Skip to main content
sharethis

รังสิมันต์ โรม ปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2561 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่มาภาพจากเพจ Banrasdr Photo

ข่าวการเมืองที่ระอุขึ้นมาในช่วงสอง สัปดาห์ที่ผ่านมา(นับจากต้นเดือน ส.ค. 2561) นอกจากข่าวประกาศสู้ในสงครามของทักษิณ ชินวัตร ข่าวเดินสายดูดนักการเมืองสนับสนุน ประยุทธ์ จันโอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ของกลุ่มสามมิตร กลุ่มนักการเมืองเก๋าประสบการณ์ที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่สร้างรัฐบาลไทยรักไทยกับทักษิณ ข่าวการตั้งคณะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ไร้ชื่อ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ได้ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ถูกปลดจากตำแหน่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มาพร้อมกับการตั้งคำถามถือตำแหน่งแห่งที่ของสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่าที่สุดแล้วสองคนนี้ใครคือหัวหน้าพรรคตัวจริงกันแน่ แต่ข่าวที่ดูจะมีผลต่ออนาคตอันใกล้ของการเมืองไทยมากที่สุดคือ การร่วมกันของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 ราย เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในประเด็นเรื่องการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการแก้ไขเกิดขึ้นจริงก็อาจจะทำให้การเลือกตั้งที่เลือนมาแล้วหลายครั้ง จะต้องเลือนออกไปอีก

ชนวนเหตุทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากมีการลงมติเห็นชอบผู้สมควรดำรงตำแหน่ง กกต. ชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว ในช่วงระหว่างรอการแต่งตั้ง และเข้าดำรงตำแหน่งปฎิบัติหน้าที่ของ กกต. ชุดใหม่ กกต. ชุดปัจจุบันซึ่งก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งจนแล้วเสร็จครบทั้ง 77 จังหวัด ทำให้เกิดข้อครหาเกิดขึ้นว่า นี่คือการจนใจวางคนของตัวเองทิ้งทายก่อนที่จะลาจากตำแหน่งหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของ กกต. ชุดปัจจุบันก็ไม่ได้มีกฎหมาย หรือระเบียบข้อบังคับใดที่ห้ามไว้ เพียงแต่การกระทำดังกล่าวถูกมองจากสมาชิก สนช. กลุ่มหนึ่งว่าเป็นเรื่องที่เสียมารยาท

การแก้ไขสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาดังกล่าวนี้ ในทางหนึ่งสามารถทำได้ เมื่อ กกต. ชุดใหม่เข้าปฎิบัติหน้าที่ ก็จะสามารถดำเนินการตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดได้อีกครั้ง หากเห็นว่ารายชื่อใดที่มีปัญหาก็สามารถดำเนินการสรรหาใหม่ได้ทันที แต่เรื่องดังกล่าวกลับถูกยกระดับโดยสมาชิก สนช. โดยเสนอให้มีการแก้ไขตัวบทกฎหมาย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 กฎหมายหลักที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง และสมาชิก สนช. บางรายก็ออกมาให้ความเห็นว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จริงก็จะทำให้การเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นไม่ทันเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ตามที่รัฐบาล คสช. เคยให้คำสัญญาไว้ในครั้งล่าสุด

เลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง 77 จังหวัดแล้ว ไม่รอ กกต. ชุดใหม่ ชี้ก่อนไปต้องทำงานให้คุ้มเงินหลวง

พรเพชรเผยห้าม สนช. แก้พ.ร.ป.กกต. ปมเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ได้ วิษณุยันไร้ใบสั่งจาก รบ.

ไม่ใช่ใครควรจะเป็นคนคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่เป็นควรจะทำอย่างไรให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ต่อเรื่องดังกล่าว รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งโดย กกต. ชุดปัจุบัน หรือ กกต. ชุดใหม่ที่กำลังจะเข้าปฎิบัติหน้าที่ ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกัน เพราะสุดท้ายแล้วก็ไม่ได้มีอะไรการันตีว่าสิ่งไหนจะดีไปกว่ากัน ประเด็นสำคัญที่สุดตอนนี้ไม่ใช่เรื่องใครจะเป็นคนแต่งตั้ง คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ส่วนเรื่องของแก้ไขกฎหมายที่เห็นว่ายังมีปัญหา ควรให้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่มีความชอบธรรมมากกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นประเทศไทยในเวลานี้จะยังไม่สามารถกลับไปสู่ประบอบประชาธิปไตยได้เหมือนเดิม เพราะยังมีรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ความชอบธรรม แต่อย่างน้อยการเลือกตั้งจะทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออก ผู้แทนที่มาจากประชาชนก็จะรับฟังเสียงของประชาชน

“ที่สุดแล้วหากการเลือกตั้งถูกเลือนออกไป ซึ่งอาจจะนานกว่าหนึ่งปี ความหมายของมันก็คือ การแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความกลัว และเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกเลือนออกไปด้วย อย่าลืมนะครับเราอยู่กับระบอบนี้มานานถึง 4 ปีแล้ว การที่จะต้องอยู่ต่อไปแม้แต่เพียงวันเดียวมันก็ถือว่านานเกินไป ลองนึกดูว่าเราต้องอยู่กับคุณประยุทธ์ต่อไปอีกเป็นปี สำหรับผมถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้” รังสิมันต์

เขากล่าวด้วยว่า ประเทศไทยไม่สามารถสร้างอนาคตจากกองขยะได้ เพราะความผิดพลาดเกิดขึ้นตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร และทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาในหลายด้านโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ และความเสียเปรียบต่อประเทศมหาอำนาจอย่างจีน การที่ต้องยืนยันจะต้องทำให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดเพราะอย่างน้อยที่สุดการค่อยๆ เดินออกจากระบอบ คสช. จะทำให้ประชาชนได้พักหายใจ ไม่ใช่ว่าเมื่อประชาชนต้องการแสดงความคิดเห็นก็ถูกจับกุมดำเนินคดี

เมื่อถามว่า การที่เกิดกระแสเลือนการเลือกตั้งออกไปอีก เป็นเพราะการเรียกร้องการเลือกตั้งลดน้อยถอยลงไปหรือไม่ หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 รังสิมันต์ เห็นว่าเรื่องนี้สามารถมองได้หลายมุม มุมหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ คสช. พยายามผูกโยงเรื่องการเลือกตั้งเข้ากับพิธีบรมราชาภิเษก โดยก่อนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะต้องมีพิธีบรมราชาภิเษกเกิดขึ้นก่อน ซึ่งเมื่อ คสช. ระบุเช่นนั้นก็ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของประชาชนว่าที่สุดแล้วการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด อีกมุมหนึ่งรังสิมันต์ เห็นว่ากระแสเรียกร้องของประชาชน และกลุ่มคนอยากเลือกตั้งถือว่าได้เรียกร้องอย่างถึงที่สุดแล้ว ซึ่งสามารถทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจ มีคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเลือกตั้งมากขึ้น เพียงแต่ปัญหาคือ กระแสเรียกร้องการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมานี้ยังไม่เพียงพอ และต้องอาศัยพลังจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย เช่นพรรคการเมือง

วิป สนช. ขอสมาชิกทบทวนเสนอแก้กฎหมาย กกต. หวั่นอนาคต ส.ส. จะเลียนแบบ เพื่อแก้กฎหมายอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แนวหน้าออนไลน์ รายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว สนช. ว่า เวลานี้กลุ่ม สนช . ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้รับการประสานจาก วิป สนช. เพื่อขอให้ทบทวนการเสนอร่างกฎหมายก่อนยื่นเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว

แหล่งข่าวจาก สนช. ระบุว่า สาเหตุที่ขอให้มีการทบทวนการเสนอกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากไม่ต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับความสำคัญรองลงมาจากการรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายเหมือนกฎหายทั่วไป นอกจากนี้ หาก สนช. ในฐานะฝ่ายนิติบัญัติไปริเริ่มแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐรรมนูญเอง โดยที่องค์กรอิสระในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นผู้ริเริ่ม จาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิดในอนาคตได้

“โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎรจะอาศัยแนวทางที่ สนช.ทำไว้ ด้วยการให้ ส.ส.เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 1 ใน 10 ของสภาฯ แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เช่น กฎหมายพรรคการเมือง เพื่อยกเลิกการทำไพรมารี่โหวต หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ซึงจะส่งผลเสียในระยะยาว" แหล่งข่าวจาก สนช.ระบุ

แหล่งข่าว สนช.กล่าวว่า ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ คือ หาก กกต.ชุดปัจจุบันตัดสินใจว่าจะไม่ลงนามรับรองผู้ที่ผ่านการสรรหาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง โดยให้ กกต.ชุดใหม่ที่กำลังรอการโปรดเกล้าฯ มาทำการตรวจสอบรายชื่ออีกครั้ง วิป สนช.จะแจ้งข้อมูลไปยังคณะ สนช.ที่ริเริ่มเสนอกฎหมายให้ทบทวนต่อไป

สนช. ชี้หากแก้กฎหมาย กกต. อาจเลือกตั้งไม่ทัน ก.พ. 62 ปชป. กังวลลากยาวถึงปลายปี

จี้ปลดผู้ตรวจฯ พบเคยเป็นแกนนำ กปปส.บุกศาลากลาง กกต.ปัดวางคนนั่งตำแหน่ง

เพื่อไทยยื่น กกต. ส่งศาล รธน. วินิจฉัยการเข้าชื่อของ 36 สนช. อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ

ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่า เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อยื่นหนังสือให้ กกต. ผ่าน พลวัฒน์ พิรติชัยธนกุล ผู้อำนวยการสำนักกิจการ คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อขอให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณี 36 สมาชิก สนช. ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วย กกต. เนื่องจากเห็นว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และเป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วรรคสอง ซึ่งระบุว่า กฎหมายต้องมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป รวมทั้งอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 185 (1) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ สนช. ใช้สถานะไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฎิบิตราชการหรือดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ อย่างไรก็ตาม หากหลังทาง สนช. ได้ถอนร่างดังกล่าวออก กกต. ก็ยังสามารถพิจารณาเพื่อเอาผิดกับ สนช. ที่ร่วมลงชื่อได้ เพราะความผิดสำเร็จแล้ว และหากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาถอดถอนสมาชิก สนช. ออกจากตำแหน่ง และหากมี สนช. รายใดลงมติสนุยสนุนร่างดังกล่าวในขั้นรับหลักการในวาระที่ 1 ก็จะมีการยื่นร้องเพื่อเอาผิดกับ สนช. ที่ลงมติอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net