จ่อร้อง ป.ป.ช.สอบ 'อนุพงษ์ เผ่าจินดา' กรณีบุตรชายพบผู้ว่าฯ ภูเก็ต

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมร้อง ป.ป.ช. สอบ 'พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา' กรณีบุตรชายบุกพบผู้ว่าฯ ภูเก็ต โยงเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะ


พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (แฟ้มภาพ)

19 ส.ค. 2561 สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งข่าวว่าตามที่ปรากฏในสื่อมวลชนทั่วไปว่าบุตรชายของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) บุกพบผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต เมื่อ 3 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ปรากฏชื่อหราในวาระงานผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วว่า มท.1 มีเอี่ยวกับโครงการบริหารจัดการขยะหรือไม่ เนื่องจากมีการออกกฎหมายลักษณะรวบอำนาจดึงการแก้ไขปัญหาขยะมาดูแล และมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาขยะโดยการให้ท้องถิ่นรวมตัวกัน (Clusters)เพื่อกำจัดขยะ แต่ทว่าท้องถิ่นส่วนใหญ่กลับมุ่งเน้นสร้างโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า แทนที่จะใช้วิธีการฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfilled) ซึ่งจะใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก จนกลายเป็นการขัดแย้งกับประชาชนทั่วประเทศในขณะนี้นั้น

กรณีดังกล่าวยังไม่มีใครหรือหน่วยงานใด จะสามารถให้คำตอบต่อสังคมไทยได้ว่า มท.1 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะการให้สัมภาษณ์ของ มท.1 ก็ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า "กรณีที่มีการโจมตีบุคคลในครอบครัวของผม เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะนั้น ยืนยันว่าครอบครัวไม่ได้ยุ่งเกี่ยวแน่นอน ลูกชายบอกว่าไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยว หรือร่วมทุนกับใคร เรื่องนี้ไม่ใช่จะมากล่าวหากันบ่อยๆได้ ถ้าคิดว่ามีข้อมูล ก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ ประเทศชาติถ้ามีใครโกง ต้องจับเข้าคุก ไม่ใช่มาด่าทอส่งเดช ขอแนะนำว่า อย่ามาโจมตี ควรจะไปบอกหน่วยงานที่เขามีอำนาจในการตรวจสอบ และลงโทษ"

สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยระบุว่า เมื่อท้าทายเช่นนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงจะนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบ ตามที่ท่านท้าทาย เพราะวันนี้มีท้องถิ่นมีถึง 7,852 แห่ง ขณะที่กองขยะจากการสำรวจ พบว่ามี 2,810 กอง มีการสั่งการให้รวมตัวกันเป็นเป็นกลุ่มถึง 324 คลัสเตอร์ การลงทุนสร้างโรงเผาขยะผลิตไฟฟ้าแต่ละแห่งจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในเรื่องนี้มากกว่า 324,000 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาขยะกำลังจะกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาลของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเลยทีเดียว และกรณีที่ มท.1 ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย 2560 และ พรบ.รักษาความสะอาด (ฉบับที่ 2) 2560 และหนังสือสั่งการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น อาจเข้าข่าย “การขัดกันแห่งผลประโยชน” ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา184(2) ประกอบมาตรา186 ห้ามไว้ และเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรา 126 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.2561 หรือไม่ด้วย โดยสมาคมฯ จะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ในวันจันทร์ที่ 20 ส.ค.2561 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท