Skip to main content
sharethis

หลัง 'เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ' จี้ ก. คลัง แจงไร้ผลขาดทุนโครงการจำนำข้าวในรายงานการเงินแผ่นดิน กรมบัญชีกลางเผยเป็นการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินแผ่นดินตามเกณฑ์คงค้างแบบผสม ขณะที่ ธ.ก.ส.เป็นผู้ทำบัญชีเพื่อแสดงต่อรัฐบาลประกอบการขอตั้งงบประมาณ


ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

19 ส.ค. 2561 เว็บไซต์ Voice TV รายงานว่านางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ชี้แจงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ระบุมีข้อสังเกตจากรายงานการเงินแผ่นดินเรื่องผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ไม่มีอยู่จริง ดังนี้

1. หลักการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินแผ่นดินในปัจจุบันเป็นหลักการที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบการปรับเปลี่ยนหลักการจัดทำรายงานการเงินของแผ่นดิน เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 ให้จัดทำตามเกณฑ์คงค้างแบบผสม (Modified Accrual Basis) โดยมีขั้นตอนโดยสรุป ดังนี้

1.1 กรมบัญชีกลางทำบัญชีชุดรัฐบาลโดยบันทึกข้อมูลการรับจ่ายเงินคงคลังของรัฐบาลเป็นหลักด้วยเกณฑ์เงินสด (Cash Basis) ซึ่งประกอบด้วย รายการเงินรายได้แผ่นดิน เงินงบประมาณรายจ่าย และเงินนอกงบประมาณที่ส่วนราชการฝากไว้กับกระทรวงการคลังและจะปรับปรุงบัญชีค้างรับค้างจ่ายตามเกณฑ์คงค้าง (Accrual Basis) เมื่อสิ้นปีงบประมาณ

1.2 กรมบัญชีกลางรวบรวมข้อมูลที่มีสาระสำคัญเฉพาะสินทรัพย์และหนี้สินของรัฐบาลจากส่วนราชการที่ทำหน้าที่บริหารจัดการแทนรัฐบาล ได้แก่ ข้อมูลที่ดินราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ ข้อมูลเงินลงทุนจากสำนักงานรัฐวิสาหกิจ และข้อมูลหนี้สาธารณะจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ตามลำดับ มาปรับปรุงบัญชีชุดรัฐบาล

1.3 กรมบัญชีกลางนำข้อมูลบัญชีตามข้อ 1.1 และ 1.2 แสดงในรายงานการเงินแผ่นดินส่งให้ สตง.ตรวจสอบและรับรอง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2548 เป็นต้นมา

2. โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการที่ใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนินการไปก่อนแล้วรัฐบาลจึงตั้งงบประมาณชดใช้คืนเป็นรายปีจนกว่าจะครบวงเงิน ดังนั้น ธ.ก.ส. จึงเป็นผู้ทำบัญชีโครงการนี้เพื่อแสดงต่อรัฐบาลประกอบการขอตั้งงบประมาณ ธ.ก.ส.จึงไม่ต้องส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมบัญชีกลาง เนื่องจากเป็นรายการที่ไม่ต้องนำมาทำบัญชีในชุดรัฐบาล

อย่างไรก็ดี กรมบัญชีกลางจะรับรู้รายการนี้และลงบัญชีเฉพาะการจ่ายเงินงบประมาณใช้คืนให้ ธ.ก.ส.โดยลงบัญชีเป็นรายจ่ายตามงบประมาณตามปกติในปีที่ ธ.ก.ส. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

3. จากหลักการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินแผ่นดินตามเกณฑ์คงค้างแบบผสม (Modified Accrual Basis) ดังกล่าว จึงไม่มีหรือไม่สามารถมีรายการผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง จำนวน 536,908.30 ล้านบาท ที่ดำเนินการโดย ธ.ก.ส.เป็นรายการบัญชีค่าใช้จ่ายแยกต่างหากในรายงานการเงินแผ่นดินที่กรมบัญชีกลางจัดทำสำหรับปีสิ้นสุด 30 กันยายน 2558และ 2557 ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการบัญชีที่ได้เสนอ ครม.รับทราบ

อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีวาระประชุมรับทราบรายงานการเงินแผ่นดินสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2558 และ 30 ก.ย. 2557 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการเปิดเผยเอกสารประกอบการพิจารณาไว้ด้วยจำนวน 41 หน้า

โดยรายงานการเงินแผ่นดินดังกล่าว ตรวจสอบรับรองโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว และคณะรัฐมนตรีได้มีติรับทราบเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2561 ตามที่ รมว.คลัง เสนอ ซึ่งในรายงานดังกล่าวแสดงไว้ชัดเจนว่า ไม่มีผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 จำนวน 536,908.30 ล้านบาท รวมอยู่ด้วยแต่อย่างใด

อีกทั้ง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง คดีแดงที่ อม. 211/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2560 หรือที่เรียกว่า "คดีโครงการรับจำนำข้าว" ปรากฏว่า ในหน้า 62 ได้ระบุถึงผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท ไว้ด้วย ดังนั้น ผลขาดทุนดังกล่าวหากมีจริง ก็ควรมีอยู่ในรายงานการเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 ด้วยเช่นกัน

แต่ตามข้อมูลที่คณะรัฐมนตรีเสนอ สนช. มีเพียงตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ 301,100.79 ล้านบาท โดยไม่มีเรื่องผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวปรากฏอยู่ในเอกสารทั้ง 41 หน้า ไว้แต่อย่างใดเลย ดังนั้น กรณีดังกล่าว จึงมีข้อสังเกตว่า ผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท ที่ถูกนำไปกล่าวอ้างในคดีนั้น ไม่มีอยู่จริง ใช่หรือไม่

เพราะหากผลขาดทุนจำนวน 536,908.30 ล้านบาท มีอยู่จริงตามข้อมูลที่ปรากฏในคำพิพากษา ผลขาดทุนดังกล่าวก็จะต้องนำไปบันทึกบัญชีไว้ในรายงานการเงินแผ่นดินด้วย ซึ่งจะทำให้มีตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้เป็นจำนวน 536,908.30 + 301,100.79 = 838,009.09 ล้านบาท แต่เมื่อ สตง. ตรวจสอบรับรองแล้ว กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ 

นายเรืองไกร กล่าวว่า ผลขาดทุนที่ใช้ในคดีนั้นเกิดจากการตีค่าคุณภาพข้าวให้เสื่อมกว่าความเป็นจริง แต่ผลจาการตรวจสอบรับรองโดย สตง. ย่อมแสดงว่า ข้าวในขณะนั้นเป็นข้าวดีไม่ได้เสื่อมสภาพแต่อย่างใด ดังนั้น จึงมีเหตุให้คิดตามว่า การที่ต่อมารัฐบาลปัจจุบันมีการนำข้าวดีไปขายเป็นข้าวเสื่อมนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือไม่ และมีใครได้ส่วนต่างจากการขายข้าว หรือไม่ รวมทั้งยังมีข่าวว่า มีข้าวหายอีกกว่า 1 ล้านตันด้วย  

ด้วยเหตุนี้ตนจึงจะไปยื่นหนังสือให้ รมว.คลังได้ตรวจสอบและชี้แจงต่อสังคมว่า เหตุใดในรายงานการเงินแผ่นดิน ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 จึงไม่มีผลขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อผลการตรวจสอบของ สตง. ถูกต้องแล้ว รวมทั้งคณะรัฐมนตรีและ สนช. รับทราบไปแล้วนั้น ย่อมแสดงว่า ผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ณ วันที่ 30 ก.ย. 2557 จำนวน 536,908.30 ล้านบาท นั้น ไม่มีอยู่จริง ใช่หรือไม่ และจะขอให้ตรวจสอบข้าวหายอีกกว่า 1 ล้านตันด้วย โดยจะไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 ในวันที่ 20 ส.ค. นี้ เวลา 10.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net