และลาว มักจะทำกำไรให้กับเจ้าของโครงการแต่มักจะละเลยผลกระทบทางลบต่อผู้คน นอกจากนี้ยังมักจะมีการปราบปรามการประท้วงของคนในท้องถิ่นเนื่องจากภาครัฐมีส่วนได้ส่วนเสียทางผลประโยชน์กับเอกชนในกรณีนี้ ถึงแม้ว่าการเคลื่อนไหวมีส่วนที่สำเร็จอยู่บ้างแต่ก็ยังมีปัญหาการพลัดถิ่นและการถูกทำให้ไร้พลังอยู่มาก นอกจากนี้กรณีลาวที่มุ่งจะเป็น "แบตเตอร์รีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ก็ทำในสิ่งที่ชาวบ้านรู้สึกว่าแปลกๆ อย่างการส่งออกพลังงานไปให้ไทย เวียดนาม และกัมพูขา แต่ก็นำเข้ากลับมาจากประเทศเหล่านี้ด้วยราคาที่สูงขึ้น

เดอะคอนเวอร์เซชันยังระบุถึงเรื่องที่โครงการเขื่อนในลาวได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียที่ประเมินลาวในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้อย่างดี แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ไม่ได้คำนวนเผื่อราคาที่ต้องจ่ายให้กับสิ่งแวดล้อม และความเจ็บปวดของมนุษย์ด้วยกันเองที่เป็นชาวบ้านผู้ถูกไล่ที่เป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบในสังคมและมักจะถูกกีดกันทำให้เงียบเสียงปราศจากคามรับผิดชอบทางการเมืองต่อชีวิตพวกเขา

เรียบเรียงจาก

The Laos disaster reminds us that local people are too often victims of dam development, The Conversation, 30-07-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net