ทหารเฝ้าตาม 'ฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย' ก่อนร่วมประชุม 'พรรคสามัญชน'

ทหาร ตำรวจ เฝ้าติดตามถึงบ้าน อ้างดูแลความปลอดภัย ด้านชาวบ้าน จ.อุดร จี้เจ้าหน้าที่ฝักใฝ่การเมืองผิดกฎหมายหรือไม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปในหมู่บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำและเป็นหมู่บ้านที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอาศัยอยู่ จากการสอบถามชาวบ้านถึงกรณีที่ทหารเข้าไปในหมู่บ้านทราบว่า เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา มีทหาร 1 นาย นอกเครื่องแบบได้เข้าไปในหมู่บ้าน จากนั้นชาวบ้านจึงถามว่ามาทำไม เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวตอบว่า มาดูแลความปลอดภัย เนื่องจากทราบว่าพรรคสามัญชนจะมีการจัดประชุมสมัชชาพรรค ซึ่งทางการก็รู้อยู่แล้วไม่ใช่เรื่องต้องปิดบัง ด้านชาวบ้านจึงบอกถามเจ้าหน้าที่ว่า แล้วทางการไม่รู้หรือว่าประชุมสมัชชาเลื่อน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า จากการสอบถาม พายุ บุญโสภณ หนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน ทราบว่า ทางพรรคเคยยื่นหนังสือถึง กกต. เกี่ยวกับเรื่องขอจัดการประชุมก่อตั้งพรรคไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.ค.61 และหาก กกต. อนุญาตก็จะมีการจัดประชุมใหญ่พรรคที่บ้านนาหนองบง แต่เนื่องจากยังไม่มีหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการว่าให้มีการจัดประชุม ทางพรรคจึงได้เลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด พายุกล่าวต่อว่าเป็นที่น่าแปลกใจว่าทางพรรคได้ทำหนังสือขออนุญาตทางรัฐไปแล้ว แต่ทำไมยังมีทหารลงไปหาชาวบ้านในพื้นที่และยังอ้างว่ามาดูแลความปลอดภัย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วแม้จะมีการประชุมพรรค ทางพรรคก็ไม่ได้ทำหนังสือเชิญเจ้าหน้าที่ให้มาดูแลความปลอดภัยและคนที่จะเข้าร่วมประชุมได้ก็จะมีแต่สมาชิกเท่านั้น

อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมกับพรรคการเมือง ไม่ได้มีพื้นที่เดียวเท่านั้นที่ถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ ก่อนหน้านี้ยังมีชาวบ้านที่ จ.อุดรธานี ที่ถูกติดตามไปถึงบ้าน หลังจากที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยสอบถามปัญหากรณีหนี้สินกับธนาคารออมสิน กับชาวบ้านเมื่อช่วงเดือน เม.ย. และหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มาหาอีกครั้งหลังจากเข้าร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่ ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 61

สมพร โคพะทา ชาวบ้าน อ.น้ำโสม หนึ่งในชาวบ้านที่ประสบปัญหาหนี้สินกับธนาคารออมสิน ให้ข้อมูลว่า เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2561 ธนาธร ได้ลงพื้นที่มาพูดคุยสอบถามปัญหาในกรณีดังกล่าว หลังจากธนาธรกลับไปได้มีทหารในเครื่องแบบ 4 นาย มาหาตนที่บ้าน สอบถามว่า รู้จักกับธนาธรได้ยังไง เขามาพูดอะไร โดยสมพรชี้แจงว่า รู้จักผ่านเว็บไซต์ และติดตามธนาธรมาโดยตลอด

สมพร ให้ข้อมูลอีกว่า ต่อมา วันที่ 3 มิ.ย. 61 หลังจากที่ตนและชาวบ้านประมาณ 9 คน เดินทางกลับจากการไปร่วมประชุมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 61 ได้มีสันติบาลจาก อ.น้ำโสม โทรมาถามว่า มีใครไปร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่บ้าง ไปกี่คน และในวันที่ 4 มิ.ย. 61 สันติบาลก็โทรมาขอรายชื่อ ที่อยู่ คนที่เดินทางไปร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่ อ้างว่า ส่วนกลางอยากได้รายชื่อ และอยากรู้ว่า ชาวบ้านฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใดหรือไม่ สมพรจึงถามเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าฝักใฝ่แล้วผิดกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ผิด แต่ก็ถามว่าจะไปร่วมอีกไหม มีค่าจ้างไหม

สมบัติ ช่วยแสง คนขับรถตู้พาสมพรและชาวบ้าน อ.น้ำโสม คนอื่น ๆ ไปร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่ ให้ข้อมูลเช่นกันว่า ประมาณวันที่ 3 มิ.ย. 61 มีตำรวจนอกเครื่องแบบจาก อ.น้ำโสม 3 นาย มาหาที่บ้าน อ้างว่าสันติบาลส่วนกลางให้มาสอบถามว่า ชาวบ้านไปทำไม มีคนจ้างไปไหม สมบัติตอบว่าไม่มีใครจ้าง พากันไปเอง เพราะอยากฟังว่าพรรคอนาคตใหม่จะมีนโยบายหรือแนวทางช่วยเหลือเรื่องหนี้สินกับธนาคารออมสินที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมยังไงบ้าง เจ้าหน้าที่ยังได้ขอรายชื่อชาวบ้านที่ไปเข้าร่วมประชุมกับพรรคอนาคตใหม่ แต่สมบัติบอกว่าจำชื่อใครไม่ได้ วันต่อมา เจ้าหน้าที่ชุดเดิมมาหาสมบัติที่บ้าน พร้อมกับขอรายชื่ออีก นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูปบัตรประชาชนของสมบัติไปด้วย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า ทางส่วนกลางเห็นว่า ทะเบียนรถมาจาก อ.น้ำโสม จอดอยู่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ในวันประชุมพรรคอนาคตใหม่ จึงประสานมาทางโรงพักในพื้นที่ สอบถามว่าเป็นรถของใคร  จะมีการเคลื่อนไหวอะไรหรือไม่

แม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ไปกว่า 1 ปีแล้ว และรัฐบาล ตลอดจน คสช. ย้ำเสมอว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมพ แต่ถึงปัจจุบัน ประชาชนยังไม่รู้ชัดเจนว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการควบคุมการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่ม เพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง หรือติดตาม และเข้าร่วมกับพรรคการเมือง อย่างเข้มข้น แม้แต่กับกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐ และมุ่งหวังว่าการรับฟังนโยบาย หรือมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาของตนให้พรรคการเมือง จะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ก็ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกคุกคามมาตลอดระยะเวลา 4 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า กรณีการติดตาม คุกคาม และแทรกแซงความเป็นส่วนตัว สิทธิในความเชื่อ และเสรีภาพในการแสดงออกของชาวบ้านในครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนสภาวะบกพร่องของรัฐในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว ยังทำให้เห็นปรากฏการณ์การใช้อำนาจทางทหาร ที่เข้าจัดการชาวบ้าน ในฐานะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเฝ้าจับตามองอย่างเห็นได้ชัดยิ่งขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้สถานการณ์การใช้อำนาจรัฐดังกล่าว นอกจากจะไม่เอื้อให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านยังคงตกอยู่ภายใต้การคุกคามของการใช้ทั้งการใช้กฎหมายและไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท