Skip to main content
sharethis

รองนายกรัฐมนตรีเผยผลหารือกับ กกต. ระบุกลางเดือน ก.ย. คลายล็อคพรรคการเมือง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้วิธีใดแทนไพรมารีโหวต ชี้เรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งที่คัดเลือกมาแล้ว ไม่สามารถยกเลิกได้ เชื่อตอนนี้ยังไม่มีอะไรทำให้การเลือกตั้งช้ากว่า ก.พ. 62

วิษณุ เครืองาม แฟ้มภาพเว็บไซต์รัฐบาลไทย

20 ส.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เดินทางมาที่สำนักงาน กกต. เพื่อประชุมร่วมกับ กกต.ชุดใหม่ โดยมี พงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน กกต. ร่วมประชุม ซึ่งก่อนการประชุมวิษณุได้มอบดอกไม้แสดงความยินดีพร้อมอวยพรกกต.ชุดใหม่ โดยกล่าวว่า ชื่นชม เอาใจช่วย และปวารณาตัวที่จะให้ความร่วมมือ กกต. ทุกประการ ขณะที่ อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวขอบคุณ และยืนยันว่า กกต. ทุกคนขอปวารณาตัวทำงานเต็มที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมือง 

กลางเดือน ก.ย. คลาย 6 ล็อคพรรคการเมือง

ภายหลังการหารือกว่า 1 ชั่วโมง วิษณุ กล่าวว่า ได้หารือกับ กกต. 10 ประเด็น ซึ่งต่อยอดจากการประชุมจากเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นที่จะทำใน 90 วันก่อนที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) มีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในกลางเดือน ก.ย. ประเด็นที่จะทำให้ได้คือการคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ 6 อย่างโดยไม่ต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่น การจัดประชุมใหญ่ เปิดรับสมาชิกใหม่ จัดตั้งสาขาพรรคการเมือง การประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคการเมือง การทำในสิ่งที่คล้ายการทำไพรมารีโหวตที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง เพราะหากทำตามกฎหมายพรรคการเมืองจะมีความยุ่งยาก จึงจะดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทน แต่แนวทางยังไม่ได้สรุปในเวลานี้ และจะรวบรวมเสนอ คสช.พิจารณาแก้ไขต่อไป

สำหรับ มาตรา 45 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกําหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกําหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกําหนดมาตรการให้สามารถดําเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงําหรือชี้นํา โดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกํากับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมือง กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

วิษณุ กล่าวต่อว่า การแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอการประชุมร่วมกันระหว่าง กกต. คสช.และพรรคการเมืองรอบที่ 2 ในช่วงเดือน ก.ย. โดยการแก้ไขคำสั่งสามารถทำได้ 2 วิธีคือออกคำสั่งแก้ไขคำสั่งที่ 53/2560 หรือออกคำสั่งใหม่แก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าคำสั่งใหม่จะออกมาเมื่อใด แต่การปลดล็อกพรรคการเมืองทั้งหมดจะมีขึ้นหลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ ซึ่งอยู่ในช่วง 150 วัน ที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญกำหนด

ถ้าเลือกตั้งเร็วสุดเวลาหาเสียงเท่าเดิม แต่ถ้าเลือกตั้งเดือน พ.ค. หาเสียงได้อีกนาน

วิษณุ กล่าวว่า ได้ข้อสรุปว่ากรอบเวลา 150 วันจะไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะในภายหลังหรือไม่ แต่ในทางกฎหมายได้พิจารณาถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มาแล้วว่ากรอบเวลาดังกล่าวไม่รวมการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และเป็นระยะเวลาที่เพียงพอต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง หากจัดการเลือกตั้งเร็วสุดในวันที่ 24 ก.พ. 2562 พรรคการเมืองมีเวลาหาเสียงไม่แตกต่างจากการเลือกตั้งในอดีต แต่ถ้าจัดเลือกตั้งช้าสุดในเดือน พ.ค. จะมีเวลาหาเสียงมากกว่าการเลือกตั้งในอดีตทุกครั้งที่ผ่านมา ที่จะมีเวลาหาเสียงจริงประมาณ 30 วันเท่านั้น

“เมื่อกฎหมายเลือกตั้งส.ส.บังคับใช้จะเข้าช่วง 150 วันที่จัดการเลือกตั้ง คสช.จะปลดล็อกให้กับพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองจะมาบอกว่าเวลาหาเสียงไม่พอไม่ได้ เพราะเวลา 5 เดือนหาเสียงได้เต็มที่ ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนยุบสภามีเวลาจัดเลือกตั้ง 45 วัน กว่าจะสมัคร ได้เบอร์ มีเวลาหาเสียงจริงแค่ 30 วัน แต่คราวนี้คสช.จะปลดล็อกพรรคการเมืองในช่วงวันแรกๆ ของกรอบเวลา 150 วัน พรรคการเมืองมีเวลาเต็มที่ในการหาเสียง ถือเป็นเวลาหาเสียงที่มากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งในประเทศไทย” นายวิษณุ กล่าว

วิษณุ กล่าวว่า ถ้าจะกำหนดวันเลือกตั้งในกรอบเวลาที่ช้าที่สุดคือ 5 พ.ค. 2562 ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร เพราะเมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว เขตก็แบ่งแล้ว เบอร์ก็ได้แล้วทำไมต้องรออีก 90 วัน อย่างไรก็ตาม การจะจัดเลือกตั้งเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับ คสช.จะหารือกับ กกต. แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งช้ากว่าวันที่ 24 ก.พ. 2562 ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแมป

“ผมได้สอบถามเรื่องการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต. ชุดเก่าเดินหน้าไปแล้วครึ่งแรก และ กกต. ชุดใหม่จะมารับในครึ่งหลัง ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการคัดค้าน ยังไม่ได้รับรองชี้ขาด ถือเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ หากพบว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ความประพฤติไม่เหมาะสมจึงไม่รับรองได้ แต่ไม่สามารถยกเลิกทั้งหมดได้ เนื่องจาก กกต. มีหน้าที่ในการเลือก ส.ว. จึงถือว่าที่ กกต. ชุดเก่าเตรียมการมาเป็นเรื่องที่ดี จะได้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งช่วย กกต.ทำงาน ฉะนั้นทุกอย่างเดินหน้าต่อไป แต่เปลี่ยนมาอยู่ในมือ กกต.ใหม่ เท่านั้น”  วิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเสริมว่า การคัดเลือกตัวผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ให้ผู้ที่จะลงรับสมัครในระบบแบ่งเขตได้มาจากการมติที่ประชุมสาขาพรรคการเมือง ซึ่งมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 100 คน หรือได้มาจากมติที่ประชุมตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งมีสมาชิกพรรคเข้าร่วมไม่น้อยกว่า 50 คน โดยให้เป็นการทำการไพรมารีโหวตในระดับจังหวัด หมายถึง ถ้าในจังหวัดหนึ่งมีทั้งหมด 5 เขตเลือกตั้งก็ทำไพรมารีโหวตรวมกันเพียงครั้งเดียวเพื่อเลือกตัวผู้แทนเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งทุกเขต จากนั้นให้ส่งรายชือให้กับคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ส่วนผู้ที่จะลงรับสมัครในระบบบัญชีรายชื่อนั้น ให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ประกาศให้มีการเสนอรายชื่อผู้สมควรลงรับสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาจัดทำบัญชีรายชื่อไม่เกิน 150 รายชื่อ และส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวไปยังสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกตั้งบุคคลในบัญชีรายชื่อ โดยให้สมาชิกลงคะแนนเลือกได้คนละไม่เกิน 15 คน เมื่อลงคะแนนเลือกเสร็จสิ้นแล้ว ให้หัวหน้าสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดประกาศผลการนับคะแนน แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการสรรหา จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาฯ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยเรียงลำดับตามผลรวมของคะแนนที่ได้รับจากสาขาพรรคการเมืองหรือตัวเทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาฯ ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้พิจารณาให้ความเห็นชอบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net