Skip to main content
sharethis

ศาลแขวงเชียงใหม่นัดพร้อมเพื่อถามคำให้การ 5 จำเลยในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อปี 60 ซึ่งถูกทหารแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ภาพชูป้ายที่มีข้อความ 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ที่มาภาพ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.

20 ส.ค.2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 9.00 น. ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ นัดพร้อมฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้ง 5 คน ในคดีติดป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเพื่อสอบถามคำให้การ โดยก่อนจะถามคำให้การจำเลย ศาลได้อ่านคำฟ้องของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 61 ให้จำเลยฟัง และได้สอบถามว่าจำเลยทั้ง 5 คน จะให้การอย่างไร ด้านจำเลยทั้ง 5 คน ยืนยันขอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้นศาลสอบถามจำนวนพยานของฝ่ายโจทก์และจำเลยที่จะนำเข้ามาสืบ อัยการโจทก์ระบุมีพยานบุคคลจำนวน 11 ปาก และพยานเอกสารอีกจำนวนหนึ่ง ด้านทนายจำเลยระบุว่าฝ่ายจำเลยมีพยานบุคคลจำนวน 15 ปากและพยานเอกสารอีกส่วนหนึ่ง อีกทั้งทนายจำเลยได้แถลงขอศาลให้มีกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานเพื่อตรวจดูพยานหลักฐานของโจทก์ที่ยื่นเข้ามาในคดีก่อน โดยอัยการโจทก์ยังไม่ได้ยื่นสำเนาเอกสารพยานหลักฐานเข้ามาภายในสำนวน จึงขอเวลา 1 อาทิตย์ในการจัดส่งสำเนา นอกจากนั้นโจทก์ยังมีการยื่นซีดีบันทึกภาพกล้องวงจรปิดและภาพถ่ายเข้ามาเป็นพยานหลักฐานด้วย ศาลและคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย จึงได้ตกลงกำหนดวันนัด เพื่อตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 ก.ย. 61 เวลา 9.00 น.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ รายงานด้วยว่า ตลอดการพิจารณาในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาจากหลายภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่จากสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา นักวิชาการ และประชาชนที่มาให้กำลังใจ อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยสังเกตการณ์อยู่ภายนอกศาลด้วย

สำหรับคดีนี้มี ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวหาทั้งห้าคน โดยหลังจากเหตุการณ์ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษาและการกล่าวหาดำเนินคดี ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จนอัยการเจ้าของสำนวนและอธิบดีอัยการภาค 5 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีในที่สุด

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 5 คน ประกอบด้วย 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

ย้อนไทม์ไลน์คดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิฯ ระบุว่า มูลเหตุของคดีในวันนี้ ต้องย้อนกลับไปราวหนึ่งปีกว่าๆ เมื่อช่วงวันที่ 15-18 ก.ค. 2560 ที่มีการจัดการประชุมวิชาการไทยศึกษา ซึ่งเป็นเวทีวิชาการนานาชาติที่มีนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมนำเสนอและรับฟังการเสนอผลงานทางวิชาการด้านไทยศึกษา งานจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ จ.เชียงใหม่

18 ก.ค. 2560 มีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในงานโดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงานและไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน โดยที่ระหว่างที่ป้ายดังกล่าวติดอยู่และมีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวเป็นจำนวนมากด้วย โดยจำเลยทั้งห้าก็ได้ถ่ายภาพในท่าชูสามนิ้ว ซึ่งทั้งการติดป้ายและการชูสามนิ้วกลายเป็นเหตุที่นำไปสู่การตั้งข้อกล่าวหาในอนาคต

ต่อมา ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เมื่อ 15 ส.ค. 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ช้างเผือก ได้ออกหมายเรียกนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ที่ปัจจุบันกลายสภาพเป็นจำเลยไปแล้ว ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษา

เมื่อ 21 ส.ค. 2560  พ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก แจ้งข้อหาต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ทั้งยังแจ้งว่าหากผู้ต้องหาทั้งห้าสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน แต่ผู้ต้องหาทั้งห้าให้การปฏิเสธข้อหา และยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 1 ก.ย. ปีเดียวกัน

11 ก.ย. 2560 สืบเนื่องจากมติที่ประชุมของจังหวัดเชียงใหม่ (8 ก.ย.) กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่แจ้งความผู้ต้องหาทั้งห้า และได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ซึ่งผู้ต้องหาก็ไปตามนัด จากนั้นอัยการศาลแขวงเชียงใหม่ก็เลื่อนฟังคำสั่งคดีจนรับฟ้องในวันนี้

คดีนี้เป็นที่จับตามองจากองค์กรระหว่างประเทศ ประชาสังคมและนักวิชาการจำนวนมาก มีแถลงการณ์หลายฉบับที่ออกมาเพื่อเรียกร้องให้ถอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาทั้ง 5 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net