หวั่นกระทบใจเด็ก เพจจิตแพทย์ฯ แนะวันแม่หากิจกรรมอื่น ดีกว่า 'กราบเท้า สวมกอด'

เพจ 'สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย' โพสต์ถาม 'งานวันแม่ จำเป็นแค่ไหน' ชี้กิจกรรม กราบเท้า สวมกอด' ที่โรงเรียนจัด อาจกระทบใจในเชิงลบกับเด็กหลายๆ คน มากกว่าผลทางบวกกับเด็กจำนวนหนึ่ง แนะหากิจกรรมอื่นดีกว่า

ภาพจาก Issariya Sukkeepun

เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย' โพสต์ข้อความหัวข้อ 'งานวันแม่ จำเป็นแค่ไหน' โดย หมอมีฟ้า ระบุว่า ช่วงวันที่ 12 ส.ค. โรงเรียนต่าง ๆ มักจะมีการจัด "งานวันแม่" เชิญให้คุณแม่มารับการ์ดอวยพร หรือ พวงมาลัยจากลูก ๆ สมัยหมอเป็นเด็ก บรรดาคุณแม่จะนั่งเก้าอี้ ส่วนเด็ก ๆ จะนั่งที่พื้น มีการกราบเท้า สวมกอด

"หมอจำได้ค่อนข้างแม่นว่า จริง ๆ แล้วแม่ไม่สะดวกจะมาร่วมงานเท่าไหร่ เพราะต้องแว้บมาจากที่ทำงาน แต่จำไม่ได้ว่า มีเพื่อนคนไหนไหม ที่คุณแม่ไม่สามารถมาร่วมงานได้ แล้วเขาเป็นยังไงบ้าง มาถึงวันนี้ที่ต้องทำงานกับคนที่มีชีวิตอยู่ภายใต้อิทธิพลของบาดแผลจากความสัมพันธ์ในวัยเด็ก (attachment trauma) หมอก็เริ่มเกิดคำถามในใจว่า งานวันแม่ที่โรงเรียนในลักษณะที่กล่าวมา มีผลกระทบทางใจในเชิงลบกับเด็กหลาย ๆ คน มากกว่าผลทางบวกกับเด็กอีกจำนวนหนึ่งหรือเปล่า เพราะสำหรับคนที่สนิทกันดีกับแม่ เขาก็คงจะหาโอกาสแสดงความรักความขอบคุณได้ไม่ยากอยู่แล้ว" แฟนเพจ 'สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย' โพสต์

แล้วสำหรับเด็กคนอื่นๆ เด็กที่อยู่กับญาติ หลังจากพ่อแม่แยกทางกันแล้วต่างฝ่ายต่างไปมีครอบครัวใหม่ เด็กที่แม่ทอดทิ้งทางอารมณ์ จนรู้สึกว่าสนิทกับพี่เลี้ยงมากที่สุด หรือรู้สึกว่าไม่มีใครรับฟังเท่าสุนัขที่เลี้ยง เด็กที่แม่ลำเอียง ปฏิบัติตัวกับพี่หรือน้องคนอื่นของเขาดีกว่าอย่างชัดเจน  เด็กที่ถูกแม่ลงโทษด้วยวิธีรุนแรงบ่อย ๆ หากทำอะไรไม่ถูกใจ ไม่ใช่ทำอะไรผิด เด็กที่แม่กำลังป่วยหนัก ระยะสุดท้าย หรือ เสียชีวิตแล้ว ฯลฯ

"เด็ก ๆ เหล่านี้จะรู้สึกอย่างไรที่บาดแผลในใจต้องถูกย้ำด้วยบรรยากาศของงาน ยกเลิกธรรมเนียมเดิม ๆ แล้วมีกิจกรรมแบบอื่นแทน ถ้าคิดว่าจำเป็น แทนได้ไหม อาจจะเป็นการเขียนเรียงความ ในหัวข้อเกี่ยวกับแม่ ที่เหมาะกับวัยของเด็ก และไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าต้องเขียนแต่เรื่องดี ๆ เช่น สิ่งที่ฉันอยากบอกแม่ , สิ่งแรกที่ฉันนึกถึงเมื่อคิดถึงแม่ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ต่อคุณครูในการทำความเข้าใจนักเรียนได้มากกว่า" หมอมีฟ้า โพสต์ พร้อมเสนอว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรืองานอะไรอยากให้ทางโรงเรียนทบทวน "จุดประสงค์ที่แท้จริง" ของงานนั้น เพื่อจะได้เลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับบริบทของผู้ร่วมงานทุกคน

ขณะที่เวิร์คพอยด์นิวส์ รายงานโดยอ้างถึงข้อมูลจากข้อมูลจากยูนิเซฟ ประเทศไทย ว่า  เด็กไทย 3 ล้านคนไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็นแรงงานนอกระบบซึ่งมีชั่วโมงทำงานไม่แน่นอนและเปราะบางต่อการถูกเลิกจ้าง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท