Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การปฏิรูปตำรวจดูเหมือนจะมีประเด็นใหม่ๆ (ที่คิดไม่ถึง) ให้ต้องถกเถียงกันอีกเมื่อมีคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้รับพนักงานสอบสวนเพิ่มอีก 250 อัตราและรับเฉพาะเนติบัณฑิตชายเท่านั้น ทำให้กลุ่มสตรีหลายองค์กรและนักการเมืองหญิงของหลายพรรคนั่งไม่ติด ออกมาคัดค้านที่โรงแรมรามาการ์เด้นว่าการที่ สตช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐปิดกั้นไม่รับพนักงานสอบสวนหญิงเข้าทำงานถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาด ไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 และ 27  และ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาตรา 17 ซึ่งจะนำไปสู่คำสั่งที่เป็นโมฆะได้

เหตุผลที่ สตช. ชี้แจง ผ่านพันตำรวจโท ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ รองโฆษก สตช.เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 ว่าที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนหญิงได้ลาออกจากราชการเป็นจำนวนมาก เพราะมีภาระทางครอบครัวที่หนักอยู่แล้ว และต้องมาทำงานสอบสวนที่หนัก พนักงานสอบสวนบางคนรับคดีมากกว่า 1,000 คดีต่อปี ทำให้มีสำนวนคั่งค้างเป็นจำนวนมากจนทำให้เกิดความเครียดฆ่าตัวตายไปก็มี

จากข้อเท็จจริงที่ต้องทำความเข้าใจผ่านไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประชาชนในเรื่องดังกล่าว ผู้เขียนมีความเห็นว่า

1. การลาออกหรือไม่อยากรับภาระหน้าที่งานสอบสวน มีพนักงานสอบสวนทั้งชายและหญิงลาออก หรือขอย้ายงานไปยังสังกัดอื่น (มิใช่เฉพาะพนักงานหญิง) ด้วยเหตุผลหลายประการรวมถึงความอึดอัดในการทำงานที่ไม่เป็นอิสระ ไม่สามารถสอบสวนได้อย่างตรงไปตรงมา ทุกฝ่ายยอมรับว่าจำนวนพนักงานสอบสวนมีไม่เพียงพอ ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ พนักงานสอบสวนทั้งหญิงและชายแต่ละคนต้องรับมือกับงานหนัก มีแรงกดดันสูง คนที่เครียดกระทั่งต้องทำอัตวิบากกรรมไปนั้นมักเป็นผู้ชายดังที่เป็นข่าวเรื่อยมา

 
2. พนักงานสอบสวนหญิงที่จบเนติบัณฑิตมาส่วนใหญ่ทำงานได้ดี ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ มีความรู้จริง และได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการให้บริการประชาชนที่มาสถานีตำรวจ แล้วยังเป็นพี่เลี้ยงให้พนักงานสอบสวนชายที่จบโรงเรียนนายร้อยรุ่นต่างๆที่ไม่ได้จบนิติศาสตร์มาอีกด้วย ส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่รับผิดชอบ หรือไม่ต้องการทำงานหนัก ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดกับพนักงานชายเช่นกัน

 
3. พนักงานสอบสวนที่ต้องการการปฏิรูปงานสอบสวนยืนยันว่าหากมีจำนวนพนักงานที่มากพอเพียงกับจำนวนคดีที่รับมาแต่ละเดือน และสามารถทำงานได้อย่างอิสระ รับใช้ประชาชนได้จริง อีกทั้งสามารถเติบโตในตำแหน่งหน้าที่จากสายงานตัวเองได้ คงไม่มีใครอยากลาออก และจะทำให้การทำงานรอบคอบ รวดเร็ว แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่ง.เคยมีการเสนอทางออกไปแล้วว่า ให้มีอัยการเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ตรวจสอบการทำสำนวนคดี หาพยานหลักฐานให้สิ้นสงสัยมากที่สุดเป็นการช่วยให้งานสอบสวนยกระดับ น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น และเสนอให้ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในฝ่ายสอบสวนควรที่จะจบนิติศาสตร์ ได้รับการอบรมที่มากพอที่จะ ทำงานได้

 

4. กรณีความห่วงใยความปลอดภัยของพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ในยามวิกาลหรือไปในที่เสี่ยงภัย ป่าเขา หรือขึ้นไปคอนโดมีเนียมในยามค่ำคืนเป็นเรื่องที่บริหารจัดการได้ ซึ่งในอดีตก็มีสิบเวร สายสืบที่ลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอยู่แล้ว  การรับมือปัญหาในท้องที่หลายกรณีเป็นคดีอาญาที่เกี่ยวกับผู้หญิง ซึ่งต้องการผู้หญิงด้วยกันในการเข้าถึง หาข้อเท็จจริงจากผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิง เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้  และบนความจำเป็นในบางสถานการณ์อาจจะยอมให้พนักงานสอบสวนหญิงสามารถมีผู้ช่วยในการทำหน้าที่ด้วยก็ได้

 

5. ประเทศไทยมีสถานีตำรวจอยู่ 1500 สถานี มีพนักงานสอบสวนหญิง 400 คนซึ่งหมายถึงมีสถานีตำรวจอยู่กว่า 1000 สถานีที่ไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงเลย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องเปิดรับพนักงานสอบสวนหญิงเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1000 อัตรา หรือต้องส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาทำงานพิทักษ์สันติราษฏร์มากขึ้น 

 
6. การทำงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนหญิงต้องปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นอย่างแท้จริง ไม่ควรใช้พนักงานหญิงไปทำงานในหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง และในสถานที่ทำงานต้องมีความปลอดภัย ไร้การเอารัดเอาเปรียบทางเพศ หรือถูกคุกคามจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้ร่วมงานด้วยกัน การทำงานที่เคารพเนื้อตัวร่างกาย เกียรติและศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้หญิงสมัครเป็นตำรวจ หรือทำงานกันอย่างมืออาชีพด้วยความสบายใจ

ประเทศไทยในยุค Thailand 4.0 ต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบพหุวัฒนธรรมกับเพศสภาวะที่แตกต่างที่ต้องสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับชายได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งหลายๆประเทศได้พัฒนา และเห็นความจำเป็นของการมีผู้หญิงเข้ามาทำงานในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ดังนั้นการกีดกันไม่ยอมรับ ไม่เปิดโอกาส ให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานนอกจากจะเป็นความคิดที่คับแคบแล้ว ยังจะสร้างความเสียหายให้กับกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net