วิชาชีพเภสัชกรค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับ อย. เหตุผิดหลักการ-ยัดไส้คำสั่ง คสช.

องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับที่ อย. และ สธ. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์เรียกร้องเภสัชกรทั่วประเทศคัดค้าน เนื่องจากมีเนื้อหาผิดหลักการ ยัดไส้คำสั่งหัวหน้า คสช. ลงในกฎหมาย

20 ส.ค.2561 เภสัชกร (ภก.) จิระ วิภาศวงษ์ ประธานชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางชมรมฯ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมตัวแทนผู้ปฏิบัติงานบังคับใช้กฎหมายด้านยาและสุขภาพ รวมถึง พ.ร.บ.ยา ได้ร่วมกันวิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับที่ อย. นำเสนอ และเห็นว่ามีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขจำนวนมาก ขาดการนำข้อตกลงที่เคยมีมาในการรับฟังก่อนหน้านี้หลายครั้งไปใช้ปรับปรุงกฎหมาย โดยมีองค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมได้ทำการประท้วงอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ จึงขอออกแถลงการณ์ชี้แจงข้อที่ต้องแก้ไขต่อสังคม โดยมีสาระสำคัญ เช่น นิยามยาสามัญประจำบ้านที่ไม่รัดกุม การปล่อยให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ การไม่แบ่งประเภทยาตามหลักสากล ให้จดแจ้งยาชีววัตถุ และการโฆษณา เป็นต้น

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายยังขาดความรอบคอบด้านการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนไม่คำนึงถึงหลักการที่มีการยอมรับในระดับสากลกำหนดให้มีความสมดุลระหว่างผู้สั่งยาและผู้ใช้ยา ทั้งนี้ ตนขอให้ อย. ไม่ทำเพียงการมาแจ้งความคืบหน้า แต่ต้องตกลงกันว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ไม่ใช่แก้ไขตามอำเภอใจ โดยไม่สนใจหลักการ

วิชาชีพเภสัชฯ รุมค้าน พ.ร.บ.ยา

ด้าน เภสัชกรหญิง หรือ ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมขุมชน องค์กรตัวแทนเภสัชกรที่ปฏิบัติงานวิชาชีพในร้านยาทั่วประเทศ เห็นว่าการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ยา ครั้งนี้ไม่คำนึงถึงหลักการ ดูได้จากหลักการที่เสนอกับสิ่งที่แก้ไขมีความแปลกแยกแตกต่างกัน ไม่คุ้มครองความปลอดภัยให้การจดแจ้งการโฆษณาและยาชีววัตถุ ซึ่งการจดแจ้งเครื่องสำอางก็ให้บทเรียนเกี่ยวกับสถานที่ผลิตเถื่อนจนกระทบสังคมกว้างขวางตามที่เป็นข่าว ร้านยามีหน้าที่หลักคือขายยาโดยเภสัชกรตามกฎหมาย แต่กลับออกกฎหมายมาให้วิชาชีพต่างๆ ขายยาได้ด้วย เป็นการสวนทางกับการที่มีเภสัชกรจบออกมามากขึ้น ทั้งที่ควรให้เภสัชกรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยาทำหน้าที่นี้โดยมีใบสั่งยามาที่ร้านยาตามหลักสากล

หรือกรณีการขายยาออนไลน์ที่ไม่มีการควบคุมจริงจังก็ไม่สนใจออกกฎหมายมาดูแล ที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพต่างๆ ร่วมกันเสนออะไรไปก็ไม่สนใจ รอจังหวะแต่เพียงจะออกกฎหมาย ภญ.ดร.ศิริรัตน์ เชื่อว่าจะมีการคัดค้านกว้างขวางให้กฎหมายนี้ตกไปในที่สุด ทั้งนี้ ทาง ภญ.ดร.ศิริรัตน์ ได้ร่วมกับกลุ่มมงคลนามเภสัชกรรม ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พรบ ยา ฉบับนี้ โดยจะชวนให้ร้านยาที่เป็นสมาชิกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนทั่วประเทศ ร่วมคัดค้าน

ยัดไส้คำสั่งหัวหน้า คสช.

พ.ร.บ.ยา ฉบับแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2510 หรือ 51 ปีที่แล้ว ขณะที่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการขยายตัวทางการค้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยาเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัย สอดรับกับระบบสากล และเอื้อต่อการคุ้มครองผู้บริโภค

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขกฎหมายยาหลายครั้ง กระทั่งวันที่ 26 ธันวาคม 2549 คณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงรับหลกัการ ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ… ฉบับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้วส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณา ซึ่งใช้เวลานานเกือบ 8 ปี โดยในระหว่างนี้มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะได้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ… ฉบับประชาชนขึ้น และนำสาระในร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ…ฉบับ สคก. มาพิจารณา วิเคราะห์ ปรับปรุงข้อบกพร่อง และเพิ่มเติมประเด็นสำคัญที่ขาดหายไป ก่อนจะนำเสนอองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2555 ต่อผู้แทนประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2550

แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับการเงิน จำเป็นต้องให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงนาม แต่ก็ไม่มีการลงนามภายใน 30 วัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงแจ้งผู้แทนผู้เข้าชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ… ฉบับประชาชนว่าต้องรอร่างกฎหมายฉบับรัฐบาล ทว่า การดำเนินการต่างๆ ต้องหยุดชะงักลงเพราะการรัฐประหารปี 2557

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหารเพียง 21 วัน กระทรวงสาธารณสุขก็นำ ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.... ฉบับ สคก. ออกเผยแพร่ เกิดการทักท้วงต่อเนื้อหาที่มีความบกพร่องหลายประเด็น แต่กลับไม่มีการแก้ไขใดๆ สร้างความไม่พอใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง อย. และสภาเภสัชกรรม เพื่อจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ… ฉบบั อย.และสภาเภสัชกรรมขึ้น และแก้ไขเป็นร่างกฎหมายฉบับกระทรวงสาธารณสุขในที่สุด แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อ

กระทั่งต้นปี 2561 ทาง อย. ได้มอบหมายให้สำนักยาร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ…. ฉบับ อย. ขึ้นใหม่ โดยนำ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาแก้ไขปรับปรุงบางส่วน แล้วยังเติมหมวดว่าด้วยกระบวนการอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 77/2559 เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ แม้จะถูกทักท้วงจากองค์กรต่างๆ ว่า ควรใช้ ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ… ฉบับกระทรวงสาธารณสุข ทาง อย. จึงได้นำ ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ…ฉบับกระทรวงสาธารณสุขมาเติมหมวดว่าด้วยกระบวนการอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 77/2559 แล้วนำออกรับฟังความคิดเห็น โดยเลขาธิการ อย. แจ้งว่าจะไม่มีข้อสรุปใดๆ แต่จะประมวลข้อคิดเห็นส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อปรับปรุงแก้ไขและดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ร่าง พ.ร.บ.ยา ผิดหลักการ ไม่คุ้มครองผู้บริโภค

ต่อมา ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ..... ดังกล่าวถูกนำมาเสนอในเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิตัลและเทคโนโลยีเพื่อรับฟังความคิดเห็นในระหว่างวันที่ 17-31 กรกฎาคม 2561 ซึ่ง ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ สภาเภสัชกรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายยาและสุขภาพ ได้ทำการวิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้และพบว่า

1.อย. รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ แต่ไม่ได้นำหลักการตามที่เสนอมาแก้ไขปรับปรุง เลือกบางประเด็นมาแก้ไขปรับปรุง

2.ไม่คุ้มครองความปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยใช้หลักการกฎหมายที่ผิด

3.ไม่สนใจหลักการสมดุลและตรวจสอบในการจ่ายยา และ

4.ไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอของวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง

ผศ.ดร.ภญ.วรรณา กล่าวว่าในฐานะอาจารย์ในสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์จะได้นำข้อมูลเสนอศูนย์ประสานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทยเพื่อให้คณาจารย์เภสัชศาสตร์และนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในทุกคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศไทยมีความเข้าใจถึงปัญหาของการออกกฎหมายนี้และร่วมกันนำเสนอให้มีการแก้ไขตลอดจนคัดค้านกฎหมายฉบับนี้อย่างแข็งขันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท