Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กระจกมองหลัง แปลมาจาก เน่าก์จิ๊หม่าน [ေန၁က္ၾကည့္မွန္] เป็นนิยายภาษาพม่า ประพันธ์โดย มิน โก่ หนั่ย นิยายเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ เหตุการณ์ชิดเลโลง หรือ แปดสี่ตัว โดยที่นักศึกษา ประชาชนและพระสงฆ์รวมกันนับล้านคนออกมาชุมนุมอย่างสันติที่กรุงย่างกุ้งและตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลเนวินที่ปกครองประเทศมายาวนานถึง 26 ปี ตกดึกฝ่ายรัฐบาลส่งทหารพร้อมอาวุธครบมือออกมาปราบปรามผู้ชุมนุม และปฏิบัติการสังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 4 วัน ทางการออกมาให้ข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ราว ๆ เกือบ 10,000 คน ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่านักศึกษาเป็นกบฏคอมมิวนิสต์

แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างพื้นที่ให้กับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายคน ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างงานวรรณกรรมที่สัมพันธ์กับชีวิตและการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวไปพร้อมกันด้วย

สิ่งที่น่าสนใจที่ทำให้เลือกหยิบนิยายเล่มนี้มาอ่าน นอกจากจะร่วมรำลึกถึงวันครบรอบปีที่ 30 ของเหตุการณ์ 8888 ในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2018 แล้ว มีประเด็นที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ ภายใต้บริบททางการเมืองที่คุมขังเสรีภาพนักเขียนพม่าในยุคเผด็จการทหารกลับมิได้ทำให้การเขียนงานวรรณกรรมพม่าถึงกับเหือดแห้งไปเสียทีเดียว เพียงแต่ว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อลักษณะลีลาการเขียนบ้างไม่มากก็น้อย บริบทดังกล่าวสร้างความท้าทายให้นักเขียนพม่าสร้างสรรค์ผลงานที่แหลมคม เพื่อให้รอดจากเงื้อมเงากองเซ็นเซอร์และมั่นใจว่าจะได้รับการตีพิมพ์อย่างแน่นอน เมื่อนักเขียนต้องประสบกับข้อจำกัดและอำนาจเบ็ดเสร็จของกองเซ็นเซอร์ ทำให้ต้องเลี่ยงหรือบางทีจำเป็นต้องปรับปรุงผลงานให้สอดคล้องกับกองเซ็นเซอร์ นักเขียนต้องใช้การเขียนแบบล้อเลียน อุปลักษณ์ อุปมานิทัศน์ และการเขียนในแนวทางใหม่ในเชิงอุปมาอุปไมย 

แวบแรกเมื่อหยิบ กระจกมองหลัง ขึ้นมา เห็นภาพปกหน้าซึ่งเป็นภาพกระจกมองหลังที่ติดด้านข้างของรถยนต์ ซึ่งมีทั้งหมด 4 บาน ในกระจกบานแรกสะท้อนภาพของหอประชุมมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง กระจกบานที่สองสะท้อนภาพการชุมนุมที่บริเวณเจดีซูเหล่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง กระจกบานที่สามสะท้อนภาพหัวใจของคนหนุ่มสาวพม่า กระจกบานที่สี่สะท้อนภาพทหารถืออาวุธครบมือ ยิ่งทำให้แน่ใจว่านิยายเรื่องนี้ต้องวิพากษ์เหตุการณ์นี้อย่างเข้มข้นอย่างแน่นอน เนื่องจากนักเขียน คือ มิน โก่ หนั่ย เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์จริงในวันนั้น เขาเป็นแกนนำของสหภาพนักศึกษาพม่าและเป็นแกนนำในการปลุกระดมนักศึกษาทั่วประเทศพม่าให้ลุกขึ้นมาต่อสู่กับระบอบเนวิน แต่หลังจากกองทัพออกมาปรามปรามขบวนการนักศึกษา ทำให้เขาถูกจับกุมและถูกนำตัวไปคุมขังในคุก เป็นเวลา 16 ปี เขาเริ่มลงมือเขียนนิยายเรื่องนี้ในคุก ขณะที่มีอายุ 26 ปี หลังจากที่เขาถูกปล่อยตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2007 เขาได้เขียนบทสุดท้ายเพื่อปิดเล่มนิยายและตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009 เนื่องในวาระอายุครบปีที่ 47 ของเขา โดยการสนับสนุนของสมาคมนักโทษการเมือง นิยายมีความยาว 170 หน้า 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มลงมืออ่านนิยายเรื่องนี้กลับไม่เป็นไปตามที่คิดไว้แต่แรก เนื้อหาในนิยายกลับไม่ได้ลงรายละเอียดเหตุการณ์ 8888 เลย เมื่ออ่านไปแรกๆ ดูเหมือนว่าจะเป็นนิยายรักๆ ใคร่ๆ ของหนุ่มสาวธรรมดาๆ เหมือนนิยายรักวัยรุ่นทั่วไป กล่าวคือ เนื้อหาเป็นเรื่องราวความรักระหว่าง “โหญ่” ซึ่งเป็นหญิงสาวชาวบ้านป่าผู้ใสซื่อ กับ “เผ่ตอง” หนุ่มนักศึกษาผู้กำลังเดินทางตามฝันและค้นหาตัวตน โหญ่เป็นหญิงสาวที่ใจบุญสุนทาน เธอมักจะชอบสร้างร้านน้ำไว้ที่รั้วหน้าบ้านหรือในที่สาธารณะหลังเสร็จงานในตอนเช้าเธอมักนำน้ำมาเติมที่หม้อน้ำทุกวัน การตั้งร้านน้ำเพื่อต้อนรับผู้ที่เดินทางผ่านมา ชาวพม่าเชื่อว่าร้านน้ำเป็นเสมือนศาลาพักร้อน แสดงถึงความห่วงใยเพื่อนมนุษย์ เป็นบุญกุศลที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติ ร้านน้ำนี่เองเป็นสื่อกลางที่ทำให้ เผ่ตอง มาพบกับ โหญ่ และเริ่มถักทอความสัมพันธ์ ผ่านการพูดคุย จนกลายเป็นความรัก แต่ทั้งคู่ต้องพบเพื่อพรากจากกันเพราะตัวของเผ่ตองต้องเดินทางเพื่อตามฝันของตัวเองเพื่อปลดปล่อยตัวตนและสังคมออกจากอำนาจบางอย่าง การลาจากทำให้โหญ่ หญิงสาวผู้ซึ่งหลงรักเขาอย่างหมดใจ ต้องทุกข์ทรมานเพราะความคิดถึง จนเขาไม่ร่าเริงเหมือนโหญ่คนก่อน อ่านมาถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่านักเขียนมีน้ำเสียงฟูมฟาย หรือ ขึงโกรธอำนาจเผด็จการแต่อย่างใด บทสนทนาระหว่างโหญ่กับเผ่ตองก็มิได้แสดงออกถึงบทสนนาทางการเมืองอย่างจริงจัง และมิได้วาดภาพให้เห็นเหตุการณ์ 8888 

แต่เมื่ออ่านมาถึงฉากในหน้า 118 ตอนที่มะขิ่นเอ เพื่อนสาวของโหญ่พูดกับโหญ่ ในขณะที่โหญ่กำลังนั่งกินข้าวแต่เธอไม่มีสติเอาแต่เหม่อลอยคิดถึงแต่เผ่ตอง ความว่า “ฉันเห็นเธอนั่งกินข้าวแบบนี้แล้ว ฉันใจไม่ดีเลย สิ่งที่ฉันอยากพูดกับเธอ ก็คือ ถ้าเธอได้รับมันมาจากเผ่ตอง ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เธอจะกล้าหาญ ในสายตาของฉันตอนนี้ เวลาที่ฉันเห็นเธอนั่งกินข้าว ฉันกลับเห็นเหมือนเด็กถูกตีและร้องไห้สะอึกสะอื้นน้ำตาไหล ขณะนั่งกินข้าว ซึ่งฉันไม่เคยสบายใจเลย...” ทำให้เห็นว่านักเขียนกำลังปลุกคนรุ่นหลังให้กล้าลุกขึ้นมาต่อสู้ เหมือนกับที่เผ่ตองซึ่งเป็นตัวแทนของนักต่อสู้ได้เดินตามฝันและยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเจอกับโหญ่อีกเมื่อไหร่ ในขณะเดียวกันก็วิพากษ์คนรุ่นหลังจากเหตุการณ์ 8888 ไปด้วยว่า ไม่ควรฟูมฟาย และสยบยอม ก้มหน้าทนต่ออำนาจเผด็จการต่อไป ควรรวบรวมความกล้าและลุกขึ้นมาต่อสู้ เหมือนกับที่นักต่อสู้ในรุ่นแรกก็ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้แล้ว และยังยืนหยัดที่จะก้าวอยู่บนถนนแห่งการต่อสู้ต่อไป(แม้ร่างกายจะถูกคุมขัง) ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณของการต่อสู้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่แท้จริง ในตอนจบของนิยายครอบครัวของโหญ่ต้องย้ายที่อยู่แต่เธอก็ยังหวังว่าวันหนึ่งเผ่ตองจะกลับมาเจอเธอ เพราะเธอจะทิ้งร่องรอยไว้ คือ การสร้างร้านน้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงความห่วงใยคนที่จากไปและเป็นการแสดงความยินดีต้อนรับการกลับมา

กระจกมองหลัง มิได้กล่าวเสียดสีวิพากษ์อำนาจเผด็จการหรือระบอบเนวินว่าเป็นผู้ร้ายที่เป็นฝ่ายกระทำย่ำยีพระเอกนางเอก แต่เขากำลังปลุกเร้าจิตวิญญาณการต่อสู้ และส่งมอบหัวใจแห่งการต่อสู้ให้กับคนหนุ่มสาวที่อยู่ข้างหลังทุกคนให้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ เพื่อให้สายธารแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไหลเชี่ยวต่อไป เพราะการที่รัฐบาลใช้กำลังและความรุนแรง เข้าห้ำหั่นปราบปรามประชาชนนั้น เผยให้เห็นว่ารัฐบาลผู้กุมชะตาบ้านเมืองหวั่นกลัวพลังการต่อสู้ของมวลมหาประชาชนต่างหาก

“กระจกมองหลัง” เหตุการณ์ 8888 กำลังทำหน้าที่ของวรรณกรรมการเมือง คือ กระตุกเตือนคนรุ่นใหม่ในยุคเผด็จการทหารหลังเหตุการณ์ 8888 มิให้หลงลืมการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนเพราะเรื่องเล่าการต่อสู้นี้ไม่ได้รับการบอกเล่าแก่สาธารณะโดยทั่วไป อีกทั้งรัฐบาลทหารหลังเหตุการณ์ 8888 ก็หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงนักต่อสู้และพยายามลบลืมภาพความทรงจำทางประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองพม่า


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net