Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จำได้ว่าในวงเสวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ตั้งคำถามว่า “ทำไมพุทธศาสนาไม่สามารถให้กำเนิดไอเดียเสรีภาพ” ผมตอบคำถามนี้ไม่ค่อยดีนัก และคำถามนี้ยังคงทำให้ผมพยายามคิดหาคำตอบอยู่จนทุกวันนี้

หากเทียบกับศาสนาคริสต์ เราจะเห็นความคิดเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพได้ชัดเจนกว่า เช่นความเชื่อที่ว่า “พระเจ้าสร้างมนุษย์มาในฐานะเป็นฉายาหรือจินตภาพของพระองค์” หรือ “พระเจ้าสร้างมนุษย์มาให้มีเจตจำนงเสรี” และ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง”  เป็นต้น แปลว่าในเชิงอภิปรัชญามนุษย์คือฉายาหรือจินตภาพของพระเจ้าและมีเจตจำนงเสรี (free will) และในเชิงศีลธรรมมนุษย์ก็ควรปฏิบัติต่อกันด้วยความรักตนเองและคนอื่นเสมอกัน

ส่วนพุทธศาสนา พระสงฆ์และปัญญาชนพุทธมักจะอ้างอัคคัญญสูตรว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบวรรณะ 4 คือ ปฏิเสธการนำชาติกำเนิดมาเป็นเกณฑ์ตัดสินความประเสริฐของคน และเสนอให้ยึดธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินความประเสริฐของคน

ประเด็นคือ ระบบวรรณะถูกกำหนดมาโดยพระเจ้า (พระพรหม) ขณะที่ธรรมที่พุทธศาสนาเสนอไม่เกี่ยวกับพระเจ้ากำหนดมา แต่เป็นสิ่งที่พระศาสดาสอนและเป็นเรื่องที่แต่ละคนเลือกที่จะปฏิบัติเอง หากเลือกปฏิบัติหรือดำเนินชีวิติย่างมีธรรม ก็ย่อมมีชีวิตที่ประเสริฐ 

จะเห็นว่า ธรรมที่พุทธศาสนาเสนอนั้นเสนอเพื่อเปรียบเทียบกับธรรมในกรอบคิดระบบวรรณะที่ถือว่า “ธรรม” คือ “หน้าที่” ของคนในวรรณะ 4 ที่ถูกกำหนดมาโดยพระเจ้า เช่น ธรรมหรือหน้าที่ของวรรณะกษัตริย์คือการรบและการปกครอง ธรรมของพราหมณ์คือการการสอนศาสนาและประกอบพิธีกรรม ธรรมของแพศย์คือทำเกษตรกรรมและค้าขาย และธรรมของศูทรคือเป็นทาสรับใช้คนสามวรรณะแรก เมื่อธรรมในความหมายดังกล่าวเป็น “หน้าที่” ที่พระเจ้ากำหนดมา จึงเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ ใครเกิดมาในวรรณะไหนก็ต้องทำหน้าที่ตามวรรณะของตนเองไปจนตาย 

แต่ธรรมที่พุทธศาสนาเสนอ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการขัดเกลากาย วาจา ใจตนเองด้วยการฝึกฝนตนเองในเรื่องศีล จิต และปัญญา เพื่อรู้แจ้งความเป็นจริงของชีวิตและโลก และสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยการไม่ทำร้ายกัน แต่ด้วยเมตตากรุณาและเกื้อกูลกัน ธรรมในความหมายนี้จึงเป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลจะเลือกปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเกิดมาในวรรณะไหนก็เลือกปฏิบัติธรรมได้เท่าเทียมกัน 

อย่างไรก็ตาม ในบทสรุปของอัคคัญญสูตร พุทธะกล่าวว่า “ในหมู่คนที่ถือโคตร (ชาติกำเนิด) กษัตริย์ประเสริฐที่สุด” และว่า “ผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชา (ปัญญา) และจรณะ (ความประพฤติ) คือผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์” ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า คนที่มีปัญญาและความประพฤติดีงามหรือผู้หลุดพ้นแล้ว คือคนที่ประเสริฐสูงส่งกว่าคนทั่วไปเช่นนั้นหรือ

เพราะถ้าถือว่า “ความประเสริฐ” บ่งถึง “ความไม่เท่ากัน” ของคน เช่นคนวรรณะกษัตริย์สูงกว่าคนในวรรณะอื่นๆ เพราะเป็นวรรณะประเสริฐที่สุด ความประเสริฐในความหมายนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันความไม่เท่าเทียม แล้วความประเสริฐที่สุดของผู้มีธรรม (วิชชาและจรณะ) ก็ย่อมบ่งถึงความไม่เท่าเทียมด้วยใช่หรือไม่ ต่อให้ถือว่าทุกคนมีเสรีภาพเลือกที่จะปฏิบัติเพื่อก้าวสู่ความสมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชาและจรณะเท่าเทียมกัน นั่นก็เป็นเพียงเสรีภาพที่จะก้าวไปสู่ความเป็นผู้ประเสริฐเหนือคนอื่นๆ ใช่หรือไม่ 

จากความคิดที่ว่าธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินความประเสริฐของคน ทำให้เกิดความเชื่อทางศีลธรรมที่ดูเหมือนยืนยันความไม่เท่าเทียม (?) เช่น เชื่อว่าการให้ทานแก่พระอริยะมีอานิสงส์มากกว่าให้แก่พระปุถุชน การให้ทานแก่คนดีมีศีลธรรมได้บุญมากกว่าให้ทานแก่คนไม่มีศีลธรรม เป็นต้น (ขณะเดียวกันการทำผิดต่อพระอริยะก็บาปมากกว่าทำผิดต่อปุถุชน) 

ยิ่งกว่านั้นในบางพระสูตร (เช่นพาล-บัณฑิตสูตร) ยังระบุว่า คนพาลที่ทำชั่วต่างๆ ตายไปย่อมตกนรก และเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในวรรณะต่ำ ยากจนข้นแค้น ส่วนบัณฑิตที่ทำความดีต่างๆ เมื่อตายไปก็เกิดในสวรรค์ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ย่อมเกิดในตระกูลสูง เป็นกษัตริย์รวย พราหมณ์รวย เป็นต้น กลายเป็นว่า การทำดีทำชั่วอยู่เบื้องหลังความไม่เท่าเทียมของชนชั้นทางสังคม (?) 

พูดในทางวิชาการคือ อภิปรัชญาทางศีลธรรมแบบพุทธ อย่างเช่น “กฎแห่งกรรม” คืออภิปรัชญาทางศีลธรรมที่รองรับความชอบธรรมของความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นในสังคม ซึ่งอภิปรัชญาดังกล่าวนี้ย่อมสอดคล้องกับความคิดเรื่องธรรมเป็นสิ่งวัดความประเสริฐของคน อันเป็นความคิดพื้นฐานของพุทธศาสนาในอัคคัญญสูตร

ดังนั้น ถึงแม้คำสอนเรื่องธรรมเป็นสิ่งตัดสินความประเสริฐของคน จะบ่งนัยสำคัญว่ามนุษย์มีเสรีภาพเลือกประพฤติธรรม และเมื่อประพฤติธรรมได้สมบูรณ์ ทุกคนก็สามารถจะมีความสมบูรณ์พร้อมด้วยวิชชาและจรณะหรือหลุดพ้นได้เท่าเทียมกัน เสรีภาพและความเท่าเทียมในความหมายนี้ ก็ไม่ใช่การปฏิเสธระบบสังคมและการเมืองที่ไม่มีเสรีภาพและไม่เท่าเทียมแต่อย่างใด

นี่จึงน่าจะเป็นสาเหตุว่า ทำไมพุทธศาสนาจึงไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือเป็นพลังในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคในโลกสมัยใหม่ 

ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนพระสงฆ์และปัญญาชนพุทธในบ้านเรา ยินดีที่จะยกย่องว่าพุทธะเป็นพระศาสดาที่มีชาติกำเนิดสูงส่ง เพราะมาจากวรรณะกษัตริย์ ยกย่องว่าสถานะของพระศาสดาเทียบเท่ากับพระเจ้าจักรพรรดิ และพวกเขาก็ไม่ลังเลที่จะยืนยันว่า ยุคพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์อย่างดียิ่งจากกษัตริย์ นอกจากจะทำให้วัดกับวังรุ่งเรืองคู่ขนานกันแล้ว อำนาจของกษัตริย์ยังรักษาคำสอนสอนที่ถูกต้องในพระไตรปิฎกและวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระสงฆ์อีกด้วย

แต่กรณี ดร.อัมเบดการ์นั้นต่างออกไป เขานำชาวจัณฑาลในอินเดียนับถือพุทธ โดยยืนยันว่าพุทธศาสนามีความเป็นประชาธิปไตย เป็นศาสนาที่เน้นเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ แต่น่าจะเป็นเพราะเขาตีความพุทธจากจุดยืนของผู้ถูกกดขี่ ขณะที่ทะไลลามะองค์ปัจจุบันที่ตีความพุทธสนับสนุนสันติภาพและสิทธิมนุษยชนชัดเจนก็เพราะเป็นพุทธจากมุมมองของผู้ถูกกดขี่เช่นกัน

จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างจากศาสนาคริสต์ของคนขาวที่เป็นนายทาสย่อมเป็นศาสนาของผู้กดขี่ ขณะที่บรรดาทาสชาวแอฟริกันซึ่งรับคำสอนศาสนาคริสต์จากนายทาส กลับเข้าใจความหมายของศาสนาคริสต์ในฐานะเป็นศาสนาแห่งการปลดปล่อย ดังแสดงออกชัดเจนในการต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำโดยการนำของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ส่วนพุทธไทยนั้น แม้จะยื่นมือช่วยเหลือลูกหลานของผู้ถูกกดขี่ให้มีโอกาสทางการศึกษา แต่ดูเหมือนระบบพุทธศาสนาของรัฐเป็นเพียงหนทางไต่เต้าทางชนชั้น ถ้าลูกคนชั้นล่างบวชไม่สึกก็มีโอกาสไต่เต้าสู่ฐานันดรศักดิ์ทางพระจนถึงจุดสูงสุดคือเป็นสมเด็จพระสังฆราช หากสึกหาลาเพศก็อาจมีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เปลี่ยนสถานะจากชนชั้นล่างเป็นชนชั้นกลาง แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับการที่พุทธศาสนาจะเป็นแรงบันดาลใจสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสังคมสู่เสรีภาพและความเท่าเทียม เพราะตัวระบบโครงสร้างพุทธศาสนาของรัฐทำหน้าที่ค้ำยันอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมที่ตรงกันข้ามกับเสรีภาพและความเท่าเทียม

ดังนั้น เมื่อความคิดและระบบโครงสร้างของพุทธศาสนาไทยทำหน้าที่ค้ำยันอำนาจที่ตรงกันข้ามกับเสรีภาพและความเท่าเทียม จึงเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากที่พุทธศาสนาจะถูกตีความให้กำเนิดความคิดเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net