Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ส่ง 5 ข้อคิดเห็นถึงกฤษฎีกา กรณีร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... หวังปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น

15 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้ส่งหนังสือข้อคิดเห็นถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... และ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 2 และ 16 ส.ค. 2561  

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ระบุว่า พวกเราชื่นชมความพยายามของคณะกรรมการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเรายังคงปรารถนาที่จะเห็นบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาและร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำข้อคิดเห็น 5 ประเด็น ประกอบด้วย

ก.  มาตรา 7 ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เรื่อง การรับคำร้องทุกข์และ/หรือคำกล่าวโทษโดยพนักงานสอบสวน

ข.  มาตรา 16 ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เรื่อง ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

ค.  มาตรา 16  ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เรื่อง หน้าที่ในการดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม

ง.  มาตรา 17 ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา เรื่อง ข้อห้ามมิให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการค้นเข้าไปในสถานที่ที่ค้นและห้ามมิให้บันทึกภาพและเสียงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

จ.  มาตรา 105 ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การใช้อาวุธปืนและ/หรือกำลังบังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละทิ้งหน้าที่เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

รายละเอียดหนังสือข้อคิดเห็น 5 ประเด็น ที่ ICJ ส่งถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ 10200

webmaster@krisdika.go.th

 

วันที่ 15 สิงหาคม 2561

เรียน คณะกรรมการกฤษฎีกา

ข้อคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาและร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

พวกเราส่งหนังสือฉบับนี้ถึงท่านในประเด็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ. ... (“ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา”) และร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... (“ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ”) ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในระหว่างวันที่ 2 และ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พวกเราชื่นชมความพยายามของคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ในการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเรายังคงปรารถนาที่จะเห็นบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาและร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงได้จัดทำข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้

ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา

  • มาตรา 7 การรับคำร้องทุกข์และ/หรือคำกล่าวโทษโดยพนักงานสอบสวน

พวกเราขอแสดงความชื่นชมกับมาตรานี้ เพราะเมื่อมาตรานี้ถูกนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเหมาะสมก็จะทำให้ปัจเจกชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ดียิ่งขึ้น โดยมาตราดังกล่าวกำหนดหน้าที่ของพนักงานสอบสวนให้สามารถรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษที่มีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อตน ณ สถานที่ทำการที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้ และประกันว่าพนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษทราบถึงความคืบหน้าภายในกรอบระยะเวลาที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติกำหนด โดยการแจ้งดังกล่าวจะแจ้งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทั้งนี้ การอนุญาตให้สามารถแจ้งความคืบหน้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นจะสามารถช่วยให้การแจ้งความคืบหน้าเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอยิ่งขึ้น

ในการนี้พวกเราจึงขอเน้นย้ำว่าการแจ้งพัฒนาการและความคืบหน้าของคดีต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และพนักงานสอบสวนหรือผู้ประสานงานที่ได้รับมอบหมายในการนี้ต้องดำเนินการแจ้งความคืบหน้าดังกล่าวในเชิงรุก โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษจะได้ร้องขอให้แจ้งความคืบหน้าดังกล่าวหรือไม่[1] ทั้งนี้ พวกเราขอเรียกร้องให้กรรมการตำรวจแห่งชาติคำนึงถึงหลักการดังกล่าวในการกำหนดกรอบระยะเวลาอันสมควรเพื่อประกันว่าการแจ้งความคืบหน้าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

ข้อเสนอแนะ (ก): ควรขยายความในมาตรานี้ให้ครอบคลุมถึงหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการแจ้งความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอภายในกรอบระยะเวลาอันสมควรให้ผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษทราบ โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษจะร้องขอให้แจ้งความคืบหน้าดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม

  • มาตรา 16 ข้อห้ามการกระทำอันเป็นการขัดต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

การห้ามมิให้เผยแพร่ภาพหรือเสียง ห้ามมิให้นำผู้ถูกจับและ/หรือผู้ต้องหาออกแถลงข่าวหรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในลักษณะที่เป็นการเสียหาย

พวกเราขอแสดงความชื่นชมกับมาตรานี้ในประเด็นที่มาตรานี้คุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับซึ่งต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิดในชั้นศาล โดยการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่เผยแพร่ภาพหรือเสียงของผู้เสียหาย ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา ต่อสาธารณชนในประการที่จะเกิดความเสื่อมเสีย และห้ามมิให้มีการนำเสนอข่าวในประการที่จะทำให้เสื่อมเสียหรือบังคับให้ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับออกแถลงข่าวหรือจัดให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

ข้อ 14(2) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ได้ให้การคุ้มครองสิทธิได้รับสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันในความเห็นทั่วไป (General Comment) เรื่องพันธกรณีของรัฐตามข้อ 14 และสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมว่า เจ้าพนักงานของรัฐทุกคนมีหน้าที่ละเว้นการกระทำที่เป็นการด่วนสรุปผลการพิจารณาคดี อย่างเช่นโดยการงดเว้นการแถลงการณ์ต่อสาธารณะเกี่ยวกับความผิดของผู้ต้องหา[2]

นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่บทบัญญัติดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาตีความหรือปรับใช้ในประการที่จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายใช้เพื่อปฏิเสธที่จะให้พยานหลักฐานของการปฏิบัติที่ไม่สมควร (ill-treatment) หรือเพื่อละเมิดสิทธิอื่นๆของผู้ถูกควบคุมระหว่างอยู่ภายใต้การควบคุมตัวในการได้พบทนายความหรือเพื่อประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ หรือเพื่อการจำกัดมิให้บุคคลดังกล่าวสื่อสารโดยสมัครใจกับบุคคลที่อยู่นอกสถานคุมขังเมื่อบุคคลดังกล่าวมีสิทธิที่จะติดต่อสื่อสารเช่นนั้นได้

อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.นี้ มาตรา 16 วรรคแรก กำหนดให้หน้าที่การสอบสวนผู้ต้องหาด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรมนั้นใช้บังคับเฉพาะกับ “พนักงานสอบสวน ในการสอบสวน” เท่านั้น มาตรา 16 วรรคสอง กำหนดห้ามมิให้นำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาออกให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ใช้บังคับเฉพาะกับ “พนักงานผู้จับหรือรับผู้ถูกจับหรือพนักงานสอบสวน ในชั้นจับกุมหรือระหว่างสอบสวน” และมาตรา 16 วรรคสาม กำหนดห้ามมิให้เผยแพร่ภาพหรือเสียงของผู้เสียหาย ผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา โดยใช้บังคับเฉพาะกับ “เจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวน” ความขัดแย้งภายในมาตราเดียวกันอาจทำให้เกิดความไม่ชัดเจน ทั้งนี้ หลักประกันในการคุ้มครองข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ควรต้องกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานรัฐทุกคน มิใช่จำกัดเพียงแค่เจ้าหน้าที่ของบางหน่วยงานเท่านั้น

การนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมตามข้อกล่าวหาในสถานที่เกิดเหตุ

มาตรา 16 วรรคสาม ระบุว่าการนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมประกอบคำรับสารภาพในสถานที่เกิดเหตุเพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบสวนคดีอาญานั้นมิใช่พฤติการณ์ที่ห้ามมิให้กระทำตามมาตรานี้

สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำหรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง สิทธิที่จะนิ่งเฉย (Right to Silence) ผลกระทบต่อการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม และหลักการปกป้องชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัว ล้วนแต่เป็นรากฐานที่สำคัญในการจะพิจารณานำตัวผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมเพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบสวนคดีอาญา อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติในประเทศไทยนั้นพบว่าการนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมได้ถูกดำเนินการในลักษณะที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ซึ่งรวมถึงสถานการณ์เมื่อมีการให้ผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมดังกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน ผู้เสียหาย ครอบครัวและเพื่อนของผู้เสียหาย และสาธารณชน[3] นอกจากนี้ยังมีรายงานถึงกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงโดยสาธารณชนหรือฝูงชนต่อผู้ต้องหา หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองบุคคลดังกล่าว ระหว่างการทำแผนประทุษกรรมอีกด้วย[4]

ในประเด็นดังกล่าว พวกเราเห็นว่าในกรณีใดก็ตามที่ผู้ต้องหาไม่ได้ยินยอมหรือสมัครใจและถูกบังคับให้เข้าร่วมหรือปรากฏตัวในการทำแผนประทุษกรรมนั้นจะเป็นการส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และควรถูกห้ามมิให้กระทำอย่างไม่มีข้อยกเว้น

โดยเฉพาะเมื่อยังคงมีการกล่าวหาว่ามีการทรมานหรือการใช้แนวทางการสอบปากคำหรือการสืบสวนสอบสวนเชิงบังคับขู่เข็ญหรือในทางมิชอบในประเทศไทยอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการยากที่จะให้ความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ในหลักความสมัครใจในการให้การสารภาพหรือการเข้าร่วมในการทำแผนประทุษกรรม

ด้วยเหตุผลทั้งข้างต้นนี้ พวกเราคิดเห็นว่าประเทศไทยควรยุติแนวปฏิบัติในการทำแผนประทุษกรรมที่ผู้ต้องหาเข้าร่วมด้วยหรือต่อหน้าผู้ต้องหาในการสอบสวนคดีอาญาในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 855/2548 ให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะข้างต้น เนื่องจากคำสั่งปัจจุบันยังคงอนุญาตให้สามารถนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมในสถานที่เกิดเหตุได้ ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นการอนุญาตให้สามารถกระทำได้เฉพาะในบางสถานการณ์ และกำหนดมีมาตรการเชิงป้องกันไว้ในกรณีที่ “ไม่สมควร” และห้ามไม่ให้กระทำการ “ข่มขู่” หรือ “ทำร้ายร่ายกาย” ผู้ต้องหา[5]

อย่างไรก็ตาม ถ้ามิได้กระทำตามข้อเสนอแนะข้างต้นและถ้าประเทศไทยเลือกที่จะคงแนวปฏิบัติในการทำแผนประทุษกรรมในสถานที่เกิดเหตุโดยมีผู้ต้องหาเข้าร่วมด้วยหรือต่อหน้าผู้ต้องหา การดำเนินการดังกล่าวจะสามารถกระทำได้แค่ในกรณีที่ผู้ต้องหาได้ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและตกลงที่จะเข้าร่วมในการทำแผนประทุษกรรมแล้ว โดยบุคคลดังกล่าวต้องได้รับการแจ้งสิทธิโดยครบถ้วนและมีโอกาสได้เข้าถึงทนายความที่เป็นอิสระเป็นการส่วนตัว เพื่อให้มีการประกันอย่างมีประสิทธิภาพและมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าการรับสารภาพและการตกลงเข้าร่วมในการทำแผนประทุษกรรมเป็นไปโดยสมัครใจ อีกทั้งทนายความได้รับการบอกกล่าวและมีสิทธิในการเข้าร่วมการทำแผนประทุษกรรม และเมื่อมีมาตรการเชิงป้องกันอย่างเหมาะสมเท่านั้น เพื่อป้องกันสิทธิของผู้ต้องหาที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและชื่อเสียง และป้องกันผู้ต้องหาจากการใช้ความรุนแรงโดยสาธารณชนหรือฝูงชน ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ

มาตรการในทางปฏิบัติในกรณีนี้รวมถึง การทำให้แน่ใจว่าความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาในการเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุจะไม่ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ และอัตลักษณ์ของบุคคลดังกล่าวควรถูกเก็บเป็นความลับ การทำให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานรัฐจะไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆเกี่ยวกับการทำแผนประทุษกรรมต่อสาธารณะ การประกันว่าการทำแผนประทุษกรรมต้องไม่กระทำในลักษณะเป็นการสาธารณะ เช่น ดำเนินการปิดล้อมหรือให้สาธารณชน ผู้เสียหาย ครอบครัวและเพื่อนของผู้เสียหาย หรือสื่อมวลชน ออกจากพื้นที่

ข้อเสนอแนะ (ข)(1): เพื่อคุ้มครองข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และเพื่อทำให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ ICCPR มาตรา 16 วรรคแรก วรรคสอง และวรรคสาม ควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ใช้บังคับกับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานของรัฐทุกคน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ดำเนินการสอบสวนและจับกุม และให้สามารถให้ใช้บังคับได้ตลอดเวลาจนกว่าผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับจะถูกพิพากษาว่ามีความผิดในชั้นศาล

นอกจากนี้ยังควรขยายความในมาตรา 16 วรรคสองให้ชัดเจนว่าเจ้าพนักงานไม่สามารถบังคับผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับไม่ว่าในกรณีใด ๆ ก็ตาม เพื่อให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนหรือปรากฏตัวในการแถลงข่าวอันขัดต่อความประสงค์ของผู้นั้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น “ขณะการจับกุมหรือการสอบสวน” หรือในเวลาอื่นใด และในขณะเดียวกัน เจ้าพนักงานก็ไม่มีอำนาจในการยับยั้งมิให้ผู้ต้องหาที่ประสงค์จะสื่อสารกับสื่อมวลชนจากการสื่อสารดังกล่าว นอกเสียจากการยับยั้งดังกล่าวมีความจำเป็นและได้สัดส่วน เช่นในกรณีเพื่อความเป็นระเบียบร้อยและการปฏิบัติงานในสถานที่คุมขังบุคคลผู้ถูกลิดรอนเสรีภาพ

ข้อเสนอแนะ (ข)(2): พวกเราขอเน้นย้ำว่าการบัญญัติมาตรา 16 วรรคสามเพื่อป้องกัน “การกระทำการอื่นใดอันมีลักษณะเป็นการประจานผู้เสียหาย ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา” ต้องกำหนดให้รวมถึงการมิให้แถลงการณ์ต่อสาธารณะอันเป็นการด่วนสรุปว่าผู้ต้องหามีความผิด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ

ข้อเสนอแนะ (ข)(3): ข้อยกเว้นตามมาตรา 16 วรรคสาม ที่อนุญาตให้สามารถนำผู้ต้องหาไปทำแผนประทุษกรรมประกอบการรับสารภาพควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม (และคำสั่ง ฯ ที่ 855/2548 สมควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะข้างต้น

  • มาตรา 16 วรรคแรก หน้าที่ในการดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม

พวกเราขอแสดงความชื่นชมชื่นชมต่อบทบัญญัติในมาตรานี้ เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนทุกคนมีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม และต้องละเว้นจากการกระทำใดก็ตามอันเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชน

พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค.ศ.2016) ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ได้รวบรวมมาตรฐานสำหรับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ได้ระบุว่าการสอบสวนต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ละเอียดถี่ถ้วน อิสระ เป็นกลาง และโปร่งใส[6] นอกจากนี้มาตรฐาน หลักการและแนวทางระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับก็สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางการดำเนินการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย และเจ้าพนักงานของรัฐ ได้ เช่น คู่มือสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่สำหรับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ค.ศ.1979 และหลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ค.ศ.1990 ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยหลักความยุติธรรมพื้นฐานสำหรับผู้เสียหายจากอาชญากรรมและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ค.ศ.1985 แนวปฏิบัติของคณะกรรมาธิการแสวงหาข้อเท็จจริงสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อกำหนดขั้นต่ำสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ฉบับปรับปรุง ค.ศ.2015 หลักการขั้นพื้นฐานว่าด้วยความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ค.ศ.1985 หลักการสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของทนายความ ค.ศ. 1990 และแนวปฏิบัติสหประชาชาติว่าด้วยบทบาทของอัยการ ค.ศ.1990[7]

ข้อเสนอแนะ (ค)(1): เพื่อประกันให้การสอบสวนเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนซึ่งให้การรับรองสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับที่จะได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ บทบัญญัติในมาตรานี้ควรได้รับการขยายความให้ใช้บังคับรวมไปถึงเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานของรัฐผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการสอบสวนทุกคน ได้แก่ พนักงานสอบสวน พนักงานสืบสวน และอัยการ

นอกจากนี้ ควรขยายความในมาตรานี้ให้มีบทบัญญัติกำหนดหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานของรัฐทุกคนให้ดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม อีกทั้งยังต้องเป็นไปอย่างอิสระ เป็นกลาง โปรงใสและมีประสิทธิภาพ

ข้อเสนอแนะ (ค)(2): พวกเราขอเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรานี้โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนควร “ต้องไม่กระทำการใดอันเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงมาตรฐาน หลักการและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐและเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย”

นอกจากจะเป็นหลักประกันว่าการดำเนินการสอบสวนจะดำเนินไปโดยสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว แนวปฏิบัติและหลักการระหว่างประเทศที่กล่าวถึงข้างต้นซึ่งได้รับการยกร่างโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยังสามารถชี้แนะแนวทางอันสำคัญเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมายและเจ้าพนักงานของรัฐในประเทศไทยได้อีกด้วย

  • มาตรา 17 ข้อห้ามมิให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการค้นเข้าไปในสถานที่ที่ค้นและห้ามมิให้บันทึกภาพและเสียงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

มาตรานี้เมื่อนำมาใช้ในการค้นเคหสถานจะช่วยเป็นหลักประกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาและ/หรือผู้ถูกจับที่ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และเป็นการปกป้องความเป็นส่วนตัวและชื่อเสียงของบุคคลดังกล่าว โดยกำหนดห้ามมิให้เจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวนแจ้งหรือเผยแพร่ให้บุคคลอื่นใดที่ไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการค้นทราบหรือยินยอมให้บุคคลที่ไม่มีหน้าที่ดังกล่าวเข้าไปในสถานที่ที่ค้น ทั้งนี้ กรณีที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่งในประเด็นนี้คือกรณีเช่นการที่เจ้าพนักงานหรือพนักงานสอบสวนแจ้งและเชิญสื่อโทรทัศน์ให้เข้ามาในพื้นที่เคหสถานและบันทึกภาพผู้คนและสิ่งของที่ถูกตรวจค้น และต่อมาทำการเผยแพร่ภาพดังกล่าวออกไปสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นการกระทำในลักษณะชี้แนะกับสาธารชนว่าบุคคลและสิ่งของดังกล่าวมีความผิด

อย่างไรก็ตาม มาตรานี้ยังได้ระบุอีกว่าการบันทึกเสียงและ/หรือภาพการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายระหว่างการค้นไม่ควรกระทำโดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต

ในการนี้พวกเราขอเน้นย้ำว่าตามหลักแล้ว การบันทึกภาพและเสียงควรต้องกระทำระหว่างการค้นทุกครั้ง (รวมถึงระหว่างการสอบปากคำและการสัมภาษณ์)[8] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน โดยต้องเปิดเผยบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาและที่ปรึกษากฎหมายของบุคคลดังกล่าวเพื่อเป็นการประกันว่าการสอบสวนนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ในขณะเดียวกันข้อห้ามอย่างกว้างที่กำหนดมิให้ “บุคคลอื่นใดที่ไม่มีหน้าที่ในการปฏิบัติการค้น” ทำการบันทึกภาพหรือเสียงของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจตีความให้ใช้บังคับกับบุคคลใดก็ตาม (เช่นผู้อยู่อาศัยหรือเจ้าของหรือผู้ที่ถูกตรวจค้น) ที่อยู่ในสถานที่ที่ค้น ตลอดจนสาธารณชนผู้พบเห็นการค้นที่เกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล เป็นข้อห้ามที่มีลักษณะที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะเมื่อการบันทึกภาพและเสียงโดยผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือโดยสาธารณชนมีบทบาทสำคัญในการเปิดเผยการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสถานการณ์ดังกล่าว อีกทั้งยังทำให้เกิดการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมดังกล่าวอย่างเหมาะสม ประเด็นข้างต้นในมาตรานี้จึงควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดออกเพื่อปกป้องสิทธิต่าง ๆ ของสาธารณชนในกรณีที่การปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายเกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล และสิทธิของผู้ที่ถูกตรวจค้นหรือบุคคลใดๆที่อยู่ในเคหสถาน อันรวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งเป็นการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ข้อเสนอแนะ (ง)(1): มาตรานี้ควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยบัญญัติให้ชัดเจนว่าต้องทำการบันทึกภาพและ/หรือเสียงระหว่างการค้นที่เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนทุกครั้ง โดยการบันทึกภาพและ/หรือเสียงสามารถกระทำโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายหรือเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการค้น หรือเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายอื่นๆ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นอิสระไม่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการสอบสวนดังกล่าว

ข้อเสนอแนะ (ง)(2): มาตรานี้สมควรบัญญัติอนุมาตราที่กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า “บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่มีผลเป็นการลบล้างความจำเป็นในการใช้มาตรการเชิงป้องกันอื่น ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีการฝึกอบรมที่เพียงพอสำหรับเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ในเรื่องการใช้กำลังที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการป้องกันมิให้มีการทรมานและการประทุษร้ายระหว่างการกระทำการค้น”

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ

พวกเรามีความประสงค์แสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในมาตราหนึ่งที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนและกำลังบังคับของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

  • มาตรา 105 การใช้อาวุธปืนและ/หรือกำลังบังคับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละทิ้งหน้าที่เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

พวกเราชื่นชมที่บทบัญญัติในมาตรานี้กำหนดเงื่อนไขที่จำกัดการใช้กำลังและ/หรืออาวุธปืนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจละทิ้งหน้าที่ โดยกรณีดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายได้นั้นต้องครบองค์ประกอบทั้งสาม คือ “มีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” “กระทำโดยสุจริต” และ “ตามสมควรแก่เหตุ”

ในการนี้หลักการขั้นพื้นฐานสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ค.ศ.1990 (UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials หรือ UN Basic Principles) บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายควรใช้วิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นลำดับแรกในการปฏิบัติหน้าที่ตราบเท่าที่จะสามารถกระทำได้ แล้วค่อยหันไปสู่การใช้กำลังหรืออาวุธปืน แม้ว่าเงื่อนไขด้าน “ความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” จะสามารถตีความโดยนัยให้หมายความรวมถึงหลักการข้างต้นนี้ก็ตาม มาตรานี้จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าบัญญัติหลักการนี้ไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย

อีกทั้ง หลักการขั้นพื้นฐานสหประชาชาติดังกล่าวยังได้กำหนดแนวทางห้ามมิให้ใช้อาวุธปืนเว้นแต่เป็นการใช้เพื่อปกป้องสิทธิในชีวิต อย่างเช่นในกรณีการป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงต่อชีวิตหรือหรือการถูกทำให้บาดเจ็บสาหัส เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงและเป็นภยันตรายต่อชีวิต เพื่อจับกุมบุคคลผู้ก่อภยันตรายดังกล่าวแล้วขัดขืนเจ้าพนักงาน หรือเพื่อป้องกันการหลบหนีของบุคคลดังกล่าว และต้องปรากฏว่าหนทางอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นได้

หลักการดังกล่าวยังกำหนดให้สามารถใช้อาวุธปืนโดยเจตนาทำให้ถึงตายได้เฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อปกป้องชีวิตเท่านั้น และแม้ว่าเงื่อนไข “ตามสมควรแก่เหตุ” อาจจะสามารถตีความโดยนัยให้หมายความรวมถึงข้อจำกัดดังกล่าวมาด้านต้นนี้ก็ตาม แต่มาตรานี้จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าบัญญัติหลักการนี้ไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย

ข้อเสนอแนะ (จ)(1): มาตรานี้สมควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้ชัดเจนว่าจะสามารถใช้อาวุธปืนได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อ “การป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงต่อชีวิตหรือหรือการถูกทำให้บาดเจ็บสาหัส เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงและเป็นภยันตรายต่อชีวิต เพื่อจับกุมบุคคลผู้ก่อภยันตรายดังกล่าวแล้วขัดขืนเจ้าพนักงาน หรือเพื่อป้องกันการหลบหนีของบุคคลดังกล่าว และต้องปรากฏว่าหนทางอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นได้” และ “การใช้อาวุธปืนโดยเจตนาทำให้ถึงตาย” จะชอบด้วยกฎหมาย “เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อปกป้องชีวิต”

นอกจากนี้มาตรานี้ควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดหลักประกันที่จำเป็นเพื่อกำหนดให้การใช้กำลังและ/หรืออาวุธปืนได้เฉพาะ “เมื่อมีความจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องได้ใช้ความพยายาม “เท่าที่สามารถกระทำได้ ในการใช้วิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงก่อนหันไปใช้กำลังและ/หรืออาวุธ”

ข้อเสนอแนะ (จ)(2): มาตรานี้จึงควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมหรือกำหนดบทบัญญัติใหม่ที่ขยายขอบเขตให้หลักการข้างต้นใช้บังคับกับแก่กรณีที่เจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายใดใช้กำลังและอาวุธปืนกับบุคคลใดก็ตาม[9]

พวกเราอยากจะให้ท่านพิจารณาข้อคิดเห็นข้างต้นในการแก้ไขเพิ่มเติมให้ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาและร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เราขอเน้นย้ำว่า ในภาพรวม การพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายทั้งสองนี้ควรจะมุ่งเน้นให้บทบัญญัติต่างๆให้มีความสอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งได้วางมาตรฐานการสืบสวนสอบสวนและการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานบังคับใช้กฎหมายไว้ ทั้งนี้การปรับหลักกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศดังกล่าวนั้นมิได้จำกัดเพียงบทมาตราที่ระบุในจดหมายนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบทมาตราอื่นๆในร่างกฎหมายด้วย

ICJ มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย เพื่อให้สอดรับกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในประเทศไทย และเพื่อประกันว่าประเทศไทยจะปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือคำแนะนำประการใด โปรดติดต่อมายังข้อมูลติดต่อข้างต้น

 

ขอแสดงความนับถือ

               

(ลงลายมือชื่อ)

                               

คิงส์ลี่ย์ แอ๊บบ็อต

ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล

 


[1] โปรดดูตัวอย่าง กรณีการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย, พิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค..2016), ย่อหน้า 35.

[2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ‘ความเห็นทั่วไปที 32, ข้อ 14, สิทธิได้รับความเสมอภาคต่อหน้าศาลและคณะตุลาการ และได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม’, 23 สิงหาคม ค..2007, CCPR/C/GC/32, ย่อหน้า 30. (‘HRC GC No. 32’) http://www.refworld.org/docid/478b2b2f2.html

[3] ดูเพื่อการอ้างอิง Saengpassa, ‘Crime re-enactments: a violation of suspects' rights?’, The Nation, 28 ตุลาคม 2014, http://www.nationmultimedia.com/politics/Crime-re-enactments-a-violation-of-suspects-rights-30246398.html ; US Department of State, ‘Thailand 2014 Human Rights Report’, http://www.nationmultimedia.com/politics/Crime-re-enactments-a-violation-of-suspects-rights-30246398.html

[4] ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ระหว่างการทำแผนประกอบคำรับสารภาพชาวบ้านในพื้นที่เกาะกูดได้เข้ามาทำร้ายร่างกายลูกเรือประมงชาวกัมพูชาทั้ง 5 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าได้กระทำการล่วงละเมิดและทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสสี่คน ดู Waewkraihong, ‘Crowd mobs Trat rape suspects at reenactment’, Bangkok Post, 29 กุมภาพันธ์ 2016, https://www.bangkokpost.com/news/general/880488/crowd-mobs-trat-rape-suspects-at-reenactment; ในเดือนมกราคม 2558 ระหว่างการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนและการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ชาวบ้านหลายร้อยคนได้พยายามเข้ามาประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาซึ่งต้องสงสัยว่าได้ทำการข่มขืนและฆาตกรรมเด็กหญิงอายุ 9 ปี ในจังหวัดนครปฐม ดู ‘Angry mob try to attack rape suspect’, Bangkok Post, 11 January 2015, https://www.bangkokpost.com/archive/angry-villagers-try-to-attack-suspect-in-girl-rape-and-murder/456015

[5] มาตรา 2.4 ของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 ชี้ว่ามิควรให้มีการทำแผนประกอบคำรับสารภาพการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาในสถานที่เกิดเหตุเพียงเพื่อพิสูจน์การรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหา โดยอ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2537 เพราะการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหา เพื่อให้เห็นว่าผู้ต้องหากระทำผิด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในรายงานผลการพิจารณาที่ 244/2556 เรื่อง ‘สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิของบุคคลในเกียรติยศและชื่อเสียง กรณีการนำตัวผู้ต้องหาคดีอาญาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพและการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน’, ลงวันที่ 27 มีนาคม 2556 ยืนยันในหลักการดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยอ้างถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไทยที่ให้การรับรองหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์.

 

[6] โปรดดูพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค..2016), ย่อหน้า 22 ถึง 33. โปรดดูเอกสารทั่วไป, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ความเห็นทั่วไปที่ 31, ลักษณะโดยทั่วไปของพันธกรณีที่มีต่อรัฐภาคีของอนุสัญญา (ค.ศ.2001), ย่อหน้า 15 และ 18; และหลักการและแนวทางพื้นฐานของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิได้รับการเยียวยาและชดเชยสำหรับผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงและการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง เห็นชอบและประกาศในมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 60/147 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค..2005, ย่อหน้า 3(b).

[7] โปรดดูพิธีสารมินนิโซตาว่าด้วยการสอบสวนกรณีที่ต้องสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตที่มิชอบด้วยกฎหมาย (ค..2016), ย่อหน้า 34.

[8]การบันทึกภาพและ/หรือเสียงนั้นมิควรจำกัดอยู่เพียงแค่การค้นเท่านั้น แต่ควรขยายความรวมไปถึงกรณีการสอบปากคำและการสัมภาษณ์ในขั้นตอนการสอบสวน เนื่องจากการบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่สำคัญจากการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการการทรมาน การประติบัติที่ทารุณโหดร้าย การใช้กำลังโดยเจ้าหน้าที่ที่เป็นการบังคับขู่เข็ญหรือเป็นการไม่เหมาะสม ดู  คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน, ‘ความเห็นทั่วไปที่ 2, อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่น ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี’, 24 มกราคม ค.. 2008, CAT/C/GC/2, ย่อหน้า 14, http://docstore.ohchr.org/SelfServices/FilesHandler.ashx?enc=6QkG1d%2FPPRiCAqhKb7yhskvE%2BTuw1mw%2FKU18dCyrYrZhDDP8yaSRi%2Fv43pYTgmQ5n7dAGFdDalfzYTJnWNYOXxeLRAIVgbwcSm2ZXH%2BcD%2B%2F6IT0pc7BkgqlATQUZPVhi; ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี, ‘รายงานระหว่างรอบปีของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี’, 10 สิงหาคม ค.ศ. 2010, UN Doc. A/65/273, ย่อหน้า 75, http://www2.ohchr.org/english/issues/torture/rapporteur/docs/A.65.273.pdf; ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี, ‘รายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการป้องกันการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตามมติของคณะกรรมาธิการที่2002/38’, 17 ธันวาคม ค.. 2002, E/CN.4/2003/68, ย่อหน้า 26(g), https://undocs.org/E/CN.4/2003/68

[9] เราทราบถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้กำลังและอาวุธปืนในเอกสารประกอบการฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ‘คู่มือการฝึกยุทธวิธีประจำสถานีตำรวจ ฉบับปี 2556’ อย่างไรก็ตามหลักการดังกล่าวนี้ควรได้รับการบัญญัติไว้ให้ชัดเจนในกฎหมาย และแม้มาตรา 83 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมาตรา 68 ของประมวลกฎหมายอาญา จะได้วางแนวทางการใช้กำลังและอาวุธปืนในกรณีการจับกุมตัวและการป้องกันตนเองไว้แล้ว แต่มาตราดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายองค์ประกอบด้าน “ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” และ “ความได้สัดส่วน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net