อุดมศึกษา: การลงทุนที่สูญเปล่าในโลก 4.0

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถ้าเราดูแนวทางการบริหารจัดการการศึกษาของประเทศฟินแลนด์แล้วก็จะเห็นว่า ช่างแตกต่างเหมือนฟ้ากะเหวกับแนวทางการบริหารจัดการการศึกษาของประเทศไทย

แนวทางหรือวิธีการคิด วิธีการปฏิบัติ ในการจัดการการศึกษา ดังกล่าวก็คือ การที่ทางการฟินแลนด์เน้นให้ความสำคัญกับการเรียน การสอนในระดับปฐมวัย คือ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มากกว่าในระดับกลาง (มัธยม) หรือระดับปลาย (อุดมศึกษา)

ด้วยแนวคิดที่ก้าวไกล ในยุค 4.0 จะเห็นว่าทางการฟินแลนด์เอง มองทิศทางการศึกษาในอนาคตของมนุษยชาติทั่วโลกว่า ส่อไปทิศทางที่จะมีการศึกษาแบบ  “สามัญลักษณ์” มากขึ้น กล่าวคือ มันแทบจะไม่มีระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเหลือให้เห็นในอนาคต

ก็หมายความว่า การศึกษาขั้นอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยที่เราเห็นๆ กันทุกวันนี้ ในอนาคตจะล้มหายตายจากหรือปลาสนาการไปเสียแทบทั้งสิ้น จนคุณอาจไม่สามารถจินตนาการได้ว่า เด็กที่เติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ กำลังอยู่ในวัยรุ่น ที่กำลังศึกษาแบบเดียวกับผู้คนในปัจจุบันจะหลงเหลือการศึกษาแบบเดิมคือแบบปัจจุบันเหลืออยู่

เรื่องนี้ เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์คือตัวการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยจะไม่ต่างจากฟิล์มถ่ายรูปหรือเทปคาสเซ็ท ซีดี หรือสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษ แค่อาจไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ รูปแบบการศึกษาแบบปัจจุบันที่ชื่อว่า มหาวิทยาลัย จะสูญพันธุ์ไปโดยปริยาย นี่เป็นเรื่องที่ทางการฟินแลนด์ แม้แต่กระทรวงการศึกษาธิการของรัฐบาลอเมริกันคิดไว้ ถึงเวลานั้นก็จะคนออกมาพูดว่า Universities are dead หรือมหาวิทยาลัยตายแล้ว

ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลกกำลังดิ้นหนีตาย แต่เอาล่ะในเมื่อมันเป็นไปตาม  อยู่แล้ว ก็ในเมื่อมหาวิทยาลัยไม่สามารถปรับตัวได้ หนทางแห่งวิบัติหายนะย่อมมาถึงในไม่ช้าก็เร็ว

เทคโนโลยีเอไอได้ช่วยอย่างมากในการทุบทำลายกำแพงสูงลิ่วระหว่างห้องเรียนกับประชาชนทั่วไป แม้แต่ ม.ฮาเวิร์ดเองก็ออกมายอมรับแล้วว่า มหาวิทยาลัยของเขาที่ตั้งมายาวนาน ไม่รู้จะอยู่ไปได้สักกี่ปี นับประสาอะไรกับมหาวิทยาลัยกระป๋องของไทยที่เปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาหอคอย ประชาชนชาวบ้านธรรมดาเอื้อมไม่ถึงอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ด้วยหลักสูตรประหนึ่งการต้มตุ๋น เลียแข้งเลียขาเข้าไปเป็นอาจารย์ ขาดการนำองค์ความรู้มาใช้ในชีวิตจริงประจำวัน และอาจารย์ที่แทบไม่ได้ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาสังคมหรือชุมชนอะไรเลย อาจารย์ไม่ต่างจากพวก Monkey suit ยังไงยังงั้น ส่วนใหญ่โตมากับระบบท่องจำ

การที่รัฐบาลฟินแลนด์หันมาเน้นการพัฒนาการศึกษาในระดับปฐมวัยนั้นก็เนื่องจากเห็นความล้มละลาย ของมหาวิทยาลัยอยู่ในกาลข้างหน้า มหาวิทยาลัยที่ตอนนี้คือส่วนเกินของสังคม ผลาญทรัพยากรของชาติจำนวนมาก ส่วนที่เสียไปไม่คุ้มกับผลที่ได้รับกลับคืนมา ดังนั้น จะเห็นว่าเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลฟินแลนด์ตลอดหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมาคือ การเน้นการพัฒนาการศึกษาในระดับปฐมวัยมากที่สุด ส่งผลให้ค่าตอบแทนวิชาชีพครูในระดับอนุบาลหรือระดับประถมศึกษาสูงกว่าอัตราค่าจ้างอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หมายความว่า เขาให้ค่าครูอนุบาลมากกว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัย

ผมคุยกับเพื่อนชาวฟินแลนด์เขาเล่าว่า การศึกษาในระดับปฐมวัยสำคัญที่สุด มากกว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะเป็นการตั้งตนหรือเริ่มต้นเป็นตัวเป็นตนของคนคนหนึ่งหรือชีวิตหนึ่ง แค่เขาสามารถอ่านออกเขียนได้ เขาก็สามารถช่วยเหลือตัวเองทางการศึกษา ไม่แปลกที่หลักสูตรของบางรัฐบาลในยุโรป ( เช่น ฝรั่งเศส เป็นต้น) ถึงขนาดสอดวิชาปรัชญาไว้ในการศึกษาระดับประถมด้วยซ้ำ เพราะเขาเชื่อว่าการให้เด็กคิดเป็นและเป็นตัวของตัวเองคือสิ่งสำคัญสุด เด็กควรได้รับการหล่อหลอมปลูกฝังลักษณะความคิดเชิงการเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพ กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตัวเองคิด กล้าท้าทายอาจารย์ผู้สอน กล้าท้าทายโลก ท้าทายสังคมที่เป็นอยู่ การต่อยอดอารยธรรมของมนุษย์หรือนวัตกรรมในประเทศที่สนับสนุนแนวทางการศึกษาแบบนี้ จึงเกิดนวัตกรรมขึ้นแทบไม่ว่างเว้น

ต่างจากประเทศไทยที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับการศึกษาแบบ 4.0  แถมยังบ้าเห่อดีกรี วุฒิการศึกษากันอย่างบ้าคลั่ง ดอกเตอร์ล้นประเทศ เพื่อมีชื่อในฎีกางานบุญประจำปี

แนวทางปฏิบัติในระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดในโลกเวลานี้ เพราะเน้น “สามัญลักษณ์” ความเป็นมนุษย์หรือมนุษยนิยม คือเชื่อว่า การให้การศึกษาไม่ควรยัดเยียดให้กับผู้เรียน จนผู้เรียนเกิดความเครียด ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ทุกวันนี้รัฐบาลอเมริกันเองก็กำลังศึกษา “ฟินแลนด์โมเดล”เพื่อนำมาปรับในส่วนที่ยังเป็นข้อด้อยของตนเองด้วยซ้ำ

ความจริงระบบการศึกษาของฟินแลนด์ ไม่ได้ต่างจากประเทศอื่น ในเชิงการปฏิบัติ เช่น การแยกสายสามัญ สายอาชีพหรืออาชีวะ แต่ความสำคัญอยู่ที่เมื่อถึงเวลาหรือขั้นตอนที่จะแยก  เด็กหรือผู้เรียนมีความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเองแล้วว่าตนเองถนัดจะเรียนด้านไหน โดยไม่ต้องคล้อยตามความเห็นครูหรือผู้ปกครอง และบทบาทของครูแนะแนวไม่ใช่แบบเดียวกับการแนะแนวในประเทศไทย แต่ครูแนะแนวที่นั่นจะแนะนำเด็กจากความถนัดหรือความสามารถของตัวเด็กเอง คนแนะแนวได้จึงต้องมีข้อมูลเชิงลึกของตัวเด็กแต่ละคน ต้องหารือร่วมกับผู้ปกครอง แนะนำ แต่ท้ายที่สุดแล้วต้องพิจารณาเลือกแนวที่ตนถนัดไม่ใช่เห่อไปตามกระแสอาชีพนิยมหรือกระแสสังคมต้องการ

เพราะพื้นฐานตอนปฐมวัยของเด็กได้รับการปูพื้นไว้แน่นนั่นเอง การเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไป ตราบใดที่เด็กหรือเยาวชนสามารช่วยเหลือตนเองได้ ตราบนั้นพวกเขาก็จะไม่เป็นภาระของสังคมหรือภาระของรัฐบาลอีกต่อไป และปัญหาสังคมก็จะพลอยลดน้อยตามลงไปด้วย พวกเขาเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อพร้อมและช่วยเหลือตัวเองได้

สามัญลักษณ์ของมนุษย์เชิงการศึกษา ไม่ใช่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย และไม่ใช่ห้องเรียนแคบๆ  หากมันคือชีวิตจริง เรียนรู้ได้ในชีวิตประจำวันตะหาก เรียนรู้จากเอไอ เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่จากสภาพแวดล้อมหรือสังคมรอบตัวของพวกเขา

การใส่ใจเด็กในปฐมวัยหรือไม้อ่อน จึงสำคัญมากกว่าเด็กโตแล้วหรือไม้แก่ในระดับมหาวิทยาลัย พวกหลังนี้ดัดยากแล้ว ต้องลงทุนลงแรงมาก ไม่แปลกที่อาชีพฮิตส่วนหนึ่งของชาวฟินแลนด์ก็คือ อาชีพครูอนุบาลหรือครูสอนประถม พวกเขาจำนวนหนึ่งเงินเดือนแพงกว่าอาชีพพ็อพปูล่าของโลกอย่างอาชีพหมอเสียอีก ผู้มีคุณสมบัติต้องจบการศึกษา ป.โท ขึ้นไปเท่านั้น

อาจารย์มหาวิทยาลัยที่นั่นน่ะหรือ ชิดซ้ายไปเลย !!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท