หุ่นยนต์ vs แรงงาน (จบ): การเมืองของกระแสหุ่นยนต์

นอกเหนือจากข้อมูลความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีหุ่นยนต์แล้ว เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร นักวิจัยจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ผู้คร่ำหวอดกับประเด็นแรงงานมายาวนาน จะมาพูดคุยถึงมุมมองอีกด้านของเรื่องนี้ เขาชวนดูว่ากระแสนี้เกิดขึ้นในโลกตะวันตกในบริบทใด ทำไมกระแสนี้จึงดำเนินอยู่ได้ มันเป็นเส้นทางธรรมชาติของระบบทุนนิยม อันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จริงหรือไม่ แล้วแรงงานคนจะอยู่ตรงไหน

เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร นักวิจัยจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (ที่มาภาพ : voicelabour.org)

ตะวันตกใช้หุ่นยนต์กับงาน 3D ดึงงานกลับประเทศ

เกรียงศักดิ์ ชวนให้เราทำความเข้าใจบริบทอุตสหกรรมในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีความต่างกันอยู่หลายเรื่อง

ต้องเข้าใจก่อนว่า แรงงานที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือที่นักวิชาการเรียก งาน 3D [Difficult (งานหนัก) Dirty (งานสกปรก) และ Dangerous (งานอันตราย)] หรืองานที่ทำซ้ำๆ ถูกย้ายจากประเทศอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษ 1970 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่บ้านเรามีแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ แต่ที่สหรัฐอเมริกาไม่ค่อยมีแรงงานลักษณะนี้ แรงงานราคาถูกในสหรัฐฯ จะเป็นแรงงานในภาคบริการหรือภาคโลจิสติกส์ ดังนั้น เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์ในบริบทประเทศตะวันตก แนวโน้มจึงต่างออกไปจากบริบทของประเทศกำลังพัฒนา

หุ่นยนต์ที่เอามาใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว แทนที่จะลดการจ้างงาน มันอาจทำให้เกิดการกู้งานกลับมา เช่น งานที่เคยถูกส่งออกไปในประเทศกำลังพัฒนา หุ่นยนต์อาจทำหน้าที่ในงาน 3D ในประเทศตะวันตกจึงมีคำอธิบายทางการเมืองว่าเป็นการเอาเทคโนโลยีซึ่งจะทำให้เกิดการดึงงานกลับมาจากประเทศกำลังพัฒนา ฉะนั้นความกลัวที่จะถูกแย่งงานอาจมีไม่มากเท่าไร และในสหรัฐอเมริกาเองสหภาพแรงงานก็มีความเข้มแข็งลดน้อยลง  

 

การสร้างกระแสของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์

อีกประเด็นคือจากงานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[1] บอกว่าการปรับเปลี่ยนในไทยอาจยังไม่เกิดขึ้นทันที ต้องใช้การลงทุนและต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ฉะนั้นอุตสาหกรรมที่คุ้มที่จะเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตเอาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ต้องเป็นอุสาหกรรมที่มีการการผลิตจำนวนมากหรือขนาดใหญ่ แต่นั่นก็เป็นเหรียญ 2 ด้าน เพราะเมื่อพูดถึงการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ ต้องบอกว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เรามักถูกทำให้เชื่อว่ามันเป็นเส้นทางซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ โลกกำลังไปทางนั้น อะไรแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วอยากชี้ให้เห็นว่า มันมีการรณรงค์ของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามอย่างมากในการเปลี่ยนทัศนคติของภาคอุตสาหกรรมว่าต้องหันมาใช้หุ่นยนต์ ต้องใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ และหากเราดูการขยายตัวของอุตสาหกรรมผู้ผลิตหุ่นยนต์กับระบบอิเล็กทรอนิกส์จะเห็นว่ามันเติบโตสูงมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ยอดขายหุ่นยนต์ทั่วโลกโตสูงสุดในปี 2017 โดยผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ๆ จะอยู่ใน 4-5 ประเทศเท่านั้น รายใหญ่ที่สุดอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา

ในประเทศอุตสาหกรรมมีการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวที่จะใช้หุ่นยนต์แบบใหม่ โดยที่ผู้ผลิตพยายามรณรงค์ “หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานควบคู่กันกับมนุษย์” หรือที่เรียกว่า Cobot หรือว่า collaborative robot มีเทคโนโลยีเซ็นเซอร์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาผสม เป้าหมายของหุ่นยนต์แบบนี้จะเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่อาจจะไม่ต้องใช้ทุนมาก แต่ต้องการให้เกิดกระบวนการผลิตที่สามารถทำซ้ำๆ อย่างที่แรงงานประเทศกำลังพัฒนาทำ เราเห็นความพยายามที่จะพูดถึงเรื่องเหล่านี้จำนวนมากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อเพิ่มผลิตภาพในการผลิต สามารถแข่งกับกระบวนการผลิตของจีนหรือประเทศกำลังพัฒนาได้

ความพยายามสร้างอุปสงค์เทียมการใช้หุ่นยนต์

เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นจริงๆ แล้วไม่ค่อย make sense กับการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้เท่าไรนัก เพราะมีต้นทุนสูงกว่าแรงงาน ในประเทศตะวันตกเมื่อต้นทุนแรงงานสูงก็จะมีการพูดถึงการเอาหุ่นยนต์เข้ามาเพิ่มขึ้น การนำหุ่นยนต์มาใช้ก็สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนแรงงาน ในบ้านเราหากยังสามารถจ้างแรงงานราคาถูก(กว่า)ได้ผู้ประกอบการอาจเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเรื่องหุ่นยนต์ เพราะการนำหุ่นยนต์มาใช้ไม่ใช่ง่ายดาย ต้องมีแผนธุรกิจระยะยาว มีการวิเคราะห์ความพร้อม ศึกษาความคุ้มทุน มีกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ฯลฯ

แต่ปรากฎว่าบ้านเรามีนโยบายที่อยู่ภายใต้ Thailand 4.0 และมีมติคณะรัฐมนตรี[2] ที่เพิ่งออกมาเมื่อ 29 ส.ค.2560 ปรากฎความเสี่ยงที่จะมีการเพิ่มการใช้หุ่นยนต์จำนวนมาก ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ไทยเป็น hub ของการผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น ผู้ผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ของโลกเจ้าหนึ่งก็คือ Yaskawa (ยาสกาว่า) ของประเทศญี่ปุ่น เราจะได้ยินชื่อบ่อยขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น ข่าวเข้าพบคณะรัฐมนตรี และไม่ใช่เพียงบริษัทเดียว บริษัทอื่นๆ ในกลุ่มที่ผลิตหุ่นยนต์ก็อยากที่จะเข้ามาลงทุนในชลบุรี ระยอง ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ตัวของโรงงานประกอบรถยนต์ของญี่ปุ่นในเมืองไทยตอนนี้ก็มีการใช้หุ่นยนต์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตอยู่แล้วประมาณ 25%

ด้วยเหตุที่ว่าบริษัทผลิตหุ่นยนต์รายใหญ่ที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นเริ่มมองนโยบายที่รัฐบาลไทยส่งเสริมภายใต้มติ ครม. ดังกล่าว  ซึ่งมีแผนระยะแรกในการกระตุ้นดีมานด์หรือความต้องการที่จะใช้หุ่นยนต์ภายในประเทศ เป้าหมายต่อมาคือการเพิ่มอุปทาน ส่วนเป้าระยะที่สามคือการสร้างสาธารณูปโภคขึ้นมาเพื่อให้เกิดภาคเศษฐกิจดิจิตอล มันมีความเสี่ยงมาก เพราะเป้าหมายแรกที่ว่ากระตุ้นความต้องการใช้นั้น ตอนนี้รัฐบาลเป็นคนลงทุนก่อนเลย สั่งซื้อหรือนำเข้าหุ่นยนต์อันโนมัติมาใช้ในการบริการประชาชนในบางหน่วยงาน ถ้าไปดูแผนช่วงปลายปี  2560 ถึงต้นปี 2561 รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานมีการจัดตั้งสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย Thai Automation and Robotics Association (TARA) มีความร่วมมือกับเยอรมันก่อน โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมและ BOI เป็นหน่วยงานหลักในการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย บริษัทอย่างยาสกาว่าหรือบริษัทใหญ่ๆ ของโลก เช่น ABB ของสวิสเซอร์แลนด์ คูก้า (KUKA) ของเยอรมันฯลฯ ก็อยากมาลงทุน

คำถามตอนนี้กลับไม่ใช่ว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยควรนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้เมื่อไรอย่างไร ตอนนี้ประเด็นหลักกลายเป็นว่าการพยายามที่จะสร้างอุปสงค์เทียมขึ้นมาในการใช้หุ่นยนต์โดยมีทั้งนโยบายและงบประมาณมหาศาลที่ทุ่มลงไป

เกรียงศักดิ์ มองว่า สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตญี่ปุ่นคงเป็นกลุ่มแรกที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 5 ปีน่าจะเห็นการเปลี่ยนรูปแบบการผลิตอย่างชัดเจน  

ข้อน่ากังวลคือ นโยบายที่กำหนดเป้าหมายระยะสั้นกับกลางนั้น อาจทำให้เกิดการเสียดุลการค้าในเรื่องของการสั่งซื้อและนำเข้าวัตถุดิบจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามในอนาคตว่าการส่งเสริมที่รัฐบาลพูดถึงแผนการสร้างความเป็นเลิศทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้น สุดท้ายจะทำให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีและการผลิตทดแทนการนำเข้าได้จริงหรือไม่ หากไม่เกิดขึ้นจริง นโยบาย 4.0 ทั้งหมดก็จะกลายเป็นเพียงการใช้งบประมาณมหาศาลผ่านการลงทุนของรัฐบาลไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่เม็ดเงินก็ไหลออกไปต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีหรือเป็นผู้ผลิตระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ระดับโลก  

เกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากย้อนกลับไป 2-3 ปี จะเห็นว่ารัฐบาลไทยไม่มีแผนที่ชัดเจนอะไรเกี่ยวกับ Thailand 4.0 แต่เมื่อมาดูความเคลื่อนไหวในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัว เนื่องจากวาระของรัฐบาลตอนนี้ถูกกำหนดโดยตัวผลประโยชน์ของฝั่งนายทุนหรือเจ้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติค่อนข้างมาก และมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่เราจะผลักดันตัวเองตามที่รัฐบาพยายามตั้งเป้าว่าจะผลักดันไทยให้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและเป็นผู้ผลิตและส่งออกตัวหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นคือ เราจะกลายเป็นฐานในการผลิตเช่นเคย

ขบวนการแรงงานต้องสร้างเรื่องเล่าของตัวเอง

ข้อเสนอต่อขบวนการแรงงานในการรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้ เกรียงศักดิ์ เสนอว่า ฝ่ายแรงงานเองต้องตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ค่อนข้างซับซ้อน คนที่ทำงานกับหุ่นยนต์จะเห็นเพียงภาพเฉพาะ ไม่เห็นภาพใหญ่ ดังนั้นการทำความเข้าใจแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงต้องถอยมาดูภาพใหญ่ของกลไกที่ขับเคลื่อน จะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้หุ่นยนต์ในช่วง 5 ปีนี้สอดคล้องกับการขยายตัวของราคาหุ่นยนต์ของบริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของเทคโนโลยี มันเป็นเรื่องของการรณรงค์ของฝั่งธุรกิจด้วย แรงงานต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของทุน เข้าใจว่าการมาของหุ่นยนต์มีแรงผลักดันกระบวนการขับเคลื่อนในระดับโลก และในบริบทบ้านเราอยู่บนเงื่อนไขอะไร ดังนั้นการจะต่อรองเพื่อชะลอหรือใช้ประโยชน์จากแผนพัฒนาเพื่อให้ฝ่ายแรงงานได้ประโยชน์จึงต้องมียุทธศาสตร์ เป็นการต่อรองกับรัฐโดยที่เข้าใจพลวัตรว่ารัฐกำลังทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องอะไร  และควรมีการทำการศึกษาของฝ่ายแรงงานอย่างจริงจังหากจะต่อสู้ในเรื่องนี้

หากดูตัวอย่างขบวนการแรงงานในยุโรป จะเห็นว่ามีความเข้มแข็งในการรวมตัวติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปฏิวัติ 4.0 แล้ว การรณรงค์ต่อสู้ของฝั่งแรงงานไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่สิ่งขบวนการแรงงานในยุโรปทำได้ดีคือ การสร้างเรื่องเล่า ( narrative) ที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่าประเด็นเรื่อง 4.0 ว่ามันไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์อย่างที่ฝ่ายทุนพยายามรณรงค์ให้เป็นอย่างนั้น ฝ่ายทุนพูดถึงความต่อเนื่องของการปฏิวัติอุตสาหกรรมตั้งแต่ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 และพยายามที่จะสร้างเรื่องเล่าว่ามันเป็นการพัฒนาที่ต้องเดินไปข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ฝ่ายแรงงานก็เอาประวัติศาสตร์การต่อสู้หรือข้อเท็จจริงมาอธิบายว่าจริงๆ แล้วเรื่องการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์หรือเส้นทางการพัฒนา หากแต่มันเป็นเรื่องในเชิงการเมือง ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง เป็นเรื่องการตัดสินใจว่าจะพัฒนาไปทางไหน

หากดูกรณีที่รัฐไทยทำ แผนการพัฒนาที่มาจากมติ ครม.เป็นการตัดสินใจที่จะกระโดดจากจุดหนึ่งไปสู่จุดหนึ่งที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์โดยไม่มีการสร้างสาธารณูปโภครองรับ สุดท้ายกลายเป็นเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นการเอางบประมาณมากระตุ้นการลุงทุนจากต่างประเทศ เป็นเรื่องของการฟื้นเศรษฐกิจโดยการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาเป็นกลไกอย่างเดียว แต่ขณะเดียวกันฝั่งแรงงานบ้านเราก็ไม่มีกลไกการทำงานร่วมกันที่จะสร้างเรื่องเล่ามาคัดง้างหรือต้านทานการผลักดันของรัฐบาล  

บรรทัดฐานใหม่สร้างความยืดหยุ่นในระบบการผลิต

เกรียงศักดิ์ ย้ำด้วยว่า การใช้หุ่นยนต์หากมองในสเกลระดับโลกมันไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการเติบโตหรือการบูมของอุตสาหกรรมนี้ มันเป็นแคมเปญและเป็นเรื่องแนวคิดด้วยที่ฝั่งธุรกิจพยายามสร้างกระแส หรือบรรทัดฐานใหม่ให้คนมองว่าหุ่นยนต์จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ อันที่จริงเรื่องนี้เป็นลูกโซ่หรือแนวโน้มใหญ่ของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมมาตั้งนานแล้วที่ต้องการสร้างความยืดหยุ่นในระบบการผลิต มีการปลดล็อคระบบการจ้างงานแบบเดิม มีการปลดล็อคในเรื่อง out source (จ้างเหมา) มีการโยกย้าย out source ในพื้นที่อื่นที่มีแรงงานราคาถูก หากเรามองในสเกลโลกตอนนี้สิ่งที่ฝ่ายทุนแทบไม่มีกลไกอะไรให้ใช้แล้ว ฉะนั้นการใช้หุ่นยนต์ก็เหมือนเป็นทางเลือกอันต่อไปที่เขาจะเพิ่มผลิตภาพการผลิต แต่ผลิตภาพนี้คนที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองจะเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องการสร้างมาตรการต่อแรงงาน

ประเด็นต่อมา รัฐไทยก็กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต จึงสบโอกาสของทุนต่างประเทศที่มองเห็นนโยบายหลายอย่างตั้งแต่คลัสเตอร์หรือระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก เศรษฐกิจดิจิตอลว่ามันสอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์อัตโนมัติ ตอนนี้มีการใช้สิ่งที่รัฐบาลทหารผลักดันคือ "ประชารัฐ" ที่เป็นความร่วมมือกันของรัฐ เอกชน และภาคการศึกษา นำสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่มีศูนย์วิจัยเกี่ยวกับหุ่นยนต์มารวมกันเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มีการเอากลไกหลายอย่างของรัฐเข้ามาส่งเสริมนโยบายนี้ค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ทางฝ่ายแรงงานต้องเข้าใจด้วยว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเป็นกระบวนการทางการเมืองที่พยายาผลักดันให้มีการปลดล็อคเรื่องของความมั่นคงของงาน รวมทั้งเรื่องของสิทธิในการรวมตัว

ภาษีหุ่นยนต์และการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า

นอกจากสิ่งที่เกรียงศักดิ์นำเสนอข้างต้นแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งเป็นข้อถกเถียงใหญ่ในประเทศตะวันตก คือ การจัดเก็บภาษีหุ่นยนต์ (Robot Tax)  ไม่ว่าจะเป็นความคิดของ บิล เกตส์[3] มหาเศรษฐีที่เสนอเรื่องนี้ โดยระบุว่า กระบวนการเก็บภาษีลักษณะนี้จะช่วยชดเชยการสูญเสียงานของผู้คนหลายล้านตำแหน่ง และยังช่วยให้ระบบสวัสดิการสำหรับเด็กๆ และผู้สูงอายุยังคงขับเคลื่อนไปได้

นอกจากนี้ เจน คิม (Jane Kim)[4] นักกฎหมายจากซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ก็ทำการศึกษาว่า หากมีการเสียภาษีหุ่นยนต์ จะสามารถเติมเต็มปัญหาความไม่เท่าเทียมกันได้หรือไม่ เนื่องจากในซานฟรานซิสโกมีช่องว่างระหว่างทางรายได้สูงมากเป็นอันดับต้นๆ ในสหรัฐอเมริกา สาเหตุมาจากเศรษฐกิจพัฒนาแบบก้าวกระโดด Kim วางแผนจะตั้งคณะทำงานเรื่องนี้ โดยอยากให้มีส่วนร่วมของคนในวงการไอที การศึกษา และแรงงาน เพื่อร่วมหาคำตอบว่าคนจะเสียรายได้ไปเท่าไรจากการแทนที่ของหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมไหนจะได้รับผลกระทบบ้าง นอกจากนี้ยังอยากเห็นภาษีหุ่นยนต์ที่จัดเก็บได้นำไปใช้ลงทุนภาคการศึกษามากขึ้น อย่างไรก็ตาม Kim ไม่ได้คิดว่าภาษีหุ่นยนต์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะมันต้องไปพร้อมกันกับ "รายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า" (Universal Basic Income - UBI) และนโยบายอื่นอีกมาก

เดือนสิงหาคม 2560 รัฐบาลเกาหลีใต้ก็มีการปรับเปลี่ยนนโยบายบางอย่าง จากเดิมที่มีนโยบายลดภาษีให้กับบริษัทที่ลงทุนด้านหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรอยู่ที่ 3-7% ขึ้นอยู่กับขนาดของการลงทุน นโยบายนี้จะหมดอายุในปี 2019 แต่กระแสความกลัวหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรแย่งงานมนุษย์ ทำให้รัฐบาลของ มุน แจ-อิน ทบทวนมาตรการลดภาษีดังกล่าว[5] ทำให้หลังปี 2019 บริษัทที่ลงทุนด้านหุ่นยนต์และเครื่องจักรอาจได้รับการลดภาษีเพียง 1-5% เท่านั้นเพื่อลดแรงดึงดูดในการลงทุนด้านนี้ลงเล็กน้อย แม้กฎหมายนี้จะไม่ได้เป็นการเก็บภาษีหุ่นยนต์ แต่คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านนี้ก็มองว่ามีความใกล้เคียงกัน

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา เบอนัว อามง (Benoit Hamon)[6] ผู้สมัครปีกซ้ายของพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (PS) ก็มีการเสนอนโยบายเก็บภาษีหุ่นยนต์ รวมทั้งการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า

เงินปันผลพื้นฐานถ้วนหน้า

ยานิส วารูฟาคิส[7] ศาตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเอเธนส์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกรีซ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษีหุ่นยนต์ด้วยว่า อาจจะนำมาใช้กับการประกันรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า ซึ่งหมายถึงการให้รายได้พื้นฐานต่อประชาชนโดยเท่าเทียมกันและสามารถหางานทำเพิ่มรายได้ ฝ่ายผู้สนับสนุนรายได้ขั้นพื้นฐานบอกว่าระบบรายได้ขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่จะตอบรับกับสังคมในอนาคตที่มีหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาทำงานแทนคนมากขึ้นได้

นอกจากนี้ วารูฟาคิส ยังนำเสนอว่ามีอีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้ระบบ "เงินปันผลพื้นฐานถ้วนหน้า" (universal basic dividend หรือ UBD) ซึ่งเก็บจากผลตอบแทนที่มาจากทุนทั้งหมด ลองนึกถึงว่าถ้ามีการกำหนดสัดส่วนชัดเจนของกรรมสิทธิหุ้นส่วนใหม่อย่างหุ้นที่ถูกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรกก่อนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือไอพีโอ (IPOs) ให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นกองทุนทรัสต์สาธารณกุศล (public trust) ที่สร้างรายได้ให้กับระบบเงินปันผลถ้วนหน้า เปรียบเทียบแล้วคือคนในสังคมจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นในทุกๆ บรรษัทและมีการปันผลไปสู่ประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค

วารูฟาคิส ระบุว่า แนวคิดของเขาเป็นแนวคิดที่สอดรับกับการที่ระบบอัตโนมัติอย่างหุ่นยนต์จะช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มผลกำไรให้บรรษัทโดยที่สังคมทั้งหมดจะได้รับผลตอบแทนไปด้วยตามระดับกำไรโดยไม่ต้องอาศัยระบบภาษีและไม่กระทบระบบรัฐสวัสดิการแบบเดิม โดยระบบ UBD เองควรทำให้มีงบประมาณเข้าไปสู่รัฐสวัสดิการเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อดำเนินการเรื่องนี้ควบคู่ไปกับสิทธิแรงงานที่เข้มแข็งขึ้นและค่าแรงที่เพียงพอต่อการดำรงชีพแล้ว แนวคิดเรื่องการได้รับผลตอบแทนความมั่งคั่งไปด้วยกันก็จะเป็นแนวคิดเชิงทรัพย์สินแบบใหม่ของสังคม

วารูฟาคิส มองว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมสองครั้งแรกก่อนหน้านี้ถูกกลุ่มผู้ประกอบการเจ้าเล่ห์จำนวนหนึ่งฉวยอ้างสิทธิในการครอบครองสิ่งที่เครื่องจักรผลิต แต่การปฏิวัติเทคโนโลยีในปัจจุบันมีการผลิตทุนผ่านการขัดเกลาทางสังคมมากขึ้นทำให้สิทธิในทรัพย์สินควรเป็นเครื่องมือตอบสนองรายได้ต่อสังคมมากขึ้น

นั่นคือแนวคิดแห่งอนาคตซึ่งกำลังเป็นโจทย์ที่ท้าทายเราทุกคน

 

[1] พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ และ นันทนิตย์ ทองศรี เศรษฐกร, 2561, รายงานวิจัย “หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ?”

[2] สำหรับมติ ครม.วันที่ 29 ส.ค.2560 นั้น ได้เห็นชอบ 'มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ' ซึ่งประกอบด้วย  5 มาตรการหลัก คือ  มาตรการที่ 1 : มาตรการทางด้านการตลาด (Marketing) เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต/ธุรกิจบริการให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Demand Driven)  โดยกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเนื่องจากการลงทุนซื้อหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ  80-90 ในการทดแทนเครื่อจักรเดิม  จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  มาตรการที่ 2 : มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ System Integrator (SI)  ในประเทศไทย เพื่อผลักดัน System Integrator (SI)  ให้มีจำนวนเพียงพอในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอนาคต (ปัจจุบัน SI ที่มีศักยภาพมีจำนวน เพียง 200 ราย) มาตรการที่ 3 : มาตรการสร้างอุปทาน (Supply)  เพื่อยกระดับกระบวนการผลิต มาตรฐานและผลิตภัณฑ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  มาตรการที่ 4 :  มาตรการสร้าง Center of Robotics Excellence (CoRE)  สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และการส่งเสริมการใช้งานด้านต่าง ๆ  เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยบูรณาการความร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานชั้นนำของประเทศ และมาตรการที่ 5 : มาตรการด้านอื่น ๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท