Skip to main content
sharethis

ข้อมูลจาก 1663 พบว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 11 ราย และรัฐมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 112 ล้านบาท ทำไมผู้หญิงเหล่านี้ต้องมีต้นทุนสูงขนาดนี้กับการตัดสินใจเลือกต่อร่างกายของตนเอง

  • การเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยของผู้หญิงยังเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะอุปสรรคจากทัศนคติของบุคลากรสาธารณสุข ทำให้ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 11 ราย และรัฐมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 112 ล้านบาท

  • การเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยทำให้ผู้หญิงและคนรอบข้างต้องแบกรับต้นทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายหรือความรู้สึก และทำให้ผู้หญิงกลายเป็นหนูทดลองให้แก่การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย

  • หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างความชัดเจนและสร้างระบบสนับสนุนบุลคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการการทำแท้งที่ปลอดภัย

กฎหมายอาญา มาตรา 301-305 ระบุถึงโทษของการทำแท้งและการยกเว้นโทษแก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัญหาสุขภาพกายหรือปัญหาสุขภาพจิตหรือตั้งครรภ์จากการตกเป็นผู้ถูกกระทำความผิดอาญาตามมาตรา 276, 277, 282, 283 หรือ 284 เช่น การถูกข่มขืน การค้าบริการทางเพศทั้งที่ยินยอมและไม่ยินยอม หรือการล่อลวงอนาจาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การทำแท้งให้แก่ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมยังเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเฉพาะอุปสรรคจากทัศนคติของสังคม

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีการทำแท้งทั่วโลกประมาณ 46 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 20 ล้านคนที่เป็นการทำแท้งไม่ปลอดภัย ทำให้มีผู้หญิงต้องเสียชีวิตจากกรณีนี้ปีละประมาณ 70,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 95 เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งสาเหตุก็เพราะหญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการบริการที่ปลอดภัยและถูกกฎหมายได้

ทว่า สิ่งที่ผู้หญิงต้องจ่ายให้กับการเข้าไม่ถึงบริการ ไม่ใช่แค่ชีวิตในแง่ความเป็นตาย หากยังรวมถึงผลกระทบอื่นๆ ที่ชีวิตของพวกเธอและคนรอบข้างต้องแบกรับ ซึ่งทำร้ายพวกเธอไปอีกนานหลายปี

ปี 59 ผู้หญิงเสียชีวิต 11 คนเพราะเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งปลอดภัย

1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม จัดแถลงข่าว ‘หญิงท้องไม่พร้อมถูกปฏิเสธยุติการตั้งครรภ์ แม้อยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายที่ทำได้’ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 โดยนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ถึง 31 กรกฎาคม 2561 พบว่ามีผู้รับบริการ 28 รายที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้ข้อกฎหมายและเกณฑ์ทางการแพทย์ แต่กลับถูกปฏิเสธให้บริการ เช่น กรณีตัวอ่อนในครรภ์พิการ การตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของหญิงตั้งครรภ์ ผู้รับบริการที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมถึงการตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการถูกละเมิด ซึ่งการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์ส่งผลให้ผู้หญิงเหล่านี้ไปหาแหล่งบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย บางรายสั่งยาจากเว็บไซต์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่า ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 11 ราย และรัฐมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย 112 ล้านบาท

โดยในรอบปีที่ผ่านมา สายด่วน 1663 พบว่า มีผู้รับบริการถึง 652 รายที่พยายามยุติการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง เช่น การสั่งซื้อยาจากเว็บไซต์เถื่อนหรือทำร้ายตัวเองเพื่อให้เกิดการแท้ง ซึ่งแสดงว่าการตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ว่าการตั้งครรภ์นั้นจะเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้หญิง ซึ่งสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใต้กฎหมาย แต่กลับถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์ เพราะทัศนะด้านลบของบุคลากรสาธารณสุขต่อการตั้งครรภ์และการทำแท้ง ส่งผลให้ทุกปีมีผู้หญิงต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จึงเรียกร้องหน่วยบริการด้านสุขภาพทุกแห่งให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เพื่อเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการยุติการตั้งครรภ์มีความปลอดภัยสูงมากและไม่ซับซ้อน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยก็มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยสนับสนุนยาและค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการจัดบริการ

แพทย์-พยาบาลไม่ยอมให้บริการ

ด้านอัชรา แก้วประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการการให้บริการปรึกษาสายด่วน 1663 ให้รายละเอียดกรณีผู้รับบริการถูกปฏิเสธบริการยุติการตั้งครรภ์แม้ว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎหมายว่า ผู้รับบริการรายหนึ่งตั้งครรภ์และแพทย์ที่รับฝากครรภ์ประเมินเบื้องต้นว่าทารกในครรภ์อาจมีพัฒนาการด้านสมองไม่ปกติ ซึ่งสามารถตรวจทราบแน่ชัดได้ในเดือนที่ 5 ของการตั้งครรภ์ ประกอบกับพบเนื้องอกที่ปากมดลูก แต่ผู้รับบริการไม่อยากรอถึงตอนนั้นเพราะหากต้องยุติการตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์มากจะทำใจได้ยาก จึงแจ้งกับโรงพยาบาลว่าจะขอยุติการตั้งครรภ์เลย แต่โรงพยาบาลตามสิทธิไม่ยุติการตั้งครรภ์ให้ เมื่อผู้รับบริการโทรมาปรึกษาทาง 1663 จึงสามารถยุติการตั้งครรภ์ที่คลินิกในเครือข่ายแพทย์ RSA (Referral system for Safe Abortion) ได้

 

“ที่ร้ายที่สุดคือร่างกายของผู้หญิงต้องกลายเป็นหนูทดลองกับบริการทำแท้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลนี้ และอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจากนั้นเพราะสิ่งที่ได้รับมันไม่มีคุณภาพ ขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลตนเองหรือต้องเสียชีวิต”

ส่วนอีกรายผู้รับบริการมีอายุครรภ์ 19 สัปดาห์และทำการอัลตราซาวด์ที่คลินิกภายในจังหวัดแล้วพบตัวอ่อนผิดปกติ แพทย์คลินิกซึ่งเป็นแพทย์ของโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ส่งตัวผู้รับบริการไปที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่ออัลตราซาวด์ยืนยันผลอีกครั้ง ทางโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ได้ยืนยันว่าตัวอ่อนผิดปกติจริง จึงทำใบส่งตัวผู้รับบริการให้มายุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดตามสิทธิบัตรทองของผู้รับบริการ แต่ทางโรงพยาบาลประจำจังหวัดกลับปฏิเสธ โดยแจ้งกับผู้รับบริการว่าทางโรงพยาบาลไม่มีนโยบายยุติการตั้งครรภ์

“เรารู้สึกว่าผู้รับบริการบอบช้ำมาก เพราะการที่ลูกของตัวเองมีความผิดปกติจนต้องยุติการตั้งครรภ์ก็ทุกข์ใจมากพออยู่แล้ว แต่ยังต้องมาถูกปฏิเสธการรักษาจากโรงพยาบาล ทั้งที่อยู่ในเกณฑ์ที่ยุติการตั้งครรภ์ได้ ไม่นับรวมกับการที่ต้องเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดที่อยู่กับกรุงเทพฯ ซึ่งมีระยะทางกว่า 300 กิโลเมตรแล้วยังถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า” อัชรากล่าว

ด้านสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้รับผิดชอบโครงการ 1663 กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาของสายด่วน 1663 เรื่องท้องไม่พร้อมระหว่างปี 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 มิถุนายน 2561 พบว่า มีผู้ปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมทั้งสิ้นรวม 52,370 ราย และพบว่ามีผู้รับบริการวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มมากขึ้นทุกปี คิดเป็นร้อยละ 30.1 ของผู้รับบริการทั้งหมด ทั้งนี้ผู้รับบริการร้อยละ 89.7 ได้ทางเลือกที่ชัดเจนหลังปรึกษา โดยร้อยละ 6.2 เลือกตั้งครรภ์ต่อ ในขณะที่ร้อยละ 83.5 เลือกยุติการตั้งครรภ์ ซึ่ง 1663 ได้ส่งต่อบริการยุติการตั้งครรภ์ไปยังหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้กฎหมายและข้อบังคับของแพทยสภา

“ที่ผ่านมา 1663 ทำงานร่วมกับกรมอนามัยและแพทย์ RSA ในการช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมให้ได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม หากสามารถขยายบริการเรื่องนี้ได้ในระบบปกติของหน่วยบริการสาธารณสุขก็จะช่วยให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมปลอดภัยมากขึ้นและเข้าถึงบริการได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล เนื่องจากแพทย์ RSA ไม่ได้มีอยู่ทุกจังหวัด ผู้รับบริการและแพทย์ที่ยินดีทำน่าเห็นใจมาก บางรายต้องเดินทางข้ามภาคจากเหนือไปอีสานเพื่อไปรับบริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งบางรายก็เลือกที่จะหาทางยุติด้วยตัวเองแทนเพราะไม่มีค่าเดินทาง ไม่สามารถเดินทางไปไหนไกลๆ ได้เนื่องจากมีคนในครอบครัวที่ต้องดูแล” สมวงศ์กล่าว

ต้นทุนชีวิตที่ผู้หญิงต้องแบกรับ

ศรัทธารา หัตถีรัตน์ จากกลุ่มทำทาง เป็นกลุ่มให้คำปรึกษาและรณรงค์ผลักดันนโยบายการทำแท้งที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรี อธิบายถึงผลกระทบต่อผู้หญิงจากการเข้าไม่ถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยว่า

“ปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ส่งผลต่อผู้หญิงอย่างไร ประการแรกคือผู้หญิงต้องพยายามอย่างมาก ใช้ทรัพยากรส่วนตัว ทั้งเวลา กำลังใจ ความรู้ เงินทอง ที่จะสุ่มเสี่ยงไปตามสิ่งต่างๆ ที่เขาพอจะหาได้ในนาทีนั้น นี่คือการทำให้ประชากรของเราใช้ชีวิตอย่างไม่มีคุณภาพเมื่อเขาประสบปัญหา และทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องลองแล้วลองอีก เสียเงินทองจนไม่มีเงินสำรองเมื่อเขามาถึงบริการที่ปลอดภัยก็ไม่เหลือเงินที่จะรับบริการได้

“ที่ร้ายที่สุดคือร่างกายของผู้หญิงต้องกลายเป็นหนูทดลองกับบริการทำแท้งที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเข้าไม่ถึงข้อมูลนี้ และอาจจะต้องเข้าโรงพยาบาลหลังจากนั้นเพราะสิ่งที่ได้รับมันไม่มีคุณภาพ ขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลตนเองหรือต้องเสียชีวิต การที่เขาไม่ทราบว่าบริการที่ถูกต้อง ปลอดภัย เปิดเผย มันอยู่ตรงไหน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจเวลาที่ต้องผ่านประสบการณ์นี้

“อีกเรื่องที่สำคัญมากคือการที่บริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ยึดโยงกับสิทธิทางเพศ สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง แล้วมันมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยว พอไม่สามารถเป็นเรื่องที่เปิดเผย โปร่งใส ทั้งตัวเราและครอบครัวของเราสามารถสนับสนุนเราได้อย่างเต็มที่ มันส่งผลต่อความรู้สึกของผู้หญิง ทั้งผู้เป็นเจ้าของครรภ์และคนแวดล้อมที่รักเขา ทำให้ทุกคนต้องผ่านประสบการณ์น่ากลัวอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าฉันทำสิ่งที่มันถูกต้องหรือเปล่า ผิดกฎหมายหรือเปล่า นี่เป็นคำถามที่ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องผ่านประสบการณ์แบบนี้ แต่สามารถเข้าถึงบริการอย่างมีศักดิ์ศรีได้และปลอดภัย มันก็จะไม่กลายเป็นฝันร้ายที่ไม่จำเป็นไปอีกหลายปี”

ศรัทธารายังกล่าวถึงระบบการแพทย์ปัจจุบันที่สร้างให้บุคคลยึดถือสิ่งที่ไม่เป็นจริง บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิเสธให้บริการการทำแท้งเพราะเชื่อว่ากำลังทำสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง

“แต่เราต้องคิดย้อนว่าใครสอนให้เขาคิดว่านี่ถูกต้องแล้ว ระบบแพทย์กลายเป็นระบบที่พยายามแก้ไขสภาวะเจ็บป่วยเป็นชิ้นๆ แล้วลืมไปว่าทั้งหมดมันรวมอยู่ในชีวิตของคนคนหนึ่งที่มีชีวิต มีแง่มุมที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมากกว่าการเจ็บป่วยในแต่ละส่วน เขามองไม่เห็นความเจ็บปวดของผู้หญิงที่จะต้องถูกดีดไปดีดมา และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจนจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เขาหันหน้าไปพึ่ง ซ้ำร้ายคือการแพทย์หลงลืมที่จะสนับสนุนคนคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ แต่ต้องการแก้ไขความเจ็บป่วยแค่บางที่ ทำให้เรื่องเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสร้างความเจ็บปวดต่อจิตใจของคนได้เยอะมาก เพราะมันไม่ใช่แค่อวัยวะ แต่เป็นตัวตน คุณค่าที่คนยึดถือ กลับไม่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดเพื่อเปลี่ยนกระบวนทัศน์นี้ของระบบการแพทย์”

ศรัทธาราคิดว่า สังคมต้องไม่คาดหวังจากบุคลากรสาธารณสุขเป็นรายบุคคล แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความชัดเจนและสร้างระบบสนับสนุนว่า การให้บริการการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ควรทำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net