Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเป็นประธานอาเซียนนั้นเวียนกันเป็นตามตัวอักษร alphabet ปีนี้ ตัว S -ingapore ปีหน้าก็ T-hailand ก็ทำกันแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว สมัยก่อนการเป็นประธานก็ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่ารับหน้าที่ในการจัดการการประชุม จนกระทั่งเมื่อสัก 10 กว่าปีก่อน เมื่อถึงคิวพม่าจะต้องรับหน้าที่ ในปี 2006 ก็เริ่มมีบ่นว่าพัฒนาการทางการเมืองที่ถดถอยของพม่า อันเนื่องมาแต่การทำลายประชาธิปไตย ปกครองโดยทหารและจับกุมคุมขังผู้นำฝ่ายค้านในเวลานั้นคือ อองซานซูจี ทำให้การเป็นประธานอาเซียนดูมัวหมอง ทั้งๆที่ประเทศอื่นๆโดยเฉพาะประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน บ้างก็เคยปกครองโดยทหารและจับฝ่ายค้านขังคุกหรือแม้แต่สังหารมาด้วยกันทั้งสิ้น

การเอาประธานอาเซียนผูกกับพัฒนาการเมืองภายในเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า แต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นั้นกระแสประชาธิปไตยมาแรง และพม่าก็เป็นก้อนกรวดในรองเท้าของอาเซียนนับแต่เข้าร่วมกลุ่มตั้งแต่ปี 1997 เมื่อประเทศที่เชื่อว่าตัวเองประชาธิปไตยก้าวหน้ากว่าเพื่อนเห็นว่าพม่าเป็น "ตุ้มถ่วง" ความเจริญก้าวหน้าของอาเซียน เอาพม่าเข้ามาอยู่ด้วยทำให้ประเทศตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์อาเซียนไม่ไว้หน้าเสมอๆ ก่อนหน้านี้มีกระแสขับพม่าจากสมาชิกภาพอยู่เนื่องๆเหมือนกัน

ด้วยแรงกดดันแบบนั้นนั่นเองทำให้พม่า ยอมสละการเป็นประธานอาเซียนในปี 2006 จนกว่าพัฒนาการเมืองจะดีขึ้น กระทั่งในปี 2014 เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญในรอบ 20 ปี ซึ่งผลการเลือกตั้งก็ทำให้ proxy ของระบอบทหาร ผู้นำคือ เต็งเส่ง ก็เป็นนายพล แต่การเลือกตั้งก็ช่วยฉาบให้พม่ากลายเป็นอะไรที่พอจะเรียกได้ว่าประชาธิปไตย การทำหน้าที่ประธานก็เลยพอดูสง่างามไปด้วย

ความจริงระหว่างนั้นมีการสลับตำแหน่งการเป็นประธานอาเซียนระหว่างบรูไนและอินโดนีเซียอยู่เหมือนกัน เพราะอินโดนีเซียจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีที่ถึงคิวเลยขอแลกเพื่อความสะดวก และในปีที่พม่าเป็นประธาน 2014 ความจริงเป็นคิวของลาว แต่ด้วยความที่การตัดสินใจในครั้งก่อนทำกันที่เวียงจันทน์ ลาวเลยยอมให้พม่าได้เป็นประธาน ไม่งั้นเต็งเส่งจะไม่ได้ทำหน้าที่

กรณีของประเทศไทยนั้นถ้าพิจารณาโดยอาศัยเกณฑ์เดียวกับพม่า รัฐบาลทหารไทย ไม่สมควรรับตำแหน่งในปี 2019 เพราะไม่แน่ว่าจะมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลพลเรือนแล้วหรือยัง แต่เนื่องจากว่าไม่มีสมาชิกใดเสนอขึ้นมาก็เลยไม่มีการพูดกันในกลุ่มอาเซียน คนที่พูดก็เป็นแค่ คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ Jakarta Post และในเมืองไทยก็มีการพูดกันมากในหมู่คนที่ไม่ชอบรัฐบาลทหาร พลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาก็เลยต้องออกมาชี้แจงกันพัลวัล

แต่ก็นับเป็นเรื่องดี ทีมีการพูดเรื่องนี้ในระหว่างที่ไทยเตรียมตัวรับงานใหญ่ของอาเซียน ไม่งั้นคงหงอยเหงาเกินไป เพราะว่าครั้งก่อนที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2008-9 นั้น ดังเป็นพลุแตก เพราะว่าเกิดขึ้นท่ามกลางความโกลาหลทางการเมืองอย่างถึงที่สุด

บางคนก็พูดล่วงเลยไปถึงว่า ผู้นำไทยชุดปัจจุบันสมควรเป็นผู้นำอาเซียนหรือไม่ คำตอบก็ขึ้นอยู่กับว่า ให้ความสำคัญกับประธานแค่ไหน ถ้าประธานแค่นั่งหัวโต๊ะ รับแขก yes no okay แค่นั้นก็ไม่มีปัญหาอะไร ใครๆก็เป็นได้

แต่ถ้าประธานหมายถึง ผู้มีบทบาทนำ มีวิสัยทัศน์ ที่จะนำพากลุ่มอาเซียนไปสู่การมีบทบาทในเวทีสากล คำตอบคือ ผู้นำชุดปัจจุบันของไทยไม่มีใครเหมาะสม

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Supalak Ganjanakhundee

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net