Skip to main content
sharethis

สื่อฮ่องกงนำเสนอเรื่องคนไร้บ้านและคนที่ชอบนอนในพื้นที่สาธารณะ สะท้อนปัญหาค่าครองชีพสูงลิ่วโดยเฉพาะค่าที่พักจนหลายคนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ ขณะเดียวกันสภาพชีวิตของสถานพักพิงของคนไร้บ้านก็แออัดและร้อนอบอ้าวจนหลายคนทนไม่ไหวหนีไปนอนกันในร้านแมคโดนัลด์ที่เปิด 24 ชม.

ภาพผู้เคลื่อนไหว Occupy Hong Kong เมื่อปี 2555 (ที่มา: Wikipedia)

14 ส.ค. 2561 สื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานประเด็นเกี่ยวกับคนไร้บ้านในฮ่องกง โดยระบุถึงสภาพชีวิตแออัดซอมซ่อของคนไร้บ้านที่อาศัยพักพิงในอาคารแห่งหนึ่งย่านเหย่าหม่าเต๋ย ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามย่านที่พักตึกสูง พวกเขาต้องอาศัยอยู่ในที่ๆ เต็มไปด้วยกล่องโฟม พลาสติก และกลิ่นอาหารเน่าเหม็นจากแหล่งเก็บขยะ ในขณะที่อาศัยพักพิงบนชั้นสอง นอนบนที่นอนติดกับกระจกหน้าต่างใต้แสงไฟฟลูออเรสเซนต์

ซาง หนึ่งในคนไร้บ้านผู้พักพิงในอาคารดังกล่าวอายุได้ 35 ปีบอกว่าเขาอาศัยอยู่ในที่แห่งนี้มานาน 5 ปีแล้วหลังจากที่ถูกไล่ออกจากแฟลตเพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าได้ เขายอมรับว่าสภาพความเป็นอยู่ย่ำแย่แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ซางบอกว่าเขาทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิงแต่ก็ไม่ได้เปิดเผยรายได้หรือนามสกุลเพราะบอกว่ามันเป็นเรื่อง "อ่อนไหว" เกินไป

กรมสวัสดิการสังคมของฮ่องกงเปิดเผยตัวเลขสถิติเกี่ยวกับคนไร้บ้านว่าในเดือน พ.ค. ปีนี้มีผู้คน 1,127 คนแล้วที่ลงทะเบียนเป็นคนไร้บ้านและ 9 ใน 10 ของทั้งหมดนี้เป็นผู้ชาย ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากการสำรวจเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากสถิติของทางการฮ่องกงเปิดเผยให้เห็นอีกว่าคนไร้บ้าน 6 ใน 10 คนมีอายุมากกว่า 50 ปี และมีคนที่ไร้บ้านมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วในอัตราส่วนเดียวกัน

หนึ่งในปัญหาใหญ่คืออัตราค่าเช่าที่พักที่สูงขึ้นมากในฮ่องกงเป็นสาเหตุทำให้ครึ่งหนึ่งของคนไร้บ้านทั้งหมดที่ลงทะเบียนกับรัฐบาลคือจำนวน 571 คน มีสาเหตุเพราะไม่สามารถจ่ายค่าที่พักได้ ราคาที่พักในฮ่องกงเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 20 จากเดือน มี.ค. 2559 จากข้อมูลของสำนักงานอสังหาริมทรัพย์ฮ่องกง ถือว่ามากกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ต่อปีของคนในฮ่องกงถึง 19 เท่า

ในแง่ของการจัดการมีองค์กรเอ็นจีโอ 9 องค์กรที่หาทางออกให้คนไร้บ้านได้คร่าวๆ สองรูปแบบ รูปแบบแรกคือศูนย์พักพิง 3 แห่งที่อยู่ฟรี กับแบบที่สองคือโฮสเทลราคาถูก 13 แห่ง ที่มีค่าเช่าน้อยกว่า 2,000 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน อย่างไรก็ตามคนไร้บ้านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้ตัวเลือกทั้ง 2 ทางนี้ ในปี 2560 มีถึงร้อยละ 70 ที่เลือกจะนอนในพื้นที่สาธารณะ ทั้งในสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ลานจอดรถ และพื้นที่ใต้ละพาน

จากการวิจัยของกลุ่มเยาวชนเจซีไอเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านก็ระบุว่ามี 334 คนที่หลับนอนในพื้นที่ร้านแมคโดนัลด์ซึ่งเปิดตลอด 24 ชม. มาเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว กลุ่มคนที่อาศัยนอนในแมคโดนัลด์ถูกเรียกว่าเป็น "แมคสลีปเปอร์" (McSleepers) เหล่านี้มีอยู่ 3 ใน 10 ที่เป็นคนไร้บ้าน แต่ที่เหลือบอกว่าเป็นคนที่มีบ้านแต่มีเหตุผลที่ทำให้ไม่อยากกลับไปบ้าน เช่น ไม่อยากกลับไปเจอความขัดแย้งในครอบครัว ต้องการสานสัมพันธ์กับคนอื่น ต้องการอยู่ในที่ๆ ใกล้กับที่ทำงานมากขึ้น หรือเป็นคนที่กำลังหาที่พักพิงชั่วคราวเพื่อรอเช่าที่พักราคาถูก นอกจากนี้ในสภาพที่ร้อนอบอ้าวพวกเขาก็อยากได้แช่เครื่องปรับอากาศเย็นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตามสื่อ SCMP ระบุว่าสภาพของโฮสเทลราคาถูกสำหรับคนไร้บ้านมีสภาพแวดล้อมดีกว่าเมื่อเทียบกับที่พักพิงฟรีโดยในหลายแห่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล แต่คนไร้บ้านก็ต้องมีจดหมายรับรองส่งตัวจากคนทำงานสังคมสงเคราะห์เพื่อที่จะได้เข้าพักในที่เหล่านี้ สภาพชีวิตของที่พักพิงฟรีนั้นมีห้องน้ำและห้องอาบน้ำใช้ร่วมกัน ไม่มีหนูและแมลงรบกวนแม้ว่าจะมีกลิ่นจากขยะก็ตาม แต่ก็ไม่มีเครื่องปรับอากาศทำให้ผู้อาศัยต้องทนอยู่กับอากาศที่ร้อนอบอ้าว

ขณะเดียวกัน ชางชุนยิน นักสังคมสงเคราะห์ด้านคนไร้บ้านจากองค์กร SoCO ก็เปิดเผยว่าคนไร้บ้านที่นอนตามท้องถนนอาจจะไม่เลือกอยู่โฮสเทลหรือที่พักพิงเพราะเรื่องเงื่อนไขผูกมัด เช่นในที่พักพิงย่านเหย่าหม่าเต๋ย มีการวางเคอร์ฟิวให้ต้องเข้าที่พักภายใน 5 ทุ่ม ทำให้บางคนเลือกจะหลับนอนตามสถานที่แบบแมคโดนัลด์มากกว่า

ทางแมคโดนัลด์ฮ่องกงได้พูดถึงกลุ่มคน “แมคสลีปเปอร์” ว่าพวกเขายินดีต้อนรับ "ผู้คนจากทุกชนชั้น" ให้เข้าใช้บริการร้านอาหารของพวกเขาโดยที่จะไม่ไปรบกวนพวกเขา แม้แต่คนที่ทำอาชีพอย่างเภสัชกรก็อาศัยนอนที่แมคโดนัลด์เพื่อย่นระยะเวลาเดินทางระหว่างที่พักของเขากับที่ทำงาน บ้างก็อยากหาที่พักเย็นๆ เพราะการเปิดเครื่องปรับอากาศในที่พักของพวกเขาจะกินค่าไฟมาก

ถึงแม้จะมีหลายเหตุผลที่ผู้คนหาที่นอนกันในที่สาธารณะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาจริงๆ คือค่าครองชีพซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลควรใส่ใจ มีนักสังคมสงเคราะห์เสนอหนึ่งในแผนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านไปนอนในที่สาธารณะด้วยการเพิ่มจำนวนโฮสเทลที่มีสภาพที่พักดีขึ้นรวมถึงมีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้นเพื่อดึงดูดให้คนไร้บ้านหันมาพักในสถานที่เหล่านี้ได้นานขึ้น

เรียบเรียงจาก

Priced out and living above a rubbish dump: where do Hong Kong’s rough sleepers go?, South China Morning Post, Aug. 14, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net