Skip to main content
sharethis

ตัวแทนองค์กรที่รับทุน สสส. บุกสรรพกร ร้องหยุดเก็บภาษีไม่เป็นธรรม หลังบางองค์กรถูกรีดภาษีย้อนหลังกว่า 5 ล้านบาท ถึงขั้นล้มละลาย แถมถูกกล่าวหาเป็นองค์กรแสวงหากำไร-หนีภาษี ถูกตีความเป็น “สัญญาจ้างทำของ” ลั่นหากไม่ได้ข้อสรุปเตรียมตบเท้าร้องรองนายกฯ ขณะที่สรรพกร ยืนยันได้ข้อยุติภายในสิ้นเดือนนี้

15 ส.ค.2561 จากกรณีกรมสรรพากร เริ่มเร่งรัดประเมินและจัดเก็บภาษีที่มาจากการตีความจ่ายเงินสนับสนุนโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่ง ลมกรด คอลั่มนิสต์ในไทยรัฐระบุว่า มาตรการนี้เป็นผลมาจากการตรวจสอบงบการเงินในปีงบประมาณ 2557 โดย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า “ข้อตกลงดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ” เป็น “สัญญาจ้างทำของ” และวงเงินงบประมาณทั้งหมดที่ สสส.สนับสนุนให้แก่ภาคีเครือข่ายถือเป็นรายได้ของภาคี พร้อมส่งเรื่องให้ กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากภาคีเครือข่าย สสส.ทั่วประเทศนั้น

วันนี้ (15 ส.ค.61) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กรมสรรพากร วิวัฒน์ ตามี่ แกนนำเครือข่ายกลุ่มชาติพันธ์  พร้อมด้วย คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.)  และตัวแทนองค์กรที่รับทุนทำโครงการให้กับ สสส. ทั้งกลุ่มเด็ก เยาวชน ครอบครัว สตรี คนพิการ แรงงานนอกระบบ ผู้บริโภค คนจนเมืองและชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเกษตร กว่า 50 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ  เอกนิติ  นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร ผ่านทาง เกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้เครือข่ายได้ชูป้ายรูปปูขนาดใหญ่สื่อถึงสรรพกร “หยุดรีดเลือดปู หยุดภาษีไม่เป็นธรรม” พร้อมข้อความเสียดสีต่างๆ  

วิวัฒน์ กล่าวว่า ตนทำงานกับคนด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธ์มายาวนาน  มีโอกาสรับทุนจาก สสส.เพื่อสร้างสุขภาวะกับกลุ่มชาติพันธ์ หากถูกเก็บภาษีแบบนี้คงต้องล้มละลาย ที่ผ่านมาถูกติดตามไล่บี้ภาษีอย่างต่อเนื่อง กว่า5ล้านบาท ก่อนหน้านี้เคยมายื่นขอความเป็นธรรมเมื่อ ก.พ.61 วันนี้จึงมาติดตามความคืบหน้า คือ สรรพกรตีความเหมารวมทั้งโครงการว่าเป็น“สัญญาจ้างทำของ” รวมถึงหากโครงการไหนงบเกินกว่า1.8 ล้านบาท เข้าข่ายธุรกรรมที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ทั้งที่ข้อเท็จจริง คือ โครงการที่ได้รับทุน สสส.อยู่ภายใต้ข้อตกลงการเป็น ตัวแทนเข้าร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาพ หรือเรียกว่าเป็นภาคีทำโครงการลักษณะพัฒนาชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็ก เยาวชน ผู้พิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ

“พวกเราทำงานไม่ได้แสดงหากำไร ไม่ได้หนีภาษี เพราะชำระภาษีรายได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ตามกฎหมายไทย แต่การเรียกเก็บภาษีในลักษณะสัญญาจ้างทำของ จึงบิดเบือนและผิดหลักข้อเท็จจริง ตลอด 2 ปี ข้อโต้แย้งไม่ยุติ สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก” วิวัฒน์ กล่าว    

สำหรับ ข้อเสนอและจุดยืนของเครือข่ายต่อกรมสรรพากร มีดังนี้ 1.ขอให้ยุติการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม และเร่งหาข้อสรุปทบทวนการตีความโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จาก“สัญญาจ้างทำของ”ให้กลับมาเป็น “สัญญาตัวแทน” โดยเร็ว โดยผู้ดำเนินโครงการต่างเสียภาษี “ค่าตอบแทน” ตามเงื่อนไขกำหนดของ สสส. อยู่แล้ว 2.ขอยืนยันว่าองค์กรภาคประชาชนที่รับทุนสสส.ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร ไม่มีกำไรจากการดำเนินโครงการต่างๆ การตีความดังกล่าวของสรรพากร สร้างความเสื่อมเสียให้กับภาคีเครือข่าย ทำให้สังคมสับสนและเข้าใจผิด และ3.ขอให้พิจารณาและตอบกลับหนังสือชี้แจงข้อมูลการดำเนินการและการรับจ่ายเงินของสสส. ตั้งแต่วันที่10ก.พ.60 อ้างอิงเลขที่หนังสือ สสส.ฝ.5/323/2560 ที่ลงนามโดย พลเรือเอกณรงค์  พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการกองทุน สสส.ซึ่งได้ชี้แจงไว้ชัดเจนถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเหตุใดกรมสรรพากรจึงไม่นำมาพิจารณา

คำรณ กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติโดยส่วนรวม  สร้างความหวาดกลัวให้กับคนทำงานด้านสังคมที่ดำเนินงานในลักษณะไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร แต่กลับถูกเรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับองค์กรแสวงหากำไร กลุ่มธุรกิจ  และยังคำนวณการจัดเก็บภาษีย้อนหลังซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง แม้ที่ผ่านมาพบว่ามีความพยายามของรองนายกรัฐมนตรี พลเอกฉัตรชัย  สาลิกัลยะ ในฐานะประธานบอร์ดสสส.ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ความเป็นจริงยังพบว่าแทบทุกพื้นที่ ภาคีถูกติดตามไล่บี้ภาษีกันอย่างหนัก แทบไม่ทันตั้งตัว คนทำงานบางรายที่ป่วยนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล อาการทรุดเมื่อรู้ว่าต้องโดนภาษีอย่างไม่เป็นธรรม

“อยากตั้งคำถามในการทำงานของกรมสรรพากร โดยเฉพาะการออกมาตรการหลายอย่างที่เอื้อให้กับนายทุน กลุ่มธุรกิจที่มีกำไร แต่กลับมาขูดรีดภาษีกับองค์กรภาคสังคมที่ไม่มีกำไร อย่างเอาเป็นเอาตาย หากไม่ได้รับข้อยุติ ภาครัฐจะสูญเสียคนทำงานภาคสังคมที่จะมาทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการแบ่งเบาภาระ ช่วยทำงาน และลดความเหลือมล้ำในระบบราชการที่ประชาชนเข้าไม่ถึง ทั้งนี้หากยังไม่มีความชัดเจน เครือข่ายจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีต่อไป” คำรณ  กล่าว 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ภายหลังยื่นหนังสือ ทางกรมสรรพกรได้เชิญตัวแทนเครือข่ายฯเข้าหารือ โดย คำรณ กล่าวภายหลังการหารือว่า ทาง เกรียงศักดิ์ ได้แสดงความห่วงใย และยืนยันว่าสรรพกรไม่ได้นิ่งนอนใจ ยืนยันกับภาคประชาชนว่า ขอให้ความมั่นใจว่าเรื่องนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีและไม่ทำให้คนทำงานต้องเสียหาย ข้อสรุปที่ได้จะเป็นเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าเราทำงานร่วมกัน3ฝ่ายคือสรรพากร สสส.และสตง.ซึ่งจะต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อเร่งให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนนี้และจะมีการแถลงอย่างเป็นทางการต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net