เดชรัต สุขกำเนิด: การส่งผ่านความเหลื่อมล้ำ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจมาก ในการเข้าใจถึงความเหลื่มล้ำของผู้คนในสังคมต่างๆ ต่อจากมุมมอง ศ.โจเซฟสติกลิตซ์ที่โพสต์ไปเมื่อวานนี้ นั่นคือ แนวคิดเรื่อง Inter-generational Elasticity of Income หรือความยืดหยุ่นของรายได้ของคนสองรุ่น

ศ.Francois Bourguignon จาก Paris School of Economics เล่าให้เราให้ฟังว่า ความยืดหยุ่นของรายได้ของคนสองรุ่นก็คือ ตัวชี้วัดที่บอกว่ารายได้ของคนร่นลูกนั้นถูกกำหนดมาจากรายได้ของคนรุ่นพ่อแม่มากน้อยเพียงใด คำว่าความยืดหยุ่นก็หมายความว่า ถ้าพ่อ (และแม่) คนหนึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น 1% (เมื่อเทียบกับพ่อคนอื่นๆ) ลูกของเขาจะมีรายได้มากกว่าลูกของคนอื่นๆ กี่เปอร์เซนต์ ในอีก 20-30 ปีต่อมา

ในสังคมอุดมคติ ความยืดหยุ่นของรายได้ของคนสองรุ่นควรมีค่าเท่ากับ 0 หมายความว่า รายได้ของคนรุ่นพ่อจะไม่มีผลใดๆ ถึงรายได้คนรุ่นลูก แปลว่า รายได้ของคนรุ่นลูกจะถูกกำหนดจากความสามารถของคนรุ่นลูกแต่ละคน ไม่ใช่กำหนดจากความได้เปรียบทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อ

ในทางตรงกันข้าม สังคมที่มีความได้เปรียบ/เสียเปรียบของคนรุ่นพ่อมีผลต่อรายได้ของคนรุ่นลูก สังคมนั้นจะมีค่าความยืดหยุ่นใกล้กับ 1 แปลว่า รายได้ของคนรุ่นพ่อเป็นตัวกำหนดรายได้ของคนรุ่นลูกอย่างมาก สังคมนั้นก็จะเข้าข่าย “สังคมที่เหลื่อมล่ำถาวร” เพราะความฝัน/ความสามารถของคนรุ่นลูกกลับถูกกำหนดจากฐานะทางเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อ มิใช่ถูกกำหนดจากความสามารถของเขาเอง

ศ. Bourguignon เล่าถึงค่าความยืดหยุ่นของรายได่ระหว่างคนสองรุ่นในประเทศต่างๆ ปรากฏว่า เดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีค่าความยืดหยุ่นของรายได้ของคนสองรุ่นต่ำสุดเพียง 0.13 นั่นแปลว่า รายได้ของคนรุ่นพ่อมีผลต่อรายได้ของคนรุ่นลูกน้อยมาก รายได้ของคนรุ่นลูกจึงกำหนดจากความฝันและความสามารถของเขาเอง นอกจากเดนมาร์กแล้ว ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็ง ล้วนมีค่าความยืดหยุ่นนี้ในะดับต่ำทั้งสิ้น

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่เน้นระบบตลาดมากๆ เช่น อังกฤษและสหรัฐอเมริกัน กลับมีความยืดหยุ่นนี้ที่ค่อนข้างสูง ในกรณีของสหรัฐอเมริกาค่านี้มีค่าถึง 0.47 หมายความว่า รายได้ของพ่อที่เพิ่มขึ้น 1% จะมีผลต่อรายได้ของลูกถึง 0.47% เลยทีเดียว

ตัวเลขนี้คงกระแทกความรู้สึกสังคมอเมริกันมากทีเดียวเพราะ การที่รายได้ของคนรุ่นลูก ถูกกำหนดมาจากคนรุ่นพ่อ แปลว่า สังคมอเมริกันกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำถาวร แปลว่า ความภาคภูมิใจที่สังคมอเมริกันเป็น “ดินแดนแห่งโอกาสที่เท่าเทียม” กำลังจะเสื่อมถอยลง

นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์กันว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดภาวะ “พ่อจน ลูกจนต่อ” คือ คุณภาพของการศึกษาที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าถึงได้ หากระดับคุณภาพของการศึกษาที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ (หมายถึง การศึกษาที่ไม่แพง) ด้อยกว่าคุณภาพของการศึกษาที่ชนชั้นนำส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเข้าถึง (หมายความว่า แพง) มากๆ หมายความว่า สังคมนั้นกำลังมีความเสี่ยงที่จะก้าวเข้าสู่สังคมที่เหลื่อมล้ำถาวร

นอกเหนือจากการศึกษาแล้ว ความแตกต่างกันของรายได้ของอาชีพต่างๆ ในสังคม ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้รายได้ของคนรุ่นลูกที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพด้อยกว่า ยิ่งแตกต่างไปจากรายได้ของคนรุ่นลูกที่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพที่ดีกว่า (เพราะพ่อมีฐานะเพียงพอที่จะจ่ายได้)

น่าเสียดายที่ยังไม่มีข้อมูลนี้สำหรับประเทศไทย แต่ถัาประเมินจากสองสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น สังคมไทยของก็เข้าข่ายน่าเป็นห่วงไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำของโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาระหว่างโรงเรียนต่างๆ พื้นที่ต่างๆ และในกลุ่มครัวเรือนต่างๆ ตอนนี้ผมกำลังศึกษาเพิ่มเติมเรื่องแนวทางการเก็บและการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงปรึกษากับสำนักงานสถิติแห่งชาติถึงความเป็นได้ในการรบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลความยืดหยุ่นนี้ครับ

 

หมายเหตุ: สรุปจาก The 5th OECD World Forum on Staistics, Knowledge and Policy; Transforming policy, changing lives 13-15 ตุลาคม 2015 ที่เมืองกัวดาลาฮาร่า เม็กซิโก

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://wefair.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท