Skip to main content
sharethis

การสร้างกำแพงไม่ใช่คำตอบเดียวต่อโจทย์เรื่องผู้อพยพเมื่อเอกวาดอร์ประกาศภาวะฉุกเฉิน จ้างหมอ เจ้าหน้าที่ด้านคนเข้าเมือง นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเพิ่มเพื่อรองรับผู้อพยพจำนวนมากจากเวเนซุเอลาที่ไม่มีสถานะผู้ลี้ภัย ประเทศอเมริกาใต้อีกหลายแห่งก็มีมาตรการลักษณะคล้ายกัน

การประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโรหลังศาลฎีกายีดอำนาจสภานิติบัญญัติที่ฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งเริ่มต้นเมื่อราวเดือน มี.ค. 2560 นำไปสู่การปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและการอพยพลี้ภัยของชาวเวเนซุเอลาจำนวนมาก (ที่มาภาพ: wikipedia)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์แถลงเมื่อ 8 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ในช่วงไม่กี่วันมานี้มีชาวเวเนซุเอลาเดินทางอพยพเข้าสู่เอกวาดอร์เพิ่มมากขึ้นเป็น 4,200 รายต่อวัน ทำให้พวกเขาต้องมีแผนการช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้ ซานติเอโก ชาเวซ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์กล่าวว่าแผนการดังกล่าวจะทำให้การช่วยเหลือตอบสนองต่อผู้ที่เข้ามาในเขตแดนเอกวาดอร์

ทางการเอกวาดอร์ระบุอีกว่าส่วนหนึ่งในแผนการรับมือผู้อพยพของพวกเขาคือการจ้างเจ้าหน้าที่ด้านคนเข้าเมือง หมอ นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาเพิ่ม โดยจะส่งผู้คนเหล่านี้ไปที่จังหวัดการ์ชี ปีชินชา และเอลโอโร รวมถึงตามชายแดนที่ติดกับโคลอมเบีย เพื่อให้บุคลากรวิชาชีพเหล่านี้ทำงานช่วยเหลือผู้อพยพที่ป่วยหรือร่างกายอ่อนแรง นอกจากนี้ยังมีองค์กรให้ความช่วยเหลือจากนานาชาติที่จะคอยให้เต็นท์ น้ำ และอาหารแก่ผู้อพยพด้วย นี่เป็นครั้งแรกที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดเหล่านี้และการประกาศภาวะฉุกเฉินนี้จะคงอยู่ไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.

อัลจาซีราระบุว่ามีประเทศละตินอเมริกาบางประเทศที่เริ่มนำเสนอมาตรการพิเศษในการจัดการกับผู้ลี้ภัยที่มาจากเวเนซุเอลาจากการที่เวเนซุเอลากำลังประสบปัญหาวิกฤตทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อเดือน มี.ค. 2560 ศาลฎีกามีคำสั่งยึดอำนาจสภานิติบัญญัติที่พรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากจากการชนะเลือกตั้งที่พยายามปลดประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ผู้ได้รับเลือกตั้งและสืบอำนาจต่อจากฮูโก ชาเวซที่เสียชีวิตลงเมื่อปี 2556

ในโคลอมเบียเองก็มีการรับผู้อพยพจากเวเนซุเอลาเช่นกัน โดนในเดือน ส.ค. อดีตประธานาธิบดีของโคลอมเบีย ฮวน มานูเอล ซานโตส ให้สถานะผู้อาศัยชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัยชาวเวเนซุเอลา ซึ่งสถานะดังกล่าวนี้ให้อนุญาตพวกเขาเข้าถึงการศึกษา การทำงาน และการเข้ารับการรักษาพยาบาลในโคลอมเบียได้

บราซิลซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านได้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือน พ.ค. และมีการสั่งปิดชายแดนทางตอนเหนือกับเวเนซุเอลาชั่วคราวในวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่วนอาร์เจนตินาก็มีการรับผู้อพยพชาวเวเนซุเอลา 31,167 รายโดยอ้างอิงตามกฎหมายที่ระบุว่าควรมีการอนุญาตให้ชาวต่างชาติอยู่ในประเทศได้ "เมื่อมีเหตุผลพิเศษในเชิงมนุษยธรรม"

อัลจาซีราระบุว่าชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากเลือกที่จะออกจากประเทศเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว อีกยังประชาชนยังมีความยากลำบากในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

ปัญหาเศรษฐกิจของเวเนซุเอลานั้นมีสาเหตุหลักจากการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ปัจจุบันราคาต่ำกว่าในอดีต นโยบายสวัสดิการสังคม ตั้งเพดานราคาขายสินค้าให้ประชาชนซื้อได้ในราคาถูกทำให้บริษัทเอกชนไม่สามารถทำกำไรและต้องเลิกกิจการ รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากความพยายามควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่น (โบลิวาร์) และการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาในปี 2558 สูงถึงร้อยละ 254 บีบีซีระบุว่า เงินโบลิวาร์จำนวนเดียวกันกับที่ใช้ซื้อแฟลตหนึ่งห้องนอนเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เพียงพอสำหรับจะซื้อกาแฟเพียงแก้วเดียวในปัจจุบัน

วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังสภานิติบัญญัติถูกยุบท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าเป็นความพยายามของมาดูโรที่จะสืบทอดอำนาจ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมามีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นและมาดูโรก็ชนะเลือกตั้งและจะได้ครองอำนาจไปอีกหกปีตามวาระ ตลอดเวลาหลังจากที่สภาฯ ถูกยุบ มีการประท้วงเกิดขึ้นตลอดเวลา มีความพยายามก่อวินาศกรรมที่เป็นข่าวใหญ่สองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. 2560 กลุ่มต่อต้านรัฐบาลยิงระเบิดใส่อาคารศาลฎีกาและกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมาเมื่อมีโดรนบรรทุกระเบิดสองลำระเบิดบริเวณที่มาดูโรกล่าวสุนทรพจน์

เรียบเรียงจาก

Ecuador declares state of emergency over Venezuela migrant influx, Aljazeera, Aug. 10, 2018

How Venezuela's crisis developed and worsened, BBC, May 21, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net