ฟังมุม นศ. หลัง ครม.แก้กฎกระทรวง ห้าม นร.- นศ. รวมกลุ่มขัดความสงบ ศีลธรรม-ชู้สาว-เที่ยวเตร่

หลายความเห็นจากนักศึกษา ‘เพนกวิน’ ชี้อาจถูกนำมาลิดรอนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา นักกิจกรรม นศ. มองเป็นการห้ามนักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมือง นศ.มช. ไม่เห็นด้วย “กฎแบบนี้เท่ากับเป็นการแทรกแซงชีวิตส่วนตัว” ขณะที่ นศ. มธ. กล่าว “เมื่อจารีตประเพณีเปลี่ยน กฎที่ออกมาขัดแย้งสุดท้ายจะถูกยกเลิก”

 

 

หลังจากวานนี้ (14 ส.ค.61) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 เกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้ามของนักเรียนและนักศึกษา ดังนี้

1. กำหนดเพิ่มเติมห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

2. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสม จากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะ” ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย

3. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พัก เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก

ประชาไทได้รวบรวมความเห็นของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ดังนี้

 

พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เขากำหนดคือ ห้ามมั่วสุม ห้ามแสดงพฤติกรรมชู้สาวทุกสถานที่ ห้ามออกนอกที่พักสร้างความเดือดร้อนทุกเวลา ประเด็นที่จะพูดถึงในการแก้ไขครั้งนี้มีสองประเด็น ประเด็นแรกมองว่ามันเป็นการพยายามสร้างผลงานของรัฐบาล เพื่อจะเอาใจคนบางกลุ่มที่เขาต้องการจะให้มีการควบคุมชีวิตเด็กมากขึ้น โดยไม่สนใจเรื่องเสรีภาพ ไม่สนใจว่าจะทำได้จริงไหม อีกประเด็นคือกฎที่ร่างมาอย่างหลวมๆ กว้างๆ เช่น คำว่า “มั่วสุม” “สร้างความเดือดร้อน” มันคืออะไร ครอบคลุมแค่ไหน ไม่รู้

“การจับกลุ่มคุยกันเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ เป็นการมั่วสุมหรือเปล่า การไปใช้เสรีภาพของการแสดงออกในการไปต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ไม่ถูกต้อง เป็นการสร้างความเดือดร้อนรึเปล่า ช่องโหว่อันนี้ในอนาคตอันใกล้อาจจะถูกตีความเพื่อมาใช้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ การเคลื่อนไหวของนักศึกษา” พริษฐ์ กล่าว

 

พิชญ์สินี เพ็งพุ่ม นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับกฎนี้ ทั้งเรื่องการรวมกลุ่ม เรื่องชู้สาว ห้ามออกนอกสถานที่พัก เป็นเรื่องที่เป็นส่วนตัว ทุกเรื่องไม่สามารถตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด

“การมีกฎแบบนี้เท่ากับเป็นการแทรกแซงชีวิตส่วนตัว และเขาไม่มีสิทธิมาบังคับเราแค่เพราะว่าเรายังไม่บรรลุนิติภาวะ” พิชญ์สินี กล่าว

 

ยามารุดดิน ทรงศิริ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง กล่าวว่า มองสถานการณ์ปัจจุบันด้วยว่าใกล้เลือกตั้งแล้ว พวกเขาจึงทำอะไรต่างๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง  เพราะถ้าเรามองในมุมผู้ใหญ่ ข้อห้ามเหล่านี้ก็คงทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสบายใจ แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการที่ คสช. จะใช้กฎนี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมนักศึกษา

“แต่ในทางปฏิบัติแล้วเมื่อจารีตประเพณีมันเปลี่ยน กฎหมายที่ออกมาขัดกับสิ่งเหล่านี้ สุดท้ายจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม และต้องยกเลิกอยู่ดี ยกตัวอย่างเช่น ห้ามคนนั่งหลังกระบะ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ต้องถูกยกเลิกไป” ยามารุดดิน กล่าว

 

ไชยวัฒน์ วรรณโคตร กลุ่มนักศึกษาอิสระ กล่าวว่า การห้ามออกนอกสถานที่ก็ไปโยงกับอีกประเด็นคือการห้ามมั่วสุม ส่วนประเด็นเรื่องชู้สาวเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่เอามาใส่เพื่อให้กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม แต่จุดประสงค์นั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องทางการเมือง เพื่อห้ามนักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมือง

“แต่ทั้งนี้ก็มั่นใจว่ากฎเหล่านี้ที่ออกมาโดยรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะไม่ถูกยอมรับจากนักศึกษาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่สนใจหรือไม่สนใจการเมือง” ไชยวัฒน์ กล่าว

 

ณัฐนันท์ ธนาภัทรโสภณ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การควบคุมความประพฤติคนในสังคม ไม่จำเป็นต้องออกเป็นกฎเกณฑ์บังคับ เพราะการออกกฎเกณฑ์ ถ้าสังคมยังมีการฝ่าฝืน ไม่ได้มาจากความเห็นตรงกันของนักเรียน นักศึกษา จะถูกมองในเเง่ร้ายมากกว่าดีเเน่นอน เช่น เเค่นั่งจับกลุ่มคุยกันทางการเมืองหรือเรื่องทั่วไป ในเคหะสถาน หน้าบ้านเราเอง ถือเป็นการมั่วสุมไหม นั่งทำงานกีฬาสีข้ามคืนด้วยกันชาย หญิง เเละ LGBT ถือเป็นการมั่วสุมไหมในสายตาผู้ใหญ่ เเสดงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมตรงนี้ไม่ได้มีความชัดเจนเลย ถือว่าเป็นการจำกัดสิทธิเเละเสรีภาพตามที่มีในรัฐธรรมนูญเเละสิทธิของคนปกติที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเสียด้วยซ้ำ

“สำหรับกฎกระทรวงชุดนี้ ทั้งที่จริงเเล้วจุดมุ่งหมายของการออกกฎคือ "เพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา" แต่ส่วนตัวมองว่า เป็นการจำกัดสิทธิเเละเสรีภาพในการเดินทาง การทำสิ่งต่างๆ ของพวกเขามากกว่า” ณัฐนันท์ กล่าว

 

สำหรับมติ ครม. ดังกล่าว เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า เกิดขึ้นจากที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดย กระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอว่า จากมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาและตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา จึงได้มีกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับ ต่อมา กระทรวงศึกษาฯ ได้ดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2548 เห็นสมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา และได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียด้วยแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 9 เม.ย.2561 มีมติเห็นชอบด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากิจกรรมทางการเคลื่อนไหวทางเมืองหรือสังคมมักถูกยกประเด็น "ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย" และ "ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ที่ตีความอย่างกว้างหรือตีความตามอุดมการณ์หลักของรัฐมาใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเสมอ ดังนั้นจากมติ ครม. ข้างต้นการห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุมในลักษณะดังกล่าว อาจกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในเสรีภาพในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมทั้งทางการเมืองและสังคม ของนักเรียนนักศึกษาเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย

 

กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท