จับผิดรายงาน คกก.วัตถุอันตราย ไม่แบนพาราควอต ประชาสังคมจ่อฟ้อง ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน

ภาคประชาชน จับผิดรายงานของ คกก.วัตถุอันตราย พบ 11 ปมไม่ชอบมาพากล จงใจเลือกข้อมูลจากบรรษัทที่ผลประโยชน์ทับซ้อนมาหนุนใช้สารพิษต่อ-ปกปิดข้อมูลสำคัญ-โยนผิดให้เกษตรกร ‘วิฑูรย์ ไบโอไทย’ ชี้แบนพาราควอตทำยาก เหตุโครงสร้างกฎหมาย-รัฐและบริษัทใหญ่เกื้อหนุนกัน เสนอทางเลือกใหม่ไม่ใช้พาราควอต หนุนพืชคลุมดิน-จอบหมุน-รถไถจิ๋ว-ปลูกผสมผสาน

 

 

 

เมื่อวานนี้ (20 ส.ค.61) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) และปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเปิดเผยรายงานของของคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งไม่เคยเผยแพร่มาก่อนซึ่งนำไปสู่การลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

 

พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต พิษร้ายผลกระทบแรง

 

แถลงข่าวระบุว่า ในต่างประเทศ 51 ประเทศได้แบนสารพาราควอตแล้ว และเตรียมการแบนในปี 2020 อีก 2 ประเทศคือจีน และบราซิล เนื่องจากมีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ และก่อพาร์กินสัน ในขณะที่คลอร์ไพริฟอสนั้นเป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารก สารฆ่าแมลงชนิดนี้ศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) ดำเนินการแบนภายใน 60 วัน เช่นเดียวกับที่ไกลโฟเซต ซึ่งสถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็งนั้น ศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีมูลค่าสูงเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท

 

ลำดับเหตุการณ์

5 เม.ย. 60 กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงานจาก 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอให้มีการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโพเซต

12 ม.ค. 61 คณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่งตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเอกสารทางวิชาการ

15 ก.พ. 61 กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ยืนยันให้มีการแบนสารพิษตามมติเดิม หลังนายกฯ สั่งการให้หาข้อยุติ

23 พ.ค. 61 คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงตามความเห็นของอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ แต่ใช้การควบคุมเป็นวัตถุอันตรายแทน

 

จับผิดรายงานของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

 

วิฑูรย์ กล่าวว่า หากอ่านเอกสารดังกล่าวโดยละเอียดจะพบว่ามีประเด็นความไม่ชอบมาพากล 11 ประการได้แก่ 1. จงใจเลือกข้อมูลมาสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษต่อ 2. ซ่อนข้อมูลผลกระทบแบบเนียนๆ 3. โยนทิ้งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ 4. บิดเบือนเหตุผลการเสนอแบน 5. แปรข้อมูลปิดบังความเสี่ยง 6. ปฏิเสธงานวิจัยใหม่ๆ 7. อ้างข้อสรุปปัญหาเล็กบิดบังปัญหาใหญ่ 8. เลือกใช้ข้อมูลจากบรรษัท 9.โยนบาปว่าเป็นความผิดของเกษตรกร 10. ละเลยไม่นำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า และ 11. มีการลงมติชี้นำกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งๆ ที่อนุกรรมการเหล่านี้มาจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้สารพิษอันตรายมาตั้งแต่ต้น

นอกจากนี้ BioThai และ Thai-PAN ยังได้ชี้แจงข้อโต้แย้งต่อข้ออ้างในการไม่แบนสารพิษ 3 ตัวดังกล่าว ดังนี้

 

พาราควอต

ข้ออ้าง: ยึดจับในดินได้ดี โอกาสแพร่ในสิ่งแวดล้อมน้อย, ไม่มีความเชื่อมโยงต่อระบบประสาทและโรคเนื้อเน่า, ผู้ได้รับพิษเพราะจงใจฆ่าตัวตาย ฉีดพ่นผิดวิธี

ข้อโต้แย้ง:

- ไม่ได้เอ่ยถึงความเป็นพิษเฉียบพลันสูง สูงกว่าคาร์โบฟูรานถึง 43 เท่า

- ไม่แปรผลข้อมูลกรณีผู้ป่วยที่ได้รับสารนี้จากอุบัติเหตุมีอัตราเสียชีวิต 14.53% และอัตราผู้ป่วยที่ตายจากการได้รับสารนี้จากการประกอบอาชีพสูงถึง 8.19%

- จงใจไม่นำรายงานล่าสุดของ EPA 2017 ที่ระบุว่า “มีพิษเฉียบพลันสูง แค่จิบเดียวก็ตายได้ และไม่มียาถอนพิษ” ใส่ในบทสรุป

- อ้างว่าเกษตรกรใช้ไม่ถูกต้อง ทั้งที่งานศึกษาใน EU พบว่าแม้จะมีเครื่องป้องกันแต่มีโอกาสได้รับสารสูงกว่ามาตรฐานถึง 60 เท่า

- ลดทอนความน่าเชื่อถือผลการตรวจของ ม.นเรศวร ที่พบการตกค้างใน จ.หนองบัวลำพู ในระดับสูง โดยไปเก็บตัวอย่างตรวจใหม่ แต่คนละช่วงเวลา

- ไม่นำผลการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พบตกค้างในหอย ปู ปลา และกบ เกินมาตรฐานใน จ.น่าน มาใช้

- ไม่นำผลการตรวจพบขึ้เทาทารกสูงถึง 50% ของเด็กแรกเกิดใน 3 จังหวัด ของ ม.มหิดลมาใช้และลดทอนผลการตรวจพบในเซรั่มและสะดือแม่และเด็กโดยอ้างว่าตัวอย่างน้อย

- มีความพยายามขัดขวาง และลดทอนการค้นพบเรื่องสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่า ของผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพมาใช้ในรายงาน โดยอ้างว่ายังไม่มีการตีพิมพ์ แต่กลับนำเอาข้อมูลซึ่งไม่มีการตีพิมพ์ของหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้สารพิษต่อ เช่น ของบริษัทมอนซานโต้ สมาคมวิทยาการวัชพืช และบทความในวารสารการเกษตรที่มีรายได้สำคัญมาจากค่าโฆษณาขายสารเคมีมาใช้ในรายงานเป็นจำนวนมาก

- จงใจไม่กล่าวในบทสรุปถึงพิษเรื้อรังของพาราควอตที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ทั้งที่เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข และหลายประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้

คลอร์ไพริฟอส

ข้ออ้าง: ปัญหาการตกค้างเกิดจากเกษตรกร, มีพิษปานกลาง ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์และระบบประสาท แต่พบมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการทางสมองเด็ก

ข้อโต้แย้ง:

- แม้กล่าวว่ามีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองเด็ก แต่ก็ถูกซ่อนไว้ในประโยคที่กล่าวว่า “...ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ หรือการพัฒนาของระบบประสาทอย่างเฉพาะเจาะจง...ไม่น่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในมนุษย์”

- อ้างว่าเป็นความผิดของเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามหลัก Good Agricultural Practice ทั้งที่ในประเทศมีการใช้ตามมาตรฐาน

- ในสหรัฐอเมริกา ศาลตัดสินสั่งแบนสารคลอร์ไพริฟอสภายใน 60 วัน

ไกลโฟเซต

ข้ออ้าง: ข้อมูลการก่อมะเร็งยังไม่สามารถสรุปได้, ผลการตกค้างในมนุษย์ ตัวอย่างที่ศึกษามีไม่มากพอ

ข้อโต้แย้ง: อ้างรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ที่จริงคือ JMPR เป็นคณะทำงานร่วมระหว่าง FAO และ WHO ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผลประโยชน์ทับซ้อน โดยประธาน JMPR ถูกวิจารณ์ว่า มาจากองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากมอนซานโต้ เจ้าของตลาดไกลโฟเสตรายใหญ่และพืชจีเอ็มโอต้านทานสารกำจัดวัชพืชดังกล่าว

 

เตรียมฟ้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย อาจขัด ม.12 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

วิฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้ “มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กำลังดำเนินการฟ้องร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้เพิกถอนมติให้มีการใช้สารพิษ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาและศึกษาเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจขัดต่อมาตรา 12 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพ.ร.บ. วัตถุอันตราย

“การแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เราไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการใช้อำนาจพิเศษ เพราะปัญหารากฐานของเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการตื่นขึ้นของเกษตรกรและผู้บริโภคจะเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น “นายวิฑูรย์ กล่าว

 

แบนพาราควอตทำได้ยากเพราะโครงสร้างทางกฎหมาย-รัฐและบริษัทใหญ่เกื้อหนุนกัน

 

วิฑูรย์ กล่าวสรุปว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากผลประโยชน์ทับซ้อนในกลไกตามกฎหมาย และปัญหาเชิงโครงสร้างของกฎหมายที่ให้อำนาจในการแบนหรือไม่แบนสารใดให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่ควรจะอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพมากกว่า ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.วัตถุอันตรายดังกล่าว และออกแบบกฎหมายให้โปร่งใสที่ประชาชน มีส่วนร่วมและสามารถตรวจสอบได้

วิฑูรย์ ได้กล่าวไว้ในรายการ 101 One-on-One เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า หากดูในโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เพราะคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบายและการตัดสินใจทางนโยบาย เราจะเห็นผู้เล่นที่เป็นตัวแทนของบริษัทมอนซานโต้ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการจากไบโอเทค ยืนอยู่เคียงข้างกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ด้านหน้าคือคนจากซินเจนทาซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่นำเข้าพาราควอต และอีกท่านหนึ่งคือตัวแทนจากยักษ์ใหญ่ของบริษัทสารเคมี โครงสร้างเหล่านี้เองที่อยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายการเกษตรหลายยุคหลายสมัย

เพราะฉะนั้นการตัดสินใจเรื่องจะแบนหรือไม่แบน ในประเทศไทยหลายยุคที่ผ่านมาก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เป็นสำคัญมากกว่ามาจากผู้บริโภคหรือเกษตรกรซึ่งต้องรับความเสี่ยงเป็นกลุ่มแรก

ไม่ใช่แค่โครงสร้างทางการเมือง หรือระบบรัฐสภาเท่านั้น ภาคราชการของเราก็สัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนมาก บริษัทยักษ์ใหญ่ก็เอาข้าราชการมาทำงาน ตอนรับราชการอยู่ก็เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน  กรรมการในสมาคมวัตถุอันตรายที่ปัจจุบันผลักดันพาราควอต ตอนรับราชการก็ผลักดันกฎหมายพันธุ์พืช GMO ที่เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ อีกคนหนึ่งก็เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทสารเคมี เมื่อออกจากข้าราชการก็มาทำงานให้กับบรรษัทเอกชนข้ามชาติ แล้วบรรษัทก็มีกลไกที่คุมกลไกรัฐอีกที เพราะคนเหล่านี้ก็เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย

 

ทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่พาราควอต หนุนพืชคลุมดิน-จอบหมุน-รถไถจิ๋ว-ปลูกแบบผสมผสาน

 

วิฑูรย์ เสนอไว้ในรายการ 101 One-on-One ดังกล่าวด้วยว่า ที่จริงเราเสนอทางเลือก 3 ทางใหญ่ๆ ทางที่ 4 ถึงจะเป็นสารเคมีซึ่งเป็นทางที่กรมวิชาการเกษตรเสนอมา โดยทางเลือกที่หนึ่ง เราเสนอให้มีการใช้พืชคลุมดิน พืชคลุมดินไม่ไม่ใช่แค่เพียงควบคุมวัชพืชแต่ว่าจะสร้างปุ๋ยด้วย จากงานศึกษาของกรมวิชาการเกษตร โดยสถาบันวิจัยพืชสวน พบว่าตอนนี้เกษตรกรต้องใช้พาราควอตมากในปาล์มกับยางพารา แต่ถ้าใช้พืชคลุมดินซึ่งต้นทุนอาจสูงขึ้นบ้างในระยะแรกจากการเพิ่มแรงงาน เราจะได้ประโยชน์ปุ๋ยธรรมชาติที่เกิดจากพืชคลุมดิน ซึ่งสถาบันวิจัยพืชสวนคำนวณแล้วครับว่าใน 5 ปีข้างหน้า เราจะได้มูลค่าปุ๋ยธรรมชาติเพิ่มขึ้นประมาณ 175,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี

ทางเลือกที่สอง พืชเช่นอ้อยที่ใครๆ มักอ้างว่าต้องใช้สารพาราควอต ไม่ใช้ไม่ได้ จากงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรเองที่ทำในจังหวัดใหญ่ๆ ที่ปลูกอ้อย พบว่าทางออกที่ดีกว่าพาราควอตคือการใช้ ‘แทรคเตอร์ติดโรตารี’ หรือจอบหมุน ปรากฏว่าผลผลิตดีกว่า ต้นทุนน้อยกว่า หรือถ้าเป็นเกษตรกรรมขนาดเล็กก็ใช้ ‘รถไถเดินตาม’ จริงๆ มี ‘รถไถจิ๋ว’ ของชาวบ้านที่เขาพัฒนาขึ้นมาด้วย ไว้ใช้ในแปลงมันสำปะหลังกับข้าวโพด จากการทำสำรวจหากใช้วิธีเหล่านี้การใช้พาราควอตจะลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 4 ถ้าเราแบนพาราควอต จะสร้างงานมหาศาล สร้างรายได้ ลดผลกระทบต่อสุขภาพไปด้วย

ทางเลือกที่สามคือการจัดการระบบการปลูกพืช บางทีไม่ต้องใช้สารเคมีเลย อย่างในสวนยาง งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า ถ้าไม่ปลูกยางเชิงเดี่ยว ปลูกแบบผสมผสาน ไม่ต้องจำกัดวัชพืช แล้วจะได้กำไรมากด้วย ปัจจุบัน รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เอาราคายางตอนสูงๆ ไปคิด ปรากฏว่าก็ยังสู้ระบบเกษตรผสมผสานไม่ได้

ทางที่สี่จึงค่อยไปหาสารเคมี ด้วยเหตุที่พวกเราทำเกษตรอินทรีย์ พวกเราไม่ได้แนะนำ แต่กรมวิชาการเกษตรแนะนำเอง กรมวิชาการการเกษตรส่งตัวแทนท่ามกลางคณะอนุกรรมการหลักของสารที่มีความเสี่ยงสูง เสนอให้มีการใช้สารที่เป็นสารทางเลือก เป็นสารเคมีอีกตัวของบริษัทไบเออร์-มอนซานโต้ ที่รวมตัวกันแล้ว ตัวนี้แพงกว่าพาราควอตประมาณ 4-5 เท่า แต่จากงานวิจัยที่มาเลเซียกับอินโดนีเซียทำพบว่า ได้ผลเหมือนพาราควอตในปริมาณที่ใช้น้อยกว่า 5 เท่า ถ้าคิดดูแล้วมันจะถูกกว่า เพราะควบคุมได้ดีกว่า

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท