Skip to main content
sharethis

หลังโซเชียลฯ และเพจ คสช. แคปหน้าจอเอาภาพผู้สื่อข่าว TNN24 ยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรี ไปวิจารณ์ว่า 'รายงานเกินจริง-สร้างความตื่นตระหนก' ด้าน TNN24 งัดคลิปแจงผู้สื่อข่าวยืนเพื่อวัดระดับน้ำ ยันไม่มีข้อความหรือประโยคใดที่บ่งบอกว่าเป็นการรายงานเกินจริง

8 ส.ค.2561 กรณีผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็น 24 (TNN24) รายงานข่าวสถานการณ์น้ำที่ จ.เพชรบุรี โดยยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อวัดระดับน้ำนั้น จนโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'บางตะบูนมหานคร' บันทึกภาพการรายงานข่าวดังกล่าว พร้อมเรียกร้องว่า อย่านำเสนอภาพข่าวน้ำท่วมเกินจริง เพราะสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนหวาดกลัวน้ำท่วมเกินจริง จนมีผู้วิพากษ์วิจารณ์การรายงานข่าวของ TNN24 รวมทั้ง เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย' ของ คสช. นำภาพดังกล่าวมาเพื่อวิจารณ์การทำงานของสื่อด้วย แต่ล่าสุด 18.00 น. วันนี้ (8 ส.ค.61) เพจของ คสช. ได้ลบโพสต์แล้ว

หลังกระแสวิจารณ์ดังกล่าว เพจ 'TNN24' ได้โพสต์ชี้แจงด้วยว่า การที่ผู้สื่อข่าวลงไปยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรี เพื่อวัดระดับน้ำ ให้เห็นว่าน้ำเริ่มไหลมาและเพิ่มระดับ ในบทผู้สื่อข่าวอธิบายว่า จาก 1 ชั่วโมงที่ผ่านมาที่ น้ำยังแห้งอยู่ แต่ขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เซนติเมตร และเริ่มไหลเชี่ยว เพื่อให้ประชาชนเห็นภาพระดับน้ำที่เพิ่มขึ้น และได้สัมภาษณ์ประชาชน ที่เฝ้าสังเกตุระดับน้ำเพื่อบอกว่าต้องเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างไร โดยประชาชนระบุว่า ตอนเช้ายังไม่มีน้ำยังเดินได้ แต่ตอนบ่ายโมงน้ำเพิ่มขึ้น ก็มีความกังวลว่าน้ำจะเข้าท่วมหมู่บ้านและรีสอร์ท

โพสต์ของเพจ 'กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย' ก่อนโพสต์ดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว

"จากเนื้อหาการนำเสนอไม่มีข้อความหรือประโยคใดที่บ่งบอกว่าเป็นการรายงานเกินจริง และไม่ข้อความใดที่เป็นการสร้างความตื่นตระหนก แต่ต้องการนำเสนอให้เห็นระดับน้ำที่เริ่มเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวหากได้ชมคลิปทั้งหมดจะเห็นว่าไม่มีข้อมูลใดที่รายงานเกินความเป็นจริง" เพจ 'TNN24' ชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หากไม่ดูเพียงภาพที่ถูกบันทึกมาวิจารณ์ แต่ดูที่วิดีโอรายงานข่าวจะเห็นคำอธิบายของผู้สื่อข่าวที่ลงไปยืนรายงานในแม่น้ำเพชรบุรีเพื่อเทียบความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำจริงอย่างที่ เพจ 'TNN24' ชี้แจง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net