เปิด Timeline หลังศาลสั่งจำคุก 1 ปี 2 แม่หญิงค้านเหมืองทอง จ.เลย เหตุขวางต่ออายุทำเหมือง

เปิดลำดับเวลา กว่าจะเป็นคดี และศาลจังหวัดเลยสั่งจำคุก 1 ปี ปรับ 6 พันบาท 2 นักสู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย แต่ให้รออาญา 2 ปี ส่วนคดีแพ่งให้จ่ายค่าเสียหาย 2.4 หมื่นบาท เหตุข่มขืนใจสมาชิก อบต. เขาหลวง ขัดขวางการพิจารณาต่ออายุใช้พื้นที่ป่าสงวน และพื้น ส.ป.ก. ทำเหมืองแร่ทองคำ

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561 ศาลจังหวัดเลย นัดฟังคำพิพากษาในคดี ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย 6 รายถูกฟ้องดำเนินคดีในข่มขืนใจสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุ่ง จ.เลย จากกรณีความวุ่นวายที่เกิดในวันที่ 13 พ.ค. 2559 ซึ่งในระหว่างนั้นได้มีการประชุมพิจารณาให้ความเห็นการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็กเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ตามประทานบัตรที่ 26968/15574, 26968/15575, 26968/15576 และ 26973/15560 และการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ (ส.ป.ก.4-106) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

โดยวันนี้ศาลพิพากษาให้ ภรภัทรา แก่งจำปา จำเลยที่ 1 และพรทิพย์ หงชัย จำเลยที่ 2 มีความผิดฐาน ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ร่วมกันทำให้ผู้อื่นกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญและใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ ให้จำคุกจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สอง 1 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท แต่จำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองไม่เคยกระทำความผิด จึงรอการลงโทษ 2 ปี และบำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมง ส่วนจำเลยที่ 3-6 ศาลยกฟ้อง

ส่วนในคดีแพ่งที่โจทก์ ได้แก่ สมาชิก อบต.เขาหลวง เขตโซนบนของตำบลทั้ง 16 คน ฟ้องเรียกค่าเสียหายคนละ 100,000 บาท ศาลพิพากษาให้จำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1-9 เป็นเงินคนละ 2,000 บาท และโจทก์ที่ 10 เป็นเงิน 6,000 บาท

ภาพขุมเหมืองของบริษัททุ่งคำ ถ่ายเมื่อราวต้นปี 2559

เรื่องราว และที่มาของคดีความ

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงวันที่ 12 -13 พ.ค. 2559 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุ่ง จ.เลย ได้มีการนัดประชุมพิจารณา วาระสำคัญคือการ พิจารณาให้ความเห็นการต่ออายุหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็กเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ตามประทานบัตรที่ 26968/15574, 26968/15575, 26968/15576 และ 26973/15560 และพิจารณาการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ (ส.ป.ก.4-106) ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งคือการขออนุญาติต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ของสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ทองทำต่อไป

โดยชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ และต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่มาโดยตลอด ได้ออกมารวมตัวเพื่อร่วมฟังการพิจารณา กว่า 200 คน

25 เม.ย. 2559

สมาชิก อบต.เขาหลวง เขตโซนบนของตำบลทั้ง 16 คนทำหนังสือถึงประธานสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2559 เพื่อขอให้มีการประชุมลับ ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการทำเหมืองทองเข้าร่วมรับฟังด้วย ประธานสภาฯ ได้ตอบจดหมายว่า ไม่มีระเบียบวาระการประชุมใดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ การประชุมดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงไม่เห็นควรให้มีการประชุมลับ

11 พ.ค. 2559

ต่อมาวันที่ 11 พ.ค. 2559 สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนทั้ง 16 คน ทำหนังสือถึงประธานสภาฯ เพื่อขอให้ย้ายสถานที่ประชุมด่วน และให้ส่งตัวแทนชาวบ้านเพียง 3 คน เข้าร่วมประชุมด้วยเท่านั้น ประธานสภาฯ ตอบหนังสือว่า ไม่อนุญาต เป็นเรื่องที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อยู่ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการตัดสินใจ

12 พ.ค. 2559

ในช่วงเช้าของวันที่ 12 พ.ค. 2559 ที่ด้านหน้า อบต. เขาหลวงเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 250 นาย ได้วางกำลังประจำการรักษาความสงบบริเวณโดยรอบสำนักงาน อบต. รวมทั้งนำแผงเหล็กมากั้นด้านหน้าทางขึ้นห้องประชุมเพื่อสกัดไม่ให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเข้าใกล้บริเวณที่ประชุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดพื้นที่ไว้ให้สำหรับผู้มารวมตัวไว้อีกบริเวณหนึ่ง

เมื่อถึงเวลาที่มีการประชุม สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนทั้ง 16 คน นำโดยวีระพล กัตติยะ สมาชิก อบต.เขาหลวง บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 11 ขอให้มีการพิจารณาวาระดังกล่าว โดยการเปิดประชุมลับ พร้อมระบุว่าหากไม่มีการประชุมลับจะผิดมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา เพราะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถูกประธานสภา อบต.เขาหลวงและสมาชิก อบต.เขาหลวงส่วนหนึ่งคัดค้าน  สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนทั้ง 16 คน จึงวอล์กเอาท์เดินออกจากที่ประชุม นอกจากนั้นยังมีสุรศักดิ์ ดวงจำปา สมาชิก อบต.หมู่ที่ 6 บ้านนาซำแซง เลขานุการสภาฯ และวัชรพงษ์ บัวบาลบุตร รองประธานสภา ก็เดินออกจากที่ประชุมไปด้วย ทำให้ไม่สามารถประชุมต่อได้จนต้องปิดประชุม

หลังจากที่เดินวอล์กเอาท์ออกมาจากที่ประชุม สมาชิก อบต.เขาหลวงโซนบนทั้ง 16 คน รวมเลขานุการสภาฯ 1 คน และรองประธานสภาฯ อีก 1 คน ได้เดินไปที่อาคารสำนักงาน อบต.เขาหลวงเพื่อทำหนังสือเร่งด่วนที่สุดถึงนายอำเภอวังสะพุงและผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ขอให้ถอดถอนประธานสภาออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ด้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งเดินทางมาร่วมฟังการประชุม สภา อบต. ได้เดินทางจากที่ทำการ อบต.เขาหลวง ไปที่ศาลากลางจังหวัดเลย ต่อด้วยอำเภอวังสะพุง เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และนายอำเภอวังสะพุง

หนังสือของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ มีข้อเรียกร้องคือ 1.ขอความเป็นธรรมให้แก่ สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง ที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นผู้ดำรงตนด้วยความสุจริตในหน้าที่การงาน มีความดีพร้อมที่จะได้รับการสรรเสริญ มองเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พยายามปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงปัญหาปากท้องความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง c]t 2.ขอให้ถอดถอน/เพิกถอนหรือปลดนายวีระพล กัตติยะ สมาชิก อบต.เขาหลวง หมู่ที่ 11 บ้านโนนสวรรค์ และสมาชิก อบต.เขาหลวงท่านอื่นที่ลงชื่อร่วมกันขอให้เปิดประชุมลับออกจากตำแหน่งทั้งหมด

หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือแล้ว กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงเดินทางกลับเมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. โดยระบุว่าจะติดตามการประชุมสภา อบต. ในวันถัดไป

ประมวลสถานการณ์เหมืองแร่เมืองเลยเดือด หลัง อบต.พยายามต่ออายุเหมือง

13 พ.ค. 2559

เมื่อถึงวันที่ 13 พ.ค. 2559 ซึ่งเป็นชนวนเหตุของคดี ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการประชุมเพื่อพิจารณาต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ของ ส.ป.ก. เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ทองทำ ได้มารวมตัวกันที่ด้านหน้าสำนักงาน อบต. เขาหลวงเช่นเมื่อวาน ราว 200 คน ท่ามกลางการดูแลรักษาความสงบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทหารในจำนวนเท่าๆ กัน โดยวันนี้มี พ.ต.อ.สุจินต์ นาวาเรือน ผกก.สภ.วังสะพุง ร่วมติดตามสถานการณ์อยู่ด้วย และในการประชุมวันนี้มี ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย และปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลยเข้าร่วมด้วย

การประชุมสภา อบต.เขาหลวง เริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. โดย ประธานสภา อบต.เขาหลวง อ่านข่าวเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2559 ที่ให้ยุติสัมปทานเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ และให้เหมืองทองอัคราฯ ประกอบกิจการเหมืองแร่ได้จนถึงสิ้นปีนี้ โดยเน้นย้ำข้อความข้อ 1 ที่ระบุว่า ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ และประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย นอกจากนี้ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดเลยยังให้ความเห็นว่าควรรอหนังสือมติ ครม. เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน แล้วค่อยเปิดประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สมาชิก อบต.เขาหลวงเขตโซนบน ยังไม่เห็นด้วยที่จะมีการเลื่อนการประชุมออกไป จึงเกิดการโต้เถียงกันระหว่าง สมัย ภักดิ์มี ประธานสภา อบต.เขาหลวง และสมาชิก อบต. กลุ่มดังกล่าว สมัย จึงได้ประกาศปิดการประชุมเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. โดยให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อนจนกว่าจะมีมติ ครม.ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วนายสมัยจึงเดินออกจากห้องประชุมพร้อมกับสมาชิก อบต.เขาหลวงอีก 9 คน 

หลังจากนั้น สมาชิก อบต.เขาหลวง โซนบน 16 คน ที่ยังอยู่ในห้องประชุมได้ใช้จังหวะที่ประธานออกไปจากห้องประชุม ดำเนินการให้รองประธานสภาขึ้นทำหน้าที่ดำเนินการประชุมต่อแทนประธานสภาฯ ทำให้ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ที่นั่งรอฟังการประชุมสภาฯ อยู่ด้านล่างไม่พอใจ 

กลุ่มชาวบ้านได้ลุกเดินไปยังแผงเหล็กกั้นพื้นที่อาคารที่ประชุม เพื่อจะขอขึ้นไปบนห้องประชุมที่อยู่บนชั้นสองของอาคาร ทำให้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เนื่องจากแนวแผงเหล็กกั้นล้มลง ชาวบ้านจึงพยายามข้ามไปเพื่อเข้าใกล้อาคารที่ประชุมจนปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งแถวขวางไว้ ขณะที่ด้านบนห้องประชุมสภา อบต.เขาหลวง ก็เกิดความโกลาหลวุ่นวาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้การประชุมสภาฯ โดย สมาชิก อบต.เขาหลวงโซน 16 คน ยุติลง แต่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยังคงรวมตัวนั่งกลางแดดที่บริเวณทางเข้าอาคารที่ประชุม เพื่อประท้วงการกระทำดังกล่าวอยู่ราว 30 นาที จึงได้แยกย้ายกันเดินทางกลับ ซึ่งนี่คือมูลเหตุของคดี ที่มีการพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561

อีกคดี : ข่มขืนใจสมาชิก อบต เขาหลวง 16 คน คดี ศาลสั่งยกฟ้อง

อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาข่มขืนใจ ยังคงเกิดขึ้นอีกคดี เนื่องจากในวันที่ 16 พ.ย. 2559 ยังคงมีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาต่ออายุหนังสือขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจึงได้ออกมารวมตัวคัดค้านอีกครั้ง โดยในครั้งนั้นทำให้ ผู้หญิงในกลุ่มฅนรักบ้านเกิดทั้งหมด 7 คน ถูกดำเนินคดีในตามมาตรา 309 ในประมวลกฎหมายอาญา เหตุร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น และได้ พรทิพย์ หงชัย ยังถูกดำเนินคดีละเมิดมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนจะเริ่มการชุมนุม

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561  ศาลจังหวัดเลยอ่านคำพิพากษาคดีอาญา ยกฟ้อง คดีที่ผู้หญิงนักปกป้องสิ่งแวดล้อม 7 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ถูกฟ้องจากการเข้าร่วมการนั่งประท้วงบริเวณด้านนอกที่ทำการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเลยเมื่อเดือน พ.ย. 2559 ในข้อหาละเมิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 8, 10 และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 

ยกฟ้อง 7 หญิงค้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ชี้เป็นสิทธิตามประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญคุ้มครอง

โดยเหตุผลที่ศาลยกฟ้องนั้น เนื่องจากศาลมองว่าในวันนั้นที่ อบต.เขาหลวง จัดให้มีการประชุมสภาและเชิญตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมรับฟัง การที่ อบต.จัดการประชุมและเชิญชาวบ้านเข้าไปร่วมรับฟังนั้น ศาลมองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมขึ้น แต่เป็นเรื่องของการเข้าไปร่วมรับฟังการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยทางราชการ โดยการประชุมของ อบต.นั้นเป็นการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งใน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เขาไม่ใช้บังคับแก่การประชุมในลักษณะอย่างนี้ 

อีกข้อหาเรื่องข่มขื่นใจที่ สมาชิก อบต. กล่าวหานั้น ศาลเห็นว่าพยายานมีการขัดแย้งกัน บางปากอ้างว่าจำเลยมีการปราศรัยข่มขู่ว่าถ้าใครขึ้นประชุมนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย แต่ศาลเห็นว่า พยายามโจทก์บางคนก็บอกว่าไม่ได้ยินว่ามีการปราศรัยในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งตำรวจก็เบิกความในลักษณะนี้ ศาลจึงเห็นว่าการที่จำเลยไปร่วมประชุมในวันนั้นเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญหรือใช้ความรุนแรงใดๆ ประกอบกับผู้ร่วมเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะมีการอนุมัติเหมืองแร่นั้น การที่มีประชาชนบางคนใช้โทรโช่งปราศรัยขอให้เลื่อนการประชุมของ อบต. ออกไปก่อนนั้น ศาล จึงเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดและยกฟ้องข้อหานี้ด้วย

 

เรียบเรียงบางส่วนจาก: นักข่าวพลเมือง TPBS

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท