สุรพศ ทวีศักดิ์: ต่อต้านเผด็จการเป็น ‘หน้าที่’ หรือไม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เห็นถกเถียงกันทางเฟสบุ๊คว่าการต่อต้านเผด็จการเป็น “หน้าที่” หรือไม่? เท่าที่จับประเด็นได้คือ ผู้ที่เห็นว่าการต่อต้านเผด็จการ “ไม่ควรถือเป็นหน้าที่”  ให้เหตุผล (ประมาณ) ว่า หลายคนแม้จะตระหนักว่าเผด็จการไม่ถูกต้อง แต่เขาก็ไม่พร้อมที่จะเสี่ยงชีวิตครอบครัวและชีวิตการงาน เพราะอย่างที่เห็นใครที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการ ก็มักจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามสร้างความหวาดกลัวแก่ครอบครัว ถูกกดดันจากที่ทำงาน คนในครอบครัวญาติมิตร เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาส่วนหนึ่งก็มองเขาเป็น “ตัวสร้างปัญหา” หรือสร้างภาระยุ่งยากให้ครอบครัว และยังมองว่าความคิดและบทบาทบางอย่างของเขากระทบความมั่นคงของที่ทำงานเป็นต้น

ตัวอย่างที่เราเห็น (ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว หรือเป็นข่าวเพียงในสื่อกระแสรอง) มีหลายคนถูกคุกคาม สูญเสียอิสรภาพ ติดคุก บาดเจ็บล้มตาย หนีไปต่างประเทศ ชีวิตครอบครัวพัง งานพัง เมื่อราคาที่ต้องจ่ายในการต่อต้านเผด็จการมหาศาลเช่นนี้ และแต่ละคนก็มีภาระรับผิดชอบครอบครัว ซึ่งสัมพันธ์กับการต้องมีงาน มีเงิน มีสังคมและอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยากจะเป็นฮีโร่ หากถือว่าการต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่ ย่อมเป็นการกดดัน หรือเรียกร้องการเสียสละจากปัจเจกบุคคลมากไปหรือเปล่า

ส่วนตัวผมไม่ชอบวลีว่า  “ไม่มีใครอยากจะเป็นฮีโร่” เท่าไร เพราะมันสะท้อน “โทนเสียง” จากความรู้สึกบางอย่างมากกว่าจะสะท้อนเหตุผล

ตามความจริงทางประวัติศาสตร์และปัจจุบัน คนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการด้วยอุดมการณ์ก็ไม่เคยประกาศตนเป็นฮีโร่ การประกาศตนเป็นฮีโร่ดูเหมือนจะเป็นวิถีของเผด็จการมากกว่า เช่น “ข้าพเจ้าคือรัฐ” “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” หรือ “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” เป็นต้น

แต่วิถีต่อต้านเผด็จการหรือวิถีแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย มันคือวิถีของปวงชนที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยคนโนเนมจำนวนมากที่ลุกขึ้นสู้ ไม่ใช่ด้วยฮีโร่คนใดคนหนึ่ง หากจะมีใครถูกยกย่องในฐานะผู้นำทางความคิดและการเคลื่อนไหว นั่นก็เพราะการยอมรับของมวลชนในช่วงเวลานั้นๆ และบางครั้งก็มักจะเป็นคนรุ่นหลังยกย่องใครบางคนหลังจากที่เขาตายไปแล้ว

ส่วนที่ว่าคนที่ต่อต้านเผด็จการต้องเสี่ยงต่อการพังทลายของชีวิตครอบครัว การงาน กระทั่งสูญเสียอิสรภาพและชีวิต นี่ก็เป็นความจริงตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติอยู่แล้ว และก็เป็นความจริงเช่นกันว่าหากไม่มีคนจำนวนหนึ่งที่ถือว่าการต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่ สังคมมนุษย์ก็คงไม่สามารถสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยขึ้นมาได้ เพราะไม่มีสังคมไหนในโลกที่ให้กำเนิดเสรีภาพและประชาธิปไตยขึ้นมาได้ โดยไม่มีการต่อสู้ หรือต่อต้านเผด็จการในมิติต่างๆ ด้วยวิธีการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ความเหลวไหล ผิดเพี้ยนของบ้านเราคือ มีคนจำนวนไม่น้อยแสดงออกว่า การหยุดกระบวนการประชาธิปไตย หรือ “หยุดการเลือกตั้ง” เพื่อ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เป็นเรื่องของ “สิทธิ” หรือเสรีภาพทางการเมือง แต่ความจริงคือ ถ้าเราเชื่อได้ว่า “กลุ่มสามมิตร” ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ คสช.เราก็คงเชื่อได้เช่นกันว่า การบอยคอตการเลือกตั้งและการชุมนุมทางการเมืองเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ “อำนาจนอกระบบ” ที่ทำรัฐประหาร แต่ความเชื่อเช่นนี้ตรงกับความเป็นจริงอย่างไรหรือ

ประเด็นที่ต้องชัดเจนคือ เราไม่มีสิทธิหรือเสรีภาพในการสนับสนุนรัฐประหาร ซึ่งเป็นการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ เหมือนกับเราไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกเป็นทาส เพราะผลที่ตามมาจากการเลือกคือการสิ้นสุดเสรีภาพ

(ที่เขียนข้างบนเป็นคนละอย่างกับเสรีภาพในการสนับสนุนอุดมการณ์ฝ่ายขวาหรืออุดการณ์ใดๆ ที่ขัดกับประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่การยอมรับและสนับสนุน “การใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ” หรือรัฐประหาร)

ความผิดเพี้ยนของความเชื่อที่ว่าการยอมรับและสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพเป็น “สิทธิ” หรือเสรีภาพทำให้เกิดความผิดเพี้ยนอื่นๆ ตามมาเป็นขบวนยาวเหยียด เช่น การเลือกข้างที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมมันก็ไม่ได้มีความหมายเป็น “การเลือกอย่างแท้จริง” เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ อีกฝ่ายที่เลือกการเลือกตั้ง และเลือกเสรีภาพและประชาธิปไตยย่อมไม่มีเสรีภาพในการเลือก เพราะถูกบังคับให้เดินตามกฎของฝ่ายที่ล้มล้างเสรีภาพ แม้แต่ฝ่ายที่เลือกสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพก็ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองอีกต่อไป

การเลือกในทางการเมืองจะมีความหมายเป็นการเลือกอย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเป็นการเลือกภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรมเท่านั้น

ยิ่งการอ้างกฎหมาย เคารพกฎหมาย ความเสมอภาคทางกฎหมายภายใต้อำนาจ คสช.ว่าเป็นการเดินตาม “หลักนิติรัฐ” ยิ่งผิดเพี้ยนไปกันใหญ่ เพราะหลักนิติรัฐมีได้ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

กล่าวโดยรวมคือ เมื่อเริ่มจากความผิดเพี้ยนที่ถือว่า การใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพเป็นความถูกต้อง การเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผิด หลักนิติรัฐ ความยุติธรรม กฎหมาย ศีลธรรมก็ย่อมถูกตีความและถูกใช้อย่างวิปริตผิดเพี้ยนตามมา ดังที่เห็นรูปธรรมชัดชัดเจนในปัจจุบัน

ดังนั้น คำถามที่ว่าต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่หรือไม่? จึงสัมพันธ์กับคำถามพื้นฐานที่สุดคือคำถามที่ว่า การปกป้องเสรีภาพถือเป็นหน้าที่หรือไม่?

เราจะจินตนาการถึง “สังคมที่มีเสรีภาพ” ได้อย่างไร ถ้าสังคมนั้นไม่ถือว่าการปกป้องเสรีภาพคือหน้าที่ของรัฐและปัจเจกบุคคล เพราะการมีเสรีภาพคือการปฏิเสธอำนาจเผด็จการของรัฐ หรือของเสียงข้างมากในสังคมที่อ้างความเชื่อทางศาสนา ประเพณีหรือความเชื่ออื่นใดในการครอบงำ แทรกแซง ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การปกป้องเสรีภาพจากเผด็จการทุกมิติจึงเป็นหน้าที่ของบุคคลหรือสังคมที่ต้องการเสรีภาพดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องที่นาย ก.เรียกร้องต่อนาย ข.ว่า คุณมีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพนะ แต่ “ตัวหลักเสรีภาพ” มันเรียกร้องหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพจากทุกคนที่เชื่อ เห็นคุณค่า หรือยืนยันว่าสังคมการเมืองของเราควรมีเสรีภาพ มันจึงเป็นเรื่องที่เราแต่ละคนจะประเมินว่าตนเองจะปกป้องเสรีภาพภายใต้บทบาท เงื่อนไข และบริบทของตนเองอย่างไร จะมีส่วนร่วมกับคนอื่นๆ อย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะเรียกร้องให้คนอื่นวิ่งเอาหัวชนกำแพงเหล็ก

แต่คงไม่มีใครที่เชื่อจริงๆ หรือยืนยันว่าสังคมการเมืองของเราควรมีเสรีภาพ แล้วนิ่งเฉย ไม่อินังขังขอบกับการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ หรือการละเมิดเสรีภาพโดยอำนาจรัฐและอื่นๆ หากเขาเชื่อหรือยืนยันเช่นนั้นจริงๆ และไม่ขัดแย้งในตัวเอง เขาย่อมต่อต้านเผด็จการหรือต่อสู้เพื่อเสรีภาพภายในบริบท เงื่อนไข และบทบาทต่างๆ ที่เขาสามารถทำได้ที่ว่า “สามารถทำได้” และ “ทำได้โดยปลอดภัย” แปลว่ามันมีอะไรให้ทำและช่องทางที่จะทำกันได้มากกว่าที่เป็นมาและเป็นอยู่ โดยเฉพาะปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชนย่อมมีสถานะ บทบาท และช่องทางจะทำได้หลากหลายกว่าคนระดับชาวบ้านอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่าคนระดับชาวบ้านทำมากกว่า จนหลายคนต้องตายและติดคุก สู้คดียังไม่จบ บาดเจ็บ พิการ

ทว่าปัญญาชน นักวิชาการ สื่อจำนวนไม่น้อยที่เคยพูด เขียนเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยกลับยอมรับความชอบธรรมของรัฐประหาร หรือยอมรับและสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพทั้งโดยตรงและโดยปริยาย บางคนก็เข้าไปรับตำแหน่งในรัฐบาลจากรัฐประหาร คนพวกนี้ชี้นิ้วว่าปัญหาประชาธิปไตยเกิดจากคนระดับชาวบ้านที่ขาดการศึกษา แต่จนป่านนี้หลายๆ นอกจากจะไม่ตระหนักว่าตนเอง “ไม่มีเสรีภาพในการสนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างเสรีภาพ” พวกเขายังคงพูด เขียนสนับสนุน เชียร์อำนาจจากรัฐประหารกันต่อไป

กลายเป็นว่า คนจำนวนหนึ่งทำ “หน้าที่” สนับสนุนระบบอำนาจที่ล้มล้างเสรีภาพ และระบบอำนาจนั้นก็กำหนดค่านิยม การศึกษา ศีลธรรม กฎหมาย และอื่นๆ เพื่อปลูกฝังกล่อมเกลาประชาชนให้มี “หน้าที่” สนับสนุนหรือปกป้อง “ความมั่นคง” ของระบบอำนาจเช่นนั้น

ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้ามีใครแสดงออกให้เห็นว่าการต่อต้านเผด็จการเป็นหน้าที่ เพราะการปกป้องเสรีภาพจากอำนาจเผด็จการเป็นหน้าที่ ผมย่อมเคารพและค้อมหัวให้กับความชัดเจนและกล้าหาญของเขาอย่างจริงใจ เพราะยิ่งเรารู้สึกถึงความวิปริตผิดเพี้ยนของวิถีคิดและขบวนการล้มล้างเสรีภาพมากเพียงใด เรายิ่งเห็นคุณค่าของสำนึกปกป้องเสรีภาพมากเพียงนั้น  

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท