ใครควรค้ำ?: ถกวิกฤตหนี้ กยศ. ในมุมมองความเป็นธรรมของนโยบาย

กยศ. ยืนยัน ไม่มีทางเจ๊ง เผยยอดชำระหนี้เพิ่มขึ้นทุกปี แม้หนี้ค้างชำระพุ่งแตะ 70 ล้าน เครดิตบูโรเสนอเอาหนี้ กยศ. เข้าระบบ อำนวยความสะดวกลูกหนี้ชั้นดี นักวิชาการชี้ กยศ. เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องใช้วิธีคิดต่างจากกฎหมายแพ่ง ไม่ควรต้องมีคนค้ำประกัน เสนอแนวทางทำงานให้รัฐแทนการใช้หนี้

ปัญหาหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลับมาสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังจากที่ ครูวิภา บานเย็น ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กำแพงเพชร เซ็นค้ำประกันเงินกู้ยืม (กยศ.)ให้นักเรียน จำนวน 60 คน แต่ถูกเบี้ยวหนี้จนถูกบังคับ คดียึดทรัพย์ กระทั่ง กยศ.และกรมบังคับคดี จับมือกันหาทางออกให้กับเรื่องนี้ โดยล่าสุด พบว่ายังมีลูกศิษย์อีก 17 ราย อยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี คิดเป็นเงิน 190,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย

เกิดคำถามกับสังคมขึ้นว่าเหตุใดแม่พิมพ์ของชาติที่อยากเห็นลูกศิษย์มีอนาคตจึงยอมเสียสละเป็นผู้ค้ำประกันให้ จะต้องมาประสบกับเคราะห์กรรมเช่นนี้ บ้างก็โทษว่าเป็นความผิดของลูกศิษย์อกตัญญู บ้างก็โทษว่าเกิดจากนโยบายที่ไม่มีประสิทธิภาพ บ้างก็ว่าเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม 

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้จัดงานเสวนา “เรียน-กู้-ค้ำ-หนี้-หนี-บังคับ: ความเป็นธรรมของกฎหมายกับนโยบาย กองทุน กยศ.” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ 1. นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 2. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี 3. นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) 4.รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต ธงทอง อดีตรองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาฯ 5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล และ 6. อาจารย์ ดร.กัญจน์ศักดิ์ เพชรานนท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ 

(จากซ้ายไปขวา) ดร.ธนิต ธงทอง, สุรพล โอภาสเสถียร, รื่นวดี สุวรรณ, ดร.กัญจน์ศักดิ์ เพชรานนท์, ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ และ ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล 

บังคับคดีเพื่อผลประโยชน์ของชาติ

ชัยณรงค์เริ่มอภิปรายโดยการให้ตัวเลขคร่าวๆ ของ กยศ. 68,208 ล้านบาท คือยอดหนี้ค้างชำระ โดยให้กู้ไปแล้วกว่า 5 ล้านคน คิดเป็นเงินมากกว่า 5.7 แสนล้านบาท ทุกวันนี้แนวโน้มการกู้ยืมจะน้อยลงทุกปี เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยลดลง มีลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 65 เปอร์เซ็น หรือประมาณ 3.5 ล้านคนอยู่ ในจำนวนนี้ คิดเป็นคนที่ชำระหนี้ปกติ 39 เปอเซ็น และคนผิดนัดชำระหนี้ 61 เปอเซ็น หรือประมาณสองล้านกว่าคน

“คนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจาก กยศ. แต่ผิดนัดชำระหนี้มีอยู่ประมาณสองล้านกว่าคน กองทุนจึงต้องทำสิ่งที่ไม่ถูกใจแต่ถูกกฎหมาย วันนี้เราต้องดำเนินคดีเพื่อไม่ให้อายุความขาด วันนี้เราฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่จบการศึกษาแล้ว ที่เป็นคนอายุ 30 กว่ามีงานมีการทำแล้ว เราฟ้องไปแล้วมากกว่า หนึ่งล้านคดี ทั่วประเทศ ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาเราฟ้องเฉลี่ยอยู่ที่แสนคดีต่อปี เพื่อไม่ให้อายุความขาด เพื่อไม่ให้รัฐเสียหาย” ชัยณรงค์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า สาเหตุที่ผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้มีอยู่สามเหตุผลหลัก 1. ขาดวินัยทางการเงิน เป็นกลุ่มที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าตนมีหนี้ กยศ. แต่ก็ยังเลือกที่จะก่อหนี้เพิ่ม เช่นผ่อน รถผ่อนบ้าน ทำให้ไม่มีเงินเก็บ และไม่มีเงินชำระหนี้ 2. คือกลุ่มที่ยากจนจริงๆ ไม่สามารถหางานทำได้จริง หรือหาได้แต่ก็เอาไปช่วยภาระทางบ้าน 3. คือกลุ่มที่ขาดสำนึกในการชำระหนี้ คือมีเงินอยู่ในบัญชี มีทรัพย์สิน แต่เลือกที่จะไม่จ่าย พร้อมยืนยันว่า กยศ. ไม่มีการจ้างบริษัททวงหนี้อย่างที่เป็นข่าว แต่ใช้กระบวนการเหมือนบริษัททางการเงินทั่วไป คือมีการจ้างเตือนผ่าน sms โทรไปหาผู้กู้ ส่งเอกสารแจ้งเตือน จนไปถึงการดำเนินคดี อีกทั้งยังปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่ากองทุน กยศ กำลังจะเจ๊ง เพราะในความเป็นจริงคือผู้กู้ในแต่ละปีมแนวโน้มลดลง เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยน้อยลง แต่สามารถเรียกชำระหนี้ได้เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ยังไงก็ต้องมี กยศ.

ธนิต กล่าว่าในฐานะที่ตนเป็นรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ทำให้มีโอกาสใกล้ชิดกับเด็กที่กู้ กยศ. มากเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กยากจน เป็นผู้ที่กู้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม บางคนกู้มาก็ไม่ได้เอามาใช้จ่ายค่าเล่าเรียน แต่ต้องให้พ่อแม่เอาไปใช้ เพราะดอกเบี้ยต่ำ จึงคิดว่าทางมหาวิทยาลัยเองก็ควรมีส่วนช่วยด้วย จึงมีการมอบทุนให้เปล่าให้กับเด็กที่ขาดแคลน พบว่า จำนวนผู้กู้ กยศ. ลดลงจาก 4 ปีที่แล้ว 800 คนเหลือเพียง 400 คนแต่ก็ยังมีเด็กบางคนที่ถึงแม้จะได้ทุนแล้วแต่ก็ยังต้องกู้อยู่ พอถามเหตุผลเขาก็บอกว่าเพื่อรักษาสิทธิ์ของเขา ซึ่งเราก็ไม่ได้ว่าอะไร 

ในประเด็นที่เห็นว่าเป็นปัญหา ธนิตเห็นว่าการที่ต้องให้ข้าราชการระดับ C5 ขึ้นไปเป็นคนเซ็นค้ำประกันเป็นการผลักภาระให้อาจารย์จนเกินไป ควรจะให้ใครเป็นผู้ค้ำก็ได้ อีกทั้ง กยศ. ยังชอบออกโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถมให้กับผู้ที่ชำระหนี้ล่าช้า จึงทำให้คนที่อยากชำระหนี้ตรงเวลาอยากชะลออออกไปก่อน เพื่อรอช่วงโปรโมชั่น

“โดยเบื้องต้นคิดว่ากองทุนนี้เป็นแนวคิดที่ดี เปิดโอกาให้น้องๆได้มีอนาคตไปเป็นบุคลากรที่ดีของประเทศ ผมยังมองในแง่บวกว่าน้องที่ยังไม่ชำระหนี้ผมว่าเขาก็ยังอยากชำระอยู่ส่วนหนึ่ง ถ้าเราสื่อสารกันดีๆ กับอาจารย์ช่วยกัน กยศ. ช่วยกัน ให้เขารู้ว่าเงินที่เอาไปเป็นภาษีของประชาชน ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้น้งรุ่นต่อไป อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราจะทำได้” ธนิตกล่าว

สิทธิ์ในการเบี้ยวหนี้?

ด้านสุรพลจาก เครดิตบูโรกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ลูกหนี้จะมีลำดับในการชำระหนี้ไล่ตามความจำเป็นในการใช้ชีวิต คือจะเริ่มจ่ายหนี้นอกระบบก่อน เพราะดอกเบี้ยเยอะ และมีมาตรการทวงหนี้ที่รุนแรง ตามมาด้วยภาษี อากร เพราะตระหนักดีว่าเป็นกฎหมาย ถ้าไม่จ่ายจะมีโทษ จากนั้นจึงจะมาจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าอื่นๆ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต สุดท้ายคือจ่ายหนี้สถาบันทางการเงิน เช่นค่าบัตรเครดิต ส่วนหนี้ กยศ. จะอยู่ถัดจากหนี้สถาบันทางการเงินไปอีกขั้นหนึ่ง 

สุรพลยืนยันว่ายังไงก็ต้องดำเนินคดีกับคนที่เบี้ยวหนี้ ต้องยึดความถูกต้องมากกว่าความเห็นใจ เพราะเขากำลังเอาเปรียบลูกหนี้คนอื่น รวมถึงผู้ให้กู้อยู่ ในส่วนที่ไม่มีเงินจริงๆ ก็พอเข้าใจได้ แต่ในเคสที่ตั้งใจจะเบี้ยวจริงๆ ชนิดที่ว่าพอ กยศ. โทรไป ถามกลับมาประโยคแรกว่า เอาเบอร์มาจากไหน แบบนี้มันไม่ใช่ จึงเสนอว่า กยศ. ควรเอาหนี้เข้าระบบเครดิตบูโร เหมือนในต่างประเทศ เพราะลูกหนี้ที่จ่ายหนี้ตรงเวลา ถ้าอยากจะไปเปิดกิจการ หรือกู้เงินมาลงทุน ก็สามารถทำได้เลย ไม่ต้องไปเริ่มสร้างประวัติเครดิตใหม่

กัญจน์ศักดิ์ ได้ให้ความเห็นสั้นๆ เกี่ยวกับสิทธิของผู้ค้ำประกันภายใต้กฎหมายค้ำประกันฉบับใหม่ พ.ศ. 2557 ซึ่งทำให้สถานะของผู้ค้ำดีขึ้น โดยสาระสำคัญคือเปลี่ยนสถานะของผู้ค้ำประกันจากลูกหนี้ร่วม เป็นเจ้าลูกชั้นรอง ซึ่งจะมีสิทธิในการเกี่ยงหนี้ 3 สิทธิ 1. หากเจ้าหนี้มาเรียกหนี้จากผู้ค้ำ ผู้ค้ำสามารถขอให้ไปเรียกหนี้นั้นคือจากลูกหนี้ก่อนได้ 2. หากไปเรียกกับลูกหนี้แล้ว แต่ไม่ยอมจ่าย หากลูกหนี้อยู่ในสถานะที่ชำระหนี้ได้ ผู้ค้ำสามารถให้เจ้าหนี้ไปบังคับคดีเอากับลูกหนี้ก่อน สิทธิที่ 3 แต่อาจจะไม่เกี่ยวกับ กยศ. คือ หากมีการวางสินทรัพย์ไว้เป็นหลักประกัน ผู้ค้ำสามารถขอให้ผู้ให้กู้ไปบังคับคดีกับสินทรัพย์นั้นก่อนได้

“ตามกฎหมายที่แก้ใหม่ปีที่ออกมาปี 2557 ถ้าในสัญญาค้ำประกันเขียนว่าให้ผู้ค้ำรับผิดชอบในฐานะลูกหนี้ร่วมเมื่อไหร่ ข้อความนั้นโมฆะทันที แต่ที่สัญญาที่เกิดก่อนหน้านั้นก็เป็นไปตามกฎหมายเดิมไป ถามว่าสุดท้ายใช้สิทธิเกี่ยงไปหมดแแล้ว ลูกหนี้ไม่มีสินทรัพย์อะไร แบบนั้นก็หนีไม่รอดแล้ว คุณก็ต้องโดนเอง แต่ถามว่าชีวิตต้องจบสิ้นเลยไหม จริงๆแล้วเขายังมีสิทธิ์ไล่เบี้ยได้ แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะได้รับเงินอยู่ดี” กัญจน์ศักดิ์กล่าว

รื่นวดี กล่าวว่าทุกวันนี้สังคมมองกรมบังคับคดีเป็นตัวร้าย เหมือนเป็นคนคอยทวงหนี้ แต่จริงๆ แล้วสิ่งเราเป็นหน่วยงานกลางที่ที่หน้าที่บังคำใช้คำพิพาษา และเป็นตัวกลางการพูดคุยระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เท่านั้น ภารกิจอื่นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการบังคับคดี และยึดทรัพย์คือการไกล่เกลี่ย โดยทางกรมได้ทำ MOU ร่วมกับ กยศ. เป็นกรอบความร่วมมือให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในชั้นบังคับคดี ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 

“มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ย 15,000 เรื่อง มีทุนทรัพย์อยู่ 1,800 ล้าน ไกล่เกลี่ยสำเร็จสูงถึง 92 เปอร์เซ็น คิดเป็น 14,138 เคส เรามีการไกล่เกลี่ยเพื่อลดการถูกยึด หรืออายัด มีแนวทางการผ่อนชำระ เงินที่ได้จากส่วนนี้ก็กลับเข้ากองทุน กยศ. ให้น้องได้มีโอกาสได้กู้ยืมต่อไป” รื่นวดีกล่าว

รื่นวดีเสริมว่า คดีลูกหนี้ กยศ. ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นตอน อายุหนี้ 9 ปี ขึ้นไป ซึ่งเมื่อเป็นระยะเวลานานขนาดนี้ ลูกหนี้บางคนจึงลืมไปแล้วว่ามีหนี้ในส่วนนี้อยู่ และจากประสบการณ์กาารทำงาน พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยคือคนที่อยากจะจ่ายหนี้ แต่มีภาระความรับผิดชอบต้องดูแล ในฐานะส่วนราชการจึงควรจะช่วยสื่อสสาร และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น 

วิทยากรท่านสุดท้าย เอื้ออารีย์ กล่าวว่าในฐานะที่ตนศึกษาด้านนโยบายกับความเป็นธรรมทางสังคม เห็นว่าหน่วยงานรัฐที่มีพันธกิจด้านประโยชน์สาธารณะจะใช้วิธีคิดแบบกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ไม่ได้ แต่ต้องคิดถึงกำไรของสาธารณะเป็นหลัก ประสิทธิภาพของกองทุนจึงไม่ใช่การเรียกเงินคืนได้เยอะๆ แต่คือการกระจายโอกาสทางการศึกษา

อะไรคือกำไรของเงินภาษี?

เอื้ออารีย์ตั้งข้อสังเกตโดยยกตัวอย่างจากข่าวข่าวหนึ่งที่ระบุว่า กยศ. จะจัดหาทนายให้ครูวิภาเพื่อไปไล่เบี้ยกับลูกศิษย์ ยืนยันว่าจะต้องดำเนินคดี มิเช่นนั้นจะถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเงินตรงนี้เป็นเงินภาษีของประชาชน คำถามแรกคือเรื่องการจัดหาทนายมีความจำเป็นแค่ไหน ตอนนี้เรากำลังพูดถึงการวางโครงสร้างการกู้ยืมที่มีระบบผู้ค้ำประกัน และผู้ค้ำก็เป็นเหยื่อคนหนึ่งมันกับลูกศิษย์ ที่ถูกยึดและอายัดทรัพย์สิน จนสุดท้ายกองทุนก็ต้องจัดหาทนายไปให้ ถ้าสมมติมีกรณีแบบครูวิภาเยอะมาก กยศ. ก็ต้องจัดหาทนายไปให้ทั้งหมดอย่างนั้นหรือ? แล้วงบประมาณเหล่านี้จะมาจากไหน? เอื้อารีย์ตั้งคำถาม

“ประเด็นที่สองคือการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 อีกแล้ว เป็นยาครอบจักรวาลมากเลย ดิฉันของตั้งขอสังเกตุนิดนึงว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เขาต้องการให้ข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐแยกบริบทส่วนตัวกับบริบทสาธารณะออกจากกัน ถ้าท่านไม่ได้ทำงานด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือไปกลั่นแกล้งเข้า หรือพยายามจะทุจริต มันจะไม่ถือเป็นมาตรา 157 แต่ ณ เวลานี้ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานกลัวกันหมดเลยว่าถ้าไม่ทำจะโดน 157 มันไม่ใช่ อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง”

“ประเด็นที่สามคือเรื่องภาษีประชาชน เงินกองทุน กยศ. มาจากภาษี มาจากงบประมาณแผ่นดินแน่นอน แต่แนวคิดเรื่องของภาษีประชาชนกับการสร้างโอกาสให้เด็กได้มีการเรียนนหนังสือเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์กลับไปสู่สังคม ควรจะต้องคิดแบบไหน เราควรคิดว่าเงินภาษีที่ให้ไปจะต้องกลับคืนมาทุกบาททุกสตางค์ไหม หรือเราควรคิดว่าเงินนี้กำลังจะพัฒนาทรัพยากรของชาติ ในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า บางครั้งมันอาจจะไม่ได้กลับมาในฐานะเม็ดเงิน แต่มันกลับมาเป็นมันสมอง เป็นศักยภาพ จากการทำงานของคนเหล่านี้ในอนาคตกลับมาให้สังคม อันนั้นหรือเปล่าคือประสิทธิภาพองเม็ดเงินภาษี” เอื้ออารีย์กล่าว 

เธอกล่าวต่อว่า หากประเมินความรับผิดชอบทางงบประมาณของ กยศ. พบว่ายังมีจุดบกพร่องอยู่หลายด้าน โดยมาตรฐานสากลจะใช้เกณฑ์ 3 อย่างคือ 1. ความโปร่งใส่ คือควรจะต้องเปิดเผยงบประมาณต่อสาธารณะอย่างครบถ้วน ในทางปฏิบัติพบว่าข้อมูลบนเว็บไซต์ของ กยศ. เป็นเข้ามูลเก่า อัพเดทล่าสุดเมื่อปี 2558 และเป็นข้อมูลจากหน่วยงานอื่น เช่นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  2. ประชาชนต้องมีส่วนร่วม เธอได้ลองโทรไปถามคอลเซ็นเตอร์ของ กยศ. เพื่อขอข้อมูลที่อัพเดท ได้รัการตอบกลับมาว่าให้ทำมาเป็นหนังสือ หรือติดตามผ่านสื่อทั่วไป นั่นหมายความว่าประชาชนไม่สามารถเจ้าถึงข้อมูลส่วนนี้ได้ 3. คือ การสอดส่องดูแล พบว่ามีมีการตรวจสอบโดย สตง. แต่ส่วนใหญ่เป็นการตรวจสอบความถูกต้องในทางบัญชี ยังไม่มีการประเมินประสิทธิภาพของกองทุน

“รายงาน สตง. ยังมุ่งมั่นอยู่กับความถูกต้องทางบัญชี รายงงานแค่ยอดหนี้ มียอดการบังคับคดีเท่าไหร่ หรือมีสินทรัพย์เท่าไหร่ แต่มันไม่มีการพูดถึงเลยว่าเงินที่ให้กู้ยืมไป ผลที่มันเกิดขึ้นมาเป็นอย่างไร จำนวนผู้ได้รับการศึกษาเพิ่มมากขึ้นหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ไม่เห็นเลย” เอื้ออารัย์กล่าว

สุดท้าย เอื้ออารีย์กล่าวว่าข้อเสนอที่ กยศ. ควรรับไปพิจารณาคือ ควรยกเลิกการมีผู้ค้ำประกัน เพราะพอมีข่าวแบบครูวิภาออกมา ประชาชนก็จะพากันขยาด ไม่ยอมมาค้ำประกันให้ซึ่งอาจจะตัดโอกาสให้การศึกษาของเด็กไป พร้อมยกกรณีศึกษาจากประเทศอังกฤษ ที่นอกจากจะไม่มีผู้ค้ำแล้ว ยังทำใจยอมรับอีกด้วยว่าเงินที่ให้ไป ไม่มีทางที่จะกลับมาครบ 100 เปอร์เซ็น แต่เขามองเป็นการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ และเสนอให้มีมาตรการอื่นๆ ทดแทนการจ่ายหนี้ เช่นการทำงานบริการสังคม หรือทำงานลูกจ้างให้หน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่มีรายได้

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท