Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ ยันวันเลือกตั้งยังเป็นไปตามกรอบเดิมที่เคยหารือ ยังไม่มีปัจจัยเลื่อน เตรียมแนวทางผ่อนปรนให้ กกต.ทำงานได้ ก.ย.นี้ 'ปธ.สนช.' ไม่เสนอแก้ไพรมารีโหวต ขณะที่ 'วิษณุ' ชี้ คสช.จะเคาะวิธีทำไพรมารีตามที่กกต.แนะนำ

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

21 ส.ค.2561 ความคืบหน้าการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ที่เพิ่งออกมาคาดว่า จะประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ส.ส. 4 ม.ค. 2562 เลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 นั้น

สำนักข่าวไทยรายงานปฏิกิริยากรณีนี้และกรณีไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ที่จังหวัดชุมพร ถึงกรณีที่ กกต. กำหนดกรอบวันเลือกตั้งเร็วที่สุด 24 ก.พ. 2562 โดยยืนยันว่าการเลือกตั้งยังเป็นไปตามกรอบเดิมที่พูดคุยกันไว้ และยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่นอออกไป รวมถึงยังไม่มีเงื่อนไขใดที่ทำให้การเลือกตั้งจะเลื่อนมาเร็วขึ้น โดยในเดือนกันยายนนี้ คสช.จะมีแนวทางผ่อนปรน ให้ กกต. สามารถทำงานได้ ซึ่งอาจรวมถึงการทำไพรมารีโหวตและรัฐบาลจะนัดตัวแทนพรรคการเมืองมาหารือรอบ2 เกี่ยวกับเรื่องวันเลือกตั้ง ในช่วงเดือนกันยายนเช่นกัน คาดว่าจะเป็นวันที่ 1 กันยายน 

พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามสั้นๆ ถึงกรณีที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวิตเตอร์ตอบกลับ กรณีที่พลเอกประยุทธ์ กล่าวพาดพิงถึงวานนี้(20ส.ค.) ว่า ตนไม่ได้สนใจทวิตเตอร์ เพราะหากสนใจทุกเรื่องคงจะวุ่นวาย

ปธ.สนช. ยันไม่เสนอแก้ไพรมารีโหวต

สำหรับกรณีไพรมารีโหวต ประธาน สนช. กล่าวว่า จะไม่เสนอความเห็นไปยังรัฐบาลหรือ กกต. เรื่องแก้ปัญหาการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง แม้จะเป็นโมเดลที่มาจากการพิจารณาของสนช. เนื่องจากสนช.พิจารณากฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่อยากก้าวล่วง เพื่อให้กกต.ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่จนได้ข้อยุติ ส่วนทางออกของปัญหาการพิจารณากฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. สนช.ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วันแล้ว หากผู้ปฏิบัติสามารถทำได้ถือเป็นเรื่องดี หรือหากจำเป็นจะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่องดใช้ไพรมารีโหวตจะต้องให้กกต.เป็นผู้เสนอ 

“ยืนยันว่าสนช.จะไม่ริเริ่มเสนอแก้ไขเอง เพราะไม่อยากถูกตำหนิเหมือนประเด็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ยอมรับว่าหากจะแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะกระทบต่อโรดแมปด้วย เพราะต้องรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญก่อน แต่สามารถบริหารจัดการให้กฎหมายแล้วเสร็จภายใน 30-60 วันได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการใช้ ม.44 แก้ไขกฎหมายดังกล่าวแล้ว จึงต้องขึ้นอยู่กับกกต.พิจารณาว่าจะทำไพรมารีโหวตแบบใดแล้วปรึกษากับคสช.” ประธานสนช. กล่าว

พรเพชร กล่าวถึงวิธิการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองให้มีความง่ายขึ้นว่า สามารถให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม อาจจะไม่ต้องมีจำนวนมาก โดยเริ่มจากฐานรากในพื้นที่ ไม่ใช่จากพรรคการเมืองหรือส่วนกลางของพรรค ซึ่งหากทำได้ในระดับหนึ่ง น่าจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของไพรมารีโหวต ส่วนเรื่องการคลายล็อคให้พรรคการเมือง ทำกิจกรรมการเมืองได้ เป็นอำนาจการพิจารณาของ คสช.

วิษณุชี้ คสช.จะเคาะวิธีทำไพรมารีตามที่กกต.แนะนำ

ขณะที่ วิษณุ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงผลการหารือกับ กกต. ชุดใหม่ เมื่อวานนี้ (วันที่ 20 ส.ค.) ว่า ตนยังไม่ได้รายงานผลการหารือกับ กกต.ชุดใหม่ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบ เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์  จึงสั่งการให้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ในวันพรุ่งนี้ ( วันที่ 22 ส.ค.) แทน โดยจะรายงานให้ทราบว่าได้ทำอะไรบ้าง และบางอย่างจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ เป็นคนพิจารณาแนวทาง และนายกรัฐมนตรีอาจนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช.ด้วย ส่วนหัวข้อที่ว่าอาจใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่ไพรมารีโหวต แต่ไม่ขัดมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแทนนั้น คสช.จะเป็นผู้พิจารณา โดยมีหลายวิธี และเป็นวิธีที่ทาง กกต.แนะนำมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net