ประชาสังคมตั้งกรรมการรากหญ้าอาเซียน มุ่งให้ความรู้สังคม-ล็อบบี้รัฐบาล

มูลนิธิศักยภาพชุมชนนำจัดตั้งคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียนประเทศไทย สร้างเครือข่ายภาคประชาชน หาคนร่วมประชุมในระดับอาเซียน ทำกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจกลไกอาเซียนให้สังคมไทย ผลักดันปัญหารายประเด็นสู่รัฐบาล-อาเซียน คัดกรรมการนั่งหัวโต๊ะ 7 คนตามประเด็น

เมื่อ 26 ก.ค. 2561 มูลนิธิศักยภาพชุมชนจัดงานประชุมหารือจัดตั้งคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียน ประเทศไทย (ASEAN Grassroots Committee (AGC) Thailand) เพื่อสร้างกลไกอาเซียนรากหญ้า ฝึกอบรมองค์ความรู้และกิจกรรมเกี่ยวกับอาเซียนให้ประชาชน ปลูกฝังสำนึกความเป็นประชาชนอาเซียนให้กับประชาชนไทยในพื้นที่ต่างๆ ณ โรงแรมเจแอลบางกอก  กทม. นำโดยชลิดา ทาเจริญศักดิ์ เครือข่ายของมูลนิธิศักยภาพชุมชน

คณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าจะเป็นตัวแทนประชาชนรากหญ้าชาวไทยในการแลกเปลี่ยนหารือกับประชาชนอาเซียนในประเทศต่างๆ ภายในงานมีการให้ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนและร่วมหารือเรื่องการก่อตั้งคณะกรรมการรากหญ้า

ในงานได้มีการปรึกษาหารือเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียน และได้เลือกคณะกรรมการในการทำงานของรากหญ้าอาเซียนที่ได้จากการ ได้ข้อสรุปว่ามีกรรมการทำงานจำนวน 7 คนตามประเด็นที่รับผิดชอบ ดังนี้

1. ดิเรก กองเงิน (สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และพลังงาน)

2. มานพ แก้วผกา (แรงงาน)

3. บูรพา เล็กล้วนงาม (สื่อและเสรีภาพ)

4. รักชาติ สุวรรณ์ (สันติภาพและสิทธิมนุษยชน)

5. ประเทือง ช่วยเกลี้ยง (สตรีและเยาวชน)

6. เกรียงไกร ชีช่วง (กลุ่มเปราะบาง)

7. วิไล นาไพวรรณ์ (รัฐสวัสดิการ)

คณะกรรมการจะทำหน้าที่ประสานงาน ติดตามการทำงานและมอบหมายงานให้แก่คณะอนุกรรมการ จัดเวทีประชุมสำหรับคณะกรรมการรากหญ้าอาเซียนประเทศไทย คัดเลือกตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมเวทีภาคประชาชนอาเซียนประจำปี รวบรวม ประมวล และจัดทำสรุปข้อมูลจากพื้นที่หรือเครือข่ายในประเด็นที่รับผิดชอบ ระดมทุนประสานแหล่งทุนในการจัดทำกิจกรรมต่างๆ ของคณะกรรมการฯ สื่อสารและรณรงค์สร้างความเข้าใจสู่พื้นที่ เครือข่าย และสาธารณชน นำข้อเสนอของคณะกรรมการเครือข่ายเข้าสู่การเจรจาต่อรองในระดับนโยบาย เชื่อมประสานภาคีเครือข่ายพร้อมขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่างและเป็นตัวแทนของกรรมการอาเซียนรากหญ้าในการประชุมต่างๆ เกี่ยวกับอาเซียน

ชลิดาให้ข้อมูลว่า การจัดตั้งคณะกรรมการฯ มีขึ้นเพื่ออุดช่องว่างของภาคประชาสังคมในเวทีระดับภูมิภาคที่แต่เดิมมีจำนวนน้อยและซ้ำหน้า คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่กระจายองค์ความรู้ จัดหาภาคประชาชนไปร่วมประชุมเวทีภาคประชาชนอาเซียนเพื่อผลักดันประเด็นปัญหาต่างๆ ในท้องที่และประเด็นของตัวเองด้วยตัวเอง นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายในการล็อบบี้ประเด็นต่างๆ ต่อรัฐบาลไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านเวทีอาเซียน ขณะนี้ได้ส่งจดหมายไปยังปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แล้วว่ามีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ เพื่อสอบถามเรื่องการยอมรับการจัดตั้งและการให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ กิจกรรมที่คณะกรรมการฯ จะทำคือจัดเวทีให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกอาเซียนสู่ชุมชนโดยผ่านเครือข่าย ผลิตสื่อเพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ หางบประมาณโดยการเขียนโครงการของบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ ผลักดันให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบรรจุแผนและจัดตั้งงบประมาณ ดำเนินการจัดการประชุมสัญจรในพื้นที่และการประชุมของอนุกรรมรายประเด็น/ภาค จัดเวทีแลกเปลี่ยนสำหรับประชาชน จัดเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชนตามประเด็นมติของคณะกรรมการฯ พร้อมทั้งเตรียมประเด็นและคนสำหรับการเข้าร่วมประชุมเวทีภาคประชาชนอาเซียน เตรียมการสำหรับการให้ความช่วยเหลือเครือข่ายเมื่อเกิดวิกฤต พร้อมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับประชาสังคมในอาเซียนแบ่งตามประเด็นและสถานการณ์

คณะอนุกรรมการถูกคัดสรรจากการเสนอชื่อตามความสมัครใจตามประเด็นที่ถนัดและสนใจ มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ส่วนวิธีการตัดสินใจของคณะกรรมการคือปรึกษาหารือแบบรวมกลุ่มและร่วมลงมติ

การประชุมร่วมของอาเซียนภาคประชาชนทั่วภูมิภาคอาเซียนเกิดขึ้นทุกปี เวียนกันไปตามประเทศสมาชิกที่หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในลักษณะเดียวกันกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แต่จะมีการจัดในติมอร์ เลสเตด้วย แม้จะยังไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนแต่ในระดับภาคประชาชนนั้นเป็นสมาชิกแล้ว โดยในปีที่แล้วจัดขึ้นที่เมืองเกซอน ประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงเดือน พ.ย. มูลนิธิศักยภาพชุมชนสนับสนุนและขบวนการประชาชนจะนำผู้แทนประชาชนรากหญ้าเข้าร่วมประชุมเพื่อขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้ลงสู่ชุมชน ด้วยตระหนักว่าองค์ความรู้ต่างๆ ที่รวมศูนย์อยู่ที่เอ็นจีโอไม่กี่คนไม่สามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนให้กับประชาชนทั่วไปได้ จากบทบาทที่ผู้นำชุมชนต่างๆเข้าร่วมในขบวนการการประชุมอาเซียนภาคประชาชนทุกปีจึงได้เล็งความสำคัญของการจัดตั้งคณะกรรมการอาเซียนรากหญ้าเพื่อเป็นกลไกในการเผยแพร่ความรู้เรื่องอาเซียนสู่ประชาชนโดยคณะกรรมการอาเซียนรากหญ้า เพื่อให้องค์ความรู้เกี่ยวกับอาเซียนมีการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง

เปิดประชุมประชาสังคมอาเซียน-เรียกร้องรัฐสมาชิกตั้งกลไกการมีส่วนร่วม

อาเซียนไม่ใช่ของเรา #1: รัฐแสดงนำ ภาคประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วม และเอ็นจีโอปลอม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท