Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ลงโทษ ปิยรัฐ จงเทพ และเพื่อนรวม 3 คน ฐานก่อกวนการออกเสียงประชามติ จากการฉีกบัตรลงคะแนนเสียง จำคุก 6 เดือน ปรับ 6 พันบาท แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ด้านจำเลยเตรียมยืนฎีกาต่อ

ปิยรัฐ จงเทพ(ขวา), จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์(ซ้าย) และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์(กลาง) ที่มาภาพจาก: เพจ banrasdr photo

15 ส.ค. 2561 ศาลจังหวัดพระโขนงนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ(ฉักบัตรออกเสียงประชามติ พร้อมตะโกนถ่อยคำของครูครอง จันดาวงศ์ ว่า เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ ในหน่วยออกเสียงประชามติ) ,จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ (บันทึกภาพ และภาพเคลื่อนไหว) 3 นักกิจกรรมร่วมกันแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบธรรมโดยการ ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ

โดยพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตัดสินลงโทษ จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 60 ฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงประมาชามติ และทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง สั่งจำคุกจำเลยทั้ง 3 คน 6 เดือน ปรับคนละ 6,000 พันบาท มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ปิยรัฐ ให้สัมภาษณ์หลังฟังคำพิพากษาด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการยื่นฎีกาต่อไป แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้คาดหวังกับผลทางคดีมากนัก ไม่ว่าผลจะเป็นบวก หรือลบ อย่างไรก็ตามตนและพวกก็พร้อมที่จะต่อสู้ เพราะเมื่อตัดสินใจที่จะต่อสู้กับ คสช. คุกก็กลายเป็นบ้านอีกหลังไปโดยปริยาย การทำประชามติในครั้งที่ผ่านรัฐบาลบอกว่าต้องการจะนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย กลับสู่การเลือกตั้ง แต่หลังจากทำประชามติมาแล้วสองปีสิ่งที่รัฐบาลเคยพูดไว้ก็ยังไม่เกิดขึ้น ต่อจากนี้นเดือน ก.ย. หากรัฐบาล และ คสช. ยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง หรือการทำกิจกรรมทางการเมือง หากยังไม่มีก็จะมีการทวงถามในเรื่องนี้ต่อไป

'โตโต้' ฉีกบัตรประชามติ หลังตะโกน "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ตร.คุมตัวทันที

‘โตโต้’ และเพื่อนนอนคุกคดีฉีกบัตรประชามติ วืดประกันหลัง 2 อาจารย์ใช้ตำแหน่งยื่น

โตโต้และเพื่อนได้ประกัน คดีฉีกบัตรประชามติ วางหลักทรัพย์ 6 แสน

คุก 4 เดือน 'โตโต้' ฉีกบัตรประชามติ รับสารภาพเหลือรอลงอาญา 1 ปี         

สำหรับคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้ตัดสินยกฟ้องจำเลยทั้งสามในข้อหาร่วมกันก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียงประมาชามติ  และทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มาตรา 60 (9) และมาตรา 59 วรรค 1 แต่สั่งลงโทษปิยรัฐ จำเลยที่ 1 ในข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการฉีกบัตรออกเสียงประชามติ โดยศาลเห็นว่า ปิยรัฐกระความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุดคือ ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย พิพากษาจำคุก จำเลย ที่ 1 เป็นเวลา 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท เหตุลดโทษจำเลยรับสารภาพ และไม่มีเหตุต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงลดโทษจำคุก เป็นจำคุก 2 เดือน ปรับ 2000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า อัยการจังหวัดพระโขนงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การฉีกบัตรประชามติของจำเลยที่ 1 คือ ปิยรัฐ เป็นการทำความผิดฐานทำลายเอกสารของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 และการกระทำของจำเลยทั้งสาม คือ ปิยรัฐ, จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ จำเลยที่ 2 และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จำเลยที่ 3 ที่ปิยรัฐตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” โดยมีจิรวัฒน์และทรงธรรมบันทึกภาพและภาพเคลื่อนไหว ถือเป็นการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของรัฐ ไม่ใช่การต่อต้านโดยสันติวิธี จึงเป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559  มาตรา 60 ด้วย

ขณะที่ทางฝ่ายจำเลยยื่นอุทธรณ์เฉพาะกรณีของปิยรัฐ โดยเห็นว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติมีกฎหมายกำหนดไว้เฉพาะอยู่แล้ว คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 59 ข้อหาทำลายบัตรที่มีไว้สำหรับการออกเสียง ไม่ใช่การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งกฎหมายทั่วไป คือ ข้อหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 จึงขัดต่อหลักกฎหมายในกรณีที่มีความผิดระบุไว้ทั้งในบททั่วไปและบทเฉพาะ ให้ลงโทษตามบทเฉพาะเท่านั้น รวมถึงขออุทธรณ์โทษจำคุกเป็นรอการกำหนดโทษไว้ก่อน

นอกจากนี้ ฝ่ายจำเลยยังแก้อุทธรณ์ของโจทก์อีกว่า การฉีกบัตรออกเสียงประชามติไม่เป็นความผิดฐานทำลายเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 เนื่องจากมีแนวคำพิพากษาฎีการะบุไว้ว่า แบบพิมพ์ที่ยังไม่ได้ทำเครื่องหมายลงไปยังไม่ถือเป็นเอกสารราชการ ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสามไม่ได้รบกวนการใช้สิทธิออกเสียงของบุคคลอื่น การลงประชามติยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ จึงไม่เป็นความผิดฐานก่อความวุ่นวายในหน่วยออกเสียงเช่นกัน

สำหรับคดีที่มูลเหตุจากการลงรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับการประชามติที่ไม่ชอบธรรม ในคดีอื่นๆ นั้น ศูนย์ข้อมูลคดีเว็บไซต์ไอลอว์ รายงานว่า มีคดีความเกิดขึ้นอย่างน้อย 10 คดี มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 41 คน มี 2 คดีที่ไม่ทราบความเคลื่อนไหว อัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คน ศาลพิพากษาจำคุกรอลงอาญา 1 คน ศาลสั่งยกฟ้อง 11 คน และยังอยู่ระหว่างสู้คดีทั้งหมด 26 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net