Skip to main content
sharethis

ทูตไทยรุดเยี่ยมแรงงานไทยเจ็บ เหตุอิสราเอลถล่มฉนวนกาซา/ห่วงนายจ้าง-แรงงานต่างด้าวยังไม่เข้าใจกฎหมายใหม่/'จ๊อบไทย' แนะ 'สวัสดิการต้องเหมาะสม' พนักงานจึงจะอยู่กับองค์กร/ภูเก็ตกระทุ้งกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว-บริการ/แรงงานไทย 'แก่ก่อนรวย' ธปท.แนะวัยกลางคนเพิ่มทักษะ-เร่งการออม/ขสมก. ตั้งเป้าลดพนักงาน 2,000 คน

ม.ศรีปทุม ขอนแก่น จับมือการบินไทย เปิดหลักสูตรเตรียมความพร้อมเข้าสู่อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

มหาวิทยาลัยศรีปทุมขอนแก่นและบริษัท ไทย ไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด ภายใต้การกำกับ ของบริษัทการบินไทยจำกัดมหาชน ตอบสนองนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยว และการบริการ ร่วมเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เส้นทางอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและอาชีพนักบินส่งเสริมและพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ ความสามารถ และมีมาตรฐานด้านธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว และการบริการแบบครบวงจร

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 18 สิงหาคม ที่ห้องฟ้ามุ่ย ชั้นกราวด์ (G)โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด ผศ.ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอนแก่น เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอนแก่น กับบริษัทไทย ไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด ภายใต้การกำกับของบริษัทการบินไทยจำกัดมหาชน ในโครงการพัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เส้นทางอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและอาชีพนักบินโดยมี เรืออากาศโท กัปตันอิทธิพล เจริญสุข กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด (มหาชน) ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) นายนนท์ลฉัตร วีรานุวัตติ์ ประธานโครงการพัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เส้นทางอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและอาชีพนักบิน พร้อมคณะผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษา ร่วมในพิธี

เรืออากาศโท กัปตันอิทธิพล เจริญสุข กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าโครงการพัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เส้นทางอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและอาชีพนักบิน นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและความรู้เบื้องต้นด้านธุรกิจการบินเป็นการแนะนำแนวทางการเตรียมตัวสมัครเข้าสู่ตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอย่างถูกต้องเพื่อพัฒนาศักยภาพเตรียมความพร้อมและทักษะในการสมัครงานตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและเพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความพร้อมและความมั่นใจในการเข้าสู่เส้นทางการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน โดยได้รับเกียรติจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจากบริษัทการบินไทยจำกัดมหาชนเป็นวิทยากรผู้ฝึกอบรมตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ซึ่งจะเริ่มต้นสัปดาห์แรกในวันที่ 25 สิงหาคม 2561 และสิ้นสุดการอบรมในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม

เรืออากาศโท กัปตันอิทธิพล กล่าวว่าด้วยว่าในอนาคตมหาลัยศรีปทุมขอนแก่น และบริษัท Thai Flight Training จำกัดภายใต้การกำกับของบริษัทการบินไทยจำกัดมหาชน จะมีโครงการดีๆช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรมการบินการท่องเที่ยวและการบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคประเทศและระดับนานาชาติต่อไป

ผศ.ดร.จรรยา พุคยาภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอนแก่น เป็นมหาลัยเอกชนแห่งเดียว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทไทย ไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด ภายใต้การกำกับของบริษัทการบินไทยจำกัดมหาชน ร่วมกันทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีในเรื่องของการบิน ซึ่งได้ทำการศึกษามาเข้าปีที่ 19 ในเรื่องหลักสูตรฯนี้ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยศรีปทุม ขอนแก่นจึงมีความพร้อมในเรื่องนี้ เพราะในปัจจุบันเป็นที่ทราบเป็นดีว่า การเติบโตในเรื่องของการบินของประเทศไทยและของโลก นั้นมีมาก คนปัจจุบันนี้จะใช้การเดินทางโดยเส้นทางการบินกันจำนวนมาก

ผศ.ดร.จรรยา กล่าวอีกว่าหมายความว่าเราต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถในอุตสาหกรรมนี้ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนักบินไม่ว่าจะเป็นของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอันนี้ ของทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะของประเทศไทย ในส่วนของประเทศไทย ในแต่ละปี จะมีการรับเป็นหลายพันคน ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เชื่อว่ามีหลายคนที่มีความใฝ่ฝัน อยากจะเป็นพนักงานต้อนรับบน เครื่องบิน ในการเปิดหลักสูตรฯในครั้งนี้ ทางม.ศรีปทุม ขอนแก่น ได้วิทยากรที่ เป็นกัปตันผู้ที่ขับเครื่องบิน และผู้ต้อนรับบนเครื่องบิน ที่มีความชำนาญเป็นเวลาหลาย 10 ปีจากบริษัทไทย ไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด ภายใต้การกำกับของบริษัทการบินไทยจำกัดมหาชนมาให้ความรู้โดยตรง กับนักศึกษา มหาลัยศรีปทุม ขอนแก่น เป็นที่แรกและที่เดียวที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทการบินไทย ดังนั้นจึงพร้อมจะเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีในโอกาสหน้าอาจ และปริญญาโท ในโอกาสต่อไป และเชื่อว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 และรุ่นต่อๆไปก็กำลังจะตามมา

ด้านนายวงศ์วริศ เหลืองอุดมชัย อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะการโรงแรม ม.ศรีปทุม กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่เข้าร่วมการการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพและการเตรียมความพร้อมเข้าสู่เส้นทางอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและอาชีพนักบิน ในครั้งนี้ เพราะอยากมีอาชีพเป็นสจ๊วต ตนเองคิดว่าเป็นอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด โดยในส่วนตัวแล้วชอบที่จะท่องเที่ยว ชอบการบริการ เลยเลือกที่จะสนใจด้านอาชีพนี้

ที่มา: บ้านเมือง, 19/8/2561

ขสมก. ตั้งเป้าลดพนักงาน 2,000 คน

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่าสำหรับความคืบหน้าแผนฟื้นฟูในเรื่องลดค่าใช้จ่ายของ ขสมก. นั้นคือการลดจำนวนพนักงานโดยการนำอีเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเก็บค่าโดยสารแทนการใช้พนักงานเก็บค่าโดยสาร เพื่อจะลดค่าใช้จ่ายได้จริงจัง ส่วนรถใหม่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษา คาดว่าปี 2565-2566 ถึงจะเริ่มเห็นการลดค่าใช้จ่ายได้ เพราะแผนลดจำนวนพนักงานจะเห็นผลได้ชัดเจนเกือบหมดตามเป้า

ทั้งนี้เนื่องจากมีโครงการเพราะลดพนักงานต้องมาจากความสมัครใจ ตอนนี้ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขลดพนักงาน เพื่อเตรียมของบประมาณแผนลดจำนวนพนักงาน โดยจะพิจารณาตามกฎระเบียบของกระทรวงการคลังที่ระบุว่าจะต้องไม่เกิน 30 เท่าของเงินเดือนปัจจุบัน

นายณัฐชาติ กล่าวต่อว่า ในปี 62 มีแผนลดพนักงานประมาณ 300-400 คน ขณะที่ปี 63 ลดพนักงานถึง 2,000 คน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุด เพราะตอนนั้นระบบอีทิคเก็ตที่นำมาติดตั้งรถเมล์เก็บค่าโดยสารต้องใช้งานได้ 100%

ทั้งนี้จากผลสำรวจความคิดเห็นพนักงานเกี่ยวกับการลดจำนวนพนักงานตอนนี้มีพนักงานเข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนด (เออรี่รีไทร์) ประมาณ 700-800 คน ส่วนที่เหลือต้องรอดูเงื่อนไข ขสมก.จะเข้าร่วมโครงการก่อนตัดสินใจคาดว่าแผนลดจำนวนพนักงานจะเสนอที่ประชุมบอร์ด ขสมก. เดือน ต.ค. 61 จากนั้นจะนำเสนอ ครม. ต่อไปตามกระบวนการ

"ตอนนี้พนักงานเก็บค่าโดยสารไม่มีการรับเพิ่ม ส่วนพนักงานขับรถส่วนหนึ่งที่จะเป็นจ้างบริษัทเอกชนข้างนอกมาให้บริการสำหรับที่จะใช้ขับรถเมล์ที่มีการเช่า 700 คัน เช่น รถ 1 คัน จะใช้พนักงานขับรถ 2 คน ค่าใช้จ่าย 1,500 บาท เพราะหากลดจำนวนพนักงานจะไม่กระทบ"นายณัฐชาติกล่าว

นายณัฐชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องหนี้ ขสมก.ที่มีประมาณ 1 แสนกว่าล้าน จะแยกเป็นหนี้ที่เกิดจากนโยบายรัฐ ประมาณ 80% หรือ 1.7 แสนล้านบาท เช่น รถเมล์ฟรี ค่าโดยสารรถเมล์ที่ให้บริการต่ำกว่าต้นทุนจริง และหนี้เกิดจากการดำเนินงานของ ขสมก.เอง โดยต้องการให้ตั้งงบประมาณขึ้นมา เพื่อชำระหนี้ หากรัฐบาลไม่ให้ต้องตั้งงบประมาณรายปี นอกจากนี้การขอปรับค่าโดยสารนั้น เมื่อมีรถใหม่ให้บริการและบริการดีขึ้น ขสมก. เสนอขอปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถเมล์ให้สอดคล้องกับต้นทุนจริงถ้ามีการบริหารรที่มีประสิทธิภาพประมาณปลายปี 62 หรือต้นปี 63 จะมีการหารือเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะรถเมล์ธรรมดา(รถเมล์ร้อน) ปัจจุบันค่าโดยสาร 6.50 บาท ซึ่งต่ำเกินไป ขณะที่ต้นทุนจริงควรจะเป็น 11-12 บาท

ที่มา: ไทยโพสต์, 18/8/2561

ไฟไหม้แคมป์คนงานเพชรบุรี 9 - ปิดจราจรแยกราชเทวี

เกิดเหตุเพลิงไหม้แคมป์พักคนงาน ซ.เพชรบุรี 9 ในพื้นที่เขตราชเทวี ลักษณะเป็นแคมป์พักคนงาน 2 ชั้น เพลิงกำลังลุกไหม้เสียหายไปแล้วอย่างน้อย 4 แถว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงพญาไท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างระดมรถน้ำรถดับเพลิงเข้าฉีดสกัด จนสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว เบื้องต้น ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ส่วนรายละเอียดความเสียหาย และสาเหตุ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ด้านของผู้กำกับการตำรวจจราจร สน.พญาไท เปิดเผย ว่าเจ้าหน้าที่ได้ปิดจราจรแยกราชเทวี เลี้ยวซ้ายเข้าแพลตทินัม เพื่ออำนวยความสะดวกรถเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปช่วยเหลือและดับเพลิงที่มีกว่า 10 คัน โดยหลังควบคุมเพลิงได้แล้ว หากมีการเคลื่อนย้ายรถออกก็คาดว่าจะสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ไม่เกิน 30 นาที

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 18/8/2561

นครปฐมจู่โจมจับแรงงานผิดกฎหมายโรงเชือดหมูนักการเมืองดัง

ชุดปฏิบัติการตรวจสอบแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการสนธิกำลังกันโดยการประสานงานของ พล.ต.กิตติพันธ์ ชูพิพัฒน์ เจ้ากรมการสัตว์ทหารบก จังหวัดนครปฐม พล.ต.คำรณ บุญเลิศ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร กรมการสัตว์ทหารบก

นำโดย พ.ท.อรรณพ ชอบประดิษฐ์ ผบ.ร้อย รส.จังหวัดนครปฐม ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษภูธรจังหวัดนครปฐม ชุดสืบสวนภูธรจังหวัดนครปฐม เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดนครปฐม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดนครปฐม ซึ่งนำกำลังกว่า 50 นาย ในการเข้าตรวจสอบภายในโรงฆ่าสัตว์และพักสัตว์กำนันหลี เลขที่ 117/20 ม.8 ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม

โดยการเข้าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการเข้าจู่โจมโดยไม่เปิดเผยเป้าหมาย ซึ่งใช้เวลารวบรวมกำลังเจ้าหน้าที่ไม่กี่นาที เพื่อเข้าเป้าหมายแบบไม่ให้ทันตั้งตัว ซึ่งภายในป็นโรงเชือดและพักสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งกำลังมีแรงงานชาวต่างด้าว ชายหญิงกำลังลงมีดเชือดสุกร และชำแหละเพื่อเตรียมนำส่งนับ 100 คน และเมื่อคนงานทั้งหมดเห็นเจ้าหน้าที่ได้ทิ้งเครื่องมือ และวิ่งหนีการเข้าตรวจสอบไปคนละทิศละทางโดยเป็นไปด้วยความโกลาหล

โดยมีแรงงานหลายคนได้พยายามหนีสุดฤทธิ์ และได้กระโดดหลบลงไปในน้ำบ่อพักมูลสุกร ซึ่งมีสีดำเข้ม และมีกลิ่นเหม็นรุนแรงโดยการดำน้ำเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ แต่สุดท้ายไปไม่รอด จึงได้ทำการควบคุมตัวเพื่อมาตรวจสอบเอกสารและตรวจหาสารเสพติด

ซึ่งผลการจับกุมดังกล่าว พบว่า โรงฆ่าสัตว์แห่งนี้มีคนงาน จำนวน 147 ราย เป็น ชาย 98 คน หญิง 49 คน

พบผู้กระทำความผิด 16 ราย แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จํานวน12 ราย เป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จํานวน 4 ราย และได้ตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ พบแรงงานต่างด้าวเสพสารเสพติด แอมเฟตามีน จำนวน 4 ราย

สำหรับแรงงานต่างด้าวทั้งหมดที่ผิดกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครปฐม ได้ทำการควบคุมตัว และดำเนินการสอบสวนและแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย จนท.ชุดจับกุมได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครปฐม ให้ดำเนินคดีต่อ น.ส.จีรวรรณ เชื่อมวราศาสตร์ ซึ่งเป็นนายจ้าง ในข้อหารับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทํางานและให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นการจับกุม

ทั้งนี้ การบุกเข้าจับกุมแรงงานต่างด้าวในจังหวัดนครปฐม นับเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการกวดขันให้แรงงานผิดกฏหมายและนายจ้างที่ยังกระทำผิดกฎหมายแรงงานอย่างเข้มข้น หลังจากมีการพบว่า มีชาวพม่าเข้ามาฝังตัวในพื้นที่และเป็นนายหน้าที่มีพฤติกรรมค้ามนุษย์ โดยได้มีการกวาดล้างอย่างหนักจนสามารถกดดันแรงงานที่ผิดกฎหมายที่ยังคงหลบเลี่ยงแอบทำงานโดยผิดกฎหมายได้อย่างต่อเนื่อง

กระทั่งมีข่าวแพร่สะพัดไปในกลุ่มแรงงานถึงการกวาดล้างอย่างหนักในจังหวัดนครปฐมในช่วงนี้ โดยสถานที่การกวดขันจับกุมดังกล่าวเป็นของ นายพิเชียร เชื่อมวราศาสตร์ หรือกำนันหลี อดีตนายก อบต.บ่อพลับ และเป็นนักการเมืองคนดังในตัวเมืองนครปฐม ซึ่งมีธุรกิจเชือดเนื้อสุกรวันละหลาย 100 ตัว เป็นแห่งใหญ่อันดับต้นๆ ในตัวเมือง

ที่มา: MGR Online, 17/8/2561

ไทย-เมียนมา เจรจาชื่นมื่น รับแนวทางนำเข้าแรงงานประมง ตาม MOU

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย “นายจรินทร์ จักกะพาก” ปลัดกระทรวงแรงงาน “นายอนุรักษ์ ทศรัตน์” อธิบดีกรมการจัดหางาน และคณะ เดินทางไปประชุมหารือร่วมกับ “นายเต็งส่วย (H.E.U Thein Swe)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาในกิจการประมงทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงของไทย ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการประชุมหารือร่วมกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้นำเข้าแรงงานตาม MOU จากประเทศเมียนมา ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ฝ่ายไทยจะดำเนินการต่ออายุแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ออกไปอีกเป็นเวลา 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 โดยจะอนุญาตคราวละ 1 ปี ตามที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร การดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม – 30 กันยายน 2561 ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล

สำหรับแรงงานที่ถือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางชั่วคราว เอกสารรับรองบุคคล เอกสารเดินทาง ซึ่งเอกสารดังกล่าวยังมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 90 วัน จะเสนอคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรและพิจารณาออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของการอนุญาตให้แรงงานทำงานได้ตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558

“ทั้งนี้ ฝ่ายเมียนมาแจ้งว่าจะส่งทูตมาดูแลแรงงานในประเทศไทย พร้อมย้ำว่าจะอบรมให้ความรู้แก่แรงงานเมียนมาเกี่ยวกับกฎหมาย วัฒนธรรม การใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยก่อนจะเข้ามาทำงานในไทย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด ทำให้ประพฤติปฏิบัติไม่ถูกต้อง และได้รับความคุ้มครองตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งฝ่ายเมียนมาชื่นชมรัฐบาลไทยที่ดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/8/2561

เผย 2 ศพแรงงานไทยกลับถึงภูมิลำเนาวันที่ 17 ส.ค. กำชับเงินชดเชยต้องถึงมือญาติครบถ้วน

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยในสังกัดกระทรวงแรงงานทั่วประเทศ เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือส่งศพแรงงานไทยที่เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งจากข้อมูลของอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล รายงานว่า กำหนดการส่งศพแรงงานไทย จำนวน 2 ราย คือ รายแรก นายณัฐชัย ป้องเศร้า อายุ 32 ปี เป็นชาวจังหวัดศีรษะเกษ แต่ได้มาอาศัยอยู่กับครอบครัวของภรรยาที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 3 ส.ค.61 ส่วนนายพรชัย พรมจันทร์ อายุ 43 ปี เป็นชาว จ.นครพนม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ส.ค.61 ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเช่นกัน โดยทั้งคู่เดินทางไปทำงานภาคเกษตรอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ประเทศอิสราเอล

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังกล่าวต่อว่า ศพแรงงานไทยทั้ง 2 รายจะถูกส่งกลับมาถึงประเทศไทยในวันนี้ (17 ส.ค.61) เวลา 15.00 น.ด้วยเที่ยวบิน LY081 จากนั้นเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจะนำศพไปส่งตามที่ญาติระบุโดยศพของนายณัฐชัยฯ ญาติจะนำไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ อ.ราษีไศล จ.ศีรษะเกษ ส่วนนายพรชัยฯ ญาติจะนำศพกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาที่ จ.นครพนม ในเบื้องต้นทายาทของนายณัฐชัยจะได้รับเงินชดเชยเงินเดือนงวดสุดท้าย ค่าจ้างค้างจ่าย 95,000 บาท เงินสงเคราะห์กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนงานในต่างประเทศ 40,000 บาท เงินประกันสังคม 10,176 บาท เงินฌาปนกิจสงเคราะห์กองทุนหมู่บ้าน 55,000 บาท ส่วนทายาทของนายพรชัย จะได้รับเงินชดเชย เงินเดือนงวดสุดท้าย ค่าจ้างค้างจ่าย 190,000 บาท เงินสงเคราะห์กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนงานในต่างประเทศ 40,000 บาท เงินฌาปนกิจสงเคราะห์กองทุนหมู่บ้าน 15,000 บาท ทั้งนี้ รมว.แรงงาน ได้กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านการเงินซึ่งเป็นสวัสดิการที่ผู้ตายจะได้รับส่งถึงมือญาติให้ครบถ้วนทุกขั้นตอน

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่หญิงไทยขอรับการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลจากอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่เมืองอุลซาน ห่างจากกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีราว 400 กิโลเมตร จากการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สนร.โซล ทราบว่า หญิงไทยรายนี้เข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายไม่ผ่านระบบ EPS และเกิดอาการป่วย จนเพื่อนได้นำตัวส่งโรงพยาบาลดงกัง มหานครอุลซาน โดยแพทย์พบว่า ติดเชื้อในกระแสเลือดต้องพักรักษาตัวในห้องไอซียู และต้องใช้ค่ารักษาพยาบาลราว 7,000,000 วอน คิดเป็นเงินไทยราว 210,000 บาท โดยญาติมาติดต่อขอรับการช่วยเหลือจากฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซลแล้ว คาดว่าทางกงสุลจะเจรจากับทางโรงพยาบาลเพื่อขอลดค่าใช้จ่ายให้บางส่วน สำหรับผู้ป่วยเมื่อรักษาสิ้นสุดหรือเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ จะต้องเดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมาย

รมว.แรงงาน ยังได้ย้ำเตือนแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศจะต้องไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะหากลักลอบไปทำงานแบบผิดกฎหมายจะไม่รับสิทธิประโยชน์ใด ๆ จากทางราชการทั้งกรณีเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต โดยผู้ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 17/8/2561

แรงงานไทย 'แก่ก่อนรวย' ธปท.แนะวัยกลางคนเพิ่มทักษะ-เร่งการออม

ธปท.เผยผลการศึกษา ระบุไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่น โดยไม่มีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ ขณะที่คนสูงอายุของส่วนใหญ่ยากจน ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้หลังเกษียณ หวั่นกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ สำรวจภาคแรงงาน พบหญิงไทยออกจากงานเร็ว เพราะต้องดูแลลูก คนชรา หรือคนป่วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยผลการศึกษาสังคมสูงวัยกับความท้าทายของตลาดแรงงานไทย จัดทำขึ้นโดย นางสาวจารีย์ ปิ่นทอง นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ นางสาวณัคนางค์ กุลนาถศิริ เศรษฐกร นางสาวปภัสสร แสวงสุขสันต์ เศรษฐกรอาวุโส ธปท. และนางธนภรณ์ จิตินันทน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายนโยบายการเงิน ธปท. ซึ่งข้อสรุปงานวิจัย พบว่า ความท้าทายของสังคมสูงวัยของไทยมีความท้าทายหนักกว่าปัญหาสังคมสูงวัยในหลายประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

โดยจากการศึกษาประสบการณ์จากต่างประเทศ พบว่าการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จากการบริโภคของภาคครัวเรือนที่มีโอกาสชะลอลง จากอัตราการเติบโตของประชากรลดลง ขณะที่รูปแบบ การใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุมักแตกต่างจากรูปแบบการใช้จ่ายของกลุ่มผู้บริโภควัยอื่นๆ โดยการใช้จ่ายในการเข้าสังคมหรือการทำงานลดลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้น การลดลงของจำนวนแรงงานจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะส่งผลโดยรวมต่อภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจ และผลิตภาพแรงงานที่ลดลง โดยจากการศึกษา พบว่าหากจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 10% ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชากรของประเทศชะลอลง 5.5%

สำหรับสังคมสูงวัยของประเทศไทย คาดว่า จะเปลี่ยนเข้าสู่สังคมสูงวัยในเวลาเพียง 20 ปี ซึ่งถือว่าเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่กระบวนการดังกล่าวใช้เวลาตั้งแต่ 18-115 ปี และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนผู้สูงอายุไทยกับประเทศในอาเซียน พบว่า ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงที่สุด ขณะที่แรงงานไทยมีแนวโน้มลดลงเร็วกว่าประเทศอื่นๆ โดยสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปีของไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 7% ของประชากรรวมเป็น 13% ในปี 2563 หรือใน 2 ปีข้างหน้า และภายในปี 2578 ไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่เข้าสู่ Hyper-aged society หรือสังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้ต่อหัวประชากรสูงโดยเฉลี่ยสูงกว่า 12,500 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี ขณะที่รายได้ต่อหัวประชากรของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 5,700 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี

นอกจากนั้น ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า นอกจากรายได้ต่อหัวที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นแล้ว ผู้สูงอายุของไทยที่ 'เรียนสูง' มีเพียง 12% ของผู้สูงอายุโดยรวม ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศอื่นค่อนข้างมาก ทำให้แรงงานไทยมีแนวโน้ม 'แก่ก่อนรวย' สูง และต้องพึ่งพาภาครัฐและครอบครัวมากขึ้น ดังนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยจากกรณีนี้ อาจรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ขณะเดียวกันหากพิจารณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัยของไทย หากเทียบกับประเทศอื่นในบริเวณใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ และญี่ปุ่น แม้ประเทศเหล่านี้จะมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้ามานาน แต่สังคมสูงวัยยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ขณะที่ไทย ซึ่งกำลังเผชิญปัญหานี้ในอัตราที่เร็วกว่าแต่ยังไม่มีความตระหนักถึงความท้าทายข้างหน้านี้และเตรียมตัวรับมืออย่างเป็นรูปธรรมมากพอ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่า อัตราการจ้างงานของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 โดยหดตัวเฉลี่ย 0.04% ต่อปี โดยกลุ่มที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งมีประมาณ 30.7 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า วัยแรงงานดังกล่าวจะทยอยเปลี่ยนผ่านเป็นผู้สูงอายุ ส่งผลให้สัดส่วนระหว่างจำนวนประชากรผู้พึ่งพิงต่อประชากรที่สามารถหารายได้ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนแรงงานไทยที่ลดลงส่วนหนึ่งนั้นมาจากการเกษียณอายุและออกจากกำลังแรงงานก่อนวัยเกษียณ โดยแรงงานไทยประมาณปีละ 300,000 คน จะเริ่มออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่อายุ 45 ปี ซึ่งนับว่าค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบประเทศญี่ปุ่น ซึ่งออกจากตลาดแรงงานเมื่ออายุ 55-59 ปี

ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า แรงงานผู้หญิงของไทยถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่ออกจากตลาดแรงงานค่อนข้างเร็ว โดยเริ่มหยุดทำงานหารายได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี เนื่องจากมีทักษะไม่สูงนัก โดยกลุ่มที่จบการศึกษาน้อยกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมี 5.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 81% ของผู้หญิงที่ออกจากตลาดแรงงานทั้งหมด สาเหตุหลักคือการออกไปดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเด็ก คนป่วย หรือผู้สูงอายุ ขณะที่แรงงานผู้ชายของไทยจะอยู่ในตลาดแรงงานนานกว่า โดยยังคงทำงานจนถึง 55-59 ปี ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าว ธปท.ยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเห็นว่าประเทศไทยควรเน้นแก้ไข 2 ด้าน คือการเพิ่มทักษะของแรงงานไทย และการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน ทั้งการเพิ่มทักษะเดิมที่แรงงานมีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น และการเสริมทักษะใหม่ให้แรงงานวัยกลางคน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 16/8/2561

สกพอ.-เพียร์สันจ่อเปิดหลักสูตรอาชีวะศึกษานำร่อง 2 สาขาป้อน EEC

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ลกพอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะผู้แทนบริษัท เพียร์สัน (Pearson Education Limited) จากประเทศอังกฤษซึ่งเป็นบริษัทการศึกษาชั้นนำของโลกได้ร่วมหารือถึงแนวทางการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยเน้นการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับ อุตสาหกรรมเป้าหมายตามแนวทาง “สัตหีบโมเดล” ให้เป็นไปตามมาตรฐาน BTECซึ่งเป็นมาตรฐานหลักสูตรอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกของบริษัทเพียร์สันมาปรับใช้ โดยเบื้องต้นจะกำหนดพัฒนาหลักสูตร 2 สาขาได้แก่ สาขาชิ้นส่วนอากาศยาน และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ทั้งนี้ผู้แทนทางเพียร์สันได้ลงพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซี (ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา) เพื่อศึกษาความพร้อม และเก็บข้อมูล สถาบันการศึกษาเป้าหมาย เพื่อจะนำไปพิจารณาในการบรรจุหลักสูตรอยู่ในโปรแกรมการเรียนการสอน โดยกำหนดวิทยาลัยที่เข้าไปศึกษา ดูงาน อาทิ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคโนโลยี ไออาร์พีซี เนื่องจาก ทั้ง 3 สถาบันการศึกษามีหลักสูตรที่ใกล้เคียงและสามารถพัฒนาและยกระดับหลักสูตรเข้าสู่มาตรฐาน BTEC ได้ และยังเป็นสถาบันการศึกษา ที่อยู่พื้นที่เป้าหมาย

“ขณะนี้เพียร์สันและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เตรียมวางแนวทางในการดำเนินงานด้านการพัฒนาด้านการศึกษาในพื้นที่ที่อีอีซี โดยระยะแรกจะเป็นการศึกษาความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภายในพื้นที่อีอีซี และความพร้อมของผู้เรียนผู้สอน เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับการยกระดับหลักสูตรเข้าสู่มาตรฐาน BTEC ของบริษัทเพียร์สัน”นายคณิศ กล่าว

สำหรับการพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อรองรับ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนาบุคลากรให้ทันกับการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นการร่วมมือกับ บริษัทเพียร์สัน ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการจับมือกับบริษัทชั้นนำที่มีการพัฒนาหลักสูตรอาชีวะศึกษา จนเป็นที่ยอมรับของบริษัทชั้นนำทั่วโลก

นายคณิศ กล่าวว่า การพบปะและลงพื้นที่ศึกษาดูงานของบริษัทเพียร์สันในครั้งนี้ ถือเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงนามความร่วมมือระหว่าง สกพอ.และ บริษัทเพียร์สัน ในการพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพเพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการจัดหานักเรียนและนักศึกษาที่มีทักษะเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านเทคนิค การใช้เทคโนโลยี มีขีดความสามารถการพัฒนาที่ตรงกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยบริษัท เพียร์สัน จะนำหลักสูตร BTEC เข้ามาสู่โปรแกรมการเรียนการสอนสายอาชีพในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยในระยะแรก ก่อนที่จะขยายหลักสูตรดังกล่าวไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ที่มา: MGR Online, 15/8/2561

ยธ.เดินหน้าถ่ายโอนพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน

โรงแรมเดอะ สุโกศล-15 ส.ค. 2561-กรมบังคับคดี จัดประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้และมาตรการเยียวยา ภายใต้หัวข้อ "การพัฒนาอย่างยั่งยืน : กลไกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนและสิทธิหลักประกัน" เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ ระบบและแนวทางปฏิบัติที่ดีเลิศด้านการบังคับคดีล้มละลาย และความสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับหลักประกันทางธุรกิจต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เพื่อนำความรู้และประสบการณ์มาพัฒนากฎหมายล้มละลายและกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุม และมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกลไกพิทักษ์ทรัพย์ และการบังคับคดี จากกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจาของอาเซียน คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมประชุม

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายแก้กฎหมายที่ล้าสมัย และออกกฏหมายฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ โดย 4 ปีที่ผ่านมากรมบังคับคดี ในฐานะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายล้มละลายได้แก้กฎหมายล้มละลายแล้ว 3 ฉบับ เป็นผลให้การจัดลำดับความยากง่ายของการประกอบธุรกิจ ตัวชี้วัดที่ 10 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาล้มละลาย ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 26 จาก 190 ประเทศเป็นการปรับปรุงที่ดีขึ้นถึง 13 ลำดับ นอกจากนี้กรมบังคับคดีมีผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยด้านการบริหารจัดการการล้มละลาย เพื่อดูแลผลประโยชน์ของภาคเอกชนทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งมีการจัดทำประชาพิจารณ์เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนและกฎหมายล้มละลาย ซึ่งหวังว่าการประชุมในครั้งนี้ จะได้รับฟังประสบการณ์และแนวปฏิบัติจากประเทศที่มีความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ตลอดจนสิทธิในการได้รับการเยียวยาของลูกหนี้และเจ้าหนี้มาเป็นตัวอย่าง เพื่อให้กฎหมายใหม่ของไทยสมบูรณ์

ด้านน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างศึกษาวิจัย และยกร่างกฏหมาย พ.ร.บ.ล้มละลายฉบับที่ พ.ศ.. (เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน) ซึ่งยังอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว ในการถ่ายโอนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปยังภาคเอกชนนั้น รัฐบาลให้เวลากระทรวงยุติธรรมดำเนินการตามโรดแมป 3 ปี เพื่อดำเนินการให้เป็นรูปธรรม คาดว่าจะสามารถส่งร่างกฎหมายฉบับนี้ให้รมว.ยุติธรรมพิจารณาได้ภายในเดือนก.ย.นี้ โดยเนื้อหาสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเปิดโอกาสให้เอกชนที่มีคุณสมบัติมีความรู้และคุณธรรมเข้ามาขอใบอนุญาต ดำเนินการพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมบังคับคดี โดยการพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นวิชาชีพหนึ่งที่เปิดให้มีการอบรม สอบ และขอใบอนุญาต.เช่นเดียวกับทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี หรือวิศวกร

"ในช่วงเริ่มต้นจะใช้กับเจ้าหนี้ที่เป็นนิติบุคคล ในส่วนของเจ้าหนี้ที่เป็นรายย่อยหรือบุคคลธรรมดากรมบังคับคดีในฐานะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการต่อไปเหมือนเดิม ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดำเนินการได้สำเร็จในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกในตัวชี้วัดด้านความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ. ก็เป็นผลมาจากการบังคับคดีโดยภาคเอกชน. ที่พักงานพิทักษ์ทรัพย์ 1 คนรับผิดชอบสำนวนคดีไม่เกิน10 เรื่องต่อปี ขณะที่การดำเนินการโดยภาครัฐ เจ้าหน้าที่ 1 คนต้องรับผิดชอบสำนวนกว่า 100 คดีต่อปี "อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 15/8/2561

ภูเก็ตกระทุ้งกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว-บริการ ด้าน รมว.แรงงานเปิดหลักสูตร “ช่างซ่อมบำรุงเรือยอชต์” รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาทิศทางการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่อันดามันในยุค 4.0 จังหวัดภูเก็ตว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันมีรายได้จากการท่องเที่ยวอันดับ 1 ของประเทศ จำนวน 364,165 ล้านบาท โดยภูเก็ตสร้างรายได้การท่องเที่ยวมากที่สุดตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง-พังงา-ภูเก็ต-กระบี่-ตรัง) พ.ศ. 2561-2564 แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคบริการท่องเที่ยว ก่อสร้าง อุตสาหกรรมประมง ปัจจุบันภูเก็ตกำลังดำเนินการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลเรือสำราญและการกีฬา มีท่าเทียบเรือ 38 แห่ง มีท่าเรือสำราญมารีน่า 5 แห่ง มีเรือยอชต์และเรือครุยส์ใช้บริการ 1,500 ลำต่อปี มีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม

“ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานส่งเสริมบูรณาการกับหลายฝ่าย จัดหลักสูตรช่างฝีมือในการซ่อมบำรุงเกี่ยวกับเรือยอชต์ขึ้นมา ทั้งแรงงานด้านการทำสี ซ่อมเครื่องยนต์ ระบบเฟอร์นิเจอร์ในเรือ เชื่อมโยงเรือที่มาจอด ให้แรงงานมีฝีมือ มีความเป็นมาตรฐานสากล ใช้เทคโนโลยีที่ดี มีความตรงเวลาในการนัดส่งงานและให้มีจิตบริการ รวมทั้งความปลอดภัยของการปฏิบัติการด้วย นอกจากนี้ ทางกระทรวงแรงงานจะเข้ามาตอบสนองแก่ผู้ประกอบการที่มีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้านบริการ ท่องเที่ยว ประมง ก่อสร้าง โดยเฉพาะประมงขาดแคลนแรงงานกว่า 50,000 คน จะอนุญาตให้คนที่จะครบกำหนด 30 ก.ย.นี้ให้อยู่ได้อีก 2 ปี จำนวน 11,000 คนให้มารายงานตัวตามขั้นตอน”

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานกลุ่มท่องเที่ยว/บริการ ด้านสุขภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม โดยปี 2561 มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 3,277 คน ได้บูรณาการร่วมกับบริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด พัฒนาศักยภาพแรงงานในธุรกิจท่าเทียบเรือสำราญสาขาอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ ช่างไม้เฟอร์นิเจอร์เรือ ช่างบำรุงรักษาเครื่องยนต์เรือ ภาษาอังกฤษสำหรับพนักงานประจำเรือ ช่างสีเรือ ช่างซ่อมไฟเบอร์เรือ และพนักงานประจำท่าเรือ เป้าหมายจำนวน 100 คน เพื่อยกระดับฝีมือให้สอดคล้องความต้องการตลาดแรงงาน โดยผู้ร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนจาก ภาครัฐ/เอกชน สมาคมหรือองค์กรวิชาชีพสถานประกอบกิจการและบุคลากรด้านท่องเที่ยว และหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันจำนวน 300 คน

ด้านนายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ประจำปี 2559 เท่ากับ 191,695 ล้านบาท เศรษฐกิจหลักสำคัญมาจากการบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อคนต่อปีเท่ากับ 357,498 บาท สูงเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และเป็นอันดับ 8 ของประเทศ จังหวัดภูเก็ตมีกำลังแรงงานจำนวน 317,093 คน มีงานทำ 314,419 คน ผู้ว่างงาน 2,674 คน อัตราผู้ว่างงานคิดเป็น 0.84% มีการจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานในพื้นที่จำนวน 81,859 คน คิดเป็น 26.04% จำนวนผู้ทำงานทั้งหมด ทั้งนี้ ปัญหาความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นงานด้านบริการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร

ทางจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดทิศทางพัฒนาจังหวัดไปสู่เมืองเศรษฐกิจ เพิ่มค่าและบริการมูลค่าสูงระดับนานาชาติทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (smart city) รวมทั้งการพัฒนาคน สังคมมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษานวัตกรรมบริการในระดับนานาชาติ และการพัฒนาที่ยั่งยืนมุ่งสู่จังหวัดที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2579” โดยเฉพาะการพัฒนาคน ทางจังหวัดมีมาตรการพัฒนาแรงงานคุณภาพในระดับนวัตกรรม สนับสนุนการสร้าง startup ในกลุ่มบริการที่มีคุณภาพสูงในกลุ่มอาชีพธุรกิจอาหาร ธุรกิจโรงแรม และการบริการธุรกิจท่องเที่ยว และสร้างแรงงานคุณภาพเพื่อป้อนให้กับตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

มีการจัดทำแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดภูเก็ต 4 ปี (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (ธุรกิจโรงแรม) กลุ่มบริการสุขภาพ (ธุรกิจสปา) และอุตสาหกรรมมารีน่า (ธุรกิจเรือ/ท่าเทียบเรือ) โดยปีงบประมาณ 2561 จังหวัดได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 21 ภูเก็ต จำนวน 3,989,600 บาท และต่อเนื่องปีงบประมาณ 2562 อีก 2,976,000 บาท เพื่อร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาศักยภาพแรงงานด้านธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่

“จังหวัดภูเก็ตหวังว่ากระทรวงแรงงานจะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแรงงานกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการให้มีศักยภาพสูงขึ้น จะส่งผลให้การท่องเที่ยวของจังหวัดสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและบริการในระดับโลก” นายสนิทกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 15/8/2561

ผู้ประกันตน ม.40 จ่ายเงินสมทบผ่านตู้บุญเติมได้แล้ว

นางอำพันธ์ ธุววิทย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้ร่วมกับบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผ่านตู้บุญเติมได้แล้ววันนี้ เพื่อให้บริการผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ที่อยู่ตามตำบล หมู่บ้านที่ไม่มีสาขาธนาคาร และหน่วยบริการที่ให้บริการตั้งอยู่ ด้วยจำนวนตู้ที่ให้บริการชำระเงินมากกว่า 100,000 ตู้ทั่วประเทศ สำหรับขั้นตอนการทำรายการชำระเงินสมทบผ่านตู้บุญเติมนั้น ขอให้ผู้ประกันตนทำตามขั้นตอนที่ปรากฏบนหน้าจอตู้บุญเติม ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดการจ่ายเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 อย่างชัดเจน ไม่ยุ่งยาก และไม่เสียค่าธรรมเนียมการชำระเงินแต่อย่างใด สะดวกที่ไหน จ่ายที่นั้นได้เลย

สำนักงานประกันสังคมยังมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการรับชำระเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ทางเลือก 3 โดยเพิ่มช่องทางและอำนวยความสะดวก ผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เคาน์เตอร์เซ็นเพย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบรับชำระเงินฯ กับสำนักงานประกันสังคมอยู่ หากสามารถดำเนินการรับชำระเงินฯ ได้แล้ว สำนักงานประกันสังคมจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกันตนทราบต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 14/8/2561

'จ๊อบไทย' แนะ 'สวัสดิการต้องเหมาะสม' พนักงานจึงจะอยู่กับองค์กร

การทำงานในยุคปัจจุบันที่มีคนรุ่นใหม่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าคนรุ่นใหม่นั้นมีทัศนคติ และค่านิยมในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่มักมองหาความก้าวหน้า ความท้าทาย และค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นสำคัญ อีกทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้คนรุ่นใหม่ มีทางเลือกในการทำงาน และช่องทางการหารายได้มากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่นิยมมองหางานอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการทำงานประจำอยู่ในองค์กร ซึ่งที่กล่าวมานั้นเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายองค์กรในปัจจุบันต้องปรับวิธีการบริหารพนักงาน รวมถึงหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความผูกพัน และรักษาพนักงานให้รู้สึกอยากทำงานกับองค์กรยาวนานขึ้น เพื่อให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการ เว็บไซต์ จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) ในฐานะผู้นำด้านเว็บไซต์หางาน สมัครงาน อันดับ 1 ของประเทศไทย ที่มีผู้ลงทะเบียนฝากประวัติกว่า 1.4 ล้านคน และมีจำนวนงานจากบริษัทชั้นนำกว่า 90,000 อัตรา ได้แนะนำวิธีการสร้างความผูกพัน และรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร ทั้งในแง่ของวิธีการทำงานและสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งองค์กรสามารถนำไปปรับใช้เพื่อรักษาพนักงานและช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานได้ โดยพบว่ามีวิธีที่น่าสนใจ ดังนี้

- เลือกคนให้ตรงกับงานและเหมาะสมกับองค์กร – ขั้นตอนสำคัญอย่างแรกที่จะช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานก็คือการเลือกคนเข้ามาทำงาน ซึ่งไม่ใช่แค่ดูว่าคนทำงานมีทักษะและความสามารถมากพอกับแต่ละตำแหน่งเท่านั้น แต่การเลือกคนที่มีทัศนคติที่เหมาะสม เป็นไปตามวัฒนธรรมองค์กร และทำงานร่วมกับคนในบริษัทได้ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

- สวัสดิการต้องเหมาะสม - เงินเดือน หรือค่าตอบแทนต่าง ๆ ที่ให้กับพนักงานควรจะมีความยุติธรรม เหมาะสมกับงานที่ต้องรับผิดชอบ อาจจะปรับเพิ่มมากขึ้นเมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่ง และมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งไม่ใช่แค่การขึ้นเงินเดือนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเพิ่มสวัสดิการพิเศษอื่น ๆ ด้วย

- แสดงให้เห็นว่าบริษัทเห็นคุณค่าของพนักงาน - มีวิธีการมากมายที่จะแสดงให้พนักงานเห็นว่าบริษัทนั้นเห็นคุณค่าในตัวพวกเขา เช่น ประกาศหรือให้รางวัลพนักงานดีเด่นประจำเดือนกับคนที่มีความรับผิดชอบ ทำงานสำเร็จลุล่วงได้อย่างดี หรือเป็นที่รักของคนอื่น ๆ ในบริษัท ตลอดจนการให้เกียรติ และเคารพพนักงานในบริษัททุกคน เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าบริษัทมองเห็นและรับรู้ถึงความตั้งใจทำงานของเขา และให้ความสำคัญกับทุกคนอย่างเท่าเทียม

- มีการทำงานที่ยืดหยุ่น – ปัจจุบันคนทำงานให้ความสำคัญกับเรื่องเวลางานที่ยืดหยุ่น และความสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตมากขึ้น เรื่องนี้จึงส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะเลือกเปลี่ยนงานค่อนข้างมาก โดยมีหลายวิธีที่จะช่วยให้พนักงานรู้สึกว่ามีการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น เช่น สามารถเข้างานแบบเก็บเวลาทำงานได้ มีเวลาพักเบรกช่วงบ่าย หรือให้พนักงานออกจากโต๊ะไปนั่งทำงานที่อื่นได้ หากบริษัทคุณไม่มีการยืดหยุ่นเวลาทำงาน หรือจัดสถานที่ทำงานให้กับพนักงานบ้าง ก็มีความเป็นไปได้ที่พนักงานอาจจะลาออกไปหาบริษัทที่มีความยืดหยุ่นกว่า

- พัฒนาศักยภาพ และเพิ่มโอกาสในการเจริญก้าวหน้า - องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งพนักงานไปศึกษาดูงาน อบรม หรือสนับสนุนเรื่องการศึกษาต่อของพวกเขา จะทำให้พนักงานมองเห็นถึงโอกาสในการเจริญก้าวหน้าในการทำงานกับองค์กรนั้นๆ และจะทำให้พวกเขารู้สึกผูกพันและรักองค์กรมากขึ้น

- ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและกิจกรรมของคนในองค์กร - ไม่มีอะไรที่จะทำให้คนทำงานรู้สึกแย่มากไปกว่าบริษัทมีบรรยากาศที่ไม่น่าทำงาน ซึ่งไม่ได้หมายถึงสภาพของสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานด้วย ฝ่ายบุคคลจึงควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นบ้าง และนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพิจารณาว่าจะสามารถนำมาปรับใช้หรือพัฒนาองค์กรได้อย่างไร นอกจากนี้อาจมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ เพื่อให้พนักงานแต่ละแผนกได้ทำความรู้จักและสนิทสนมกันมากขึ้น หากพนักงานรู้สึกมีความสุขที่ได้ทำงานในองค์กรนี้ นอกจากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังช่วยให้พนักงานอยากจะทำงานที่นี่ต่อไปด้วย

จากข้อมูลข้างต้นถือเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่จะช่วยป้องกันและลดอัตราการลาออกของพนักงานที่องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมได้ และสำหรับองค์กรที่ต้องการรับคนเข้าทำงาน สามารถเลือกใช้วิธีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้โดดเด่น ด้วยการเผยให้เห็นว่าองค์กรของคุณเป็นแบบไหน มีวัฒนธรรมองค์กรหรือวิสัยทัศน์อย่างไร ผ่านรูปแบบที่น่าสนใจ เช่น ภาพถ่าย วิดีโอ ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ในขั้นการลงประกาศงาน จะช่วยให้คนหางานมองเห็นองค์กรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดจนการจัดสรรสวัสดิการใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์คนทำงาน ที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่องค์กรทั่วไปมี เพื่อเป็นการดึงดูดให้คนทำงานอยากมาทำงานร่วมกับองค์กรมากขึ้น นางสาวแสงเดือน กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) ยังมีบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อคนทำงานอีกมากมาย โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.jobthai.com

ที่มา: เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์, 14/8/2561

รมว.แรงงานนำคณะพบนายก เตรียมฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อย 625,120 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนำคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมตามโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้และความมั่นคงในชีวิต โดย พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่าได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)กระทรวงแรงงานสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ ฝึกอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย เพื่อส่งเสริมการมีงานทํา การประกอบอาชีพอิสระ การคุ้มครองแรงงาน และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายการประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งในวันนี้ได้นำกิจกรรมและการสาธิตการฝึกอาชีพมาแสดงเพื่อให้เห็นถึงทักษะฝีมือการมีงานทำหรือการประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งโครงการนี้ตั้งเป้าฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อย 625,120 คน

นอกจากนี้ปัจจุบันผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพทางอาชีพเสริมและอาชีพหลักหรือบางส่วนสามารถนำเข้าสู่การจ้างงานในสถานประกอบกิจการได้ เชื่อมั่นว่าผู้เข้ารับการฝึกกว่าร้อยละ 65 จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา: โลกวันนี้, 14/8/2561

ห่วงนายจ้าง-แรงงานต่างด้าวยังไม่เข้าใจกฎหมายใหม่

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ เขียนบทความระบุว่าหลังจากที่ไทยบริหารแรงงานต่างด้าวมาไม่น้อยกว่า 25 ปี ผ่านการบริหารงานมาหลายรัฐบาล จนปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วจากการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติเป็นที่เรียบร้อยและเป็นการนำแรงงานต่างด้าวจากใต้ดินขึ้นมาบนดินได้มากที่สุดอย่างที่รัฐบาลไหนๆ ไม่เคยทำได้มาก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งมีโทษปรับอย่างรุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

จากสถิติกรมการจัดหางาน ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 2.2 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 6 ของกำลังแรงงานไทยที่มีประมาณ 37 ล้านคน ซึ่งนับเป็นการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศและประกอบอาชีพที่คนไทยเคยทำมากกว่า 24 กลุ่มอาชีพ

ความยุ่งยากของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลังการจดทะเบียนสิ้นสุดภายใต้กฎหมายปรับปรุงใหม่ อุปสรรคใหญ่ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องคำนึงต่อไปคือ การปฏิบัติตามกฎหมายใหม่คือ พ.ร.ฎ. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561ให้มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างสัมฤทธิ์ผลให้ได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนต้องมีผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคือ นายจ้างต่างด้าวประมาณเกือบ 4 แสนคนที่จ้างแรงงานมากกว่า 24 ประเภทกิจการ ครอบคลุมคนงานต่างด้าวมากกว่า 2.2 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในส่วนของภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลแรงงานต่างด้าวและนายจ้างจำนวนมากกว่า 2.6 ล้านคน คำถามคือ มีกี่หน่วยงานที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ จะบูรณาการการรับผิดชอบกันอย่างไร มีกำลังที่ได้รับมอบหมายในภารกิจที่ต้องกำกับดูแลมากน้อยเพียงใด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทุกคนและหน่วยงานเข้าใจกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ จากผลของการศึกษาพบว่า ยังมีคนที่เข้าใจกฎหมายใหม่นี้น้อยมาก เอาแค่นายจ้าง 4 แสนคนนี้ก่อนซึ่งจะต้องทำอย่างไรตามขั้นตอนของกฎหมายใหม่ซึ่งบังคับใช้มาไม่กี่เดือน เพราะถ้าเขาผิดพลาดไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายอาจจะถูกปรับถึงขั้นขาดทุนหรือต้องปิดกิจการ

ยกตัวอย่างปัญหาที่จะเกิดขึ้น อาทิ มาตรา 7 นายจ้างเข้าใจอาชีพที่ห้ามต่างด้าวทำโดยเด็ดขาดหรือให้ทำได้อย่างมีเงื่อนไข เป็นต้น มากน้อยเพียงใดเพื่อมิให้ทำงานนอกเหนือจากสิทธิ (มาตรา 8 และ 9) มาตรา 11 นายจ้างต้องแจ้งชื่อ สัญชาติ และลักษณะงานที่ต่างด้าวทำภายใน 15 วันและถ้าคนงานออกจากงานก็ต้องแจ้งเช่นกันและต้องบอกด้วยว่าออกด้วยเหตุผลใดเป็นต้น ซึ่งเวลาขณะนี้ก็ล่วงเลยมาจนครบและเลย 15 วันไปแล้ว

สำหรับแรงงานที่จดทะเบียนไปแล้วนับล้านคน คำถามก็คือทางรัฐได้อำนวยความสะดวกอย่างไร เช่น สามารถแจ้งได้ทางอิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่นๆ และแจ้งให้นายจ้าง 4 แสนคนได้ทราบแล้วอย่างทั่วถึงแล้วใช่หรือไม่ ถ้าตอนนี้ยังแจ้งไม่ครบจะทำอย่างไร กรณีปฏิบัติเดิมผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานบางคนก็ทำหน้าที่แทนนายจ้าง บางคนก็ทำตัวเป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรงแต่มาตรา 41 ที่ดูเหมือนจะไม่อนุญาตให้ทำได้อีกต่อไปซึ่งอาจจะกระทบผู้ประกอบการที่ทำหน้าที่นายหน้าตามกฎหมายเก่า ขณะเดียวกันก็จะมีสถานประกอบการหรือนายจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่เคยใช้บริการแรงงานเหมาช่วงหรือเหมาค่าแรง ผลของมาตรา 41ทางราชการได้เตรียมหาทางออกไว้หรือไม่หรือจะให้นายหน้ากับนายจ้างไปหาทางออกกันเองซึ่งในกรณีนี้ก็น่าจะมีผู้ถูกระทบอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ให้ข้อสังเกตุและแนะนำว่า ควรปรับปรุงขั้นตอนการรายงานในหลายๆ เรื่องต่อทางราชการที่ยังต้องเปลืองทั้งกระดาษและเปลืองเวลา นอกจากนั้น ยังต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ โดยเฉพาะกรุงเทพ ปริมณฑล และภาคกลาง ควรดำเนินการสื่อสารในทุกรูปแบบเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบเนื้อหาของกฎหมายใหม่ที่สำคัญๆ เป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย เป็นสิ่งที่นายจ้างและ/หรือลูกจ้างต่างด้าวควรทราบ อาจจะในรูปของ fact sheets หลายๆ ภาษาให้มีการกระจายดำเนินการไปทุกจังหวัดอย่างเร่งด่วน

ที่มา: MGR Online, 13/8/2561

ทูตไทยรุดเยี่ยมแรงงานไทยเจ็บ เหตุอิสราเอลถล่มฉนวนกาซา

จากกรณี กองทัพอิสราเอลปฏิบัติการถล่มฉนวนกาซา ดินแดนที่ชาวปาเลสไตน์อยู่อาศัย เพื่อตอบโต้การยิงขีปนาวุธ 150 ลูกของกลุ่มนักรบฮามาส ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายคน โดยในจำนวนผู้บาดเจ็บ มีแรงงานไทย รวมอยู่ด้วย

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ออกแถลงการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กแจ้งความคืบหน้ากรณีที่ นางจันทร์เพ็ญ แซ่จ๋าว แรงงานไทย ที่ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา หลังยิงจรวดมาตกยังหน้าที่พักของคนไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงานและผู้แทนได้เข้าเยี่ยม นางจันทร์เพ็ญ ที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีอาการคงที่ และคาดว่าจะฟื้นตัวได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ น.ส.จันทร์เพ็ญ มีอาการดีขึ้นตามลำดับ อยู่ระหว่างพักฟื้นและทำกายภาพบำบัด คาดว่า จะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ในสัปดาห์หน้า โดยเมื่อ น.ส.จันทร์เพ็ญแข็งแรงดีแล้ว สำนักงานฝ่ายแรงงานจะติดตามอาการและติดตามสิทธิประโยชน์ระหว่างหยุดงานพักฟื้น รวมทั้งสอบถามความสมัครใจและความประสงค์ในการทำงานต่อไป

ที่มา: WorkpointNews, 13/8/2561

อนุมัติเงินกู้กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน 10 ล้านบาท ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง แก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ลูกจ้าง

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานมอบเงินกู้กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานให้แก่สหกรณ์ในสถานประกอบกิจการ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานได้มีมติอนุมัติเงินกู้ตามโครงการเงินกู้ เพื่อวิถีแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีตามศาสตร์พระราชาแก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน อี.ดี.ที ลาดกระบัง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เป็นเงิน 10 ล้านบาท เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ที่เป็นลูกจ้างได้กู้ยืมเพื่อนำไปลดภาระหนี้สินนอกระบบหรือหนี้อื่น ๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะเกิดประโยชน์แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในสถานประกอบกิจการดังกล่าว 236 คน

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า โครงการเงินกู้เพื่อวิถีแห่งคุณภาพชีวิตที่ดีตามศาสตร์พระราชา เปิดโอกาสให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจกู้ยืมเงินผ่านกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงานในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี โดยจะปล่อยกู้ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ในรัฐวิสาหกิจสูงสุด ไม่เกินสหกรณ์ละ 10 ล้านบาท เพื่อนำไปให้ลูกจ้างที่มีรายได้น้อยและเป็นสมาชิกสหกรณ์สามารถกู้ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี สหกรณ์ออมทรัพย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน โทรศัพท์ 0 2245 6774 หรือ 0 2246 0383 หรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 13/8/2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net