Skip to main content
sharethis

ตม.ปัตตานีบุกจับแรงงานพม่าและนักท่องเที่ยวจิตอาสาสอนหนังสือเด็ก ระบุทำงานนอกเหนือที่กฎหมายอนุญาต ด้านทนายชี้เป็นงานจิตอาสาไม่ได้รับค่าจ้าง แต่ทาง ตม.กลับบอกว่ากินข้าววัดเท่ากับรับผลตอบแทน บันทึกชุดจับกุมระบุว่าแจ้งสิทธิตามขั้นตอน สวนทางกับล่ามที่บอก ‘ไม่มีการแจ้งสิทธิใดๆ’

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองปัตตานีจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานี (ตม.ปัตตานี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 4 ตำรวจท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่กรมจัดหางาน บุกเข้าสำนักสงฆ์แหลมนก ตำบลบานา อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อจับกุมคนงานหญิงชาวเมียนมา 2  คนซึ่งใช้เวลายามว่างจากการทำงานประจำมาเป็นอาสาสมัครสอนหนังสือให้กับลูกหลานคนงานข้ามชาติกว่า 80 คน

ชุดจับกุมกล่าวหาว่าทั้งสองทำงานนอกเหนือจากที่กฎหมายอนุญาต คนงานทั้งสองถูกสั่งให้ลงนามในเอกสารภาษาไทยที่ตนอ่านไม่เข้าใจ ถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงินคนละ 5,000 บาท และจะถูกส่งกลับประเทศในวันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2561 นี้ รวมทั้งจะถูกสั่งห้ามเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกเป็นเวลา 2 ปีตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีชาวเมียนมาที่ถือวีซ่านักท่องเที่ยวและขอเข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอนที่วัดถูกจับปรับในข้อหาเดียวกันและรอการส่งกลับ

ผู้ที่ถูกจับกุมและเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้แก่ MRS.NYEIN MOH MOH HLAING สัญชาติเมียนมา อายุ 25 ปี แรงงานช่างทาสี MRS.THAN THAN MYAING สัญชาติเมียนมา อายุ 43 ปี แรงงานต่อเนื่องประมงทะเล และ MR.HTEINN LIN AUNG สัญชาติเมียนมา อายุ 34 ปี นักท่องเที่ยว โดยขณะนี้ทั้งสามคนถูกควบคุมตัวอยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีเพื่อรอส่งกลับ

ทนายคัดค้านส่งกลับ-ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ

คอรีเยาะ มานุแช ทนายความเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีคนแจ้งว่ามีคนต่างด้าวที่สำนักสงฆ์ จึงสนธิกำลังกันเข้าไปจับกุม พบตอนสอนหนังสือ แต่เนื่องจากเป็นต่างด้าวสอนหนังสือไม่ได้ ผิดกฎหมาย จึงจับกุม แต่ตนคิดว่าการเป็นอาสาสมัครไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีการบังคับบัญชา จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และ พ.ร.ก.การบริหาจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปัตตานี อ้างว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องทุกอย่างแล้ว ผู้ต้องหาเสียค่าปรับ รอส่งกลับ

“เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองยังบอกว่ากินข้าววัดก็ถือว่าทำงานแล้ว” คอรีเยาะ กล่าว

“เราต้องการสู้ให้นำผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการปกติ ให้ตำรวจมาสอบ แล้วส่งอัยการ ไม่ใช่อาศัยที่เขาอ่านภาษาไทยไม่ได้ ลงลายมือชื่อปุ๊บปั๊บแล้วจะส่งเขากลับ เราจะสู้ว่ากระบวนการนี้ไม่ถูกต้อง ให้มีการสืบสวนเรื่องนี้ใหม่ เพราะนายจ้างก็ยืนยันได้ว่ามีงานประจำและมาอาสาสอนหนังสือเด็กๆ สั้นๆ ระหว่างพักงาน ทั้งสองคนอยู่ปัตตานีมาประมาณสิบปีแล้ว ทางเราทำหนังสือให้ระงับการส่งกลับไปตั้งแต่วันที่ 17 แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลเป็นอย่างไร” ทนายความเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าว

บันทึกชุดจับกุมระบุปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย

ด้านบันทึกการจับกุมของชุดจับกุมระบุว่า ทางชุดจับกุมได้มีการแจ้งสิทธิต่างๆ ให้แก่ผู้ต้องหาทั้งสามคนรับทราบ และยังได้ประสานให้ MS.THITAR OO อายุ 31 ปี ชาวเมียนมา เป็นล่ามแปลและอ่านบันทึกการจับกุมให้ฟัง และผู้ถูกจับกุมเข้าใจดีแล้วและรับว่าถูกต้อง พร้อมลงรายชื่อไว้เป็นหลักฐาน

ในบันทึกการจับกุมยังระบุด้วยว่า ผู้ถูกจับกุมให้การรับสารภาพว่า ตนเองสอนหนังสือเด็กที่สถานที่ดังกล่าวโดยมีเด็กนักเรียนสัญชาติเมียนมาประมาณ 80 คน โดยตนเองสอนวิชาภาษาเมียนมาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน วิชาคณิตศาสตร์ สอนวันละ 4 ชั่วโมง ทำการสอบมาแล้วประมาณ 2 เดือน

ทางประชาไทสอบถามไปยัง พ.ต.ท.ธีร์รชสิษ เจี่ยงเพ็ชร สารวัตรตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดปัตตานี ว่าผู้อยู่ในเหตุการณ์บอกว่าไม่มีการแจ้งสิทธิใดๆ และผู้ต้องหาก็เซ็นชื่อโดยไม่รู้เนื้อหาในเอกสาร ทาง พ.ต.ท.ธีร์รชสิษ  กล่าวว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การจับกุม ไม่สามารถตอบได้

ส่วนที่ว่าการสอนหนังสือเป็นงานจิตอาสาไม่ได้รับค่าจ้างจึงไม่น่าผิดกฎหมาย พ.ต.ท.ธีร์รชสิษ กล่าวว่า นั่นเป็นข้ออ้างของผู้ต้องหา ถ้าคิดว่าไม่ผิด ก็ต้องไปต่อสู้ในชั้นศาล

เมื่อถามว่าทางทนายบอกว่าชุดจับกุมได้ให้ผู้ต้องหาก็เซ็นชื่อโดยไม่รู้เนื้อหาในเอกสารและจ่ายค่าปรับ 5,000 บาทไปแล้วโดยไม่ผ่านกระบวนการทางศาล พ.ต.ท.ธีร์รชสิษ กล่าวเพียงว่าเป็นเรื่องของขั้นตอนการปฏิบัติ หากผู้ต้องหาจะทักท้วงก็ต้องดำเนินการตั้งแต่ต้น ซึ่งขณะนี้กระบวนการได้เลยจุดนั้นมาแล้ว ตนเพียงแต่ทำหน้าที่รับตัวและดำเนินการไปตามขั้นตอนปกติตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งมา

ล่ามยันไม่มีการแจ้งสิทธิ-ผู้ต้องหาเซ็นเอกสารทั้งที่ไม่เข้าใจเนื้อหา

อย่างไรก็ตาม MR.Thitar OO ที่ปรึกษาของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการที่ตั้งในโรงธรรมของสำนักสงฆ์แห่งนี้ กล่าวกับประชาไทว่า ทางชุดจับกุมไม่มีการแจ้งข้อกล่าว ไม่มีการแจ้งสิทธิ์ และไม่ได้อ่านบันทึกจับกุมให้ผู้ต้องหาทั้งสองฟัง

“เขาให้เซ็นต์เฉยๆ ไม่แจ้งสิทธิ์ให้ฟังว่ามีสิทธิ์แบบไหนในคดีนี้ เซ็น จ่ายคาปรับ แล้วไปโรงพัก ที่โรงพักก็มีร้อยเวรมาเขียนบันทึกประจำวัน แต่เราไม่เซ็นเพราะไม่ได้อ่านหรือแปลให้ผู้ต้องหาฟัง แล้วไม่มีทนายเลย ตอนไปถึงเวลา 18.00 น. จ่ายค่าปรับเลย ไม่จ่ายก็ติดคุก จ่ายเสร็จประมาณ 18.30 เจ้าหน้าที่บอกว่าจะส่งไป ตม. แล้วก็พาไป พาสปอร์ต ใบเสร็จ ตม. ยึดหมด ไม่มีขั้นตอนสอบปากคำ” ที่ปรึกษาของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการฯ กล่าว

MR.Thitar OO ยืนยันว่าไม่ได้ไปสถานีตำรวจในฐานะล่าม เพียงแต่ทำหน้าที่สื่อสารให้

“การแจ้งสิทธิ์ไม่ได้แจ้ง เข้าไปถึงสำนักสงฆ์ เขาให้ขึ้นรถ ตม. เลย เราก็ตามมาใกล้ๆ จับต่อหน้าเด็ก จุดที่จับไม่ได้คุยอะไรเลยด้วยซ้ำ จับเสร็จก็ถ่ายรูป แล้วพาไป ตม. เขาไม่ได้ให้อ่านให้ฟัง บันทึกนี้คือที่ ตม. แจ้งข้อกล่าวหานี้ เราไม่ได้ไปในฐานะล่าม แต่ไปในฐานะคนดูแลศูนย์ ก็สื่อสารให้ แต่ตำรวจไม่อธิบายอะไร เราก็ไม่ได้อ่านให้ฟัง ไม่มีโอกาสให้เราอ่าน เขาให้เซ็น แล้ว ตม. ก็พลิกหน้าไปให้เราเซ็นตรงนี้ ผู้ต้องหาก็เซ็น

“เจ้าหน้าที่บอกว่าคุณผิด ผิดอย่างเดียว กินข้าวที่วัดก็ผิด เราได้พยายามชี้แจง แต่ ตม. ไม่ฟัง เราเข้าใจว่าที่ ตม. จับแล้วต้องส่งให้ตำรวจสอบปากคำอีกทีหนึ่ง เขาไม่ได้ถามว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ไม่ได้ยินเลย ทุกฝ่ายบอกว่าผิดอย่างเดียว

“เราตามไปถามว่าเขาทำผิดอะไร ทำจิตอาสาผิดด้วยเหรอ เขาบอกว่าผิด กินข้าววัดก็ผิด การตอบแทนที่ไม่ใช่เงินก็ผิดแล้ว เราแค่ไปเจรจากับ ตม. ว่าเขาไม่ได้ทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา ไม่ได้เข้าไปในฐานะล่าม แค่สื่อสารให้เข้าใจ เขาถามนิดเดียว พระให้กินข้าวกี่มื้อ สอนกี่โมงถึงกี่โมง ได้รับค่าจ้างจากไหน ไม่มี เขาก็ไม่ได้พิมพ์ลงไป ไม่ได้กินเพราะเอาข้าวมาเอง นักท่องเที่ยวได้กินข้าวที่วัด เขาติดตามพระมา แค่จะยืนยันว่าอาสาสมัครสองคนนนี้ไม่ได้ทำงาน” MR.Thitar OO กล่าว

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาชี้งานจิตอาสาไม่ผิดกฎหมาย

ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ระบุว่า คนงานหญิงทั้งสองคนมีพาสปอร์ต วีซ่า และใบอนุญาตทำงานถูกต้องครบถ้วน โดยนายจ้างของคนงานคนหนึ่งได้มายืนยันกับตำรวจว่าตนเป็นนายจ้างตามกฎหมายและอนุญาตให้คนงานหยุดจากงานทาสีเรือเนื่องจากกำลังตั้งครรภ์ รวมทั้งเจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ฯ ก็ยังให้การรับรองด้วยว่า คนงานทั้งสองทำกิจกรรมนี้โดยเป็นจิตอาสาและไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ดังนั้น การเข้าร่วมกิจกรรมอาสาของคนงานทั้งสองจึงไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายใดๆ ในประเทศไทย ทั้งคนงานและนักท่องเที่ยวจึงไม่ควรถูกดำเนินคดีใดๆ ทั้งสิ้น

การเรียนการสอนให้ลูกหลานคนงานข้ามชาติในสำนักสงฆ์บ้านแหลมนกได้ดำเนินการมากว่า 4 ปีแล้ว เนื่องจากชุมชนเล็งเห็นปัญหาลูกหลานคนงานที่ถูกปล่อยทิ้งตามลำพังระหว่างที่พ่อแม่ไปทำงาน เสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ตลอดจนการถูกละเมิดในรูปแบบอื่นๆ ดังนั้น คณะกรรมการสำนักสงฆ์จึงมีมติให้ใช้พื้นที่วัดเปิดการเรียนการสอนให้กับเด็กอายุ 4-14 ปี อันเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมตามช่วงวัย ได้เรียนรู้ทั้งภาษาและวัฒนธรรมไทยและของประเทศต้นทาง โดยได้รับเงินบริจาคจากชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นค่าอาหารกลางวันและวัสดุอุปกรณ์ ในขณะที่การเรียนการสอนต้องอาศัยคนงานที่มีจิตอาสาและนักศึกษาในพื้นที่ การดำเนินการเรียนการสอนนี้เป็นที่รับรู้ของข้าราชการและหน่วยงานในพื้นที่มากมาย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สาธารณสุขจังหวัด และเหล่าคณาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตจังหวัดปัตตานี

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางเครือข่ายประชากรข้ามชาติและ มสพ. จึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องดังนี้

1.สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีต้องยุติการส่งกลับและปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาโดยทันที

2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะจัดทำแนวปฏิบัติในการเข้าตรวจค้นจับกุมและดำเนินคดีต่อแรงงานข้ามชาติตาม พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้ชัดเจน รวมทั้งทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่จะได้รับตามกฎหมายและตามหลักกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการมีสิทธิได้พบที่ปรึกษาทางกฎหมายและการอนุญาตประกันตัวระหว่างดำเนินคดี ทั้งนี้การดำเนินการตามกระบวนการต้องไม่เป็นไปอย่างรีบเร่ง ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงการพิจารณาคดีในชั้นศาล

3.กรมการจัดหางานควรกำหนดแนวปฏิบัติและมาตรการในการดำเนินการตรวจค้นกรณีใบอนุญาตทำงานและทำงานตามสิทธิที่มีความกฎหมายให้ชัดเจน รวมทั้งพิจารณาในเรื่องการทำงานและการทำกิจกรรมในฐานะอาสาสมัครให้ชัดเจน

มีแรงงานชาวพม่าในปัตตานีกว่า 7 พันคน

สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนมีนาคม 2561 โดยสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ประกอบด้วยเมียนมา ลาว และกัมพูชา ณ เดือนมีนาคม 2561 ที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 59 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,953,385 คน แบ่งเป็นประเภทพิสูจน์สัญชาติ 1,315,615 คน และประเภทนำเข้าตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศต้นทาง 637,770 คน แรงงานกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ทำงาน 2 ตำแหน่งคืองานกรรมกรและงานรับใช้ในบ้านใน 24 ประเภทกิจการ

โดยแรงงานประเภทพิสูจน์สัญชาติได้รับอนุญาตให้ทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรกคือกิจการก่อสร้าง 230,331 คน กิจการเกษตรและปศุสัตว์ 171,878 คน และกิจการการให้บริการต่างๆ 154,941 คน ส่วนแรงงานนำเข้าตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศต้นทางได้รับอนุญาตให้ทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ กิจการก่อสร้าง 107,074 คน กิจการต่อเนื่องการเกษตร 96,637 คน กิจการการให้บริการต่างๆ 85,257 คน

ทั้งนี้ มีแรงงานต่างด้าวมาตรา 59 ประเภทพิสูจน์สัญชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือที่เป็นชาวเมียนมาในจังหวัดปัตตานีรวม 7,221 คน และมีแรงงานต่างด้าวมาตรา 59 ประเภทนำเข้าตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศต้นทางที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือที่เป็นชาวเมียนมาในจังหวัดปัตตานีรวม 31 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net