Skip to main content
sharethis

"...คนจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่แทบจะประคองตัวได้ยากในขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ ... และสิ่งนี้มันกำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย" กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด

ในการอภิปราย "ความท้าทายที่เสรีนิยมใหม่คิดไม่ถึงกับโลกหลังศตวรรษที่ 21 ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์" รองศาสตราจารย์ ดร.กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวคิดเสรีนิยมใหม่ หรือ Neoliberalism ที่เป็นเหรียญอีกด้านหนึ่งของโลกาภิวัตน์ (ชมคลิปเต็ม)

กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด: ไทย ตัวละครที่ถูกชักใยบนเวทีทุนนิยมโลกถึงเสรีนิยมใหม่

"อยากจะบอกนิดหนึ่งว่า ตอนที่ดิฉันศึกษามีเพื่อนอเมริกันที่ทำงานกระทรวงการต่างประเทศด้วย ก็คุยกัน ก็พูดถึงคำว่า Neo-Liberalism เขาก็ถามว่า "อะไรนะ? กุลลดา" มันเป็นความคิดที่ไม่ได้แพร่หลายทั่วไป แทนที่เราจะแพร่หลายความคิดเรื่องเสรีนิยมใหม่ สิ่งที่คนรับรู้กันทั่วไปคือคำว่าโลกาภิวัตน์"

"แต่คำว่า 'โลกาภิวัตน์' กับ 'เสรีนิยมใหม่' มันเป็น 2 ด้านของเหรียญ มันเป็นแนวคิดที่ไม่ได้แพร่หลาย จนกระทั่งมันออกฤทธิ์กับเศรษฐกิจอเมริกันในปี 2008"

"ก่อนจะถึงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มันมีกระบวนการที่ทำให้รายได้ของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานอเมริกันลดน้อยลงไปหรือคงที่ ไม่เพิ่ม นั่นคือมันเป็นส่วนหนึ่งของ Maximization of profit (การแสวงหากำไรสูงสุด) ของลัทธิเสรีนิยมใหม่"

"ทุนจะได้กำไรสูงสุดต้องทำอย่างไร ก็ต้องกดแรงงาน สิ่งที่เกิดขึ้นคือแรงงานไม่ได้เป็นไปตามระบบของเคนเซียน อีกต่อไปแล้ว"

"แรงงาน คนอเมริกัน ถ้าเผื่อจะเลี้ยงตัวให้ได้ดี ก็จะต้องมีอย่างน้อย 2 งานถึงจะพออยู่ได้ การจะซื้อบ้านลืมไปเลย"

"แต่ทุนการเงินก็ยังส่งเสริมให้คนซื้อบ้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็เรียกว่าจะเลี้ยงชีพไปวันๆ ก็ไม่ได้แล้ว ก็มันก็เลยเกิดบูมของเงินทุน การผลิตไม่ได้ผลิตตามความต้องการ แต่ผลิตขึ้นมาเพื่อให้คนต้องบริโภค ทีนี้รายได้ต่ำลงจะทำอย่างไร เลยต้องสร้างระบบเครดิต"

"ก่อนเกิดวิกฤตปี 2008 เลยมีการขยายตัวของบัตรเครดิต แต่ก่อนนี้ทำงานเป็นอาจารย์ บริษัทเครดิตไม่สนใจ มาถึงยุคนี้ ดิฉันจำได้ว่า บริษัทบัตรเครดิตทั้งหลายส่งจดหมายมาเชิญเป็นสมาชิกบัตรเครดิต บัตรเครดิตนั้นเครดิตนี้ ธรรมดาไม่พอก็ต้องอัพเพิ่มคลาสขึ้นมา มี privilege card มีสีเงินสีทองขึ้นมา ส่งเสริมให้คนเป็นหนี้ แล้วส่งเสริมให้คนซื้อบ้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ค่อยมีเงิน"

"มันก็เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุนการเงินที่จะหากำไร ในที่สุดก็ไปให้กู้กับคนที่ไม่มีรายได้จะจ่ายพอก็เลยเกิด clash ในปี 2008 เป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจ คนถึงเริ่มตระหนักถึงคำว่า Neoliberalism (เสรีนิยมใหม่) และปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Neoliberalism"

"เพราะฉะนั้นอยากจะสรุปว่าเราอยู่กับ Neoliberalism และ Neoliberalism เป็นสิ่งที่อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศึกษาคือที่มาของความไม่เท่าเทียมทางสังคม คนจำนวนมากอยู่ในสภาวะที่แทบจะประคองตัวได้ยากในขณะที่ความมั่งคั่งกระจุกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ และสิ่งนี้มันกำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net