งานศึกษาสิงคโปร์ห่วงบ้านจัดสรร-ภาวะเมืองขยายตัวที่เชียงใหม่กระทบการใช้ทรัพยากร

งานศึกษาของวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู สะท้อนภาวะเมืองขยายตัวของเชียงใหม่ ปัญหาเรื่องผังเมือง-การขยายตัวของหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างลงไปในพื้นที่เกษตรกรรม การก่อกำแพงสูงแยกตัวจากชุมชนดั้งเดิม การใช้ทรัพยากรผิดที่ผิดทาง ซ้ำยังทำให้คนธรรมดาเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ

งานศึกษาของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา วิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู ประเทศสิงคโปร์ ลงพื้นที่สำรวจการพัฒนาผังเมืองในเชียงใหม่เทียบกับสิงคโปร์ โดยระบุว่าขณะที่เชียงใหม่มีภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว แต่การจัดผังเมืองและผลจากการขยายตัวของชุมชนที่พักอาศัยแบบล้อมรั้ว (gated community) หรือหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างลงไปในพื้นที่เกษตรกรรม กระทบทางน้ำ-ระบบชลประทาน โครงการที่ก่อกำแพงสูงนำไปสู่การแยกตัวจากชุมชนดั้งเดิม เกิดการใช้ทรัพยากรผิดที่ผิดทาง ซ้ำยังทำให้คนธรรมดาเข้าไม่ถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ

ในงานศึกษายังเสนอโมเดลสิงคโปร์ที่มีกฎหมายจัดสรรที่ดินปี 1966 รัฐบาลควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินได้เต็มที่ มีการออกแบบพื้นที่สาธารณะ และทำให้คนสิงคโปร์เข้าถึงที่อยู่อาศัยในราคาที่ไม่เกินเอื้อมอีกด้วย

20 ส.ค. 2561 วิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ นำเสนอบทความแบบกลุ่มของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านบริหารรัฐกิจ หัวข้อ "Spatial Inequality and Urbanisation: A Comparative Study of Chiang Mai and Singapore" มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดการเมืองโดยเปรียบเทียบกรณีการปรับเปลี่ยนของสิงคโปร์เองกับสิ่งที่เป็นปัญหาและเป็นโอกาสสำหรับจังหวัดเชียงใหม่

บทความระบุว่าถ้าหากคุณหาข้อมูลเชียงใหม่จากเว็บไซต์แนะนำแหล่งกินเที่ยวอย่าง TripAdvisor หรือ นิตยสารอย่าง Lonely Planet คุณจะพบว่ามันเต็มไปด้วยการพูดถึงความดีงามของเชียงใหม่ในสายตาแบบนักท่องเที่ยว ขณะที่รัฐบาลไทยเองก็มีการพูดถึงเชียงใหม่ด้วยถ้อยคำที่ดูสวยหรูอย่าง "เมืองสร้างสรรค์" "สมาร์ทซิตี" หรือ เมืองที่จะเน้นการท่องเที่ยวเชิงเป็นแหล่งจัดประชุม-พบปะทางธุรกิจ (MICE) และจะเน้นการขยายเมืองในฐานะจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไทย

อย่างไรก็ตามท่ามกลางการกล่าวอ้างสวยหรูเหล่านี้ บทความระบุว่าพวกเขาละเลยปัญหาสำคัญในเชียงใหม่คือเรื่องที่การขยายเมืองทำให้เกิดแหล่งชุมชนที่พักอาศัยแบบล้อมรั้ว (gated community) หรือ "หมู่บ้านจัดสรร" ที่สร้างกำแพงสูงแยกตัวเองจากทุ่งนาการเกษตรและตัดขาดจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน

กำแพงสูงแยกทุ่งนาและบ่อปลาออกจากโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งถูกจัดผังเมืองในโซนเกษตรกรรมทางฟากตะวันออกของแม่น้ำกวง จ.เชียงใหม่ ในภาพยังเห็นโรงงานผลิตอาหารอยู่ด้านหลังอีกด้วย 

ที่มาของภาพ: Santipab Sonboom (ตุลาคม 2016) ใน McGrath, B, Sangawongse, S, Thaikatoo, D & Corte, M. B (2017): ‘The architecture of the metacity: land use change, patch dynamics and urban form in Chiang Mai, Thailand’, Urban Planning, vol. 2, no. 1, pp. 53-71. Available from: ProQuest. [03 April 2018]. (CC 4.0)

ในบทความยังระบุว่า ในเอเชีย ผู้คนจำนวนมากจะเดินทางเข้าสู่เมืองใหญ่ทุกวันเป็นจำนวน 120,000 คนทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ถ้าหากว่าการขยายตัวกระทำอย่างผิดๆ ก็จะส่งผลร้าย แทนที่จะทำให้คนผุดขึ้นจากความยากจนกลับจะยิ่งทำให้ผู้คนร่วงลงสู่ความยากจนระดับก้นเหว

ในแง่นี้ปัญหาเรื่องหมู่บ้านจัดสรรสร้างกำแพงสูงปิดกั้นจากชาวบ้านในเชียงใหม่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมเชิงพื้นที่ สะท้อนการกระจายทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างถ้วนหน้า สาธารณสุขขาดแคลนในหมู่คนยากจน ขาดการเชื่อมต่อระหว่างกันของคนในสังคม สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาคนที่ยากจนก็ได้แต่จนลงเรื่อยๆ

การพัฒนาที่ดินอย่างเร่งด่วนส่งผลให้การใช้ที่ดินถูกปิดกั้นหลายชั่วรุ่น นอกจากนี้การปฏิรูปที่ดินในเชียงใหม่ก็ไม่ได้ผลมากเท่าที่หวังเอาไว้ ผังเมืองและแผนการใช้ที่ดินในเขตเมืองของภาครัฐก็ไม่เป็นไปด้วยดี เพราะเหตุผลหลายประการดังนี้ ประการแรกคือผังเมืองของรัฐบาลขาดความเข้าใจเรื่องศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของระบบเกษตรกรรม ซึ่งระบบชลประทานของแม่น้ำกวงควรจะเก็บไว้ใช้สำหรับการเกษตร ถนนที่ตัดผ่านพื้นที่การเกษตรขัดขวางระบบชลประทานที่ต้องอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ประการที่สองคือโครงการบ้านจัดสรรตามที่ระบุข้างต้น ผุดขึ้นตามถนนวงแหวนและรุกล้ำการใช้ที่ดินดั้งเดิมที่เป็นไปเพื่อการเกษตร

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นอกจากเชียงใหม่แล้วยังมีนครรัฐอีกแห่งคือสิงคโปร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเมือง และบทความนี้ก็ชวนให้เชียงใหม่มองการพัฒนาของสิงคโปร์เป็นแบบอย่าง โดยระบุว่าสิงคโปร์มีการพัฒนาเมืองโดยตั้งอยู่บนหลักการให้ความสำคัญต่อลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ตามทฤศฎีของอับราฮัม มาสโลว์ ที่ระบุว่ามนุษย์ต้องการปัจจัยพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัย น้ำ อาหาร มาเป็นอันดับแรก ทางการสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญต่อเรื่องพักอาศัยในราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยผลของกฎหมายจัดสรรที่ดินปี (The Land Acquisition Act - LAA) ในปี ค.ศ. 1966 ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์สามารถควบคุมการใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างเต็มที่ กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ที่ไม่เพียงแต่ยกระดับชีวิตของคนสิงคโปร์จากชุมชนแออัดเท่านั้น หากแต่ยังรักษาระดับการเข้าถึงที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในอนาคตด้วย

บทความระบุว่าสิงคโปร์ไม่ได้ปฏิเสธว่ายังคงมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างพื้นที่อยู่ในแง่ของรายได้โดยเฉลี่ย แต่สิงคโปร์ก็กระจายสิ่งอำนวยความสะดวกไปทั่วถึงและมีงานกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะที่มีความสำคัญในการเชื่อมร้อยคนพื้นที่ต่างๆ ในสังคม ในแง่การออกแบบผังเมืองก็เน้นเสริมสร้างพื้นที่พักอาศัยให้สามารถดำรงชีวิตอยู๋ได้และมีความยั่งยืน โดยยกตัวอย่างแผนพัฒนาสวนสาธารณะเชื่อมต่อที่มีทางน้ำ 100 กม. ไว้สำหรับกิจกรรมสันทนาการ และมีโครงการอื่นๆ 22 โครงการในชื่อว่า กระฉับกระเฉง, สวยงาม และสะอาด (ABC) เตรียมดำเนินการในสิงคโปร์ ถึงแม้ว่าจะมีบางเรื่องที่ควรปรับปรุงแต่เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ของโลกแล้วสิงคโปร์มีบ้านพักจากรัฐบาลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบสะอาดและสภาพแวดล้อมปลอดภัย

โปสเตอร์ของการสัมมนา Governance Study Project (GSP) ซึ่งปีนี้เป็นการวิจัยและนำเสนอในหัวข้อ "URBAN POSSIBILITIES: REIMAGINING CHIANG MAI"

นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยูนำเสนอบทความนี้จากการศึกษาแบบลงพื้นที่ และมีการวิเคราะห์วิจัยรวมถึงนำเสนอแผนนโยบาย ให้ข้อเสนอแนะกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการศึกษาการบริหารรัฐกิจ" (Governance Study Project - GSP) ซึ่งปีนี้เป็นการวิจัยและนำเสนอในหัวข้อ "URBAN POSSIBILITIES: REIMAGINING CHIANG MAI" โดยเพิ่งมีการนำเสนอบทความไปเมื่อ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำหรับกำหนดการของการนำเสนอบทความทั้งหมดสามารถอ่านได้ที่เว็บไซต์ของวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู

นักศึกษากลุ่มนี้ระบุว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นลำดับสองและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ บางคนอาจจะบอกว่าการเอาไปเทียบกับสิงคโปร์ฟังดูไม่แฟร์นัก แต่พวกเขาก็นำเสนอทางออกในระยะสั้นและระยะยาวโดยอาศัยสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง

ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาในระยะยาวของพวกเขาคือการจัดสรรปันส่วนการใช้ที่ดินให้ดีกว่านี้และมีเจตจำนงทางการเมืองในการบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจัง พวกเขาเสนอให้ใช้วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติเป็นแนวทาง โดยการจัดสรรให้ผู้คนเข้าถึงที่พักอาศัยแบบมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมได้ ต่อมาคือการจัดสรรระบบขนส่งมวลชนที่ยั่งยืน ราคาย่อมเยา ผู้คนเข้าถึงได้ โดยที่ต้องไม่ทำสิ่งที่ผิดพลาดแบบเดิมอย่างการสร้างเส้นทางคมนาคมแทรกเข้าไปในพื้นที่การเกษตร อีกทั้งยังควรจะเน้นการสร้างระบบขนส่งมวลชนความเร็วสูงด้วย

ในบทความยังระบุถึงการแก้ปัญหาในระยะยาวอีกว่าควรเสริมสร้างการคำนึงถึงผู้คนที่หลากหลายและเปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วม การบูรณาการ และการวางแผนตั้งรกรากของผู้คนที่เป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้อาศัยวิธีการวางแผนและดำเนินการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมโดยคำนึงถึงทั้งการวางฟังเมืองและความต้องการทางด้านขนส่งมวลชนเพื่อลดการเกิดแหล่งที่พักอาศัยแบบล้อมรั้วและลดแหล่งเสื่อมโทรม

ในแง่การแก้ไขปัญหาระยะสั้น ในบทความเสนอว่าควรมีการสร้างพื้นที่ชุมชนขึ้น โดยที่สิงคโปร์มุ่งเน้นจะทำให้ผู้คนทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย เข้าถึงง่าย  คำนึงถึงความหลากหลายและดีต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาเสนอว่าพื้นที่ทางน้ำต่างๆ เป็นโครงสร้างพื้นฐานตามธรรมชาติที่สามารถดัดแปลงเป็นพื้นที่สันทนาการได้ และถ้าหากมีคนที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างถูกวิธีและมีความเชี่ยวชาญในท้องถิ่นด้านการรักษาทางน้ำก็จะทำให้เกิดการสร้างพื้นที่สาธารณะในการแก้ปัญหาการแบ่งแยกทางสังคมได้

บทความเสนอว่าถ้าหากจะดำเนินการดังกล่าวให้สำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากภาคส่วนทั้งภาคส่วนต่างๆ ของรัฐ และภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐ ควรเน้นการลงทุนสร้างผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่นให้มีคนหลากหลายทักษะในการทำให้โครงการยั่งยืน ที่สำคัญคือการให้ความรู้กับผู้คนว่าการเปลี่ยนแปลงผังเมืองมีเหตุผลเพื่ออะไร ในบทความยังระบุว่าถ้าหากจัดโครงสร้างที่ผู้คนมีส่วนร่วมและยั่งยืนได้สำเร็จก็จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาชวนให้เจ็บปวดตามมาในอนาคตและจะพัฒนาให้ประชาชนหลายล้านคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และธำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงของเชียงใหม่ในฐานะ "กุหลาบเมืองเหนือ" ไว้ต่อไปได้

เรียบเรียงจาก

AN ODYSSEY OF TWO CITIES: COPING WITH THE GROWING PAINS OF URBANISATION, Global-is-Asian, 07-08-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท