เครือข่ายตรวจสอบ กสม. ออกรายงาน ชี้ กฎหมาย แนวปฏิบัติยังไปไม่ถึงหลักการสากล

คณะตรวจสอบ กสม. แถลงรายงานตรวจสอบ กสม. ปี 2560 ระบุ วิธีคัดเลือกคณะกรรมการดีขึ้น แต่ พ.ร.ป. ล่าสุดลดอำนาจหน้าที่ กสม. ทำให้ต้องมาแก้เกี้ยวแทนรัฐบาล กระบวนการยุติธรรมถูกนำมาใช้กีดกันการตรวจสอบละเมิดสิทธิมนุษยชน ศูนย์ภูมิภาคยังไม่ได้มาตรฐาน แนะ เอากฎหมายมาพิจารณากับข้อเสนอแนะขององค์การสากล

ภาพเวที กสม. พบประชาชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อ 28 ก.ย. 2560 (ที่มา: กสม.)

เมื่อ 27 ก.ค. 2561 มูลนิธิศักยภาพชุมชน จัดงานประชุมนำเสนอรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปี พ.ศ. 2560 ณ โรงแรมเจแอลบางกอก  กรุงเทพฯ โดยชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กองเลขาเครือข่ายติดตามการทำงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประเทศไทย (Thai Coalition for NHRI) พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงาน

รายงานของเครือข่ายติดตามการทำงานฯ เขียนขึ้นเพื่อติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  (กสม.) ระหว่างช่วงเดือน ม.ค. 2560 - มี.ค. 2561 เพื่อต้องการสะท้อนความเห็นของภาคประชาสังคมต่อการทำงานของ กสม. เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและต่อประชาชนทั่วไป โดยจะนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับหลักการปารีส ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดรูปแบบของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตลอดจนอำนาจหน้าที่องค์ประกอบ และแนวทางการดำเนินงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ (อ่านหลักการปารีสฉบับภาษาไทย) ข้อสังเกตโดยทั่วไปของอนุกรรมการพิจารณาสถานภาพ (Sub-committee on Accreditation – SCA)  และเปรียบเทียบขบวนการคัดสรร กสม. ชุดที่สามกับชุดที่สี่ เพื่อให้เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ

สำหรับภาพรวม รายงานของเครือข่ายฯ ระบุว่า ไทยอยู่ภายใต้การรัฐประหารและความไม่เป็นประชาธิปไตยกว่าสี่ปี มีแรงกดดันจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ กสม. ถูกลดสถานภาพโดย SCA ของหน่วยงานพันธมิตรโลกของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI) กลไกสากลที่ประเมินประสิทธิภาพการทำงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจาก A เป็น B เมื่อ ต.ค. 2557 ข้อเสนอแนะจากกลไกต่างๆ อาทิ กระบวนการสากลเพื่อการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review - UPR) ข้อสังเกตโดยสรุปจากคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและพลเมือง (ICCPR) โดยนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ชุดที่สองอธิบายว่า หลังถูกลดสถานภาพเป็น B ทาง กสม. ชุดที่สองได้จัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภาให้แก้ไขกระบวนการสรรหา กสม. ให้เป็นไปตามหลักการปารีสตามข้อสังเกตข้างต้น แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนั้นสะท้อนว่ารัฐบาลทั้งสองยังไม่มีความเข้าใจ และยังไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน

ในช่วงรัฐบาล คสช. มีการเพิ่มภาคประชาสังคมเข้าไปในคณะกรรมการสรรหา กสม. ในมาตรา 246 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทำให้การคัดสรร กสม. ชุดที่สี่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะชุดที่สามก่อตั้งตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 48/2557 รายงานยังระบุว่า สิทธิมนุษยชนถูกมองจากผู้นำประเทศว่าเป็นภัยคุกคามภาพลักษณ์ประเทศ กฎหมายภายในประเทศหลายฉบับยังไม่สอดคล้องกับหลักการสากล เช่น กฎหมายอาญาเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน และกฎหมายว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย การตีความสิทธิมนุษยชนของไทยยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ยังมีความไม่ไว้วางใจภาคประชาสังคม การทำงานยังมีลักษณะควบคุมมากกว่าการส่งเสริมและคุ้มครอง การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทยจึงมีความยากลำบากที่ต้องทำงานทางความคิดกับผู้นำประเทศที่มีทัศนคติไม่ดีต่อสิทธิมนุษยชนกับเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ยังไม่มีความเข้าใจต่อสิทธิมนุษยชน พ.ร.ป. กสม. 2560 เขียนไว้อย่างมีข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาอกชน (เอ็นจีโอ) สะท้อนอคติต่อการทำงานสิทธิมนุษยชนในประเทศ และ กสม. ต้องทำหน้าที่ลดช่องว่างเหล่านี้

ในแง่อำนาจหน้าที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. 2560 ให้อำนาจและหน้าที่ถดถอยกว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กสม. 2542 เช่น อำนาจหน้าที่ กสม. ในการเป็นตัวแทนผู้เสียหายในการฟ้องร้องต่อศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ นโยบาย และระเบียบของรัฐขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ที่ปรากฏใน พ.ร.บ. กสม. 2550 ก็ไม่มีปรากฏใน พ.ร.ป. กสม. 2560

นอกจากนั้น กสม. ยังมีหน้าที่ “ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม” ในข้อ 4 ของมาตรา 26 ใน พ.ร.ป. กสม. 2560 ทำให้ กสม. ชุดที่สามต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทยของ Human Rights Watch และแถลงการณ์ของ ANNI ซึ่งบทบาทชี้แจงเช่นนั้นไม่ได้มีกำหนดไว้นหลักการปารีสว่าเป็นหน้าที่ของ กสม. แต่ให้ กสม. ให้ความเห็นกับหน่วยงานต่างๆ ในการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของรายงานและข้อเสนอะแนะต่างๆ จากกลไกสหประชาชาติแทน

รายงานระบุว่า การตอบสนองต่อกรณีสิทธิมนุษยชนฉุกเฉินน่าเป็นห่วง จากการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานของ กสม. และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (OHCHR) ทราบว่าในสถานการณ์ที่ต้องการการระแวดระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ประธานฯ และสำนักงานยังให้ความสำคัญไม่มกาพอ เช่น การชุมนุมของชาว อ.เทพา ที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อดอาหารประท้วงอยู่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ มีความสุ่มเสี่ยงกับการที่จะมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ประชาชนอาจถูกทำร้าย ถูกควบคุมตัวด้วยการใช้ความรุนแรง สหประชาชาติได้ส่งจดหมายให้ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงมาสังเกตการณ์ แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆจากสำนักงาน เช่นเดียวกันกับกรณีของขบวนการประชาชนเพื่อความเป็นธรรม (P-Move) และการเดินมิตรภาพของกลุ่ม We Walk ทั้งสามกรณีมีเพียงกรรมการบางท่านที่เข้าไปเพื่อติดตามให้กำลังใจในลักษณะส่วนตัวแต่ไม่ได้เข้าไปในนามของสถาบัน ดังนั้นการตอบสนองเรื่องสิทธิมนุษยชนภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินยังมีความน่าเป็นห่วง กสม. ชุดนี้ยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ จึงตั้งข้อสังเกตว่า กสม. ชุดนี้ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล คสช. อาจมีความเกรงใจต่อการตรวจสอบการละเมิดของรัฐซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ กสม. ขาดความเป็นอิสระ ไม่มีประสิทธิภาพและไม่น่าเชื่อถือ

คณะกรรมการ กสม. ควรต้องมีความหลากหลาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน กสม. มีความสำคัญที่จะช่วยเหลืองานของ กสม. องค์ประกอบของเจ้าหน้าที่จึงมีความสำคัญ ที่ต้องมีความหลากหลายไม่น้อยไปกว่าองค์ประกอบของ กสม. เช่น ควรมีคนจากภูมิภาคต่างๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางภาษา มีความรู้ ความสามารถ มีจิตสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างดี เพื่อช่วยประสานงานกับประชาชนจากพื้นที่ต่างๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และจากประชาชนหลากหลายกลุ่มได้ เจ้านห้าที่จะยังคงทำหน้าที่ต่อไปแม้คณะกรรมการ กสม. จะเปลี่ยนไปหลายชุด เจ้าหน้าที่จึงควรได้รับการพัฒนาความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเพียงพอ เว็บไซต์ข่าวสมัครงานของ กสม. มีการเปิดรับสมัครงานจำนวนห้าตำแหน่ง มีผู้สอบขึ้นบัญชีไว้เมื่อ 19 เม.ย. 2560 จำนวน 243 คน แต่เพิ่งเรียกบรรจุงาน 7 คน บัญชีนี้มีอายุ 2 ปี และจะหมดอายุในเดือน พ.ย. 2562 การโอนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นทำให้เกิดการละเมิดบัญชีรายชื่อผู้ที่สอบขึ้นทะเบียนไว้

รายงานการเงิน กสม. ประจำปีงบประมาณ 2560 รายงานว่า กสม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2560 เป็นเงิน 216,455,900.00 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร 125,578,200.00 บาท ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 89,988,600.00 บาท และอื่นๆ สำหรับยอดคงเหลือ รายรับสูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ 1,235,143.77 บาท จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า กสม. ได้รับเงินสำหรับดำเนินงานอย่างพอเพียง และใช้จ่ายไม่หมด ทั้งนี้ กสม. มีเจ้าหน้าที่ 268 คน

รายงานตั้งข้อสังเกตต่อมาตรา 39 ของ พ.ร.ป. กสม. 2560 ที่ไม่ให้คณะกรรมการรับเรื่องที่มีลักษณะดังนี้

  • เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีในศาล หรือเรื่องที่มีศาลมีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว
  • เรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการฯ
  • เรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น
  • เป็นการร้องเรียนไม่สุจริต ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
  • เรื่องที่มีการแก้ไขปัญหาแล้ว
  • เป็นเรื่องที่เคยพิจารณาแล้ว

รายงานยกตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกทหารยิงเสียชีวิตที่ด่านบ้านรินหลวงเมื่อ 17 มี.ค. 2560 และต่อมาการเสียชีวิตถูกนำขึ้นศาลเพื่อกระทำการไต่สวนการตาย ซึ่งชาติชาย สุทธิกลม คณะกรรมการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมพร้อมอนุกรรมการที่เป็นผู้รับผิดชอบกรณีดังกล่าวได้ชี้แจงว่า “เนื่องจากคดีนี้ขึ้นสู่ศาลแล้ว กสม. จึงต้องยุติในการติดตามคดีตาม พ.ร.บ. กสม. พ.ศ. 2542” ความเห็นของสุนี ไชยรส กสม. ชุดที่หนึ่ง ที่พูดถึงการปฏิบัติงานของ กสม. ในกรณีนี้ว่า “ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐนำเรื่องที่เป็นคดีในศาลมาอ้างเพื่อไม่ให้ กสม. ตรวจสอบ เช่น ในกรณีการปราบปรามการชุมนุมโดยสงบ การซ้อมทรมานหรือการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการจับกุม หรือกลุ่มทุนเร่งรัดการฟ้องชาวบ้านและนักปกป้องสิทธิ์ เป็นคดีอาญา คดีแรงงาน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบจาก กสม. กสม. น่าจะทำการตรวจสอบได้ถ้าเป็นคนละประเด็นกับศาล” ข้อเสนอแนะของ กสม. จะเป็นการช่วยเพิ่มเติมให้การพิจารณาของศาลรอบด้านยิ่งขึ้น และยังสามารถใช้อ้างในศาลได้ การให้ยุติการติดตามข้อเท็จจริงของคดีทำให้ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับความเป็นธรรมที่แท้จริง

การตั้งศูนย์ภูมิภาคของ กสม. เพื่อเผยแพร่ผลงานของ กสม. และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึง กสม. ได้ง่ายขึ้น สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์ภูมิภาคได้ ในการติดตามการปฏิบัติงานของ กสม. ได้เข้าศึกษาเยี่ยมศูนย์ภูมิภาคสามแห่งได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่นและชลบุรี พบว่านโยบายเกี่ยวกับศูนย์ภูมิภาคยังไม่ชัดเจน การตั้งศูนย์ภูมิภาคตามหลักการปารีสแต่ไม่มีนโยบายในการดำเนินการและงบประมาณที่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เป็นลูกจ้างทำให้ไม่มีความมั่นคง มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์บ่อยครั้ง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์มีคนเดียวและต้องคอยเฝ้าสำนักงาน ไม่มีการฝึกอบรมให้ความรู้ถึงอำนาจ หน้าที่ของ กสม. ประชาชนอาจไม่ทราบว่ามีการตั้งศูนย์ภูมิภาค เจ้าหน้าที่จึงต้องปฏิบัติงานเชิงรุกโดยเข้าเยี่ยมประชาชนในพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาท หน้าที่ของ กสม. ควรเพิ่มงบและจำนวนบุคลากรให้กับศูนย์ภูมิภาค

รายงานได้มีข้อเสนอแนะดังนี้

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐ

  • การตีความ พ.ร.ป. กสม. 2560 ควรหารือและตรวจสอบกับหลักการปารีส ข้อเสนอต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสังเกตการณ์ทั่วไปของคณะอนุกรรมการพิจารณาสถานภาพ (SCA) หน่วยงานพันธมิตรโลกของสถาบันสิทธิมนุษยชน (GANHRI) ฉบับ 21 ก.พ. 2561 และหารือกับ OHCHR ถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางการปรับปรุงแก้ไขต่างๆ
  • กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในข้อที่เป็นปัญหาอุปสรรค เพื่อส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศ
  • ให้รัฐสภาทำงานใกล้ชิดกับ กสม. มากขึ้น เพราะรัฐสภาทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐและ กสม. ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับ กสม. เพื่อเพิ่มจำนวนกรรมการจาก 7 เป็น 11 คน เพิ่มอำนาจ หน้าที่ในการเป็นกลไกเชื่อมต่อระหว่าง กสม. กับภาคประชาชน กสม. ต้องยึดโยงกับประชาชนให้เข้าถึงได้ง่ายและปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเสนอแนะต่อ OHCHR กสม. และสำนักงาน กสม.

  • ให้คณะกรรมการสรรหาศึกษาข้อสังเกตการณ์ทั่วไปของ SCA, GANHRI ฉบับวันที่ 21 ก.พ. 2561 เพื่อการตีความที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ และเพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการคัดสรรในการคัดสรร กสม. ชุดที่สี่ โดยให้ศึการ่วมกับ พ.ร.ป. กสม. 2560 และ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
  • ขอให้ OHCHR ประจำประเทศไทยจัดแปลข้อสังเกตการณ์ทั่วไปของ SCA, GANHRI ฉบับวันที่ 21 ก.พ. 2561 ให้กับคณะกรรมการสรรหา และให้สาธารณชนได้รับทราบถึงข้อห่วงกังวลเพื่อความถูกต้องแม่นยำ และประโยชน์ในการคัดสรร กสม. ที่เป็นอิสระ มีคุณภาพในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตลอดไปถึงการเป็นคู่มือการทำงานต่อไป

ข้อเสนอแนะต่อ กสม. และสำนักงาน กสม.

  • ให้ กสม. และสำนักงาน กสม. หยุดรับการอนเจ้าหน้าที่จากส่วนงานอื่นและเรียกผู้ที่สอบผ่านขึ้นทะเบียนไว้เข้ารับการพิจารณาบรรจุงานในสำนักงาน กสม.
  • ให้ กสม. และสำนักงาน กสม. เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์ภูมิภาค
  • ให้ กสม. และสำนักงาน กสม. สร้างรูปแบบ (แพลตฟอร์ม) ให้ภาคประชาสังคมได้มีปฏิสัมพันธ์กับการประชุมตามกรอบเวทีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia National Human Rights Institution Forum – SEANF) และกรอบความร่วมมือสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเอเชียแปซิฟิค (Asia Pacific Forum - APF) ตามที่ประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง
  • ส่งผู้แทนเข้าฟังและสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในศาลสำหรับคดีการเมือง สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายติดตามการทำงานของ กสม. จะขอเข้าพบและแลกเปลี่ยนเนื้อหาของรายงานดังกล่าวกับ กสม. และสำนักงาน กสม. อีกด้วย

สรุปผลงานโดยรวมจากรูปเล่มรายงานติดตามการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติปี พ.ศ. 2560

ในรอบปี 2560 ผลการพิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนรวม 1,009 เรื่อง ดังนี้

ส่งเรื่องต่อให้องค์กรอื่นที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาแก้ไข (91 เรื่อง)

ยุติการตรวจสอบเนื่องจากตามมาตรา 22 พ.ร.บ. กสม. พ.ศ. 2542 (158 เรื่อง)

ยุติเรื่องโดยมีข้อสังเกตมีข้อเสนอแนะ (12 เรื่อง)

ไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ (1 เรื่อง)

เป็นเรื่องที่ กสม. เคยวินิจฉัยแล้ว (3 เรื่อง)

คำร้องไม่ครบองค์ประกอบตามมาตรา 23  พ.ร.บ. กสม. พ.ศ.2542 (4 เรื่อง)

ได้รับการแก้ไขหรือไกล่เกลี่ยแล้ว (123 เรื่อง)

ผู้ร้องขอถอนเรื่อง  (11 เรื่อง)

ไม่พบประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชน  (288 เรื่อง)

ไม่สามารถติดต่อผู้ร้องได้ (4 เรื่อง)

ประเด็นอื่นๆ (281 เรื่อง)

มีมาตรการการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน (26 เรื่อง)

ข้อเสนอแนะนโยบาย หรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย (7 เรื่อง)

เครือข่ายติดตามการทำงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประเทศไทย (Thai Coalition for NHRI) เป็นองค์กรติดตามการทำงานของ กสม. จากภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนของมูลนิธิศักยภาพชุมชน และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอนเอเชียว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ANNI)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท