Skip to main content
sharethis

ทันตแพทยสภา–สปสช. เยี่ยมชมบริการทันตกรรม รพ.แพร่ ใช้หลักสูตร “Kenkobi” รุกดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ลดปัญหากลืนลำบาก สำลัก และอาหารหล่นจากปาก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกิน พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง

7 ส.ค.2561 ที่โรงพยาบาลแพร่ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา และผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้นำคณะทันตแพทยสภาและผู้บริหาร สปสช.เยี่ยมชมการบริการทันตกรรม รพ.แพร่ ซึ่งได้ดำเนิน โครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุในตําบลที่มีระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว (Long Term Care) โดยใช้หลักสูตรการบริหารช่องปาก “Kenkobi”

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การดูแลสุขภาพฟันและช่องปากเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสป่วยเป็นโรคเรื้อรังหนึ่งโรคหรือมากกว่า ทำให้ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี โดยการส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุในจังหวัดแพร่ ดำเนินงานโดยหน่วยทันตกรรม โรงพยาบาลแพร่ นอกจากการจัดบริการทางทันตกรรมให้ผู้สูงอายุแล้ว ทั้งการตรวจช่องปาก การสอนทันตสุขศึกษาให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแล การให้บริการรักษาทันตกรรม และการใส่ฟันเทียมเพื่อช่วยในการบดเคี้ยว เป็นต้น ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ยังได้ดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่อยู่ภาวะพึ่งพิงที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น ที่มักจะมีปัญหาการกลืน สำลัก อาหารหล่นจากปากเวลาเคี้ยว และรู้สึกคอแห้ง หิวน้ำบ่อย โดยการใช้หลักสูตรการบริหารช่องปาก “Kenkobi”

ทั้งนี้หลักสูตรการบริหารช่องปากก Kenkobi เป็นการตรวจสอบและเพิ่มความแข็งแรงของช่องปาก เพิ่มประสิทธิภาพการบดเคี้ยวอาหารและการกลืน ด้วยการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณช่องปาก การฝึกเคี้ยวอาหาร การฝึกกล้ามเนื้อใช้กลืน และการรักษาความสะอาดในช่องปาก

จากการดำเนินโครงการฯ ในช่วงเดือนมีนาคมถึงธันวาคม 2560 มีผู้สูงอายุจำนวน 589 รายที่เข้าร่วม ปรากฎว่าจากการประเมินผลพบว่า ทั้งปัญหาการกินอาหารของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ดีขึ้น อาทิ อาหารหล่นจากปาก จากจำนวน 250 ราย ลดลงเหลือจำนวน 168 ราย สำลักเวลารับประทานซุป จากจำนวน 272 ราย ลดลงเหลือจำนวน 166 ราย เป็นต้น ทั้งได้รับการดูแลช่องปากดีขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดี   

“โครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุในตําบลที่มีระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวนี้นับเป็นโครงการที่ดี เกิดจากความร่วมมือโดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้เล็งเห็นปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง นำมาสู่การดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ร่วมกัน ถือเป็นแบบอย่างการดำเนินงานที่สร้างสรรค์เ พื่อดูแลช่องปากให้ผู้สูงอายุในพื้นที่อื่นต่อไป” 

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การดูงานครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือระหว่างทันตแพทยสภาและ สปสช.ในการร่วมลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานบริการทันตกรรม นำข้อมูลและความรู้ที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์ทันตกรรมต่างๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้เกิดการเข้าถึงและครอบคลุมยิ่งขึ้น พร้อมสนองความต้องการในการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุในตําบลที่มีระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวของโรงพยาบาลแพร่นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net