2 ปี หลังประชามติที่ไม่เสรี: คดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่าง รธน. ยังดำเนินอยู่ในศาลทหาร

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

7 สิงหาคม นี้ ครบรอบ 2 ปี ของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 59 แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการลงประชามติ ก่อนมีการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 60 แต่กระบวนการแรกเริ่มคือการลงประชามติที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้เป็นกระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม (Free and Fair Referendum)

เมี่อในช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และการใช้“กฎหมาย” ตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปิดกั้นกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยจากการติดตามสถานการณ์ประชามติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งช่วงก่อนและหลังที่จะมีการออกเสียงประชามติ มีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หรือ “ผู้ต้องหาประชามติ” จำนวนอย่างน้อย 212 คน

รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี

นอกจากคดีของนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีหลายคดีแล้ว คดีสำคัญคดีหนึ่งที่เป็นข่าวดังในช่วงก่อนการลงประชามติ ได้แก่ “คดีการส่งจดหมายวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ” ในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายราย ได้แก่ นักการเมืองในตระกูลบูรณุปกรณ์ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่ง

ผ่านมากว่าสองปี คดีดังกล่าวก็ยังดำเนินอยู่ในศาลทหารอย่างเงียบๆ และยังไม่ได้มีทีท่าจะสิ้นสุดลงในเร็ววันนี้อีกด้วย ในโอกาสครบรอบ 2 ปี ของการลงประชามติ ชวนทบทวนเรื่องราวในคดีนี้ รวมทั้งอัพเดทสถานการณ์คดีล่าสุดในศาลทหาร แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จะถูกประกาศใช้ไปแล้วเป็นปีก็ตาม

เมื่อจดหมาย “วิจารณ์” ร่างรัฐธรรมนูญ ถูกทำให้กลายเป็นจดหมาย “บิดเบือน”

เหตุการณ์ในกรณีนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 ก.ค. 59 ก่อนหน้าการลงประชามติไม่ถึงหนึ่งเดือน เมื่อได้มีผู้ส่งจดหมายที่มีเนื้อหาวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยหย่อนลงตามตู้ไปรษณีย์หลายตู้ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน เพื่อส่งถึงบ้านเรือนต่างๆ ในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าพบจดหมายดังกล่าวรวมกันทั้งสิ้น 11,181 ฉบับ เจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ได้ตรวจยึด และมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ส่งจดหมาย

จดหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทความขนาดสั้น ยาว 1 หน้ากระดาษเอสี่ ระบุชื่อบทความว่า “จริงหรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ได้ตัดสิทธิ์ของประชาชน” โดยเนื้อหาระบุไล่เรียงถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญ การลงประชามติที่จะเกิดขึ้นวันที่ 7 ส.ค. 59 พร้อมกับนำเสนอประเด็นจากร่างรัฐธรรมนูญนี้จำนวน 3 ประเด็นสั้นๆ ได้แก่ เรื่องสิทธิด้านการรักษาพยาบาลฟรี, เรื่องการช่วยเหลือบุคคลที่อายุเกิน 60 ปี และเรื่องสิทธิการเรียนฟรี พร้อมระบุเพิ่มเติมถึงคำถามพ่วงในการลงประชามติ ทั้งได้เขียนปิดท้ายว่า “อนาคตของประเทศไทยและสิทธิของประชาชนจะหายไปหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับผลประชามติ 7 สิงหาคม 2559 นี้” โดยไม่ได้มีข้อความตอนใดที่มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ และไม่ได้มีข้อความตอนใดที่ระบุโดยตรงให้ผู้อ่านไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ในช่วงเหตุการณ์ดังกล่าว แทบไม่มีสื่อมวลชนใดนำเสนอเนื้อหาที่ชัดเจนของจดหมายฉบับดังกล่าว แต่เรื่องราวกลับถูกนำเสนอตามการให้ “ความเห็น” ของคสช., กกต. หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ระบุว่าจดหมายดังกล่าวเป็นการ “บิดเบือน” สาระของร่างรัฐธรรมนูญ หรือถูกนำเสนอข่าวในลักษณะว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปลอม” และมีความผิดตาม“กฎหมาย”

เมื่อ ‘จม.วิจารณ์ร่างรธน.’ ถูกทำให้กลายเป็น ‘จม.บิดเบือน’: ประมวลสถานการณ์กรณีจับกุมบุคคลภายในมทบ.11

เนื้อหาในจดหมายอันเป็นต้นเหตุของคดี

ทหารคุมตัวบุญเลิศ-ทัศนีย์-จนท.องค์กรท้องถิ่น เข้าค่าย มทบ.11

หลังจากพบจดหมายดังกล่าว วันที่ 23 ก.ค. 59 มีรายงานข่าวการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เข้าตรวจค้นพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่หลายจุด โดยส่วนหนึ่งในนั้น เป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูลบูรณุปกรณ์ ตระกูลนักการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ และยังมีการเข้าตรวจค้นที่สำนักงานเทศบาลตำบลช้างเผือกด้วย

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวนายวิศรุต คุณะนิติสาร พนักงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ขณะลงมาเยี่ยมญาติที่กรุงเทพฯ ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ก่อนจะถูกส่งตัวกลับไปยังจังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาในช่วงค่ำวันนั้นด้วย

ต่อมา วันที่ 26 ก.ค. 59 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ออกคําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 44/2559 ให้มีการพักราชการนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการชั่วคราวไว้ก่อน  ในกรณีพบว่ามีผู้บริหารหรือข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับ “การกระทําความผิด”

จนวันที่ 27 ก.ค. 59 มีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายของ คสช. ได้เข้าแจ้งความเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับกรณีการส่งจดหมายนี้จำนวน 11 ราย ที่กองบังคับการปราบปราม ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะมีการควบคุมตัวบุคคล 7 ราย ไปที่ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วส่งตัวไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กรุงเทพมหานคร โดยอ้างอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. หนึ่งในสองรายดังกล่าว ได้แก่ นายคเชน เจียกขจร นายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก, และ น.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ น้องสาวของ น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์

ในวันเดียวกัน น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงใหม่ ได้เดินทางไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกรณีรับทราบว่าตนถูกกล่าวหาด้วย แต่ในขณะที่ยังไม่ได้พบ ผบ.ตร.แต่อย่างใด พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ได้เข้าควบคุมตัว น.ศ.ทัศนีย์ โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ก่อนนำตัวขึ้นรถทหารไปยังมทบ.11 เช่นกัน

ต่อมาในช่วงระหว่างวันที่ 28-29 ก.ค. 59 ได้มีการควบคุมตัวบุคคลเพิ่มเติมไปยัง มทบ.11 อีก ซึ่งมีทั้งนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ และนายไพรัช ใหม่ชมภู รองนายก อบจ.เชียงใหม่

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวน.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ไปค่ายทหาร โดยอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 (ภาพจากมติชนออนไลน์)

แจ้ง 4 ข้อหาหนัก ไม่ได้ประกันตัวเกือบ 1 เดือน

หลังจากถูกควบคุมตัวในค่ายทหารครบ 7 วัน ในวันที่ 2 ส.ค. 59 เจ้าหน้าที่ทหารได้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมด 10 คน ไปยังกองปราบปราม ก่อนส่งตัวกลับมายังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งหมดได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจำนวน 4 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น), มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่), มาตรา 210 (ความผิดฐานเป็นซ่องโจร) และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง

เมื่อตำรวจควบคุมตัวจนครบ 48 ชั่วโมง วันที่ 4 ส.ค. 59 พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 10 ไปขออำนาจศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ในการฝากขัง ก่อนศาลจะอนุญาตให้ฝากขังผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน และไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งหมด แม้ทนายและญาติจะยื่นหลักทรัพย์รายละ 100,000-200,000 บาท ในการขอประกันตัว โดยศาลอ้างเหตุว่าเกรงว่าผู้ต้องหาอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อความเสียหายประการอื่นต่อการสอบสวน

ระหว่างนั้นยังมีการทยอยควบคุมตัว และนำตัวบุคคลไปแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันนี้อีกด้วย อาทิเช่น  เลขานุการของนายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก คนขับรถของอบจ.เชียงใหม่ ทำให้ในขณะนั้นทราบว่ามีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหารวม 14 ราย ซึ่งมีทั้งนักการเมืองท้องถิ่น เจ้าหน้าที่และพนักงานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าของโรงพิมพ์

จับเจ้าของโรงพิมพ์อีก พร้อมแจ้ง 4 ข้อหากรณีจม.วิจารณ์ร่างรธน. ก่อนได้ประกันตัว

ขณะเดียวกันวันที่ 8 ส.ค. และ 15 ส.ค. 59 ซึ่งครบกำหนดฝากขังผัดแรก ญาติและทนายของผู้ต้องหายังพยายามยื่นขอประกันตัวอีกสองครั้ง โดยใช้หลักทรัพย์รายละ 100,000 บาท แต่ศาลทหารยังคงไม่อนุญาต โดยระบุว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อความเสียหายประการอื่นต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานได้

จนวันที่ 26 ส.ค. 59 เมื่อครบกำหนดฝากขังผัดที่สองและกระบวนการลงประชามติได้เสร็จสิ้นไปโดยสงบแล้ว ญาติและทนายความได้ยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 4 ด้วยหลักทรัพย์รายละ 100,000 บาท ก่อนศาลทหารจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยมีเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล, ห้ามกระทำการใดๆ อันมีลักษณะยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำให้รวมแล้วผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่แรก ได้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 23 วัน

ภาพขณะเจ้าหน้าที่นำตัวผู้ต้องหาไปที่ศาลทหารเชียงใหม่ (ภาพจากเฟสบุ๊คของวิญญัติ ชาติมนตรี)

เกือบ 2 ปี สืบพยานโจทก์ได้ 7 ปาก จากกว่า 140 ปาก

หลังจากนั้น อัยการศาลทหารได้ส่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 59 ใน 4 ข้อหา ตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเอาไว้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำให้ทราบว่าในการสั่งฟ้อง มีการฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้รวมแล้วทั้งหมด 15 ราย ด้วยกัน

ศาลทหารมีการนัดถามคำให้การไปเมื่อช่วงต้นปี 2560 โดยจำเลย 14 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่มีรายงานว่านายวิศรุต คุณะนิติสาร ผู้ถูกจับกุมในคดีนี้เป็นรายแรก ได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา แต่ศาลทหารพิจารณาว่าจะทำการพิพากษาพร้อมกับจำเลยที่ขอต่อสู้คดี หลังจากนั้นจึงได้เริ่มมีการนัดหมายสืบพยานในคดี

ทางอัยการทหารได้อ้างพยานโจทก์ในการเข้าสืบจำนวนกว่า 110 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยก็มีการอ้างพยานอีกกว่า 30 ปาก ทำให้รวมแล้วมีพยานมากกว่า 140 ปาก ที่คู่ความจะนำเข้าสืบ

จนถึงปัจจุบัน คดีนี้มีการนัดสืบพยานในศาลทหารมาแล้วจำนวน 8 นัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 โดยเฉลี่ย 2-3 เดือน นัดสืบพยานหนึ่งครั้ง นัดหนึ่งทำการสืบพยานได้จำนวน 1-2 ปาก แต่ในจำนวนนี้ก็มีการเลื่อนสืบพยานไปอีก 4 นัด สาเหตุเนื่องจากทั้งพยานโจทก์ไม่มาศาล และทนายจำเลยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จึงขอเลื่อนการนัดหมาย รวมแล้วมีนัดที่ได้ทำการสืบพยานจริงๆ ทั้งหมด 4 นัด สืบพยานโจทก์ไปได้ทั้งหมดจำนวน 7 ปาก

อีกทั้ง ในคดีนี้เนื่องจากมีจำเลยหลายราย ทนายจำเลยซึ่งฝ่ายจำเลยว่าจ้างมาอีกหลายราย และผู้ติดตามจำนวนมาก ยังไม่นับฝ่ายโจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดี ขณะที่ห้องพิจารณาในศาลทหารมีขนาดเล็ก ทำให้ผู้สังเกตการณ์ภายนอกไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ในห้องพิจารณาคดีระหว่างการสืบพยานได้โดยปริยาย

ต่อมา ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ทางฝ่ายจำเลยบางส่วนได้ยื่นคำร้องต่อศาลทหาร ขอให้มีการพิจารณาลับหลังจำเลยได้ เนื่องจากจำเลยมีภารกิจหลายอย่าง ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาศาลทุกนัด และศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตตามที่จำเลยส่วนนั้นร้องขอ โดยศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์ต่อไปในวันที่ 13 ก.ย. นี้

หากคำนวณว่าระยะเวลาหนึ่งปี คดีในศาลทหารจะทำการสืบพยานได้ราว 7-10 ปาก แล้ว คดีนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาราว 14-20 ปี ในการสืบพยานให้ครบทั้งหมด หากไม่มีการตัดพยานที่ทั้งสองฝ่ายอ้างอิงมาในบัญชีพยานอีกด้วย

คืนตำแหน่งให้บุญเลิศ ขณะทัศนีย์ลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ อบจ.

ความเคลื่อนไหวอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ในช่วงปีที่ผ่านมา คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 6/2561 เรื่องการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงวันที่ 4 มิ.ย. 61 ให้บุคคลจำนวน 4 ราย ซี่งถูกคำสั่งหัวหน้าคสช.ให้พักงาน ระหว่างการตรวจสอบการกระทำความผิดนั้น กลับไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่เดิม เนื่องจากได้ถูกหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยุติเรื่องแล้ว โดยหนึ่งในนั้น ได้แก่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ในตำแหน่งนายกอบจ.เชียงใหม่ด้วย

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่า ภายหลังกระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ให้ต้นสังกัดตรวจสอบข้อกล่าวหาทั้ง 4 ราย ปรากฏว่าไม่มีความผิดอย่างที่ถูกข้อกล่าวหา กระทรวงมหาดไทยจึงทำเรื่องแจ้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ให้ดำเนินการ จากนั้น ศอตช.ได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็ได้มีคำสั่งให้คืนตำแหน่งดังกล่าว

ทางด้าน น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์  หลังจากถูกดำเนินคดี ได้ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองนายก อบจ. เชียงใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 59 เนื่องจากสุขภาพไม่ดี ต้องพบแพทย์เป็นประจำและทำการรักษาตัว จึงขอลาออก วางมือทางการเมืองชั่วคราว เพื่อต่อสู้คดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์

ภาพการปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ หลังถูกคุมขัง 23 วัน
(ภาพจากเฟสบุ๊ค วิญญัติ ชาติมนตรี)

คำถามหลัง 2 ปี ผ่านไป แต่คดีประชามติยังดำเนินอยู่ในศาล

นอกจากคดีส่งจดหมายวิจารณ์รัฐธรรมนูญที่ดูจะยังต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาอีกยาวนานแล้ว ยังมี “คดีประชามติ” อีกหลายคดีที่ยังไม่ได้สิ้นสุดลง และยังต้องต่อสู้คดีอยู่ โดยเฉพาะคดีในศาลทหาร ที่กระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้า อาทิเช่น  คดีจัดกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59 ซึ่งจำเลย 8 ราย ถูกสั่งฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 จังหวัดขอนแก่น ก็ยังไม่ได้มีการเริ่มสืบพยานในคดีแต่อย่างใด โดยศาลทหารมีการนัดหมายฟังคำสั่งในการรวมคดีกับกรณีของรังสิมันต์ โรม หนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องเข้ามาภายหลัง ในวันที่ 5 ก.ย. 61 นี้

หรือ คดีแจกเอกสารประชามติบางพลี ซึ่งผู้ต้องหา 13 ราย ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ จากกรณีการแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดการเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ คดีนี้ผู้ต้องหาทยอยถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพแยกเป็นหลายคดี และคดีทั้งหมดยังดำเนินอยู่ในศาลทหาร ทั้งสองคดีนี้ คงต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ ในการต่อสู้คดีในศาลเช่นเดียวกับคดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ

ขณะที่คดีในศาลพลเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาในข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติ เพียงอย่างเดียว ศาลก็ได้มีการยกฟ้องและคดีสิ้นสุดลง เช่น คดีแปะใบปลิวโหวตโน ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ หรือคดี 5 นักกิจกรรม-นักข่าว คดีสติ๊กเกอร์ Vote No ที่ศาลจังหวัดราชบุรี

ส่วนบางคดีแม้จะมีการยกฟ้อง แต่ฝ่ายโจทก์ก็ยังมีการอุทธรณ์ต่อ เช่น “คดีฉีกบัตรประชามติ” ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้องในข้อหาก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน แต่อัยการมีการอุทธรณ์คดี และศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดพระโขนงในวันที่ 15 ส.ค. 61 นี้

ผลของคดีเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นปัญหาการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการเข้าจับกุม ดำเนินคดี หรือการสั่งฟ้องประชาชนที่เพียงแค่แสดงความเห็น หรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการบังคับใช้กฎหมาย ทั้ง พ.ร.บ.ประชามติฯ และกฎหมายอื่น ๆ ที่จงใจสร้างความหวาดกลัวที่จะเผยแพร่หรือรับข้อมูลข่าวสารให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการทั้งหมดยังสร้างภาระให้กับผู้ถูกกล่าวหา และภาระให้กับกระบวนการยุติธรรมทั้งในศาลทหารและพลเรือนเอง

คำถามสำคัญที่ชวนกันทบทวนในโอกาสครบรอบสองปีของการลงประชามตินี้ คือ รัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติด้วยกระบวนการที่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมนี้จะมีอนาคตทางการเมืองต่อไปอย่างไร จะมีวิธีการเอาผิดหรือระงับยับยั้งการบังคับใช้ “กฎหมาย” ตามอำเภอใจของเจ้าหน้าที่รัฐในบังคับบัญชาของ คสช. เช่นนี้อย่างไรบ้าง และประชาชนที่ได้รับภาระและผลกระทบจากกระบวนการถูกดำเนินคดีที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะได้รับความเป็นธรรมและการชดเชยเยียวยาได้อย่างไร

 
ที่มา:
 http://www.tlhr2014.com/th/?p=8392

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท