Skip to main content
sharethis

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ 'สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ' จะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลางเนื่องจากสหรัฐฯ จีนและประเทศต่างๆ อาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น 


ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

12 ส.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เตือนว่าสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ อาจขยายวงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลก ระบบการผลิตโลกและเศรษฐกิจโลก มากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าเริ่มชะลอตัวลงทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยจะมากขึ้นตามลำดับในระยะต่อไป สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ อาจจะขยายวงมากกว่าการตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กัน เกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านสินค้าของประเทศคู่ขัดแย้งเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการค้าโลกและสันติภาพ สหรัฐอเมริกาอาจบีบจีนด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดขึ้นพร้อมมาตรการกำหนดโค้วต้า จีนอาจลดค่าเงินหยวนและเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลต่อความปั่นป่วนผันผวนในตลาดการเงินโลก และอาจมีการใช้กฎเกณฑ์เพื่อสร้างต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการทำธุรกิจต่อบริษัทต่างชาติ การบูรณาการของเศรษฐกิจและระบบการค้าโลกจะถูกท้าทาย สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะกระทบต่อมูลค่าการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานโลก และจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยอย่างชัดเจนในไตรมาส 4 ปี 2561 นี้ โดยเฉพาะสินค้าขั้นกลาง เนื่องจากสหรัฐฯ จีน และประเทศต่างๆ อาจหันมาผลิตสินค้าขั้นกลางเองภายในประเทศมากขึ้น ให้จับตาผลกระทบการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรหรือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเกษตรหรืออาหารบางตัว ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างกลุ่มบูรณาการ 3 ภูมิภาคมากขึ้น คือ เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา อียูและเอเชียตะวันออก

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่านักอนาคตศาสตร์มองว่าการเปลี่ยนแปลงพลิกผันจากเทคโนโลยีในอีกระลอกหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอีกจากผลกระทบทางเทคโนโลยี 5G, Blockchain และ AI ที่สามารถทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถทำธุรกรรมได้อย่าง Realtime และ Peer-to-Peer บนโทรศัพท์เครื่องที่ เพราะมีความชัดเจนแล้วว่าภายใน ปี ค.ศ. 2020 โทรศัพท์ 5G Smartphone จะติดตั้งซอฟต์แวร์ Blockchain, AI และมีปริมาณความจุข้อมูล (Data Storage) ที่สถาบันการเงินเคยสามารถทำได้ทั้งหมดบรรจุอยู่บน Smartphone ทุกเครื่อง จนทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถทำธุรกรรมระหว่างประเทศและธนาคารในประเทศต่างๆ ได้ สิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของเทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจอุตสาหกรรมในเชิงโครงสร้าง พลังของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวควรจะทำให้ระบบเศรษฐกิจโลกบูรณาการกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการบูรณาการมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกแต่เป็นเรื่องชั่วคราวและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนได้ ขณะที่ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมรวมศูนย์หรือระบบเศรษฐกิจภายใต้อำนาจผูกขาดจะไม่สอดคล้องกับโลกแห่งอนาคต  

ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนในช่วง ค.ศ. 1980-2017 ทำให้เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในโลกจากการเกินดุลการค้าจำนวนมากอย่างต่อเนื่องยาวนาน ประเทศจีนจึงกลายเป็นประเทศที่ท้าทายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกาซึ่งดำรงสถานะมหาอำนาจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองและมีสถานะเป็น 'เอกอัครมหาอำนาจ' หลังสิ้นสุดสงครามเย็นและการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียต อนาคตโลกในระยะต่อไปจึงขึ้นอยู่กับ การพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างซับซ้อนระหว่าง มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และ มหาอำนาจอย่างจีน หากทั้งสองประเทศยังสามารถรักษารูปแบบความสัมพันธ์แบบ 'การแข่งขันแบบร่วมมือ' (Cooperative Competition) โลกก็ไม่น่าจะมีความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การที่จีนแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้โดยไม่มีวาระ ทำให้ระบอบอำนาจนิยมแข็งตัวยิ่งขึ้น การผูกขาดอำนาจทางการเมืองเป็นเวลานานของกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเดิมจะกลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด พลังของผู้ประกอบการที่เติบโตจากระบบทุนนิยมแบบจีนหลังยุค 'เติ้งเสี่ยวผิง' จะท้าทายต่อการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุค 'สีจิ้นผิง' ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ได้ผู้นำจากการเลือกตั้งที่มีสไตล์การบริหารแบบอำนาจนิยม มีการดำเนินนโยบายแบบไม่คงเส้นคงวาและบางครั้งสวนทางกับการเปิดเสรีในระบบการค้าโลกในช่วงหนึ่งและสองทศวรรษข้างหน้านี้ ไทยรวมทั้งอาเซียนจะเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงเข้ามามีบทบาท แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของสองมหาอำนาจ คือ จีนและสหรัฐอเมริกา 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่ากุศโลบายในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับไทย ประเทศซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงกับทุกประเทศอาเซียนได้ จึงต้องเผชิญทั้งความเสี่ยงและโอกาสมากกว่าประเทศอื่นๆ หากดำเนินการหรือตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไม่ดีพอ อาจนำประเทศสูญเสียโอกาสได้ หากมีการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม มีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ในการนำพาประเทศสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของประเทศไทย หากไม่ฉกฉวยและมุ่งมั่นในบรรลุเป้าหมายแล้ว โอกาสก็จะผ่านเลยไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง การยึดมั่นนิติรัฐ การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมเป็นหลักประกันพื้นฐานสำหรับอนาคตของประเทศ ทิศทางของเศรษฐกิจโลกน่าจะเคลื่อนตัวสู่โครงสร้างที่มีกลุ่มบูรณาการทางเศรษฐกิจใน 3 ภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ได้แก่ กลุ่มเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาอันมีสหรัฐอเมริกาและกลุ่มเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) เป็นผู้นำ กลุ่มอียูโดยมีเยอรมันและฝรั่งเศสเป็นผู้นำ กลุ่มเอเชียตะวันออกโดยมีจีนเป็นผู้นำ มีลักษณะเป็น ไตรภาพ (Tri-Polars) และคงต้องติดตามพัฒนาการในระยะต่อไปของภูมิภาคตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา ว่าจะขึ้นมามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net